คำปฏิญาณของ “ฮิปโปเครติส” บิดาแห่งการแพทย์ ต้นกำเนิดจริยธรรม-จรรยาบรรณแพทย์

ฮิปโปเครติส ปฏิเสธการเข้าเฝ้าจักรพรรดิอะเคเมนิด
ภาพเขียนขณะฮิปโปเครติสปฏิเสธการเข้าเฝ้าจักรพรรดิอะเคเมนิด

ฮิปโปเครติส (460-370 ก่อน ค.ศ.) เป็นแพทย์ชาวกรีกโบราณ เกิดที่เกาะโคส ประเทศกรีซ ในครอบครัวที่มีพ่อและปู่เป็นแพทย์ ในสมัยโบราณที่มักมีผู้ตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ตั้งสมมติฐานการป่วยว่าเป็นการถูกลงโทษของพระเจ้า และรักษาด้วยพิธีกรรม ฮิปโปเครติสได้ปฏิวัติความเชื่อและวิธีการรักษาเดิมๆ เชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจาก สาเหตุทางธรรมชาติ, ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม, อาหาร และรูปแบบชีวิตประจำวัน

ฮิปโปเครติส เป็นผู้แยกการแพทย์ออกจากเรื่องศาสนา จนได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งการแพทย์-Father of Medicine”

นอกจากนี้ ฮิปโปเครติส ได้จัดหมวดหมู่การเจ็บป่วยออกเป็นหลายประเภท ได้แก่ เฉียบพลัน, เรื้อรัง, โรคประจำถิ่น และการแพร่ระบาด รวมถึงการใช้คำศัพท์ต่างๆ เช่น กำเริบ, เป็นซ้ำ, หายแล้ว, วิกฤติ, เป็นๆ หายๆ, อาการสูงสุด, ระยะฟักตัว ซึ่งเรื่องเช่นนี้เมื่อ 2,000 ปีก่อนถือเป็นเรื่องล้ำสมัยมาก เขายังเป็นแพทย์คนแรกที่ทำระเบียนบันทึกอาการและประวัติของคนไข้ วางกฎเกณฑ์วิธีการปฏิบัติของแพทย์ต่อคนไข้ ซึ่งยังคงถือปฏิบัติกันอยู่ถึงปัจจุบัน ฯลฯ

ฮิปโปเครติสก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ที่เกาะคอส (Kos) ประเทศกรีซ นักเรียนใหม่ที่จะเข้ามาเรียนในโรงเรียนของเขาจะต้องกล่าวคำปฏิญาณ ที่เรียกว่า “คำปฏิญาณฮิปโปเครติส” (Hippocrates oath) ต่อหน้าผู้เป็นครู และเพื่อนร่วมวิชาชีพของเขา คำปฏิญาณนี้เป็นการกำหนดมาตรฐานของมารยาทและการปฏิบัติวิชาชีพแพทย์

คำปฏิญาณของฮิปโปเครติส เดิมเป็นภาษากรีก หลังมีการแปลอื่นๆ รวมทั้งภาษาไทย ซึ่งที่ใช้อ้างอิงนี้ เป็นสำนวนแปลของ ผศ.ภญ.ดร.รวงทิพย์ ตันติปิฎก จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ (Hippocrates of Cos. “The Oath”. Loeb Classical Library.147:298–299.doi:10.4159/DLCL.hippocrates_cos-oath.1923. [24 June 2018]) ไว้ดังนี้ (สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

“ข้าขอสาบานต่อแพทย์อะพอลโล เอสคิวเลเฟียส ไฮจีเอีย แพนาซีอา และเหล่าทวยเทพ ได้โปรดเป็นพยานว่า ข้าจะปฏิบัติตามคำสาบานและคำมั่นนี้อย่างเต็มความสามารถและสติปัญญาของข้า

ข้าจะเทิดทูนอาจารย์ดังเช่นบิดามารดา และมีท่านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตข้า หากท่านต้องการเงินทอง ข้าพร้อมจะแบ่งส่วนที่ข้ามี และถือว่าคนในครอบครัวของท่านเป็นดุจพี่น้องร่วมสายโลหิต หากเขาต้องการ ข้าจะสอนสั่งศิลปวิทยาการ โดยไม่คิดค่าจ้างหรือมีข้อผูกมัด ข้าจะพร่ำสอนศีลธรรม คำสั่งสอน และความรู้อื่นที่ข้ามีทั้งหมดให้แก่บุตรของข้า บุตรของอาจารย์และศิษย์ผู้ให้คำมั่นและสาบานตนแล้วเท่านั้น ไม่สอนให้ผู้อื่นนอกเหนือจากนี้

ข้าจะบำบัดรักษาผู้ป่วยเต็มกำลังความสามารถและสติปัญญาของข้า แต่จะไม่ทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บหรือกระทำในสิ่งที่ผิดโดยเด็ดขาด

ข้าจะไม่ให้ยาพิษแก่ผู้ใด แม้จะถูกร้องขอ ทั้งจะไม่ให้คำแนะนำเพื่อการนั้น ข้าจะไม่ทำแท้งให้แก่หญิงผู้ใดเช่นเดียวกัน ข้าจะยังความบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตและศิลปวิทยาการของข้า ข้าจะไม่ใช้มีดผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออกจากตัวผู้ป่วย แต่จะหลีกทางให้กับผู้ชำนาญในการนี้

บ้านหลังใดก็ตามที่ข้าไปเยี่ยมเยือน ข้าจะไปเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยไข้ ข้าจะละเว้นจากการกระทำผิดโดยตั้งใจและการกระทำที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะไม่ลวนลามร่างกายของบุรษหรือสตรี ไม่ว่าจะเป็นทาสหรือเป็นไท สิ่งใดที่ข้าได้พบเห็นหรือได้ยินระหว่างการประกอบวิชาชีพ หรือนอกการประกอบวิชาชีพ จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และไม่ควรแพร่งพรายออกไป ข้าจะเก็บไว้เป็นความลับสุดยอด

หากข้าปฏิบัติตามคำสัตย์สาบานนี้และไม่ละเมิดฝ่าฝืน ขอให้ข้าได้รับเกียรติยศชื่อเสียงในชีวิตและวิชาชีพ จากผู้คนทั้งหลายตราบกาลนาน หากข้าตระบัดสัตย์และผิดคำสาบาน ขอให้ชะตากรรมของข้าพลิกผันเป็นตรงข้าม เทอญ”

เนื้อหาคำปฏิญาณข้างต้น เป็นต้นทางของจริยธรรมการทางแพทย์ เป็นจรรยาบรรณแพทย์ที่มีเป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นรากฐานของจรรยาบรรณแพทย์สากลที่ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติของแพทย์ในทุกประเทศ แพทยสมาคมโลกได้ประมวลหลักคำสอนสำคัญมากำหนดเป็นคำประกาศกรุงเจนีวา เมื่อ พ.ศ. 2490 และก่อให้เกิดแนวคิดในการมีกฎหมายควบคุมวิชาชีพแพทย์ ตลอดจนมาตรฐานทางวิชาชีพของบุคลากรทางการแพทย์อื่น เช่น เภสัชกร

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

รศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ. “ประวัติศาสตร์การแพทย์ และสาธารณสุขแผนปัจจุบันของโลก” ใน, ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย, แพทยสภาจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

กรัณศุภมาส เอ่งฉ้วน, วริยา ชินวรรโณ. “จริยธรรมของแพทย์ที่ทางานในโรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทย” ใน, วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธนบุรี, ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2562

ผศ.ภญ.ดร.รวงทิพย์ ตันติปิฎก. บทความวิชาการเรื่อง “รากฐานจริยธรรมทางการแพทย์ในสังคมไทย” ใน, เว็บไซต์ ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564

ภัทริดา สุคุณณี. “บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิการบริการทางสาธารณสุข” ใน, https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=157 สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2564