ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ชายชราชาวอิตาลีคนหนึ่งปวดท้องต่อเนื่องหลายวัน และมีอาการปวดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เขาจึงตัดสินใจรุดไปพบแพทย์ประจำเมือง แต่ก็เสียชีวิตอย่างกะทันหันในคืนวันถัดมา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1705 ในยุคที่วงการแพทย์ทั่วโลกยังไม่รู้จักโรคจาก ไส้ติ่ง หรืออาการไส้ติ่งอักเสบ ความรู้ชุดนี้ยังไม่เคยถูกบรรจุไว้ในตำราแพทย์ฉบับใด ๆ แต่การผ่าศพชายสูงวัยผู้นี้โดยแพทย์หนุ่มคนหนึ่งได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ และพลิกวงการแพทย์ไปตลอดกาล
ค.ศ. 1705 (พ.ศ. 2248) ตรงกับสมัยพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวินิจฉัยและรักษาโรคแตกต่างจากการแพทย์สมัยใหม่ที่เรารู้จักอย่างสิ้นเชิง คนไทยสมัยอยุธยายังเข้าใจเรื่องโรคในแง่ผีสางหรือเรื่องเหนือธรรมชาติอยู่ ขณะที่วงการแพทย์ยุโรปมองโรคต่าง ๆ ที่เกิดว่าเป็นผลมาจากความแปรปรวนหรือไม่สมดุลของธาตุในร่างกาย คือของเหลวต่าง ๆ โดยเฉพาะเลือด
ณ เมืองโบโลญญา อิตาลี ในโรงพยาบาลที่ชายชราคนดังกล่าวเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา จิโอวานนี บัตติสตา มอร์กานญี (Giovanni Battista Morgagni) หมอหนุ่มชาวอิตาลีวัย 23 ปี (ต่อไปขอกล่าวถึงแบบสั้น ๆ ว่า “หมอมอร์กานญี”) รับหน้าที่ผ่าศพของชายคนนั้น ซึ่งการผ่าศพผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลเพื่อศึกษาอวัยวะภายใน เป็นกิจวัตรหลักของเขาในการเก็บประสบการณ์
หมอมอร์กานญีโชคดีที่มีชีวิตอยู่ในยุคหลังการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ และยุคเรืองปัญญาของยุโรป ผู้คนตั้งคำถามต่อภูมิความรู้ดั้งเดิมที่ครอบด้วยกรอบศาสนาอย่างเปิดเผย และใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจโลกมากขึ้น วงการย์แพทย์ในช่วงเวลานั้นเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่คนจำนวนมากตั้งคำถามต่อวิชาแพทย์แบบโบราณของหมอรุ่นปฐมาจารย์ซึ่งเชื่อถือตามกันมานับพันปี
ที่สำคัญคือ หมอมอร์กานญี เป็นลูกศิษย์ของ อันโนนิโอ มารียา วัลซัลวา (Antonio Maria Valsalva) อาจารย์หมอที่ได้ชื่อว่า “หัวใหม่” ที่สุดในช่วงเวลานั้น
ความจริงอันยิ่งใหญ่ใน “ไส้ติ่ง”
เมื่อหมอมอร์กานญีลงมีดกรีดทะลุช่องท้องของชายชราที่ไร้ชีวิต ลมเหม็นเน่ารุนแรงอัดแน่นอยู่ในช่องท้องของเขาก็พวยพุ่งฟุ้งกระจายไปทั่ว ยิ่งหมอมอร์กานญีผ่าเปิดช่องท้องให้กว้างขึ้น ภาพที่ปรากฏตรงหน้าคือ “หนอง” ที่กระจายอยู่ทั่วช่องท้องของชายผู้น่าสงสาร
ด้วยความสงสัยใคร่รู้ตามประสาหมอรุ่นใหม่ไฟแรง มอร์กานญีพยายามตามหาจุดกำเนิดของหนองทั้งหมด เขาพบว่ามันกระจุกตัวในปริมาณมากบริเวณช่องท้องด้านล่างขวา แถมหนองพวกนี้ยังเกาะกันจนแข็งเป็นก้อนแปะหนึบอยู่กับกล้ามเนื้อใกล้ ๆ กัน หมอมอร์กานญีจึงมั่นใจว่าแหล่งกำเนิดของหนองทั้งหมดมาจากส่วนเล็ก ๆ ของลำไส้ที่เรียกว่า “ไส้ติ่ง” (appendix)
ใช่แล้ว หมอมอร์กานญี คือแพทย์ผู้ค้นพบโรค ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) อย่างไม่รู้ตัว
ที่ต้องบอกว่า “ไม่รู้ตัว” เพราะตอนแรกหมอมอร์กานญีไม่เข้าใจสิ่งที่เห็นตรงหน้าด้วยซ้ำ เขาไม่รู้ว่าอะไรคือสาเหตุของหนอง ทราบเพียงมันน่าจะมาจากตำแหน่ง ไส้ติ่ง ความกระจ่างชัดที่สุดที่เขาได้จากการศึกษาครั้งนี้คือ มีหนองส่วนหนึ่งติดอยู่กับกล้ามเนื้อชื่อว่า Iliopsoas (อ่านว่า อิ-ลิ-โอ-โซ-แอส) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการก้าวขา และหนองทำให้กล้ามเนื้อส่วนนี้อักเสบอย่างรุนแรง
ข้อมูลส่วนนี้สำคัญมาก เพราะมันดันไปตรงกับอาการของชายชราที่เดินทิ้งน้ำหนักขาซ้ายมากกว่าปกติมาร่วมเดือนตอนยังมีชีวิต ซึ่งเพื่อน ๆ ของเขาสังเกตเห็นความผิดปกติ และมีการพูดถึงอาการนี้ แต่เจ้าตัวไม่ได้สนใจ อาจเพราะเชื่อว่าเป็นอาการทางกระดูกจากอายุที่มากขึ้นของเขาเอง
ถึงตรงนี้ขอพาย้อนกลับไปดูอาการของโรค ประวัติการเจ็บป่วย และผลการตรวจร่างกายของชายชราก่อนเสียชีวิตอีกครั้ง อันจะเป็นข้อมูลที่มีส่วนสำคัญต่อการปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดในเคสนี้ของหมอมอร์กานญี ดังนี้
ชายชาวอิตาลีคนนี้ อายุ 74 ปี รูปร่างผอม ชอบดื่มไวน์ เดินกะเผลกแบบทิ้งน้ำหนักขาซ้ายมากกว่าปกติมา 1 เดือน ปวดท้องมา 2 สัปดาห์ 1 วันก่อนพบแพทย์มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หน้าแดงกว่าปกติ วันที่เข้าหาแพทย์มีอาการปวดบริเวณท้องน้อยรุนแรงขึ้น มีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วย
เขาบรรยายถึงการปวดท้องว่า “ปวดแน่น ๆ ลึก ๆ เหมือนโดนหมาขบ” แพทย์ประจำโรงพยาบาลพบว่า ชายชรามีอาการตาโหล ลิ้นแห้ง บ่งชี้ว่าร่างกายขาดน้ำ ชีพจรเต้นเบาและเร็ว เมื่อหมอกดบริเวณท้องน้อยด้านขวาคลำพบก้อนบางอย่าง…
หากแพทย์-พยาบาลสมัยใหม่ เห็นข้อมูลเหล่านี้ แทบจะฟันธงได้ทันทีว่านี่คืออาการ “ไส้ติ่งอักเสบ” แต่ ณ ตอนนั้นไม่มีใครวินิจฉัยเรื่องนี้ได้
วิธีที่หมอใช้ในการรักษาคือ การหลั่งเลือด (Blood letting) จำนวน 7 ออนซ์ ตามหลักการสร้างสมดุลธาตุในร่างกาย ก่อนจะพบว่าเลือดของผู้ป่วยแข็งตัวเร็วกว่าปกติ มีแผ่นบางสีเหลืองเคลือบด้านบน ในคืนนั้น ชายชรามีอาการชักหลายครั้งและปัสสาวะน้อยลง เช้าวันต่อมา เขามีท้องป่องและตึงอย่างเห็นได้ชัด ชีพจรอ่อนลงเรื่อย ๆ อาเจียนมีกลิ่นรุนแรงหลายครั้ง หายใจแรง และประสาทสัมผัสต่าง ๆ เลือนราง กลางดึกคืนนั้นเขาหายใจเฮือกใหญ่ก่อนจะสิ้นลม
กลับมาที่หมอมอร์กานญี จากข้อมูลผู้ป่วยและปฏิบัติการผ่าศพ ทำให้เขาตั้งสมมติฐานว่า โรคต่าง ๆ ที่เกิดแก่ร่างกายมนุษย์นั้นจำกัดอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งเท่านั้น คือ สามารถอธิบายหรือหาสาเหตุเฉพาะจุดได้โดยไม่ต้องอ้างอิงสมดุลของร่างกายเลย
กรณีของชายผู้นี้ จะเห็นว่าต้นเหตุของอาการทั้งหมดเริ่มจาก ไส้ติ่ง ตั้งแต่อาการปวดท้องน้อยด้านขวา การเดินขาลากเพราะกล้ามเนื้อสำคัญติดหนอง การอาเจียนที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรงเพราะลำไส้ใหญ่เกิดการอุดตัน อาหารที่ย่อยสลายจึงย้อนกลับมาออกทางเข้า ส่วนแผ่นสีเหลืองที่ติดอยู่กับเลือดที่ถูกขับคือ “เม็ดเลือดขาว” ซึ่งเพิ่มขึ้นเพราะร่างกายติดเชื้อนั่นเอง
หมอหนุ่มจึงเอาเคสนี้ไปปรึกษาอาจารย์ เสนอให้ปรับระบบการจดบันทึกหลังการผ่าศพให้เป็นประโยชน์แก่การรักษามากกว่าเดิม เริ่มตั้งแต่การพูดคุยถึงอาการของผู้ป่วยให้มากขึ้น สอบถามอาการตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นจนถึงช่วงที่อาการรุนแรง จดบันทึกเกี่ยวกับสิ่งที่พบเห็นระหว่างการผ่าศพอย่างละเอียด นำข้อมูลของผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังเสียชีวิตมาเทียบกัน เพื่อเก็บข้อมูลทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกาย
อันที่จริง มีการจดบันทึกระหว่างการผ่าศพก่อนยุคหมอมอร์กานญีนานแล้ว แต่ข้อมูลค่อนข้างกระจัดกระจายและไร้ระบบระเบียบ ตำราหลังจากยุคเขาจึงเข้มงวดมากขึ้น เป็นระบบมากขึ้น ที่สำคัญคือเกิดการจัดหมวดหมู่แยกโรคตามอวัยวะของร่างกาย รวมถึงทำดัชนีให้ง่ายต่อการค้นคว้า เช่น หมวดอาการ หรือความผิดปกติ หมวดอวัยวะ ฯลฯ
ตลอด 55 ปีที่หมอมอร์กานญีทำการผ่าศพแล้วศพเล่า และจดบันทึกข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ได้จากผู้ป่วยกว่า 700 ราย เขารวบรวมข้อมูลเป็นหนังสือชื่อ เด เซดิบุส ชื่อเต็มคือ ‘De Sedibus et causis morborum per anatomen indagatis’ หรือแปลไทยได้ว่า “เข้าใจสาเหตุของโรคผ่านการศึกษากายวิภาค” บรรจุเนื้อหาที่ปฏิวัติวิธีคิดและการเรียนแพทย์ไปจากเดิมขนานใหญ่ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหนังสือทรงคุณค่าของวงการแพทย์ตะวันตกมากที่สุดชุดหนึ่ง (มีทั้งหมด 5 เล่ม ในชื่อเดียวกัน)
คุณูปการของหนังสือชุดนี้คือการอธิบายว่า อาการของโรคต่าง ๆ คือ “เสียงร้อง”จากอวัยวะที่กำลังส่ง “สัญญาณ” ของความช่วยเหลือ หมอมีหน้าที่ตามหาอวัยวะนั้นให้เจอ หรือหา “รอยโรค” ว่าอยู่ส่วนไหนของร่างกาย การพยายามเข้าใจสมดุลแห่งธาตุในร่างกายแบบที่เคยเชื่อกันมาเป็นพันปีจึงไม่มีประโยชน์ใด ๆ ต่อการวินิจฉัยโรคอีกต่อไป
ถ้ายังนึกภาพไม่ออกว่าการค้นพบของของหมอมอร์กานญีสำคัญแค่ไหน ลองนึกถึงตอนป่วยแล้วไปพบแพทย์ แน่นอนว่าประโยคแรก ๆ ที่หมอจะถามย่อมหนีไม่พ้น “อาการเป็นอย่างไร” “เจ็บตรงไหน” หรือ “เป็นมานานแค่ไหน” นั่นแหละคือวิธีวินิจฉัยโรคที่เป็นมรดกจากหมอหนุ่มชาวอิตาลีคนนี้…
อ่านเพิ่มเติม :
- คำปฏิญาณของ “ฮิปโปเครติส” บิดาแห่งการแพทย์ ต้นกำเนิดจริยธรรม-จรรยาบรรณแพทย์
- มนุษย์ทดลอง ในงานวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภายใต้เผด็จการนาซี
- เลือดกรุ๊ปบีหรือเปล่า? ประวัติการค้นพบ “หมู่เลือด” ที่พลิกวงการแพทย์
อ้างอิง :
ชัชพล เกียรติขจรธาดา, นพ. (2561). สงครามที่ไม่มีวันชนะ : ประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างมนุษย์และเชื้อโรค. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.
Sanjib Ghosh, ResearchGate. (2016). Giovanni Battista Morgagni (1682–1771): father of pathologic anatomy and pioneer of modern medicine. In Project “History of Anatomical Sciences”. (PDF Text).
Encyclopedia Britannica (Feb 21, 2023) : Giovanni Battista Morgagni, Italian anatomist and pathologist. <https://www.britannica.com/biography/Giovanni-Battista-Morgagni>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2566