เลือดกรุ๊ปบีหรือเปล่า? ประวัติการค้นพบ “หมู่เลือด” ที่พลิกวงการแพทย์

ถ่ายเลือด เลือด กรุ๊ปเลือด หมู่เลือด การแพทย์
ภาพการผ่าตัดในปี 1955 การถ่ายเลือดประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะความเข้าใจเรื่อง "กรุ๊ปเลือด" (ภาพจาก Wikimedia Commons)

อย่างที่ทราบกันว่า กรุ๊ปเลือด ในร่างกายของคนเราแบ่งได้ 4 หมู่ คือ เอ (A) บี (B) โอ (O) และ เอบี (AB) การแบ่งดังกล่าวเรียกว่า ระบบกรุ๊ปเลือดเอบีโอ (ABO) ซึ่งเรามักจะได้ยินบ่อย ๆ ว่า เลือด แต่ละกรุ๊ปสามารถบ่งบอกลักษณะนิสัย ความสามารถ ทั้งมีทฤษฎีการทานอาหารตามกรุ๊ปเลือดเพื่อประโยชน์ทางโภชนาการ หรือแม้แต่โยงเข้ากับเรื่องของดวงหรือโชคชะตา (อย่างหลังน่าจะเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น)

แต่อะไรคือข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่ใน เลือด แต่ละหมู่? ความจริงแล้วกรุ๊ปเลือดบอกอะไรเรากันแน่? การทำความเข้าใจเรื่องนี้ต้องลงไปดูรายละเอียดและความหมายที่แท้จริงของกรุ๊ปเลือด รวมถึง ประวัติศาสตร์การแพทย์ เรื่องการค้นพบกรุ๊ปเลือดว่าเป็นมาอย่างไร และนำไปสู่อะไร…

Advertisement

นิยามของ กรุ๊ปเลือด หรือ หมู่โลหิต (Blood Groups) คือการแบ่งกลุ่มเลือดของมนุษย์เป็นหมู่ตามชนิดของสารชีวเคมีชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นและปรากฏอยู่บนผิวเม็ดเลือดแดง เรียกว่า แอนติเจน (Antigen) หรือ สารก่อภูมิต้านทาน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวใน เลือด แต่ละหมู่

ความเฉพาะตัวของแอนติเจนในกรุ๊ปเลือดมีความเก่าแก่พอ ๆ กับพัฒนาการของเผ่าพันธ์มนุษย์เลยทีเดียว สมมติฐานว่าด้วยการเกิดกรุ๊ปเลือดอาจเรียกได้ว่า “การกลายพันธุ์” ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่มนุษย์กระจายตัวไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก เมื่อพวกเขาเผชิญกับความท้าทายจากสภาพแวดล้อม โรคร้าย ภูมิอากาศ จึงทำให้ระบบภูมิคุ้มกันค่อย ๆ พัฒนาไปบนวิถีทางแตกต่างกัน จนเกิดแอนติเจนที่เฉพาะตัวขึ้น ความเฉพาะตัวนี้ถ่ายทอดผ่านทางสายเลือด และทำให้เลือดต่างหมู่ไม่สามารถเข้ากันได้ ทั้งมีโอกาสส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างรุนแรง

ความรู้เรื่องกรุ๊ปเลือดเป็นประโยชน์ทาง การแพทย์ อย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ป่วยเสียเลือดมาก และต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างฉุกเฉินด้วยการถ่ายเลือด แต่กว่ามนุษย์จะเข้าใจข้อเท็จจริงนี้อย่างลึกซึ้ง ก็ต้องรอถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20

บรรพบุรุษของเราตระหนักถึงความสำคัญของเลือดในร่างกายมาตั้งแต่ยุคบรรพกาลแล้ว เรื่องนี้เข้าใจง่ายมาก เมื่อเกิดการสูญเสียเลือด (จำนวนมาก) มักนำไปสู่ความตาย จึงไม่แปลกที่คนสมัยโบราณคิดเรื่องการถ่ายโอนเลือดจากคนสู่คนเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย เป็นเวลากว่าพันปีที่มนุษย์ครุ่นคิดและพยายามลองผิดลองถูกในการถ่ายเลือด แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย เพราะขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกรุ๊ปเลือดนั่นเอง

ในยุคที่วิทยาศาสตร์ยังไม่แพร่หลาย หมอชาวยุโรปยุคเรเนสซองค์เคยเชื่ออย่างจริงจังด้วยซ้ำว่า การถ่ายเลือดเข้าเส้นเลือดใหญ่ของผู้ป่วยสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ แม้กระทั่งความวิกลจริต ก่อนความพยายามทำความเข้าใจองค์ความรู้ดังกล่าวจะจริงจังมากขึ้นในศตวรรษที่ 17 โดยมีลำดับการณ์ ดังนี้

ค.ศ. 1492 มีรายงานบันทึกเกี่ยวกับการถ่ายเลือดเป็นครั้งแรก นั่นคือกรณีของ สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 7 ณ กรุงโรม แพทย์ประจำวาติกันแนะนำให้ถ่ายเลือดจากคนที่ร่างกายแข็งแรง 3 คน มารักษาอาการป่วยของพระองค์ แต่ผลการรักษาล้มเหลว พระสันตปาปาสิ้นพระชนม์ไม่นานหลังจากนั้น

ค.ศ. 1628 วิลเลียม ฮาร์วีย์ (William Harvey) นายแพทย์ชาวอังกฤษค้นพบกลไกไหลเวียนเลือดภายในร่างกายมนุษย์ พบว่าการสูบฉีดเริ่มจากหัวใจที่ส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ผ่านหลอดเลือดแดง ก่อนไหลเวียนกลับมายังหัวใจอีกครั้งผ่านหลอดเลือดดำ

ค.ศ. 1665 ริชาร์ด โลเวอร์ (Richard Lower) ทดลองถ่ายเลือดระหว่างสุนัขสองตัว เขาพบว่าส่วนใหญ่รอดชีวิต นี่คือบันทึกประสบความสำเร็จครั้งแรกเกี่ยวกับการถ่ายเลือดระหว่างสัตว์

ค.ศ. 1667 ริชาร์ด โลเวอร์ และ ฌอง แบบติส เดอนีย์ส (Jean-Baptiste Denys) บันทึกความสำเร็จในการถ่ายเลือดจากสัตว์สู่คน โดยใช้เลือดแกะและลูกวัว ฌองถ่ายเลือดแกะไม่กี่มิลลิลิตรให้เด็กชายอายุ 15 ปี คนหนึ่ง และถ่ายเลือดลูกวัวให้คนวิกลจริต ปรากฏว่าร่างกายผู้ป่วยต่อต้านอย่างรุนแรง จนเขาเสียชีวิตในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา รายงานผู้เสียชีวิตจากวิธีถ่ายเลือดตลอด 10 ปี ทำให้การกระทำดังกล่าวกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และไม่มีบันทึกเกี่ยวกับการถ่ายเลือดอีกเลยตลอด 150 ปีหลังจากนั้น

การถ่ายเลือดครั้งแรก ๆ ใช้เลือดจากลูกแกะสู่คน (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ค.ศ. 1795 ที่อเมริกา ซิงก์ พีซิคก์ (Syng Physick) ประสบความสำเร็จในการถ่ายเลือดจากคนสู่คนได้สำเร็จ แต่ไม่มีการเผยแพร่ผลการศึกษาหรือรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการศึกษาของเขา

ค.ศ. 1818 เจมส์ บลันเดลล์ (James Blundell) สูตินรีแพทย์ชาวอังกฤษ ประสบความเร็จในการถ่ายเลือดให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นหญิงป่วยหลังคลอด เนื่องจากเธอเสียเลือดระหว่างคลอดมากเกินไป เธอได้รับเลือดจากสามีของตนเป็นปริมาณ 400 มิลลิลิตร ซึ่งถูกฉีดด้วยเข็มฉีดยาจนพ้นขีดอันตรายในท้ายที่สุด สร้างความเชื่อมั่นในหลักการที่ว่า “มนุษย์ควรได้รับเลือดจากมนุษย์ด้วยกัน” ซึ่งเจมส์ บลันเดน ตั้งสมมติฐานเอาไว้

เจมส์ บลันเดน ทำการถ่ายเลือดแบบเดิมอีก 10 ครั้ง ระหว่างปี 1825-1850 และช่วยผู้ป่วยจากการเสียเลือดขณะคลอดได้ 5 คน ระหว่างนั้นเขายังออกแบบและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ จนกลายเป็นพื้นฐานสำคัญของเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่

ระหว่างการถ่ายเลือดผู้ป่วยหญิงหลังคลอด ปัญหา 2 ประการที่พบบ่อยคือ เลือดมักจับตัวเป็นก้อนระหว่างขั้นตอนการถ่ายเลือด เนื่องจากไม่มีการใช้ยาหรือสารละลายต้านการแข็งตัว (ยาดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นภายหลังในปี 1914) อีกประการคือ กว่าครึ่งของผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบสนองหลังการถ่ายเลือดที่รุนแรง บางรายถึงขั้นเสียชีวิต จะเห็นว่าตัวเลขความสำเร็จ 5 จาก 10 ไม่ใช่ตัวเลขที่น่าพอใจนัก แต่ก็พอพิสูจน์ได้ว่าวิธีรักษาดังกล่าวสามารถช่วยคนได้

อย่างไรก็ตาม แพทย์หลายคนในยุคนั้นเริ่มรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการถ่ายเลือดตามเจมส์ บลันเดลล์ แม้โอกาสสำเร็จ 50 : 50 จะไม่ต่างจากการคลำทางกลางความมืด แต่พวกเขามาถูกทางแล้ว มนุษย์ควรได้รับเลือดจากมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น…

จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่พวกเขาต้องค้นพบคือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ กรุ๊ปเลือด ของมนุษย์

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังเริ่มศตวรรษที่ 20 เมื่อปี 1900 คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) นายแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรีย ทำการทดลองที่ทำให้เขาค้นพบกรุ๊ปเลือด 3 หมู่ ได้แก่ เอ (A) บี (B) และซี (C) ภายหลังเปลี่ยนหมู่ซี เป็น โอ (O) และ ค.ศ. 1902 นักเรียน 2 คน คือ A. van Decastello และ A. Sturli ที่ทำงานร่วมกับคาร์ล ลันด์สไตเนอร์ ยังค้นพบกรุ๊ปเลือด AB การค้นพบดังกล่าวทำให้คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขา การแพทย์ ในปี 1930

Karl Landsteiner (ภาพจาก Wikimedia Commons)

คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ ไขปริศนากรุ๊ปเลือดได้อย่างไร? จากข้อสังเกตเลือดจับตัวเป็นก้อนระหว่างการถ่ายเลือด ขยายผลไปสู่การศึกษาเกี่ยวกับเซลส์เม็ดเลือดแดงที่ตกตะกอน เขาทำการทดลองเรื่องนี้โดยใช้ตัวอย่างเลือดจากสมาชิกห้องปฏิบัติการและตัวเขาเอง แยกเซลล์เม็ดเลือดออกจากพลาสมา (ส่วนที่เป็นของเหลว) จากนั้นผสมพลาสมาของคนหนึ่งกับเซลล์เม็ดเลือดของอีกคน ขั้นตอนดังกล่าวทำให้เกิดลักษณะเฉพาะจากการจับตะกอนของเลือด ซึ่งเลือดแต่ละหมู่จะแสดงผลแตกต่างกัน

งานวิจัยนี้เผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเลือดของมนุษย์ โดยมีตัวละครหลักคือแอนติเจนและ แอนติบอดี (Antibody) โดยพบว่า แอนติเจนบนผิวเม็ดเลือดแดง มีอยู่ 2 ชนิด คือ แอนติเจน เอ (A antigen) และแอนติเจน บี (B antigen) หากร่างกายไม่มีแอนติเจนชนิดใดชนิดหนึ่งข้างต้น จะสร้างแอนติบอดีมาต่อต้านแอนติเจนแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนจึงคุ้นเคยกับกรุ๊ปเลือดของตนเองเท่านั้น

นี่คือเหตุผลที่การถ่ายเลือดต่างหมู่ก่อปฏิกิริยาในเลือดของมนุษย์ ซึ่งอาจมีการต่อต้านอย่างรุนแรงและอันตรายถึงชีวิต ระบบภูมิคุ้มกันของร่ายกายจะตอบสนองโดยโจมตีเซลล์ของเลือดใหม่ จนเกิดการเจ็บป่วยถึงขั้นเสียชีวิตตามที่พบในบันทึกสมัยเก่า การค้นพบของคาร์ล ลันด์สไตเนอร์ จึงพัฒนาการวงการแพทย์อย่างมาก ทำให้มนุษย์ปลดล็อคความเข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายโอนเลือดตามกรุ๊ปเลือด และทำให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สามารถแจกแจงสารแอนติเจนและแอนติบอดีของกรุ๊ปเลือดแต่ละหมู่ ดังนี้

กรุ๊ปเลือด A คือคนที่มีสารแอนติเจน A บนผิวเม็ดเลือดแดงและไม่มีสารแอนติเจน B จึงสร้างสารต้านต่อแอนติเจน B (anti B)

กรุ๊ปเลือด B คือคนที่มีสารแอนติเจน B บนผิวเม็ดเลือดแดงและไม่มีสารแอนติเจน A จึงสร้างสารต้านต่อแอนติเจน A (anti A)

กรุ๊ปเลือด AB คือคนที่มีทั้งสารแอนติเจน A และสารแอนติเจน B บนผิวเม็ดเลือดแดงและไม่สร้างสารต้านทั้งสองชนิด

กรุ๊ปเลือด O คือคนที่ไม่มีทั้งสารแอนติเจน A และสารแอนติเจน B บนผิวเม็ดเลือดแดง จึงสร้างสารต้านต่อทั้งแอนติเจน A และแอนติเจน B (เป็นที่มาของการเปลี่ยนจาก C เป็น O เพราะ “Ohne” ในภาษาเยอรมันแปลว่า “ไม่มี” หรือ Without / Zero)

ในการให้เลือดเราจะต้องได้เลือดจากคนเลือดกรุ๊ปเดียวกันหรือเข้ากันได้ คือ ไม่มีสารต้านต่อแอนติเจนของเลือดที่จะถ่ายโอนนั่นเอง ดังนั้น ในการถ่ายเลือด เลือดกรุ๊ป A รับเลือดกรุ๊ป A กับ O ได้ เลือดกรุ๊ป B รับเลือดกรุ๊ป B กับ O ได้ เลือดกรุ๊ป AB รับเลือดได้ทุกหมู่ ส่วนเลือดกรุ๊ป O ต้องรับเลือดกรุ๊ปเดียวกันเท่านั้น (แต่บริจาคให้คนเลือดกรุ๊ปอื่นได้ทั้งหมด)

กรุ๊ปเลือด หรือ หมู่เลือด จึงเป็นเครื่องหมายทางชีวภาพที่แตกต่างกันของแต่ละคน อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดเมื่อต้องได้รับการรักษาพยาบาล ไม่ใช่ตัวแปรหรือสิ่งบ่งชี้เกี่ยวกับอุปนิสัย พฤติกรรม และความสามารถ หรือมีผลสัมพันธ์ทางโภชนาการกับอาหารที่รับประทานเข้าไป อย่างที่นักธรรมชาติบำบัดบางคนกล่าวอ้าง และแน่นอนว่า กรุ๊ปเลือดไม่มีส่วนเชื่อมโยงหรือผูกกับดวงชะตาราศีแต่อย่างใด อย่างน้อยทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่เชื่อถือได้จากวงการวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับทฤษฎีข้างต้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กุลวรา กิตติสาเรศ; ผู้ช่วยศาสตรจารย์ แพทย์หญิง, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (สืบค้นวันที่ 10 มกราคม 2566) : มารู้จักหมู่เลือดกันเถอะ ตอนที่ 1. (ออนไลน์)

Dariush D FARHUD and Marjan ZARIF YEGANEH, National Library of Medicine (Retrieved Jan 9, 2023) : A Brief History of Human Blood Groups. (Online)

health.gov.mt (Retrieved Jan 9, 2023) : History of Blood. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2566