“ความสุขที่แท้จริง” ฉบับ “อริสโตเติล” ปรัชญาทรงอิทธิพลที่ไม่ได้เข้าใจยากอย่างที่คิด

ภาพเขียน อริสโตเติล อเล็กซานเดอร์มหาราช
ภาพเขียนของ อริสโตเติลขณะให้คำแนะนำกับอเล็กซานเดอร์มหาราช โดย Jean Leon Gerome Ferris [Public domain], via Wikimedia Commons

น้อยคนนักที่ไม่เคยได้ยินชื่อ “อริสโตเติล”  เขาคือบุคคลที่เรียนรู้ศาสตร์หลากหลายแขนง อีกทั้งแนวคิดปรัชญาการเมืองของเขาล้วนถูกนำมาศึกษาในฐานะแนวคิดและปรัชญาโบราณ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่สนใจของ “คนทั่วไป” มาจนถึงวันนี้ยังมีเรื่องแนวคิด “ความสุข” แบบฉบับของอริสโตเติลด้วย

อริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง 384 ปีก่อนคริสตกาลที่เมืองมาเซโดเนีย และเป็นอดีตลูกศิษย์เพลโต นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค เป็นหนึ่งในนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงแห่งกรีกโบราณ และยังเป็นพระอาจารย์ของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างอเล็กซานเดอร์มหาราช อริสโตเติลผลิตงานเขียนที่ครอบคลุมถึงปรัชญา สุนทรียศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จริยศาสตร์ การปกครอง อภิปรัชญา การเมือง จิตวิทยาวาทศิลป์ และเทววิทยา

แม้ว่าพวกเขาทั้งคู่จะเป็นอาจารย์-ลูกศิษย์ แต่ความคิดในการมองโลกกลับแตกต่างกันแถมสวนทางกับสิ่งที่อาจารย์สอน มีความสนใจในรายละเอียดถึงสิ่งรอบข้างมากกว่าการมองเป็นภาพสะท้อนทางปรัชญาในเชิงนามธรรม ตัวอย่างหนึ่งคือมุมมองต่อ “ความสุข” ของอริสโตเติล

“เราควรมีชีวิตอยู่อย่างไร” เป็นคำถามที่เหล่านักปรัชญาทั้งโซเครตีส เพลโต หรือแม้แต่อริสโตเติลเองก็ต้องการคำตอบ (อาจไม่ใช่แค่นักปราชญ์ แต่เป็นมนุษย์ทุกคนด้วยซ้ำ) ซึ่งคำตอบของอริสโตเติลเป็นการสรุปความง่ายๆ นั่นคือการแสวงหาความสุข

อริสโตเติล ไม่ได้มองว่าความสุขคือความเบิกบานใจในชั่วครู่ และเขาคิดว่าเด็กเล็กไม่อาจมี “ความสุข” ซึ่งบางคนอาจไม่เห็นด้วย บางคนมองว่าวัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่มี “ความสุข” สำหรับอริสโตเติลแล้ว วัยเด็กคือช่วงที่ชีวิตเพิ่งเริ่มต้น มนุษย์ยังต้องใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และต้องอาศัยระยะเวลายาวนานกว่านั้น

การแสวงหาความสุขในที่นี้ไม่ใช่การออกไปข้างนอกแสวงหาความสำราญ หรือนึกถึงวิธีที่จะทำให้สำราญเบิกบานใจอย่างเช่นวันหยุดในต่างแดน หรือใช้เวลาร่วมกับมิตรสหาย อริสโตเติลมองว่าสิ่งเหล่านี้คือส่วนผสมหนึ่งของ “ชีวิตที่ดี” แต่หากได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้เพียงลำพังก็ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นชีวิตที่ดี

สิ่งที่อริสโตเติลให้คำจำกัดความคือคำว่า eudaimonia (อ่านว่า ยู-ได-โม-เมีย /you-die-moania) ในภาษากรีก คำว่า eu หมายถึง “สุขสบาย” หรือ “ดี” ส่วน daimonia สื่อในเชิง “จิตวิญญาณ”

ไนเจล วอร์เบอร์ตัน อธิบายว่าคำดังกล่าวบางครั้งมีความหมายว่า “ความรุ่งเรือง” (ไม่ได้หมายถึงความมั่งคั่งทางทรัพย์สิน) หรือ “ความสำเร็จ” มากกว่าที่จะเป็นผัสสะที่รู้สึกได้จากการเห็นชัยชนะของทีมกีฬาที่เชียร์อยู่ กล่าวคือ ความสุขของอริสโตเติล เป็นสภาวะภายในจิต ซึ่งจะได้มาจากการใช้ชีวิตด้วยวิถีทางที่เหมาะสมที่สุด

ยูไดโมเนีย คือสภาวะที่เป็นมากกว่าความเบิกบานใจ หรือห้วงแห่งความสำราญชั่วครู่ อาจเป็นสิ่งที่เราสามารถตัดสินใจที่ลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเราอาจจะรดน้ำดอกไม้ที่เราปลูกหรือไม่รดเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับเราเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ แน่นอนว่าผลลัพธ์ของการกระทำย่อมต่างกัน อริสโตเติลเชื่อในธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งมีวิธีการดำรงชีวิตที่เหมาะสมตามแต่ละบุคคล

อริสโตเติลเชื่อว่า รูปแบบชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์คือ “ชีวิตที่ได้ใช้อำนาจในการใช้เหตุผล” ความสุข (ในที่นี้) คือความสำเร็จโดยรวมในชีวิต

ยูไดโมเนีย ที่อริสโตเติลนิยาม คือภาวะความสุขที่ไม่ได้อยู่ใต้จิตสำนึกหรือเจตนารมณ์ของผู้ใด เป็นสิ่งที่เรากำหนด หรือสิ่งที่เราเลือก

โอกาสในการมียูไดโมเนียเกิดขึ้นได้อย่างไร?…คำตอบที่มาจากแง่มุมของอริสโตเติลจะออกมาว่า “การพัฒนาลักษณะนิสัยที่ถูกต้อง” หรือการรู้จักที่ควบคุมอันเหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม เรียกง่ายๆ คือ “ความพอดี” (Golden Mean)

อริสโตเติล ไม่ได้อธิบายว่า “ความโกรธ” คือสิ่งบกพร่อง และไม่ได้อธิบายว่าความอดทนอดกลั้นคือสิ่งที่ดีงามเหมาะสม อริสโตเติล เชื่อว่าหากเรารับรู้ความโกรธถูกที่ถูกเวลาและใช้มันกับคนที่เหมาะสมคู่ควรกับความโกรธถือเป็นเรื่องที่ชอบธรรม หากไม่มีความโกรธ มนุษย์คงไม่อาจลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิของตัวเองหรือเพื่อความชอบธรรมอื่นๆ

อริสโตเติลเชื่อว่าคุณธรรมทั้งหมดตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างสิ่งที่แตกต่างกันสองขั้ว วอร์เบอร์ตัน ยกตัวอย่างได้ชัดเจนว่าดังเช่น ความกล้าหาญอยู่กึ่งกลางความบ้าบิ่นและขี้ขลาด

ผู้ยึดมั่นกับแนวคิดอริสโตเติลจะพยายามรับรู้ลักษณะที่ดีและเลวร้ายของตัวเอง และพยายามพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ผลลัพธ์ของมันคือความพอเพียงในทางจิตที่แม้แต่ภาวะล้มละลาย ความสูญเสีย หรือเมื่อเผชิญเรื่องโชคร้ายก็ไม่อาจส่งผล

“ความสุข” สำหรับอริสโตเติลยังไม่ได้เป็นแค่การพัฒนาตัวเอง หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนบุคคล แต่เขาเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์การเมือง ยูไดโมเนียจะเกิดขึ้นเมื่อชีวิตมีความสัมพันธ์กับสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น การปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลรอบตัวในรัฐการเมืองที่มีระเบียบเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความสุข

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของอริสโตเติลยังมีข้อบกพร่องที่น่าเสียดายเช่นกัน เมื่อแนวคิดของอริสโตเติลมักถูกมองว่าเป็นเรื่องถูกต้อง คนก็มักคิดว่าเพียงพอแล้วที่จะเชื่อ แต่อริสโตเติลก็ยังมีความเชื่อที่ไม่ตรงความจริงอยู่ เมื่อเขามองว่า หากปล่อยไม้และเหล็กตกลงจากที่สูงพร้อมกัน เหล็กจะหล่นลงมาเร็วกว่าเพราะน้ำหนักมากกว่า แต่ในความจริงแล้ววัตถุทั้งคู่หล่นด้วยความเร็วเท่ากัน

Aristotle’s ultimate, and most difficult realisation. “Happiness depends upon ourselves.”

ความเข้าใจที่แทบจะเป็นเรื่องยากที่สุดของอริสโตเติล คือ “ความสุขขึ้นอยู่กับตัวเราเอง”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไนเจล วอร์เบอร์ตัน, ปราบดา หยุ่น และรติพร ชัยปิยะพร แปล. ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับ กะทัดรัด. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : หนังสือไต้ฝุ่น, 2556

Hall, Edith. “Aristotle’s Pursuit of Happiness”. Wall Street Journal. Web. 31 Jan 2019. <https://www.wsj.com/articles/aristotles-pursuit-of-happiness-11548950094>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562