นครบาลเพชรบูรณ์ วิกฤติกาลของไทย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

พิธีตั้งเสาหลักเมือง นครบาล เพชรบูรณ์ (ภาพจาก https://wisonk.wordpress.com/2007/06/12/%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C-%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B1/)

เมื่อราวกลางปี 2533 ผมเป็นผู้ตรวจการพาณิชย์ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ มีพื้นที่ตรวจราชการไปถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ ขณะเดินทางไปตรวจงานที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด เผอิญต้องผ่านหน้าสถาบันราชภัฏฯ ซึ่งขณะนั้นยังเรียก “วิทยาลัยครูเพชรบูรณ์” สังเกตเห็นป้ายขนาดใหญ่เขียนเชิญชวนเข้าร่วมการสัมมนาเกี่ยวกับเรื่อง “นครบาลเพชรบูรณ์” ซึ่งเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์สำคัญของไทยเรื่องหนึ่งในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

ผมสนใจเรื่องทำนองนี้ จึงเพ่งอ่านป้ายได้ความว่าการสัมมนาจะมีระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2533 คือวันรุ่งขึ้นถัดจากที่ผมอ่านนี้ ผมจึงเร่งมือตรวจงาน พลางวานพาณิชย์จังหวัดช่วยติดต่อให้ผมได้เข้าฟังการสัมมนาฯ ช่วงสรุปผลตอนท้ายของการสัมมนาฯ ด้วย

พาณิชย์จังหวัดฯ ขณะนั้น คือคุณสมชาย คุรุวิชญา ก็ไปติดต่อกับ ผศ.พัชรินทร์ ไชยเดช ลูกสาวของท่านอาจารย์พา ไชยเดช บุพพาจารย์ของชาว “อำนวยศิลป์” อาจารย์พัชรินทร์ (ต้อย) รู้จักชอบพอกับผมมาก่อน ประกอบกับเธอสอน (ภาษาอังกฤษ) อยู่ที่วิทยาลัยฯ แห่งนั้นนานปี จึงมีบารมีพอที่จะจัดให้ผมเข้าไปนั่งฟังอยู่ในที่นั้นได้ในฐานะ “ผู้สังเกตการณ์”

พลิกตรวจดูรายชื่อวิทยากรมีกว่า 10 ท่าน ทั้งนักวิชาการ เช่น รศ.ดร.ประจักษ์ สายแสง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งท่านผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่เพชรบูรณ์ ขณะที่จัดตั้ง “นครบาลเพชรบูรณ์” เช่น พลโทรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ อดีตแม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 ส่วนในรายชื่อผู้เข้าร่วมสัมมนา มีกว่า 100 คน แต่ที่น่าสนใจและน่าจะขึ้นไปเป็นวิทยากรด้วยคือ รศ.ดร.แถมสุข นุ่มนนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ขณะนั้นเป็นอาจารย์ในสังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากร (ที่วิทยาเขตทับแก้ว นครปฐม)

ทั้ง 3 ท่าน ที่เอ่ยนามนั้น ผมรู้จักดี บางท่านก็เคยมีภารกิจสัมพันธ์กันในราชการด้วย

ช่วงบ่าย ซึ่งเป็นการสรุปผลและตอบข้อซักถาม ตลอดจนเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมตามธรรมเนียมของการสัมมนา

วิทยากรได้สรุป ซึ่งมีใจความตามที่อ่านให้ที่ประชุมฟังนานประมาณ 1 ชั่วโมงนั้น ผมติดใจประเด็นเดียวคือ “เหตุผลที่แท้จริงของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการออกพระราชกำหนดจัดตั้งนครบาลเพชรบูรณ์ขึ้น”

ผู้รายงานสรุปประเด็นตรงนี้มีสาระสำคัญ ซึ่งอ้างข้อความจากบันทึกรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวารที่มีมติอนุมัติให้ออกพระราชกำหนด “นครบาลเพชรบูรณ์” ประกอบกับคำปรารภในพระราชกำหนดฯ ฉบับนั้นเองที่มีการอ้างเหตุผลทำนองว่า

“…ขณะนี้ (พ.ศ. 2486 – ผู้เขียน) กรุงเทพพระมหานคร ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของอริราชศัตรู (หมายถึง ฝ่ายสัมพันธมิตร อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ – ผู้เขียน) ถึงกับส่งเครื่องบินมาโจมตีทิ้งระเบิดลงทำลายในเขตพระนคร รัฐบาลได้ตระหนักในภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอริราชศัตรู จึงเห็นสมควรให้สร้าง ‘นครบาลเพชรบูรณ์’ ขึ้น เพื่อเป็นเมืองหลวงสำรองไว้ให้รัฐบาลใช้บริหารราชการในยามคับขันอันอาจเกิดขึ้นจากการโจมตีทิ้งระเบิดของอริราชศัตรู…”

ผมฟังมาถึงตรงนี้รู้สึกไม่ตรงกับข้อมูลที่ผมเคยฟังจากท่านผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดกับรัฐบาลในช่วงเหตุการณ์ครั้งนั้น รวมทั้งท่านนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ซึ่งทำหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน คือ

1. ศาสตราจารย์ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในช่วงปี 2486 นั้น ยังทรงเป็นเพียงหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทรงดูแลด้านกิจการต่างประเทศ และด้านภาษา หนังสือในฐานะที่ทรงเป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน นับแต่แรกตั้ง จนตลอดพระชนมชีพ

2. ท่านอาจารย์สถิตย์ เสมานิล เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “สยาม วายาโม” ตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 6 ในช่วงปี 2486 นั้น ทำหนังสือพิมพ์ “ไทยหนุ่ม” ในบั้นปลายชีวิตเป็นกรรมการชำระพจนานุกรม ร่วมคณะกับกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

3. ท่านอาจารย์ทวี ทวีวรรธนะ รกรากเดิมเป็นชาวนครปฐม ใช้นามสกุล “ค้าเจริญ” เป็นคนเรียนเก่ง สอบไล่ชั้นมัธยมปีที่แปดได้ที่หนึ่ง จึงได้เข้าเรียนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นรุ่นแรกของคณะอักษรศาสตร์ และเปลี่ยนนามสกุลเป็น “ทวีวรรธนะ” ช่วงปี 2486 นั้น ท่านอาจารย์ทวี ทวีวรรธนะ เป็นที่ปรึกษาประจำทำเนียบรัฐบาล ในบั้นปลายชีวิตเป็นกรรมการชำระพจนานุกรม ร่วมคณะกับกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

ขณะที่มีการสัมมนาฯ นั้น ท่านผู้ใหญ่ที่เอ่ยพระนามสิ้นพระชนม์ไปราว 15 ปีแล้ว ท่านอาจารย์สถิตย์ เสมานิล ก็หายสาบสูญไปราว 10 ปีก่อนนั้น คงมีชีวิตอยู่ท่านเดียวคืออาจารย์ทวี ทวีวรรธนะ แต่อายุ 70 เศษ สุขภาพก็เริ่มเจ็บออดแอดบ้างแล้ว

ด้วยความร้อนใจเพราะเกรงว่า “ข้อมูลมุขปาฐะ” ที่ผมได้ฟังจากท่านทั้งสาม กับที่ได้ฟังในวันนั้น แตกต่างกันค่อนข้างมาก หากปล่อยให้สรุปไปโดยไม่มีการเสาะค้นมาชำระพิจารณาให้ได้ความจริง ผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ซึ่งร้อยละ 90 เป็นครูบาอาจารย์ อาจจะนำความซึ่งยังไม่ชัดเจนนี้ไปสั่งสอนเผยแพร่ต่อสานุศิษย์ และสาธารณชนได้

พอถึงเวลาซักถามและเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม ผมก็ไม่รอช้าขออนุญาตจากท่านประธานฯ (อธิการบดี วค.นั้น) แล้ว ผมก็ให้ข้อมูลว่า

“เมื่อ 20 ปีก่อน ผมได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้ช่วยพาณิชย์ จังหวัดพิจิตร จึงไปกราบลาท่านอาจารย์สถิตย์ เสมานิล ซึ่งครอบครัวเราเคารพรัก ท่านบ่นว่า แย่เลย เมืองพิจิตรน่ะไม่น่าอยู่หรอกหน้าแล้งก็ร้อนมาก ๆ จนคนเรียกล้อว่า ‘เมืองดับจิต’ หน้าน้ำก็น้ำท่วมเจิ่งไปทุกอำเภอ แต่…ก็ (อาจารย์คงปลอบใจผม) ยังดีกว่าเมืองเพชรบูรณ์ เมื่อก่อนสงครามโลก ถ้าคนต่างถิ่นจะเข้าไปยังเมืองเพชรบูรณ์ ย่อมมีคำเตือนว่าอย่าลืมเตรียม ‘หม้อ (ดิน) ใหม่’ ไปด้วย เพราะจะได้เอาไว้ใส่กระดูกของตนเองกลับมาบ้าน

ผมได้เรียนถามท่านว่า เหตุผลอันแท้จริงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้สร้างเพชรบูรณ์เป็นนครบาลหรือเมืองหลวงสำรองนั้น คืออะไรแน่…? ท่านอาจารย์สถิตย์ชี้แจงว่า เหตุผลที่รัฐบาลแถลง นั่นก็ว่า หนีภัยคุกคามจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ข่าววงในพูดกันว่า เกรง (ภัย) ว่าฝ่ายทหารญี่ปุ่น จะยึดอำนาจ จอมพล ป. เกรงพวกเรา (หนังสือพิมพ์) จะเผลอไปเขียนวิพากษ์วิจารณ์ในประการนี้ จึงให้หลวงอดุลย์ (พลตำรวจเอกอดุลย์ อดุลยเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น) เรียกพวกบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทุกฉบับไปกำชับให้ลงข่าวไปตามที่กรมโฆษณาการของรัฐบาลแถลง ขอให้งดการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้

ตอนนั้นอยู่ในสถานการณ์สงคราม อำนาจอธิบดีกรมตำรวจ ในฐานะเจ้าพนักงานการพิมพ์ตาม พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. 2484 นั้น สั่งปิดหนังสือพิมพ์ได้ทันที แต่ที่จริงพวกเรานักหนังสือพิมพ์ก็มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อประเทศชาติอยู่แล้ว จึงไม่มีใครเขียนวิจารณ์สักคน แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่ลึก ๆ ว่า จอมพล ป. คิดปลีกหนีจากญี่ปุ่นที่กำลังขวักไขว่อยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ ขณะนั้น…”

“ต่อมาผมไปเยี่ยมท่านอาจารย์สถิตย์ ซึ่งระยะหลังพักอยู่เรือนน้อยท้ายบ้านของท่านอาจารย์ทวี ทวีวรรธนะ ทั้งสองท่านกำลังนั่งคุยกันอยู่พอดี ท่านอาจารย์สถิตย์ก็บุ้ยให้ท่านอาจารย์ทวี ช่วยอธิบายยืนยันข้อมูลเรื่องเหตุผลอันแท้จริงที่รัฐบาลจอมพล ป. ไปสร้าง ‘นครบาลเพชรบูรณ์’ ท่านอาจารย์ทวีก็เล่าให้ฟังในฐานะที่ท่านเป็นที่ปรึกษาประจำทำเนียบสามัคคีชัยในขณะนั้น ตรงกันกับข้อมูลเหตุผลที่ผมเคยได้ยินจากท่านอาจารย์สถิตย์ แต่ท่านอาจารย์ทวีอยู่ใกล้ชิดจอมพล ป. จึงมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีก”

“…ตอนนั้น กองทหารญี่ปุ่นเริ่มถูกฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอังกฤษที่ตั้งฐานทัพในอินเดียเริ่มตีโต้ ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดลงเมืองไทยหลายแห่ง ทั้งในกรุงและต่างจังหวัดที่มีกองทหารญี่ปุ่นตั้งอยู่ เสรีไทยสายอังกฤษ เช่น อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ ก็มาปฏิบัติการสื่อสารติดต่อกับ ‘ขบวนการเสรีไทย’ ในประเทศ ทหารญี่ปุ่นถูกก่อกวนรังควานทั่วไป โดยเฉพาะขบวนรถไฟ (สายมรณะ) ที่ลำเลียงเสบียงอาหารเวชภัณฑ์อาวุธยุทโธปกรณ์จากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองกาญจนบุรี มักถูก ‘ขบวนการไทยถีบ’ ลอบเปิดตู้สินค้าระหว่างทางแถวหนองปลาดุก และถีบหีบห่อกล่องลังบรรจุอาหารกระป๋องยาและเครื่องเวชภัณฑ์ลงไป และมีผู้ร่วมขบวนการคอยรับและขนข้าวของเหล่านั้น หลบหนีไปได้อย่างรวดเร็วทุกครั้ง

ญี่ปุ่นพยายามป้องกันและปรามปรามอย่างเฉียบขาด แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงมาเรียกร้องคาดคั้นให้ฝ่ายไทยปราบปราม แต่ก็ไม่ได้ผล จึงเริ่มไม่ไว้วางใจรัฐบาลจอมพล ป. และพยายามล้วงไส้ถึงในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจอมพล ป. และหลวงอดุลย์ฯ (เดชจรัส) คงสังเกตได้ว่าเรื่องอะไรที่ประชุมหารือกันในคณะรัฐมนตรี มักจะรั่วรู้ไปถึงหูญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว ไม่ช้าหลวงอดุลย์ฯ ก็จับกุมรัฐมนตรีลอย (ทำนองรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) คนหนึ่ง ซึ่งนัยว่าฝ่ายสายสืบของหลวงอดุลย์ฯ สืบรู้มาว่าท่านผู้นั้นสนิทชิดชอบกับฝ่ายญี่ปุ่น มีธุรกิจค้าขายกันมาก่อนด้วย”

ปฏิบัติการครั้งนี้ลับเฉียบขาดและรวดเร็ว ตำรวจจับตอนบ่าย ๆ นำไปขังที่สันติบาล ห้ามเยี่ยม กลางดึกนั้นเอง “ผู้ต้องหาก็ฆ่าตัวตายโดยแขวนคอกับซี่กรงห้องขัง” โฆษกกรมตำรวจแถลงข่าวสั้น ๆ ยืนยันการฆ่าตัวเองของผู้ต้องหาซึ่งข้อกล่าวหายังไม่ชัดเจน ยังไม่ทันสอบสวน หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวสั้น ๆ เหมือนกับเป็นเรื่องเล็ก ๆ

แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้วกลับเป็นเรื่องใหญ่ พอนายพลนากามูระ แม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยทราบข่าวการตายของรัฐมนตรีไทย (ซึ่งคณะรัฐมนตรีไทยไม่ค่อยเห็นเป็นเรื่องใหญ่สำคัญอะไรนักหนา) แม่ทัพญี่ปุ่นก็วิ่งโร่ไปตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาลไทยในเช้าวันนั้นทันที

จอมพล ป. ตีหน้าตายออกมารับแม่ทัพญี่ปุ่น ถามว่าท่านแม่ทัพมีเรื่องร้อนอะไรหรือจึงมาพบแต่เช้า? แม่ทัพญี่ปุ่นซึ่งกำลังหน้าบึ้งอารมณ์บูดก็ร้องว่า “ท่านไม่รู้หรือรัฐมนตรีถูกฆ่าตาย?!” จอมพล ป. ตอบอย่างใจเย็นว่าทราบข่าวเมื่อเช้านี้แล้ว กำลังให้คนไปสอบถามข้อเท็จจริงจากหลวงอดุลย์ฯ อยู่ เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของตำรวจและหลวงอดุลย์ฯ ทางทำเนียบรัฐบาลไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง

แม่ทัพญี่ปุ่นรู้สึกตัวว่าผิดท่า จึงปรารภว่าฝ่ายญี่ปุ่นก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาก้าวก่าย แต่เพราะผู้ตายเป็นสหายสนิทกับเรา เราจึงเสียใจและตกใจจึงมารบกวนท่านนายกรัฐมนตรีแต่เช้า ขออภัย และถ้าได้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้วขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นได้รับรู้บ้าง

หลังเหตุการณ์นี้แล้ว จอมพล ป. ก็รู้สึกว่าสายสัมพันธ์ระหว่างตนกับญี่ปุ่นเริ่มตึงเขม็ง พอต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นเชิญผู้นำหรือนายกรัฐมนตรีของมิตรประเทศที่เป็นสหายสงครามกับญี่ปุ่น เช่น ไทย มองโกเลียนอก แมนจูเรีย ฯลฯ ที่เรียกว่า “วงศ์ไพบูลย์แห่งเอเชีย” ไปประชุมที่ญี่ปุ่น จอมพล ป. ถึงไม่กล้าไปประชุมต้องทูลเชิญพระองค์วรรณฯ (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) เสด็จไปประชุมแทน…จอมพล ป. เกรงว่าถ้าญี่ปุ่นบ้าเลือดขึ้นมาถึงขนาดยึดอำนาจในกรุงเทพฯ ตนก็จะหลบออกไปสู้นอกพระนคร จึงไปสร้าง “นครบาลเพชรบูรณ์” ขึ้น ความจริงแอบสร้างก่อนออกพระราชกำหนดซะด้วยซ้ำ

วันหนึ่ง เมื่อผมมีโอกาสได้รับใช้ใกล้ชิดกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในฐานะที่ผม (ตอนนั้น) เป็นกรรมการและเลขาธิการชุดก่อตั้งมูลนิธิ “นราธิปประพันธพงศ์-วรวรรณ” จึงมีโอกาสได้กราบทูลถามหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เสด็จไปแทนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการประชุมที่ญี่ปุ่นของผู้นำกลุ่มประเทศที่ร่วมอยู่ใน “วงศ์ไพบูลย์แห่งเอเชีย”

เสด็จในกรมฯ ทรงเล่าว่า

“…ที่ฉันไปประชุมแทนจอมพล ป. ที่ฐานทัพเรือ เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่นนั้น ฉันไม่ได้อาสาไป เวลานั้นฉันป่วยเป็นไข้มาลาเรีย หมอต้องมาตรวจอาการให้ยากินและฉีดยารักษานอนซมอยู่…”

ขณะนั้น ญี่ปุ่นเริ่มชะงักการบุกในสงคราม มีหน่วยต่อต้านทำงานใต้ดินอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและมิตรประเทศของญี่ปุ่นด้วย ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงต้องการทดสอบความจงรักภักดีของมิตรประเทศที่ร่วมวงศ์ไพบูลย์ จึงเรียกประชุมที่ฐานทัพ เกาะโอกินาวา ดังกล่าว

เผอิญก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีของมองโกเลียนอก ได้รับเชิญไปประชุมที่ญี่ปุ่น แต่ไปไม่ถึงกรุงโตเกียว เครื่องบินตก ตายเสียก่อน สาเหตุก็ลึกลับแต่ลือกันว่า ถูกญี่ปุ่นยิงตกหรือไม่ก็ถูกวางระเบิด เพราะนายกฯ คนนั้นเริ่มไม่เป็นที่ไว้วางใจของญี่ปุ่นแล้ว ก่อนหรือหลังเหตุการณ์นี้เล็กน้อย อัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว (คือ ฯพณฯ ประเสริฐ ธารีสวัสดิ์ น้องชายพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัย) อาศัยเครื่องบินทหารของญี่ปุ่นเดินทางจะมาราชการในไทย เครื่องบินตกตายแถว ๆ เกาะฟอร์โมซา (ไทนานหรือไต้หวันในปัจจุบัน) แต่ข่าวลือที่วงในกรุงเทพฯ ลือกันว่า “ถูกญี่ปุ่นสังหาร!”

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องปกติในเมื่อญี่ปุ่นเชิญนายกรัฐมนตรี เมื่อจอมพล ป. ไม่ไปหรือไปไม่ได้ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีกลาโหม หรือแม้แต่แม่ทัพใหญ่นายทหารเอกก็น่าไปประชุมแทน แต่ไม่มีใครยอมไปเสี่ยง (ตาย) สักคน ที่สุดก็ไปอ้อนวอนเสด็จในกรมฯ เสด็จไปแทนทั้งที่ขณะนั้นทรงเป็นเพียงที่ปรึกษารัฐบาลเท่านั้น ซ้ำยังประชวรบรรทมอยู่เห็น ๆ จึงจำเป็นเสด็จไปด้วยทรงสำนึกต่อภารกิจที่รับผิดชอบต่อประเทศชาติ

ข้อมูล “มุขปาฐะ” ที่ผมได้รับความรู้จากพระโอษฐ์และปากของท่านผู้ใหญ่ผู้รู้เห็นอยู่ในเหตุการณ์ครั้งกระนั้น จึงไม่ตรงกันกับการสรุปผลการสัมมนาตรงสาเหตุ (ที่แท้จริง) ของการสร้าง “นครบาลเพชรบูรณ์” ดังกล่าว

เมื่อผมกล่าวจบ ท่าน รศ.ดร.แถมสุข นุ่มนนท์ ก็ยกมือขออนุญาตและออกมากล่าวว่ากำลังคิดจะออกมาพูดในทำนองเดียวกับที่ผมได้พูดไปถึงเหตุผลที่แท้จริงของจอมพล ป. ในการมาสร้าง “นครบาลเพชรบูรณ์” ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของท่านอาจารย์ ดร.แถมสุข เอง ในเรื่องเกี่ยวกับการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปสร้างเมืองลพบุรี สระบุรี ขึ้นเป็น “เมืองทหาร” นั้น มีเหตุผลที่แท้จริงสอดคล้องกับเหตุผลที่แท้จริงของการสร้าง “นครบาลเพชรบูรณ์” ตามที่ “…คุณศุภกิจ (ผม) ได้กล่าวไปแล้วนั้น…”

ผมจึงขอเสนอเพิ่มเติมว่าในเมื่อข้อมูลในประเด็นสำคัญไม่ตรงกันเช่นนี้ จึงขอร้องและเสนอให้ฝ่ายจัดสัมมนาฯ รีบหาโอกาสไปบันทึกข้อมูล “มุขปาฐะ” จากท่านอาจารย์ทวี (ทวีวรรธนะ) ซึ่งขณะนั้นแม้จะยังมีชีวิตอยู่แต่ก็ชราและสุขภาพเริ่มทรุดโทรมแล้ว

หลังจากนั้นไม่ถึงเดือนผมก็ได้รับคำสั่งย้ายไปตรวจราชการในภาคใต้ ไม่มีโอกาสขึ้นไปที่สถาบันราชภัฏ (วิทยาลัยครู) เพชรบูรณ์ อีก ท่านอาจารย์ทวี ทวีวรรธนะ ก็ถึงแก่กรรมไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปีนี้ (2538) สุขภาพของผมก็ไม่ปกติ ต้องไปนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลถึง 2 หน

ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท จึงขอบันทึกเรื่องนี้ไว้เพื่อมิให้ความจริงในประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปรไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังเช่น เรื่องราวอีกมากมายในอดีตที่คลุมเครือ จึงขออนุญาตฝากไว้ให้นักประวัติศาสตร์ ผู้รู้ผู้มีประสบการณ์และท่านผู้สนใจทุกท่านได้ศึกษาค้นคว้าหาความจริงในเรื่องต่าง ๆ เหล่านั้น นำมาเผยแผ่แก่สาธารณชนได้กระจ่างต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2565