“ช่องเขาขาด” ทำไมฝรั่งเรียก “ช่องไฟนรก” ?

อาเคโตะ นากามูระ เดินทาง ช่องเขาขาด
นายพลอาเคโตะ นากามูระ และคณะ ตรวจสอบเส้นทางรถไฟบริเวณ “ช่องเขาขาด” ซึ่งต้องระเบิดภูเขาเป็นช่องทางให้รางรถไฟผ่าน เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2486

กาญจนบุรีเป็นสถานที่แห่งความทรงจำอันเจ็บปวดของเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรและครอบครัว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อพวกเขาต้องตกระกำลำบากกลายเป็นแรงงานทาสของจักรวรรดิญี่ปุ่น บ้างก็ต้องเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่นี่ และหนึ่งในสถานที่สำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ดังกล่าวก็คือ “ช่องเขาขาด”

พื้นที่จุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เส้นทางรถไฟสายมรณะ” ที่ทหารญี่ปุ่นจับเชลยศึกมาใช้แรงงานขุดเจาะช่องเขาเพื่อทำเส้นทางรถไฟโดยแทบไม่มีเครื่องจักรสำหรับทุ่นแรงใดๆ ต้องใช้แรงงานคนเป็นหลักและต้องทำงานกันแบบหามรุ่งหามค่ำ

Advertisement

สำหรับการสร้างเส้นทางรถไฟที่วิศวกรอังกฤษเคยมาสำรวจแล้วยังบอกว่า “สร้างไมได้” แต่ญี่ปุ่นกลับสร้างเสร็จได้ในเวลาเพียง 10 เดือน (ผู้บัญชาการชาวพุทธ ความทรงจำของนายพลนากามูระ เกี่ยวกับการเมืองไทยสมัยเอเชียบูรพา. แปลโดย เออิจิ มูราชิม่า, นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546)

สภาพช่องเขาขาดในปัจจุบัน

การที่คนไทยเรียกพื้นที่จุดนี้ว่า “ช่องเขาขาด” ก็มาจากลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏของมันเอง ส่วนที่ชาวตะวันตกขนานนามพื้นที่แห่งนี้ว่า “ช่องไฟนรก” นั้น ร็อด บีตตี (Rod Beattie) จากศูนย์เส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า อธิบายกับ Smithsonian Channel ว่า หลังจากที่มีการวางรางรถไฟไว้สองด้านรอไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว “พวกเขา [ทหารญี่ปุ่น] ต้องการให้มันเสร็จสักทีก็เลยจัดแรงงานไว้สองกะ กะละ 12 ชั่วโมง เป็นกะกลางวันกับกะกลางคืน การจะทำงานตอนกลางคืนได้ก็ต้องมีแสง พวกเขามีหลอดไฟส่องสว่างอยู่บ้าง แต่แหล่งแสงสว่างส่วนใหญ่มาจาก ‘ไฟ’ คนกลุ่มนี้ [เชลยศึก] ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ ซึ่งตอนเด็กพวกเราต่างก็ถูกปลูกฝังด้วยภาพของนรกที่ประกอบด้วยปีศาจและไฟนรก ‘ไฟนรก’ จึงกลายมาเป็นชื่อของช่องทางนี้ก็ด้วยภาพของกองเพลิงยามค่ำคืน และฝูงชนที่ต้องทำงานเยี่ยงทาสเบื้องหน้าปีศาจ”

ทั้งนี้ เมื่อสื่อตะวันตกกล่าวถึงเส้นทางรถไฟสายมรณะมักกล่าวว่า การสร้างทางรถไฟสายนี้ได้คร่าชีวิตเชลยศึกไปเกือบหมื่นราย เช่นรายงานเรื่อง “The Kwai Bridge: The Reel and the Real” ในนิวยอร์กไทม์ ที่กล่าวว่า “สุสานใหญ่ใกล้เคียง [สะพานข้ามแม้น้ำแคว] สองแห่งเป็นหลักฐานยืนยันว่าการก่อสร้างดังกล่าวต้องสละชีวิตมนุษย์ไปเพียงใด ทั้งสองแห่งมีหลุมศพของทหารรวมกันกว่า 9,000 หลุม ส่วนใหญ่เป็นชาวบริเตน แต่ยังมีชาวดัตช์ ออสเตรเลีย และอเมริกันรวมอยู่ด้วย ซึ่งคนเหล่านี้ต่างตายเพื่อสร้างสะพานแห่งนี้และ ‘เส้นทางสายมรณะ’ ซึ่งสะพานก็เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางนี้ด้วย”       

การเร่งดำเนินงานก่อสร้างให้เสร็จในระยะเวลาอันสั้นทั้งที่พื้นที่ก่อสร้างอยู่ในเขตทุรกันดาร และขาดแคลนเครื่องมือ ประกอบกับการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มักบอกตัวเลขแบบรวมๆ ไม่มีการแยกสาเหตุย่อมทำให้คนอดจินตนาการถึงความทารุณของการบังคับใช้แรงงานดังกล่าวไม่ได้

แต่ฝ่ายญี่ปุ่น เช่นนายพลนากามูระพยายามแก้ต่างว่า ข้อกล่าวหาของฝ่ายตะวันตกออกจะเกินจริงไป เพราะแม้ว่าเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยฝีมือของทหารญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นจริงอยู่หลายกรณี แต่การกล่าวอย่างเหมารวมว่า ความตายทั้งหมดของเชลยเป็นผลมาจากการบังคับใช้แรงงานอย่างทารุณของทหารญี่ปุ่นก็ถือว่าเป็นธรรมเช่นกัน

นายพลอาเคโตะ นากามูระ และคณะ ตรวจสอบเส้นทางรถไฟบริเวณ “ช่องเขาขาด” ซึ่งต้องระเบิดภูเขาเป็นช่องทางให้รางรถไฟผ่าน เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2486

นายพลนากามูระกล่าวว่า ความตายระหว่างการก่อสร้างเมื่อปี 2486 นั้น กว่า 5 พันรายเป็นผลมาจากการระบาดของโรคอหิวาต์ ส่วนกรณีที่มีทหารญี่ปุ่นยิงผู้ป่วยอหิวาต์นั้นเกิดขึ้นจากเจตนาดีของนายทหารรายหนึ่งที่ต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ที่ตนดูแล จึงได้ออกคำสั่งว่า ก่อนที่จะฝังร่างของผู้ใดในพื้นที่ที่กำหนดจะต้องยิงร่างนั้นก่อนเพื่อให้แน่ใจว่าตายจริง ซึ่งนายพลนากามูระยอมรับว่าวิธีการดังกล่าวเป็นการกระทำโดยพลการ และขัดต่อหลักมนุษยธรรม เป็นกรณีที่ควรให้แพทย์เป็นผู้รับรอง แต่นายทหารรายนี้ก็ถูกส่งตัวให้ศาลทหารพิจารณาความผิด และแม้ศาลจะยกฟ้อง ทหารรายนี้ก็ถูกลงโทษทางวินัยให้ต้องออกจากราชการ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2560