“ปาเลียเมนต์ (Parliament)” ในฝัน ของคณะ ร.ศ. 130

คณะผู้ก่อการ ร.ศ. 130 ในงานศพ 17 วีรชนปรากกบฏบวรเดชที่ท้องสนามหลวง กุมภาพันธ์ 2476 (แถวหน้าจากซ้าย) ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ร.ต. โกย วรรณกุล ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์ ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ร.ต. จรูญ ณ บางช้าง ร.ต. สอน วงษ์โต ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ (แถวหลังจากซ้าย) ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ร.ท. จือ ควกุล ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ร.ต. เขียน อุทัยกุล ร.ต. ศิริ ชุณห์ประไพ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา
คณะ ร.ศ. 130 ในงานศพ 17 วีรชนปรากกบฏบวรเดชที่ท้องสนามหลวง กุมภาพันธ์ 2476 (แถวหน้าจากซ้าย) ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ร.ต. โกย วรรณกุล ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์ ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ร.ต. จรูญ ณ บางช้าง ร.ต. สอน วงษ์โต ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ (แถวหลังจากซ้าย) ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ร.ท. จือ ควกุล ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ร.ต. เขียน อุทัยกุล ร.ต. ศิริ ชุณห์ประไพ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา

ความปรารถนาของ คณะผู้ก่อการ ร.ศ. 130 คือการจะยกระดับประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศอื่น ๆ ความคิดดังกล่าวเกิดจากการศึกษาค้นคว้าหนังสือเกี่ยวกับการปกครองของประเทศต่าง ๆ เมื่อพวกเขายังศึกษาในโรงเรียนนายร้อย ร.ต. เนตร เลขานุการคณะเล่าย้อนไว้ว่า

“ทุกคนมีสิทธิที่จะคุยการเมืองได้ทุกแห่ง ตลอดถึงระบอบการปกครองหรือลัทธิ แม้แต่ทูลหม่อมจักรพงษ์ก็ดี พระยาเทพหัสดินก็ดี เมื่อเข้าสอนวิชายุทธวิธีในห้องเรียน ท่านก็สอนลัทธิการเมืองของหลายประเทศ ประกอบด้วยลัทธิไหนดี ท่านก็ชมเชย ลัทธิไหนชั่ว ท่านก็ติเตียน ทำไมลูกศิษย์จะนำมาคุยและถกเถียงกันไม่ได้เล่า” [1]

จากคำให้การของแกนนำคนสำคัญหลังถูกจับกุมยังยืนกรานหนักแน่นต่ออุดมการณ์ปฏิวัตินี้ เช่น ร.ต. เหรียญ ยกตัวอย่างความเรืองรองของประเทศญี่ปุ่นที่เพิ่งชนะสงครามกับรัสเซียเมื่อ พ.ศ. 2448 [2]  ว่า การที่ประเทศญี่ปุ่นมีอำนาจมากนั้น เป็นเพราะญี่ปุ่นมีข้าราชการและราษฎรที่มีความฉลาด รู้จักกิจการบ้านเมือง จึงมีความรักประเทศชาติของตนมาก

เพราะฉะนั้นหนทางที่ควรจะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาของสังคมไทยก็คือ เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งที่ประชุมปาเลียเมนต์ ให้ราษฎรมีเสียงพูดในราชการบ้านเมือง [3]

เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว พวกเขาจึงก่อตั้งสมาคมเพื่อรวบรวมสมาชิกในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การประชุมสมาชิกจากหลักฐานการสอบสวนของราชการสรุปว่า มีทั้งสิ้น 8 ครั้ง นับแต่วันที่ 13 มกราคม ร.ศ. 130 ถึงวันที่ถูกรวบตัว 1 มีนาคม ร.ศ. 130 ได้มีการอภิปรายเรื่องระบอบการปกครองโดยผู้นำ 3 คน คือ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง และ ร.ท. จือ ควกุล

แกนนำทั้ง 3 ท่านนี้ ผลัดกันอธิบายถึงข้อดีข้อเสียของการปกครองทั้ง 3 รูปแบบ คือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (แอ๊บสะลูตมอนากี้ Absolute Monarchy) มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบญี่ปุ่น (ลิมิเต็ดมอนากี้ Limited Monarchy) หรือแบบฝรั่งเศส (รีปับลิก Republic) [4]

โดยยกพงศาวดารของประเทศต่าง ๆ เป็นกรณีศึกษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา นำโดย 2 ท่านแรกคือหมอเหล็งและ ร.ท. จรูญ จะชี้นำไปในทางรีปับลิก (สาธารณรัฐ) โดยเห็นว่า การใช้ระบบนี้ พลเมืองจะมีอิสรภาพ มีอำนาจอันชอบธรรมทั่วกันหมด ส่วน ร.ท. จือ (เสนาธิการคณะ) จะเป็นผู้คัดค้าน และเป็นผู้นำเสียงข้างลิมิเต็ด (กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ) [5]

การให้สมาชิกออกเสียงเลือกระบอบการปกครองยังคงไม่แน่ชัดเพราะถูกรวบตัวอย่างรวดเร็วเพียงเดือนเศษถัดมา หลังถูกจับกุมรัฐบาลสามารถเข้าบุกค้นยึดหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรสำคัญได้ 2 ชิ้นที่บ้านขุนทวยหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง) คือ “กฎข้อบังคับของสโมสร” และ “บันทึกว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจรีญของประเทศ” ที่แสดงสารัตถะแห่งการวิพากษ์ระบอบการปกครองทั้ง 3 รูปแบบอย่างลึกซึ้ง

รวมถึงยังพบข้อเขียนตัวพิมพ์ดีดหนาถึง 256 หน้า ณ สำนักงานอนุกูลคดีกิจ เรื่อง “คำแนะนำสั่งสอนเรื่องชาติบ้านเมือง” ของ ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง นอกจากนี้ ยังค้นพบเอกสารที่พาดพิงถึงผู้ปกครอง เช่น พระราชหัตถเลขาอวยพรวันเกิดนายจ่ายง, บทความในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศเรื่องการเล่นโขนละครของกษัตริย์ไทย, บันทึกคำสั่งของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เรื่องห้ามทหารไปซ้อมรับเสือป่า ฯลฯ [6]

ส่วนที่บ้านผู้อาวุโสสูงสุดของคณะ พ.ต. หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตะเวช) ตรวจพบสมุดรวบรวมข่าวหนังสือพิมพ์ ตัดเฉพาะเรื่องกบฏใหญ่ในประเทศจีน ปะกาวในสมุดหนา 55 หน้า [7]

หลังเสร็จสิ้นการสอบสวนเบื้องต้น เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถถวายความเห็นให้แก่พระเชษฐา (รัชกาลที่ 6) ว่า “การโว๊ตความเห็นในที่ประชุมนั้น มีความเห็นแยกกันเป็น 2 พวกคือลิมิเตดมอนากีพวก 1 ริปับลิกพวก 1 ฝ่ายพวกริปับลิกมาก แต่ก็ยังไม่เป็นการตกลงแน่นอน” [8] และเมื่อถึงท้ายสุด คณะตุลาการบันทึกประเด็นนี้ไว้ในคำพิพากษาว่า

“ถ้าตกลงจะให้ประเทศสยามปกครองอย่างลิมิเต็ดมอนากีแล้ว เมื่อสยามนี้มีกำลังพอ นัยว่าจะทำเป็น 2 อย่าง คือ ทำหนังสือกราบบังคับทูลพระกรุณาโดยลม่อม หรือมิฉะนั้นจะยกกำลังเข้าล้อมพระราชวังแล้วบังคับให้ทรงละพระราชอำนาจมาอยู่ใต้กฎหมาย หรือเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน

จะเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต หรือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขึ้นเป็นกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย ถ้าตกลงจะให้ประเทศสยามปกครองอย่างรีปับลิก ก็จะเชิญสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี”… [9]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] เรื่อง คน 90 ปี. โดย ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ณ ฌาปนสถานวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓, (เซ็นทรัลเอ็กซ์เพรสศึกษาการพิมพ์), น. 121

[2] Russo-Japanese War จุดเชื่อมต่อ https://www.britannica.com/event/Russo-Japanese-War

[3] อัจฉราพร กมุทพิสมัย. กบฏ ร.ศ. 130 : ศึกษากรณีการปฏิรูปทางการปกครอง และกลุ่ม “ทหารใหม่”.(วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524), น.175.

[4] เรื่อง คน 90 ปี. โดย ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์. น. 100. ดูเพิ่มเติม เผยบันทึกผู้วางแผน “กบฏ ร.ศ. 130” เมื่อทหารหนุ่มประชุมลับถามหาอนาคตของประเทศ! ในศิลปวัฒนธรรมออนไลน์ จุดเชื่อมต่อ https://www.silpa-mag.com/history/article_30984

[5] อัจฉราพร กมุทพิสมัย. กบฏ ร.ศ. 130 : ศึกษากรณีการปฏิรูปทางการปกครอง และกลุ่ม “ทหารใหม่น. 203-204.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 185-186.

[7] แถมสุข นุ่มนนท์. “การจับกุมทหารก่อการกำเริบ ร.ศ. 130,” วารสารสังคมศาสตร์. คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. 16, 1 (มกราคม-มีนาคม 2522): 4.

[8] “หนังสือกราบบังคมทูลของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ถึง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 16 มีนาคม ร.ศ. 130,” ปฏิวัติ ร.ศ. 130. พิมพ์ครั้งที่ 2. (สำนักพิมพ์มติชน, 2564), น. 453.

[9] คำพิพากษาโทษ เรื่อง นายทหารบก นายทหารเรือ และบุคคลพลเรือน ซึ่งก่อการกำเริบ ร.ศ. ๑๓๐, กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.6 หมวดเบ็ดเตล็ด 17/17 อ้างจาก แถมสุข นุ่มนนท์. ยังเติร์กรุ่นแรก กบฏ ร.ศ. 130. พิมพ์ครั้งที่ 3, (สำนักพิมพ์สายธาร, 2545), น. 204-205.


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “รัฐธรรมนูญของ ‘คณะปฏิวัติ ร.ศ. 130’ กับมหากวี ‘ชิต บุรทัต’ ” เขียนโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์  ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2565 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2566