“ไข่ของโคลัมบัส” ที่มาสุภาษิตดังในโลกตะวันตก กับการค้นพบทวีปอเมริกา

ไข่ของโคลัมบัส ภาพวาด โคลัมบัสตั้งไข่ ขุนนาง
ภาพวาดเหตุการณ์ โคลัมบัสตั้งไข่ ที่มาของสุภาษิต ไข่ของโคลัมบัส วาดโดย William Hogarth จิตรกรชาวอังกฤษ ในปี 1752 (เครคิตภาพจาก Wikimedia)

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจและนักเดินเรือชาวอิตาลี ผู้มีชื่อเสียงจากการค้นพบทวีปอเมริกา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1492 อันเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์โลก นำความมั่งคั่งมาสู่ยุโรป ทำให้เขาได้รับชื่อเสียงเกียรติยศต่าง ๆ มากมาย จนมีผู้คนจำนวนหนึ่งอิจฉาในความสำเร็จของโคลัมบัส เป็นที่มาของสุภาษิตอันโด่งดังในโลกตะวันตก นั่นก็คือ “ไข่ของโคลัมบัส” (Egg of Columbus)

หลังเดินทางกลับจากการสำรวจทวีปอเมริกาครั้งแรก โคลัมบัสได้รับการสรรเสริญสดุดีจากราชสำนักสเปนที่เขาทำงานให้ มีการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลองให้กับโคลัมบัสและลูกเรือ ซานตา มาเรีย ของเขา (อย่างไรก็ตามมีเอกสารบางแหล่งกล่าวว่างานเลี้ยงนี้จัดโดยอาร์คบิชอปแห่งโตเลโด ไม่ใช่ราชสำนักสเปน)

มีเรื่องเล่ากันว่า ขุนนางที่อยู่ในงานเลี้ยงเกิดอิจฉาความสำเร็จของนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ จึงพยายามทำลายความสำเร็จของโคลัมบัส โดยกล่าวว่า

“ท่านโคลัมบัสช่างโชคดีเสียจริงที่ค้นพบหมู่เกาะเวสต์ อินดีส (ชื่อเรียกของทวีปอเมริกาในขณะนั้น) แต่ถ้าเดินทางไปทางตะวันตกเรื่อย ๆ ไม่ว่าใครก็ต้องพบอยู่ดี ก็แค่ไปทางตะวันตกเรื่อย ๆ เท่านั้นเอง”

เมื่อโคลัมบัสได้ยินดังนั้นก็ไม่ตอบโต้อะไร แต่หยิบไข่ต้มใบหนึ่งที่อยู่บนโต๊ะขึ้นมา และกล่าวกับขุนนางผู้นั้นว่า “ถ้าอย่างนั้น ท่านสามารถตั้งไข่ฟองนี้บนโต๊ะได้หรือไม่”

ขุนนางรับไข่มาและพยายามตั้งไข่ให้ได้ แต่เมื่อปล่อยมือไข่ก็ล้มลงทุกครั้ง เมื่อพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าไม่สำเร็จ ขุนนางจึงกล่าวว่า “ไม่มีใครตั้งไข่ได้หรอก” แล้วท้าทายให้โคลัมบัสทดสอบ โคลัมบัสจึงรับไข่ใบนั้นมา เคาะเบา ๆ ให้ไข่บุบ จากนั้นก็นำไข่ตั้งบนโต๊ะ ไข่ใบนั้นไม่ล้ม

เมื่อเห็นดังนั้น ขุนนางจึงพูดขึ้นมาอย่างหัวเสียว่า “อะไรกัน เล่นทำให้แตกอย่างนี้ ไม่ว่าใครก็ตั้งได้ทั้งนั้นแหละ เหลวไหลจริง”

โคลัมบัสจึงยิ้มและตอบกลับไปว่า “การพูดหลังจากที่มีคนอื่นทำแล้วประสบความสำเร็จน่ะ มันง่าย ถ้าหากท่านรู้อยู่ว่าการทำแบบนี้จะประสบความสำเร็จ ทำไมท่านกับคนอื่น ๆ ไม่ทำก่อนที่ข้าพเจ้าจะทำจนสำเร็จเล่า ? การค้นพบโลกใหม่นี้ก็เช่นกัน”

เหตุการณ์นี้ถูกนำมาเป็นสุภาษิตที่ใช้กันโลกตะวันตกว่า “ไข่ของโคลัมบัส” สื่อความหมายถึงการที่ทุกความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านความยากลำบากมากมาย จึงไม่ควรด้อยค่าความสำเร็จของผู้อื่น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Murielle Schlup. Columbus’ egg. Access 25 April 2023. From https://blog.nationalmuseum.ch/en/2022/02/columbus-egg/

Valerie I.J. Flint. Christopher Columbus Italian explorer. Access 25 April 2023. From https://www.britannica.com/biography/Christopher-Columbus

Edmund S. Morgan. Columbus’ Confusion About the New World. Access 25 April 2023. From https://www.smithsonianmag.com/travel/columbus-confusion-about-the-new-world-140132422/

มุโรทานิ สึเนะโส และ นางาซาวะ คะสึโทชิ. (2552).  โคลัมบัสและการบุกเบิกเส้นทางเดินเรือ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์คอมมิกส์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2566