
ผู้เขียน | ศราวิน ปานชัย |
---|---|
เผยแพร่ |
ในระบอบประชาธิปไตยการ “เลือกตั้ง” เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของสิทธิในการมอบความไว้วางใจให้ผู้ที่ตนเองเลือกเข้าไปใช้อำนาจแทนตน เพื่อแก้ไขปัญหาและดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่แนวคิดการปกครองระบอบประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบานขึ้นในยุโรป สิทธิในการเลือกตั้งยังจำกัดอยู่แค่คนส่วนน้อยในสังคม โดยเฉพาะในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแบบประชาธิปไตยของหลายประเทศ อย่าง ฝรั่งเศส ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มได้มีสิทธิมีเสียงเท่ากัน
เกณฑ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในยุคแรก ตั้งแต่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาครั้งแรกใน ค.ศ. 1791 จนกระทั่งถึงการปฏิวัติ ค.ศ. 1848 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเป็น “ผู้ชาย” ที่เสียภาษีให้รัฐ 1,000 ฟรังก์ต่อปี และต้องมีอายุ 30 ปีขึ้นไปเท่านั้น
ผู้มีสิทธิออกเสียงจึงมีเพียง 25% ซึ่งล้วนเป็นคนรวยและชนชั้นสูง ขณะที่ชนชั้นกลางและคนจนไม่มีสิทธิ
ความอึดอัดคับข้องใจของชนชั้นล่างที่ถูกกีดกัน กลายเป็นชนวนนำสู่การปฏิวัติในปี 1848 โค่นล้มพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิป เกิดการปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจากการร่างรัฐธรรมนูญ 1848 ที่กำหนดให้ผู้ชายชาวฝรั่งเศสทุกคนที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปมีสิทธิ “เลือกตั้ง” โดยไม่กำหนดจำนวนเงินภาษีที่เสียให้กับรัฐเช่นก่อนหน้า
แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังไม่ให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง แสดงให้เห็นว่าสังคมฝรั่งเศสยังไม่ยอมรับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ
หลังจากนั้นมีการเรียกร้องสิทธิสตรีเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะประเด็นการออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิง มีการก่อตั้งองค์กร สหภาพฝรั่งเศสเพื่อสิทธิสตรี ใน ค.ศ. 1909 เพื่อเรียกร้องสิทธิด้านต่าง ๆ ของผู้หญิงให้เท่าเทียมผู้ชาย โดยเป้าหมายสำคัญขององค์กรก็คือสิทธิทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง แต่คนจำนวนมากกลับต่อต้าน องค์กรจึงยังไม่บรรลุเป้าหมายข้อนี้
เวลาล่วงมาจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยจากการถูกกองทัพนาซียึดครอง รัฐบาลชั่วคราวฝรั่งเศสได้ประกาศเมื่อวันที่ 21 เมษายน ปี 1944 ให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง แต่กว่าผู้หญิงจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกก็ในการเลือกตั้งเทศบาลในวันที่ 29 เมษายน ปี 1945
จะเห็นได้ว่ากว่าฝรั่งเศสจะสามารถสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้เกิดความเท่าเทียมกับคนทุกกลุ่มในสังคม ต้องใช้เวลาเรียกร้องและต่อสู้นานนับศตวรรษ ถึงจะสามารถสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคขึ้นมาได้
ขณะที่ประเทศไทย นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ฉบับแรกได้รับรองสิทธิการเลือกตั้งทั่วไปของประชาชนอย่างอย่างเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติจากเพศ รายได้ หรือการเสียภาษี และรัฐธรรมนูญรวมทั้งกฎหมายเลือกตั้งหลังจากนั้นทุกฉบับก็รับรองไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- คนฝรั่งเศส ราชวงศ์ฝรั่งเศส บนทางเลือกทางการเมือง
- “ไก่” กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญ (อย่างหนึ่ง) ของฝรั่งเศส ด้วยผลจากการปฏิวัติ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สัญชัย สุวังบุตร และ อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. (2558) ยุโรป ค.ศ. 1815-1918 . กรุงเทพฯ : คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
History of the Constitutional Development in France. Access 19 April 2023 from https://www.yourarticlelibrary.com/essay/history-of-the-constitutional-development-in-france/44283
รัฐธรรมนูญฉบับแรก พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เข้าถึงเมื่อ 19 เมษายน 2566 จาก https://parliamentmuseum.go.th/constitution/constitution-1-2475.html
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 เมษายน 2566