เผยแพร่ |
---|
วิทยาการทางแพทย์ที่เรามีอยู่วันนี้อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาที่เห็นกันจนคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นการทำคลอดในโรงพยาบาล, การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ, ยาแผนปัจุบัน ฯลฯ หากเมื่อร้อยปีก่อน ล้วนเป็นของใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นในสยามและยากที่จะยอมรับ ขณะที่การ “อยู่ไฟ” หลังคลอดบุตรที่คนสมัยนั้นคุ้นเคย เมื่อทางการบอกให้เลิกก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน
การแพทย์สยามในยุคนั้น มีพระบำบัดสรรพโรค (พ.ศ. 2400-2470) เป็นผู้ร่วมบุกเบิก ซึ่งประวัติของท่านที่นำเสนอต่อไปนี้คัดย่อจาก หนังสือประวัติครู (16 มกราคม 2505) จัดพิมพ์โดยคุรุสภา ได้เขียนประวัติดังนี้

พระบำบัดสรรพโรค ชื่อจริงว่า นายแฮนซ์ อดัมเซ็น (Hans Adamsen) เป็นลูกครึ่งเดนมาร์ก-มอญ เกิดที่อำเภอพระประแดง สมุทรปราการ ได้ไปเล่าเรียนที่อเมริกาจนสำเร็จวิชาการแพทย์จากมหาวิทยาลัยเจฟเฟอร์สัน ใน พ.ศ. 2440 ที่พระบำบัดสรรพโรคเข้ารับราชการในกรมพยายาล กระทรวงธรรมการ เกิดกาฬโรคในประเทศใกล้เคียง เช่น ฮ่องกง, ซัวเถา, สิงคโปร์, ปีนัง ฯลฯ บ่อยครั้ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดการป้องกันกาฬโรคขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2441 กำหนดให้เรือทุกลำที่มาจากเขตที่มีการระบาดของโรคจอดที่ด่านป้องกันโรค เกาะไผ่ [จังหวัดชลบุรี] เพื่อรอให้เจ้าพนักงานแพทย์ขึ้นไปตรวจเสียก่อนที่จะอนุญาตให้ผ่านเข้ามาจอดในน่านน้ำไทย พระบำบัดสรรพโรคเลยได้แต่งตั้งให้เป็นแพทย์ประจำด่านป้องกันโรค ได้รับพระราชทานเงินเดือน 1,800 บาท
ในสมัยเริ่มก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราชมี 3 อาจารย์ชาวต่างชาติที่สอนนักเรียนแพทย์ คือ พระบำบัดสรรพโรค, พระอาจวิทยาคม (Dr. George B. Mcfarland) และ หมอเฮส์ (Dr. Thomas Heyward Hays) โดยพระบำบัดสรรพโรครับหน้าที่สอนวิชาอายุรศาสตร์และสูติศาสตร์ และเพราะพระบำบัดสรรพโรคสามารถพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วจึงได้แปลกตำราแพทย์ขึ้นเล่มหนึ่งเรียกว่า “แพรคทอซออฟเมดิซิน” (Practice of Medicine) โดยมีนายเปลี่ยน กาญจนารัณย์ นักเรียนแพทย์เป็นผู้ช่วยเขียน
พระบำบัดสรรพโรคยังเป็นผู้นำการผดุงครรภ์แผนปัจจุบันเข้ามาใช้ในโรงพยาบาลศิริราชเป็นผลสำเร็จ ในยุคนั้นหญิงไทยยังนิยมการ “อยู่ไฟ” อย่างมั่นคง จึงไม่ใครมีผู้ใดสมัครใจไปคลอดบุตรในโรงพยาบาล ด้วยเกรงว่าจะถูกบังคับให้เลิกอยู่ไฟ โรงพยาบาลศิริราชจึงต้องผ่อนผันให้หญิงที่มาคลอดบุตรใช้วิธีพยาบาลแบบโบราณได้อย่างเดิม เช่น อนุญาตให้วงสายสิญจน์แขวนยันต์รอบห้องที่อยู่ และยอมให้อยู่ไฟ เป็นต้น ในเรือนคลอดบุตรจึงต้องแบ่งเป็น 2 แผนก คือ แผนกคลอดบุตรแผนโบราณ และแผนกคลอดบุตรแผนปัจจุบัน หรือบางทีในห้องเดียวกันมีทั้งคนคลอดบุตรที่อยู่ไฟและไม่อยู่ไฟปนกัน ชี้แจ้งให้เลิกอยู่ไฟ ก็ไม่ใคร่มีใครย่อม

ขณะนั้นพระบำบัดสรรพโรคเป็นหัวหน้าแผนกสูติศาสตร์ ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยแผนกคลอดบุตรแผนปัจจุบัน พยายามเลิกธรรมเนียมการอยู่ไฟในโรงพยาบาลศิริราชอย่างสุดความสามารถ ได้ไปพูดชี้แจงเหตุผลต่อ ท่านผู้หญิงภาสรกรวงศ์ (เปลี่ยน) ให้เลื่อมใสในวิชาผดุงครรภ์แผนปัจจุบัน จนทำให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลขึ้นในโรงพยาบาลศิริราช เปิดสอนครั้งแรก พ.ศ. 2439 พระราชทานนามว่า “โรงเรียนผดุงครรภ์และหญิงพยาบาล” มีท่านผู้หญิงภาสรกรวงศ์เป็นผู้อำนวยการ และพระบำบัดสรรพโรคเป็นอาจารย์สอนวิชาผดุงครรภ์แผนปัจจุบันคนแรกของโรงเรียนดังกล่าว

แม้ภายหลังโรงเรียนจะล้มเลิกไปใน พ.ศ. 2446 และกรมศึกษาธิการได้เปิดสอนวิชาพยาบาลผดุงครรภ์ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช พ.ศ. 2451 พระบำบัดสรรพโรคก็ยังอำนวยการฝึกสอนวิชาการผดุงครรภ์ต่อไประยะหนึ่ง ด้วยมีความชำนาญในการใช้เครื่องมือคลอดบุตรเป็นพิเศษ ถึงกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ขณะดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ รับสั่งว่า “หมอใช้คีมคลอดบุตรคล่องยิ่งกลว่าฉันใช้ช้อนซ่อมกินข้าวเสียอีก”
ส่วนการทำให้หญิงไทยนิยมวิธีการคลอดบุตรแผนปัจจุบันนั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระราชทานอนุญาตให้กรมพยาบาลอ้างกระแสรับสั่ง ชี้แจงแก่คนที่จะคลอดลูกในโรงพยาบาลว่า พระองค์เองผทมเพลิง (อยู่ไฟ) มาก่อน แล้วมาเปลี่ยนใช้วิธีพยาบาลอย่างใหม่ ทรงสบายกว่าผทมเพลิงมาก มีพระราชประสงค์ให้ราษฎรได้ความสุขด้วย จึงทรงแนะนำให้เลิกอยู่ไฟเสีย ถ้าใครทำตามที่ทรงชักชวนจะพระราชทานเงินค่าทำขวัญลูกที่คลอดใหม่คนละ 4 บาท จึงมีคนสมัครให้พยาบาลอย่างใหม่มากขึ้น จนกรมพยาบาลสามารถตั้งข้อบังคับเลิกประเพณีอยู่ไฟในโรงพยาบาลได้สำเร็จ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงพระบำบัดสรรพโรคไว้ในหนังสือนิทานโบราณคดีว่า เมื่อครั้งทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยทรงเชิญหมอฝรั่งมาประชุมที่ศาลาลูกขุน ทรงชี้แจ้งว่า
“กระทรวงมหาดไทยอยากได้ตำรายาฝรั่งบางขนานสำหรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่ราษฎรมักเป็นกันชุกชุม ทำส่งไปจำหน่ายตามหัวเมือง หมอฝรั่งประชุมปรึกษาในระหว่างกันเองแล้ว ตกลงแนะนำให้รัฐบาลทำยาขึ้น 8 ขนาน และได้มอบตำรายาเหล่านั้นให้เป็นสมบัติของรัฐบาลสืบไป ส่วนการที่จะปรุงยานั้น หมออดัมเซ็น (พระบำบัดสรรพโรค) มีแก่ใจรับทำให้ในชั้นแรก ณ สำนักงานของเขาที่สี่กั๊กพระยาศรี (สี่แยกพระยาศรี) โดยเรียกราคาเพียงเท่าทุนและจะหัดคนที่ผสมยาให้ด้วยจนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะตั้งที่ทำยาเอง”
ยาที่ทำขึ้นในครั้งนั้นคือ “ยาโอสถสภา” หรือ “ยาตำราหลวง” คาดว่าเริ่มมีราว พ.ศ. 2446

เดือนมกราคม พ.ศ. 2446 กระทรวงธรรมการได้ส่งพระบำบัดสรรพโรคแพทย์ใหญ่ผู้ตรวจการในกรมพยาบาลและหลวงวิฆเนศน์ประสิทธิวิทย์ (อัทย์ หสิตะเวช) แพทย์ผู้ช่วยออกไปศึกษาวิธีผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดสัตว์พาหนะที่ประเทศฟิลิปปินส์ บังเอิญนายแพทย์ทั้งสองได้ไปเห็นวิธีการผลิต “พันธุ์บุพโพไข้ทรพิษ” จึงได้ศึกษาวิธีการผลิตมาด้วย
เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ก็ทำรายงานขึ้นเสนอต่อพระยาวุฒิการบดี (เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร) เสนาบดีกระทรวงธรรมการแนะนำให้รัฐบาลจัดตั้ง “กอเวอนเมนต์ซีร่ำแลโบแร็ตโตรี” สำหรับผลิตพันธุ์หนองฝีขึ้นใช้ปลูกป้องกันไข้ทรพิษภายในประเทศ ในที่สุดรัฐบาลก็ตั้งสถานผลิตพันธ์หนองฝีขึ้นในบริเวณร้านขายยาของพระบำบัดสรรพโรค ที่สี่กั๊กพระยาศรี เมื่อ พ.ศ. 2448 ต่อมาใน พ.ศ. 2449 จึงได้ย้ายสถานผลิตพันธุ์หนองฝีไปตั้งที่ตำบลห้วยจรเข้ จังหวัดนครปฐม (ภายหลังเมื่อ พ.ศ. 2456 ได้ย้ายกลับมารวมอยู่ในปัสตุรสภา ถนนบำรุงเมือง จังหวัดพระนคร)
ภายในงานจะได้พบกับ บริการตรวจสุขภาพฟรี กับ 12 รพ.ชั้นนำ, นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ตรวจสุขภาพการเงินกับ “หมอเงิน” ทั้งการออม การลงทุน ภาษี และวิถีคริปโต พร้อมปรึกษา “หมอความ” ทนายความมืออาชีพเป็นครั้งแรกในงาน เพื่อความรู้ความเข้าใจในกฎหมายสำหรับผู้สูงวัย
รวมทั้ง กิจกรรมบนเวที รายการเสวนาที่ระดมอาจารย์หมอมากกว่า 30 ท่าน มาแนะนำ เจาะลึกเรื่องปัญหาสุขภาพในด้านต่างๆ อาทิ ไวรัสตับอักเสบบี, ต้อกระจก, อัลไซเมอร์, กระดูกพรุน, โรคหัวใจ, มะเร็งปอด, วัคซีน, สุขภาพจิต ฯลฯ ทุกเย็นมีช่วงออกกำลังกายกับกรมพละศึกษา
#เครือมติชน #Healthcare2022 #จักรวาลผู้สูงวัย อ่านรายละเอียดงานเพิ่มเติม คลิกที่นี่
เครือมติชนนำทัพ! จัด ‘Healthcare 2022 จักรวาลผู้สูงวัย’ ตรวจสุขภาพฟรี การันตีว่าดีที่สุด! 30 มิ.ย. – 3 ก.ค. นี้…
โพสต์โดย Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2022
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2561