“บุญผ่อง” ผู้เสี่ยงชีวิตช่วยเหลือเชลยต่างชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์
(ซ้าย) บุญผ่องกับทหารออสเตรเลียหลังสงคราม ภาพจาก Australian War Memorial (ขวา) นิทรรศการเรื่องบุญผ่องและ “เวรี่” ที่บ้านบุญผ่อง ตลาดปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี [เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2559 ]

บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ผู้เสี่ยงชีวิตช่วยเหลือเชลยต่างชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องราวของเขาอาจไม่เป็นที่รับรู้ของชาวไทยนัก แต่สำหรับชาวออสเตรเลียแล้ว บุญผ่องคือบุคคลสำคัญ ที่ได้รับการจดจำอย่างเป็นทางการ

ช่วง “pre-production” ของละครเรื่อง บุญผ่อง กินเวลานานมากกว่า 5 ปี ก่อนที่จะเริ่มสร้างในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 และเริ่มออกอากาศในเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 กำกับโดย สมพร เชื้อบุญอุ้ม จากบริษัทฮั้งมโนก้า ซึ่งมีสายใยเกี่ยวโยงกับบริษัทเป่าจินจง ของ นพพล โกมารชุน ละครโทรทัศน์เรื่องนี้โดดเด่นด้านการค้นคว้าข้อมูลจากหลายแหล่ง เพื่อสร้างอดีตขึ้นใหม่ในบริบทปัจจุบัน

Advertisement

แม้ความรู้ว่าด้วยประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 จะถูกสร้าง ทบทวน และท้าทายมาตลอดโดยนักประวัติศาสตร์ แต่เมื่อกล่าวถึงความทรงจำทางการ หนังสือที่เป็นแกนหลักคือ ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ ดิเรก ชัยนาม พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2509

ส่วนฝ่ายกองทัพโดยกองบัญชาการทหารสูงสุดเองก็พยายามสร้างความรู้ว่าด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกันผ่านหนังสือ ประวัติศาสตร์การสงครามของไทย ในสงครามมหาเอเชียบูรพา พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2540 ทว่า หนังสือของดิเรกเป็นองค์ความรู้ด้านสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทยที่ “เป็นชิ้นเป็นอัน” มากที่สุดก่อนงานเขียนของคนอื่น

หนังสือเล่มดังกล่าวจึงเป็นแหล่งอ้างอิง และเป็นเสมือน “กระดูกสันหลัง” ในความทรงจำทางการที่ถูกสร้างในชั้นหลัง โดยเฉพาะในแบบเรียน ทำให้น้ำหนักของเรื่องเล่าว่าด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในแบบเรียนไทยให้น้ำหนักแก่ “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

ประเทศไทยไม่มีการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะรัฐพิธีหรือถูกโยงความหมายเข้ากับ “วันชาติ” ต่างกับเมียนมาร์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์[5] แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะได้เปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยไปตลอดกาลเช่นเดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่การเล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ของไทย ยังไม่สามารถอ้างอิงกับโครงเรื่องที่มีอยู่ร่วมกันในภูมิภาคได้ กล่าวคือ การเข้ามาของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ตีเจ้าอาณานิคมจนแตกพ่ายไป ผลกระทบต่อชีวิตของพลเรือนระหว่างสงคราม และการสร้างชาติหลังสงคราม ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเล่าความทรงจำในช่วงเวลานี้คล้ายกันเช่นเดียวกับที่ชาติยุโรปเล่าเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

สิ่งที่สอนเรียนในวิชาสังคมศึกษามาตลอดคือ ประเทศไทย “จำยอม” ให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศ สร้างรางรถไฟ และเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา แต่เมื่อสิ้นสุดสงคราม ประเทศไทยไม่แพ้สงคราม เพราะเรามีขบวนการเสรีไทยที่ช่วยเหลือกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรและดำเนินการทางการทูต ดังนั้น เพื่อทำให้เข้าใจว่าพลเมืองไทยถูกสอนให้จำสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไร เราอาจสังเคราะห์ความทรงจำทางการจากแบบเรียนรายวิชาสังคมศึกษาที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตั้งแต่เริ่มมีการเล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 ในแบบเรียนจนถึงหลักสูตรที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

ความทรงจำเรื่อง บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ถูกเล่าในพิพิธภัณฑ์ของออสเตรเลียในประเทศไทย ในบันทึกความทรงจำของเชลยศึกชาวออสเตรเลีย ความสำคัญของบุญผ่องมีมากขนาดมีภาพและเรื่องราวของเขาถูกกักเก็บเป็นจดหมายเหตุของอนุสรณ์สถานสงครามแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian War Memorial)

บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ (21 เมษายน 2449 – 29 มกราคม 2525) กับทหารออสเตรเลียหลังสงคราม (ภาพจาก Australian War Memorial)

บุคคลสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นสะพานความทรงจำไทย-ออสเตรเลียคือ เซอร์เอ็ดเวิร์ด เวรี่ ดันลอป หรือที่บุญผ่องเรียกว่า ‘เวรี่’ (ปีเตอร์ ธูนสตระ) ผู้บันทึกเรื่องราวของบุญผ่องลงในอนุทินสงครามของเขา เมื่อมีการสำรวจและก่อสร้างพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานที่ช่องเขาขาด และจัดพิธีกรรมรำลึกเมื่อปลายทศวรรษ 2520 เป็นโอกาสที่เวรี่ได้เดินทางกลับไทยมาหลายครั้ง

เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสเปิดพิพิธภัณฑ์ โดยอ้างถึงความกรุณาของชาวไทยจำนวนมากผู้เสี่ยงชีวิตลักลอบนำเงิน อาหาร และยาไปให้บรรดาเชลยศึก “ผู้ที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาบุคคลเหล่านั้นคือบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ผู้กล้าหาญ ผู้ซึ่งพรางกายในฐานะพ่อค้าผู้มากับแม่น้ำโดยได้ช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลเอาไว้” [20]

นิทรรศการเรื่องบุญผ่องและ “เวรี่” ที่บ้านบุญผ่อง ตลาดปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี
นิทรรศการเรื่องบุญผ่องและ “เวรี่” ที่บ้านบุญผ่อง ตลาดปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี

บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ (21 เมษายน 2449 – 29 มกราคม 2525) ได้รับการยกย่องอย่างสูงยิ่งจากรัฐบาลออสเตรเลีย ภาคปฏิบัติที่สำคัญคือการจัดตั้ง Weary Dunlop-Boonpong Fellowship เพื่อมอบให้ศัลยแพทย์ชาวไทยไปฝึกฝนพัฒนาความรู้ยังออสเตรเลีย หากกล่าวด้วยถ้อยคำของ จอห์น โฮเวิร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียใน พ.ศ. 2541 สิ่งนี้ถือเป็น “เครื่องหมายแห่งหนี้ที่ไม่มีวันใช้หมด”

ที่บ้านของบุญผ่องที่ปากแพรก มีนิทรรศการเล็กๆ บอกเล่าเรื่องราวของบุญผ่อง บุคคลที่ถูกชูให้มีความสำคัญทัดเทียมกับบุญผ่องคือเวรี่ การที่เรื่องบุญผ่องยึดโยงตัวเองเข้ากับความทรงจำที่สร้างจากฝั่งออสเตรเลีย มิใช่เพราะขาดแหล่งอ้างอิงในความทรงจำทางการของไทยเท่านั้น แต่น่าจะเป็นความพยายามหยิบยืมความทรงจำที่ทรงพลังมากกว่า มาชูความทรงจำของบุญผ่องให้ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้น เพราะการไม่ถูกจดจำโดยคนในชาติในที่นี้ กลับหมายถึงการได้รับการสรรเสริญอย่างกว้างขวางจากนานาชาติ[21]

เวรี่คือตัวละครสำคัญของชีวประวัติทางโทรทัศน์เรื่องบุญผ่อง ไม่น้อยไปกว่าที่เขาเป็นวีรบุรุษสงครามที่สำคัญมากที่สุดคนหนึ่ง ในชีวประวัติของเขาเรื่อง Weary : The Life of Sir Weary Dunlop (พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2544) ระบุเอาไว้ว่าเขามีความสำคัญไม่ต่างกับวีรบุรุษแห่งชาติคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น ดอน แบรดแมน เน็ด เคลลี หรือ ฟาร์ ลาพ มีอนุสาวรีย์ของเขาอยู่ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นที่หน้าอาคารอนุสรณ์สถานสงครามแห่งชาติ ที่วิกตอเรีย นิวเซาท์เวลส์ หรือแม้แต่สวนเวรี่ดันลอปที่กาญจนบุรี

พิธีฝังศพของเขาเมื่อ พ.ศ. 2536 ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ มีภาพยนตร์สารคดี บทความ และหนังสือจำนวนมากที่เขียนถึงเขา แม้แต่บนเหรียญ 50 เซ็นต์ หรือในแบบเรียนก็นำเสนอภาพและบอกเล่าเรื่องราวของเขา[22]

หากเราเชื่อว่ามีบทสนทนาระหว่างเรื่องบุญผ่อง ในฐานะความทรงจำโต้กลับกับความทรงจำข้ามชาติ เราจะพบว่าเป้าที่ชีวประวัติเรื่องนี้โต้กลับมิใช่เพียงความทรงจำของรัฐไทยเท่านั้น แต่เป็นความทรงจำเกี่ยวกับสะพานข้ามแม่น้ำแคว ที่ถูกสร้างและถ่ายทอดโดยวัฒนธรรมสกรีนของตะวันตกด้วย ที่ผ่านมาไม่มีนักภาพยนตร์ศึกษาคนใดอ่าน “คนไทย” ที่ปรากฏใน(ภาพยนตร์) The Bridge on the River Kwai ทั้งที่ฉากด้านสถานที่และเวลาคือประเทศไทยในระหว่างสงคราม

เมื่อพินิจดูจึงทำให้พบว่า คนไทยในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นชาวบ้านที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และเรียกทหารสัมพันธมิตรผู้เคยสอนภาษาตะวันออกอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และคณะว่า “นาย” ชายไทยที่ดูมีความสำคัญมีเพียงคนเดียวคือ “ใหญ่” ผู้สละชีพเพื่อภารกิจของสัมพันธมิตร ที่เหลือเป็นหญิงไทยที่ทำหน้าที่ลูกหาบ คอยรับใช้ “นาย” และมีเสน่ห์เย้ายวนใจตามแบบฉบับผู้หญิงตะวันออก

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง สงครามโลกครั้งที่ 2 ในอัตชีวประวัติทางโทรทัศน์เรื่องบุญผ่อง : ความทรงจำโต้กลับกับความทรงจำข้ามชาติ โดย นัทธนัย ประสานนาม นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาภาพยนตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ สกอตแลนด์ เผยแพร่ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2559


เชิงอรรถ :

[5] Kevin Blackburn. “War Memory and Nation-Building in South East Asia,” in South East Asia Research, 18, 1 (2010) : 28.

[20] Hellfire Pass Memorial : Thailand-Burma Railway, 13th ed. (Bangkok : Australian-Thai Chamber of Commerce, 2011), p. 23.

[21] โวหารที่บอกเล่าเรื่องบุญผ่องขนานไปกับเรื่องของเซอร์ดันลอปปรากฏอย่างชัดเจนในหนังสือ วรวุธ สุวรรณฤทธิ์. สงครามมหาเอเชียบูรพา : กาญจนบุรี. (กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2544). หนังสือเล่มดังกล่าวมีความสำคัญในฐานะพื้นที่ความทรงจำที่กักเก็บประวัติศาสตร์บอกเล่าของบุคคลที่ผ่านเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในจังหวัดกาญจนบุรีไว้อย่างสมบูรณ์มากที่สุดก่อนงานที่พยายามทำเลียนแบบในชั้นหลัง หนังสือเล่มนี้ของวรวุธกลายเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญ และเป็น “กระดูกสันหลัง” ของหนังสือประกอบนิทรรศการในบ้านของบุญผ่องด้วย ดู ลำไย สิริเวชชะพันธ์. วีรบุรุษสงครามของทางรถไฟสายมรณะ. (กาญจนบุรี : ม.ป.ท.), ม.ป.ป.

[22] Rosalind Hearder. Keep the Men Alive : Australian POW Doctors in Japanese Captivity. (New South Wales : Allen & Unwin, 2009), pp. 206-207.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2560