ผู้เขียน | พีรวิชญ์ เอี่ยมปรีดา |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อลองย้อนดูประวัติศาสตร์ก่อนที่เรื่อง “ล้างมือ” จะกลายมาเป็นเรื่องสำคัญอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างเช่นทุกวันนี้ ความจำเป็นและประโยชน์ของการล้างมือ เคยเป็นประเด็นที่ถูกโต้เถียงกันอย่างมากสำหรับวงการแพทย์ แต่ในที่สุด อิกนาซ เซมเมลไวส์ แพทย์ชาวฮังกาเรียน ก็สามารถทลายกำแพงดังกล่าว และทำให้การล้างมือเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมาได้ แม้จะเป็นหลังจากเขาเสียชีวิตแล้วก็ตาม…
กว่าที่การล้างมือจะเป็นที่ยอมรับก็ใช้เวลาในการพิสูจน์อยู่ไม่น้อย หากย้อนเวลากลับไปในอดีต จะพบว่า การล้างมือเคยเป็นพิธีกรรมที่ผู้คนในยุคกลางยึดถือปฏิบัติ รวมถึงยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแสดงสถานะทางชนชั้นอีกด้วย
“ล้างมือ” สะท้อนมารยาทสังคม-สถานะทางชนชั้น
ผู้คนจำนวนไม่น้อยในยุคกลางได้รับการปลูกฝังและให้ความสำคัญเรื่องมารยาทและความสะอาดบนโต๊ะอาหาร เห็นได้จากภาพวาดในยุคกลางที่มักจะแสดงให้เห็นเหยือกน้ำ อ่างน้ำ และผ้าสำหรับเช็ดมืออยู่เสมอ
สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้คนรู้จักระเบียบมารยาท อย่างไรก็ตาม เดิมทีแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อสุขอนามัยที่ดีเป็นอันดับแรก เนื่องจากมันเริ่มต้นมาจากเรื่องของมารยาทและความสุภาพเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังเป็นพิธีปฏิบัติที่แสดงถึงฐานะและอำนาจของแต่ละบุคคล
บทความของ ซาราห์ เดิร์น (Sarah Durn) ในเว็บไซต์ของ National Geographic ที่อธิบายเรื่องชนชั้นสูงในยุคกลางใช้การ “ล้างมือ” เป็นสัญญะในการแสดงสถานะทางอำนาจ เดิร์นเล่าถึงมารยาทและข้อปฏิบัติบนโต๊ะอาหารไว้ว่า ในยุคกลาง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจำพวกมีด ช้อน และส้อม เป็นของหายาก ผู้คนทั่วไปส่วนใหญ่มักรับประทานอาหารด้วยมือ
การล้างสิ่งสกปรกในแต่ละวันจึงเป็นเรื่องจำเป็น รวมถึงยังเป็นการแสดงความสุภาพ และความเคารพต่อผู้อื่น ดังข้อความที่ปรากฏใน Les Contenances de Table ซึ่งเขียนเกี่ยวกับมารยาทบนโต๊ะอาหารในศตวรรษที่ 13 ไว้ว่า “จงดูแลนิ้วและเล็บของคุณให้สะอาดเป็นอย่างดี”
ในบทความนี้ยังอ้างถึง อแมนดา มิโคลิค (Amanda Mikolic) ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ประจำฝ่ายศิลปะยุคกลางแห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะคลีฟแลนด์ (Cleveland) ในรัฐโอไฮโอ ซึ่งเธออธิบายเกี่ยวกับพิธีปฏิบัติก่อนรับประทานอาหารสำหรับชนชั้นสูงไว้ว่า ในบรรดาขุนนางหรือเหล่านักบวชจะมีการล้างหน้าเพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากการล้างมือ
หากเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ พิธีปฏิบัติจะยิ่งซับซ้อนและประณีตมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกออกแบบมาอย่างละเอียด เพื่อแสดงถึงอำนาจและสถานะทางชนชั้นระหว่างบุคคลในยุคกลาง
โดยเฉพาะสำหรับบรรดาแขกของกษัตริย์ในยุคกลาง พวกเขาจะได้รับการต้อนรับด้วยบทเพลงอันไพเราะจากเหล่านักดนตรี จากนั้น พวกเขาจะถูกนำไปยังในห้องน้ำที่ประกอบไปด้วย “อ่างน้ำอันหรูหรา … ผ้าขนหนูสีขาวสะอาด และน้ำปรุงกลิ่นหอม” โดยแขกผู้มาเยือนจะทำความสะอาดมือของตน และที่สำคัญต้องคอยระวังไม่ให้ผ้าขนหนูสกปรก
นอกจากนี้แล้ว ผู้หญิงจะต้อง “ล้างมือ” มาก่อนที่จะมาถึง เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อเอาผ้าขาวมาเช็ดมือ จะไม่มีเศษดินหรือคราบสกปรก [เปื้อนผ้าขาว] ซึ่งเป็นการพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ของสุภาพสตรี
จากนั้น เมื่อบรรดาแขกของกษัตริย์ได้เข้าไปนั่งในห้องโถงใหญ่เรียบร้อยแล้ว กษัตริย์จึงจะเข้าไป โดยบรรดาแขกผู้มาเยือนจะลุกขึ้นยืน ขณะที่กษัตริย์กำลังล้างทำความสะอาดพระหัตถ์ และเมื่อกษัตริย์ล้างพระหัตถ์เป็นที่เรียบร้อย ทุกคนจึงจะนั่งลง
ข้าวของหรูหรา วิถีปฏิบัติสำหรับการล้างมือ
สถานะทางอำนาจและชนชั้นที่ถูกแสดงออกผ่านพิธีปฏิบัตินี้ ยังควบคู่ไปกับข้าวของเครื่องใช้อันหรูหรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกันสำหรับชนชั้นสูงไม่ว่าจะเป็น สบู่ หรือ ภาชนะสำหรับล้างมือ
ในยุคกลาง เรียกได้ว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากสบู่ประเภทที่ผลิตจากไขมันของสัตว์ที่นิยมเมื่อศตวรรษก่อน ๆ มาเป็นสบู่ อเลปโป (Aleppo) ซึ่งถือว่าเป็นของที่มีราคาและดูมีคลาสสำหรับผู้คนในยุคกลาง
อเลปโป เป็นสบู่ที่ผลิตจากน้ำมันมะกอกและน้ำมันลอเรล ซึ่งถูกนำเข้ามายังยุโรปโดยชาวแซ็กซอน และจากนั้นไม่นาน ผู้คนทั่วยุโรปจึงเริ่มคิดค้นวิธีการทำสบู่อเลปโปด้วยสูตรของตนเอง โดยใช้น้ำมันมะกอกที่มีอยู่ตามท้องถิ่นของตน
นอกจากสบู่อเลปโปที่ดูดีมีคลาสแล้ว ความมั่งคั่งของเหล่าชนชั้นสูงยังถูกแสดงออกผ่านภาชนะที่หรูหราในครัวเรือน เช่น Aquamaniles (เหยือกน้ำ) และ Lavabos (ลักษณะคล้ายกาน้ำที่ถูกแขวนไว้) ภาชนะเหล่านี้จะบรรจุน้ำปรุงกลิ่นหอมที่ใช้สำหรับล้างมือไว้ และคนรับใช้จะมีหน้าที่เทน้ำปรุงกลิ่นหอมลงฝ่าบนมือของผู้รับประทานอาหาร
ภาชนะเหล่านี้มีล้ำค่ามากจนราชินีแห่งฝรั่งเศสและพระชายาของพระเจ้าชาร์ลที่ 4 ทรงนำ Aquamaniles มาใช้เป็นเครื่องประดับบนโต๊ะอาหารอันทรงคุณค่าของพระองค์
ประเพณีเหล่านี้อยู่คู่กับชาวยุโรปเรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 18 เมื่อช้อนและส้อมเริ่มมีบทบาทบนโต๊ะอาหารมากขึ้น การล้างมือจึงเริ่มเป็นสิ่งไม่จำเป็น และจึงหลุดออกจากพิธีปฏิบัติบนโต๊ะอาหารในที่สุด โดยมิโคลิคได้กล่าวว่า
“พิธีกรรมเกี่ยวกับการล้างมือเริ่มจางหายไปเมื่อเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร [ช้อน ส้อม ฯลฯ] เริ่มมีบทบาทมากขึ้น และแต่ละครัวเรือนเริ่มมีเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารสำหรับบรรดาแขกเหรื่อ”
รวมถึง “เมื่อคุณสามารถรับประทานอาหารได้ในขณะที่ยังสวมถุงมืออยู่” มิโคลิคกล่าว
อิกนาซ เซมเมลไวส์ พลิกโฉมการล้างมือให้เป็นเรื่องสุขอนามัยจำเป็น
นอกจากนี้ ในศตวรรษที่ 18 ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับการล้างมือ จากที่ก่อนหน้านี้เป็นเพียงพิธีปฏิบัติที่เกี่ยวกับมายาทและความสุภาพ จนเมื่อเกิดการตั้งข้อสันนิษฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับการล้างมือโดย อิกนาซ เซมเมลไวส์ (Ignaz Semmelweis) นายแพทย์ชาวฮังการีประจำโรงพยาบาล Vienna General Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแพทย์ขนาดใหญ่ มีแบ่งแผนกตั้งครรภ์และคลอดบุตรออกเป็นสองวอร์ด คือ วอร์ดแรกสำหรับแพทย์และนักเรียน และอีกวอร์ดหนึ่งสำหรับพยาบาลผดุงครรภ์
อิกนาซ เซมเมลไวส์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตหลังคลอดของมารดาในวอร์ดสำหรับแพทย์และนักเรียนที่สูงถึง 98.4 ต่อ 1,000 ซึ่งเกิดจากไข้หลังคลอด
เขาพยายามตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตหลังคลอด และพิสูจน์ข้อสันนิษฐานต่าง ๆ จนในค.ศ. 1847 จาคอบ โคลเลตช์กา (Jakob Kolletschka) เพื่อนร่วมงานของเซมเมลไวส์ ก็ทำให้เขาพบข้อมูลสำคัญ เมื่อเกิดอุบัติเหตุโคลเลตช์กากรีดนิ้วบนมีดผ่าตัดระหว่างการชันสูตรพลิกศพ และเกิดการติดเชื้อที่ทำให้เขาเสียชีวิต
เซมเมลไวส์สงสัยว่า อาจมีการติดเชื้อประเภทเดียวกันนี้ในแผนกสูติกรรมของแพทย์หรือไม่
แม้ว่าข้อสันนิษฐานจะยังไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่การปฏิบัติต่อทฤษฎีของเขานั้นค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่เข้าท่าแล้ว เขาเริ่มสั่งให้แพทย์ในวอร์ดล้างมือด้วยปูนคลอรีนทุกครั้งหลังจากการชันสูตรพลิกศพ
จนในที่สุด ระหว่าง ค.ศ. 1848 ถึง 1859 อัตราการเสียชีวิตของมารดาในวอร์ดสำหรับแพทย์ก็ลดลง เหลือระดับเดียวกับวอร์ดพยาบาลผดุงครรภ์ แต่ถึงแม้ว่าเซมเมลไวส์จะพยายามโน้มน้าวให้ผู้คนในวงการแพทย์ยอมรับในข้อปฏิบัติของเขา แต่ก็ใช่ว่าทุกคนทำตามข้อปฏิบัตินี้ง่าย ๆ ข้อปฏิบัติของเขาถูกปฏิเสธและไม่เป็นที่ยอมรับตลอดในช่วงชีวิต
กระนั้นก็ตาม อิกนาซ เซมเมลไวส์ ไม่ใช่คนเดียวที่พยายามต่อสู้เพื่อข้อเสนอนี้ ยังมีนายแพทย์ชาวอเมริกัน โอลิเวอร์ เวนเดลล์ โฮล์มส์ (Oliver Wendell Holmes) ซึ่งได้ตีพิมพ์บทความไว้ในใน ค.ศ. 1843 โดยเสนอว่า มือที่ไม่สะอาดเป็นสาเหตุให้เกิดไข้หลังคลอดได้
แม้แต่ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) พยาบาลชาวอังกฤษ ซึ่งถือเป็นผู้ก่อตั้งการพยาบาลสมัยใหม่ ยังได้เขียนไว้ในหนังสือ Notes on Nursing ที่เผยแพร่ใน ค.ศ. 1860 ว่า “พยาบาลทุกคนควรหมั่นล้างมืออยู่เป็นประจำในระหว่างวัน”
ถึงที่สุดแล้ว วงการแพทย์ก็ยังไม่สามารถเข้าใจในประโยชน์และความสำคัญของการล้างมือได้จริง ๆ จนกระทั่งมีการตีความทฤษฎีที่เกี่ยวกับเชื้อโรคและแบคทีเรีย ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องการติดเชื้อจากจุลินทรีย์ที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา
ทฤษฎีดังกล่าวได้รับการยอมรับและเป็นที่ประจักษ์ เมื่อ โจเซฟ ลิสเตอร์ (Joseph Lister) ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ สามารถทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลดลงเป็นอย่างมาก โดยการผลักดันให้ศัลยแพทย์หมั่นล้างมือและฆ่าเชื้อเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้กับผู้ป่วย
การล้างมือจึงกลายเป็นเรื่องของสุขอนามัยที่จำเป็นต่อสุขภาพจากนั้นมาจนถึงทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- กำเนิด “ยาสามัญประจำบ้าน” จาก “ยาตำราหลวง” สมัยรัชกาลที่ 5
- เลือดกรุ๊ปบีหรือเปล่า? ประวัติการค้นพบ “หมู่เลือด” ที่พลิกวงการแพทย์
อ้างอิง :
Durn, Sarah. Medieval elites used handwashing as a shrewd ‘power play.’ Here’s how. National Geographic. Published 11 MAY 2021. Access 2 JUL 2021. <https://www.nationalgeographic.com/history/article/medieval-elites-used-handwashing-as-shrewd-power-play>
Ashenburg, Katherine. Cleanliness has a strange history. But washing your hands has always been considered good hygiene. The Global and Mail. Published 10 APR 2020. Access 2 JUL 2021. <https://www.theglobeandmail.com/opinion/article-cleanliness-has-a-strange-history-but-washing-your-hands-has-always/>
Little, Becky. It Took Surprisingly Long for Doctors to Figure Out the Benefits of Hand Washing. History. Published 6 MAR 2020. Access 2 JUL 2021 <https://www.history.com/news/hand-washing-disease-infection>
Zoltán, Imre. Ignaz Semmelweis. Britannica. Published 27 JUN 2021. Access 2 JUL 2021 <https://www.britannica.com/biography/Ignaz-Semmelweis>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2564