คนฝรั่งเศส ราชวงศ์ฝรั่งเศส บนทางเลือกทางการเมือง

พจะเจ้านโปเลียนที่ 3 กษัตริย์องค์สุดท้ายของฝรั่งเศส

บทความนี้คัดย่อจาก “ทำไมคนฝรั่งเศส จึงปิดบังประวัติศาสตร์ตัวเอง?” (ศิลปวัฒนธรรม, เดือนกรกฎาคม 2556) ที่ ไกรฤกษ์ นานา ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้  โดยคัดมาเฉพาะในส่วนของการตัดสินใจเลือกรูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศสในช่วง ค.ศ. 1789-1871 ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์บูร์บง, โบนาปาร์ต และเออร์เลอองส์ ดังนี้


 

ในปี ค.ศ. 1789 การล้มล้างสมบูรณาญาสิทธิราชในฝรั่งเศสสั่นสะเทือนประเทศทั่วโลกที่นับถือพระมหากษัตริย์และกำจัดอภิสิทธิ์ของราชวงศ์ที่เคยครองอำนาจเหนือชนชั้นอื่นๆ เพราะชาติกำเนิดสิทธิและเสียงของชนชั้นรากหญ้าที่ไม่เคยมีในสังคมถือโอกาสท้าทายอำนาจของชนชั้นศักดินาอย่างรุนแรง

ปัจจัยหลักที่ของการปฏิวัติครั้งนั้น เกิดขึ้นจากภาวะวิกฤติของการหมดศรัทธาทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจที่ใกล้ล้มละลาย จนกระทั่งรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้อันเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมฝรั่งเศสเอง สืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจจนเกินขอบเขตและความเหลื่อมล้ำทางฐานันดรของระบอบศักดินาที่สะสมมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ค.ศ. 1643-1715) ทำให้ฝรั่งเศสพัวพันและหมกมุ่นอยู่แต่กับสงครามขยายอำนาจ เรื่อยมาจนถึงสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (ค.ศ. 1776-1792) อันฟุ้งเฟ้อและฝ่ายปกครองไม่เหลียวแลความตกทุกข์ได้ยากของประชาชน

ความอดทนของพลเมืองสิ้นสุดลงภายหลังสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกันระหว่างปี ค.ศ. 1778-1783 เมื่อฝรั่งเศสหันไปช่วยฝ่ายคนอเมริกันแก้แค้นคนอังกฤษ ในการนี้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลในการช่วยอาณานิคม (อเมริกา) ทำสงคราม…ทำให้หนี้สินของฝรั่งเศสเพิ่มพูนขึ้นเป็นอันมาก แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ทรงปกปิดสถานะทางการเงินที่แท้จริง…

ขณะที่รัฐบาลอยู่ในภาวะใกล้ล้มละลาย เสนาบดีคลังของหลุยส์ที่ 16 จึงเสนอนโยบายปฏิรูปการภาษีอากรเพื่อหารายได้เข้าพระคลัง ทว่าโครงสร้างสังคมแบบชนชั้นในฝรั่งเศสซึ่งแตกต่างกันราวฟ้ากับดินระหว่างชนชั้นขุนนางที่มีชาติกำเนิดสูงกับประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นชาวนาและผู้ใช้แรงงานไม่อาจสนองตอบนโยบายเพิ่มรายได้ของรัฐบาลได้

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงมีพระบัญชาให้เปิดประชุมสภาฐานันดรขึ้น ใน ค.ศ. 1788 เพื่อหาทางออก ในขณะเดียวกันก็ทรงเรียกทหารมาประจำการรอบกรุงปารีสและรอบพระราชวังแวร์ซายส์เพื่อป้องกันเหตุร้าย ชาวปารีสพากันตื่นตกใจกับสภาวการณ์ที่ไม่ปกตินี้และพากันเชื่อว่ากษัตริย์ของตนจะยุบสภาและจับกุมผู้นำของพวกตน จึงเกิดความโกลาหลขึ้นในปารีส…

ปัญหาด้านเศรษฐกิจเนื่องจากกษัตริย์ขาดทศพิธราชธรรมและความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของผู้ยากไร้ การกดขี่ข่มเหงของภาครัฐ บวกกับความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนเกิดขึ้นในขณะที่ราชสำนักย้ายที่พำนักจากเมืองหลวงไปใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ณ เมืองแวย์ซายส์เป็นสาเหตุของแรงกดดัน ทำให้ชาวปารีสไม่พอใจและต่อต้านราชบัลลังก์ 

ต่อมาเมื่อเกิดข่าวลือว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชน จึงเกิดเหตุการณ์ที่พวกหัวรุนแรงปลุกระดมมวลชนเข้าทำลายคุกบาสตีย์ ซึ่งกักขังพวกนักโทษการเมือง ในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 อันนับเป็นเหตุการณ์แรกของการปฏิวัติฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 1791 รัฐบาลเฉพาะกาลได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยสถาปนาระบอบกษัตริย์ไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ไม่ทรงยอมรับ…แต่ในที่สุดก็ต้องทรงตกเป็นจำเลยของสังคมและเป็นเหยื่อของสถานการณ์ โดยทรงถูกพวกปฏิวัติกล่าวหาพระองค์ว่าเป็นผู้ทรยศต่อประเทศ ทรงถูกจับกุมและถูกตัดสินให้ปลงพระชนม์ด้วยกิโยทีน ในวันที่ 21 มกราคม 1793 [1]

แม้นว่าจะล้มล้างสมบูรณาญาสิทธิราชลงได้ แต่จิตวิญญาณของระบอบสาธารณรัฐและการกระจายอำนาจของคณะปฏิวัติที่ขาดประสบการณ์…

ทวีปยุโรปซึ่งยังเลื่อมใสศรัทธาในสมบูรณาญาสิทธิราช ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำประเทศและศูนย์รวมใจของปวงชน เป็นสิ่งที่คนโหยหาและอยากให้กลับคืนมาท่ามกลางความอ่อนแอ และขาดเสถียรภาพของคณะราษฏร์ เร่งเร้าให้นายพลโบนาปาร์ต ซึ่งมีกองทัพหนุนหลังอยู่ทำรัฐประหารแล้วปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดินโปเลียน อันเป็นการรื้อฟื้นสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้นมาอีกในยามที่ชาติต้องการ

แต่การที่พระเจ้านโปเลียนทรงเป็นนักการทหารและนักรบ ผลักดันให้นโยบายต่างประเทศของฝรั่งเศสดำเนินไปในลักษณะคุกคามยุโรปมากกว่ายุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระองค์จึงทรงถูกต่อต้านอย่างหนักจากภายนอกประเทศโดยเฉพาะการล่วงล้ำเข้าไปในอียิปต์ ซีเรีย และมอลตา ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของมหาอำนาจใหญ่คืออังกฤษและรัสเซีย

ความพยายามของนโปเลียนในการขยายอำนาจและอิทธิพลเข้าปกครองประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรปส่งผลให้ประเทศทั้งหลายรวมตัวกันต่อต้านพระองค์เกิดเป็นสงครามสัมพันธมิตรถึง 6 ครั้ง การศึกครั้งสุดท้ายคือสงครามวอเตอร์ลู ใน ค.ศ. 1815 ทรงพบกับความปราชัยอย่างย่อยยับและถูกเนรเทศไปอยู่บนเกาะเซนต์เฮเลนาจนสิ้นพระชนม์บนเกาะแห่งนี้

ปี ค.ศ. 1815 เกิดปรากฎการณ์ที่สมบูรณาญาสิทธิราชแข่งกันเพื่อจะรักษาฐานอำนาจไว้อย่างชัดเจน หลังจากราชวงศ์โบนาปาร์ต (นโปเลียน) เพลี่ยงพล้ำลง ตัวเลือกใหม่จากสายราชวงศ์บูร์บง (พระเจ้าหลุยส์) ก็กลับเข้ามาทวงคืนสิทธิ์การสืบราชบัลลังก์อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 (พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16) ทรงกลับมาครองบัลลังก์ฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1815

พระองค์ทรงปรับปรุงแนวทางการปกครองให้ยืดหยุ่นขึ้นด้วยการประนีประนอมกับกลุ่มนักการเมืองหัวเสรีนิยมที่ต้องการรักษาชัยชนะของการปฏิวัติฝรั่งเศสกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม…ดังนั้นในระหว่างปี ค.ศ. 1815-1830 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 จึงทรงมีภารกิจหลักในการรักษาราชบัลลังก์ไว้ให้ได้ และดูเหมือนว่าจะทรงทำสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่พระองค์ก็มาด่วนสวรรคตไปเสียก่อนในปี 1824 ทว่าพวกนิยมกษัตริย์ก็ยังสามารถผลักดันกษัตริย์องค์ใหม่ พระนามว่าพระเจ้าชาร์ลที่ 10 (พระอนุชาองค์เล็กของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16-ไกรฤกษ์ นานา) ให้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อไป กษัตริย์องค์ใหม่นี้ไม่โปรดแนวคิดเสรีนิยมหรือพวกต่อต้านสถาบันเลย ซึ่งจะทำให้ราชสำนักตกต่ำลงอีกครั้ง

ทรงยืนยันที่จะฟื้นฟูสถาบันและคืนอภิสิทธิ์ต่างๆ แก่ชนชั้นสูง และพวกพระสงฆ์ที่เคยมีมาก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1787 ทั้งยังต่อต้านการให้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคแก่ประชาชนตามแนวคิดใหม่

พระเจ้าชาร์ลที่ 10 ทรงออกพระราชกำหนดฉบับหนึ่งในเดือนกรกฎาคม 1830 มีลักษณะลิดรอนสิทธิ์ของพลเมืองโดยขู่สำทับว่า หากถูกต่อต้านก็จะใช้กำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ คำขู่นี้ปลุกเร้าให้ประชาชนออกมาประท้วงตามท้องถนน

รัฐบาลทำตามคำขู่โดยส่งทหารออกสลายกลุ่มผู้ชุมนุมจนเกิดการปะทะกันขึ้นและบานปลายไปยังจังหวัดต่างๆ รอบกรุงปารีส พระเจ้าชาร์ลที่ 10 ทรงตัดช่องน้อยแต่พอตัวชิงสละราชสมบัติ ในวันที่ 31 กรกฎาคม 1830 แล้วเสด็จลี้ภัยออกประเทศ นับเป็นวันสิ้นสุดของราชวงศ์บูรบองที่จะไม่มีโอกาสหวนคืนบัลลังค์อีกเลย

แม้นว่าคนฝรั่งเศสจะสองจิตรสองใจต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชกับปัญหาที่สะสมมา…แต่แรงกดดันจากชนชั้นกลางที่นิยมกษัตริย์และควบคุมระบบเศรษฐกิจของประเทศในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่แรงงานจากชนชั้นรากหญ้าจำเป็นต้องพึ่งพา ส่งผลให้ความมั่นคงของประเทศที่มีกษัตริย์ปกครองยังจำเป็นต้องรักษาไว้ ทางออกก็คือต้องหาตัวเลือกใหม่จากราชสกุลสายอื่นที่มิใช่ราชวงศ์บูร์บงเข้ามาแทนที่

ตัวเลือกที่เหลืออยู่คือราชสกุลสายกลางชื่อ “ราชวงศ์ออร์เลอองส์” (ORLEANS) ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์…และไม่เคยอยู่ในสายตาใคร…

ออร์เลอองส์เป็นราชสกุลสายทหารที่ไม่ค่อยจะลงรอยและมักจะขัดแย้งมาตลอดกับราชวงศ์บูร์บงตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แล้ว บทบาทของราชสกุลนี้โดดเด่นมากในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เมื่อพวกปฏิวัติโค่นล้มราชบัลลังค์ใน ค.ศ. 1789 นั้น ท่านดุ๊กแห่งออร์เลอองส์ ต้นราชสกุลได้ช่วยเหลือและให้ความร่วมมือกับคณะปฏิวัติเป็นอย่างดี ถึงขนาดช่วยออกเสียงให้สำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ด้วย บทบาทและฐานะของเจ้าชายหลุยส์ ฟิลิป รัชทายาทจากสายออร์เลอองส์จึงเป็นตัวเลือกชั้นดีในยุคสิ้นราชวงศ์บูรบอง

คณะปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยชนชั้นกลางลงไปถึงชนชั้นรากหญ้าจึงพร้อมใจกันยกเจ้าชายหลุยส์ ฟิลิป ขึ้นเป็นพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป ใน ค.ศ. 1830…

ในช่วงต้นรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปทรงฉลาดพอที่จะหันมาเอาใจพวกชนชั้นกลาง รวมทั้งพวกสาธารณรัฐนิยม เพราะถือว่ามีส่วนช่วยให้พระองค์ได้เสวยราชสมบัติ…

…โดยหันไปสนับสนุนนโยบายการค้าเสรีที่เปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางสามารถสร้างฐานะที่มั่งคั่งและมีที่ยืนในสังคม ตามกระแสของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่แพร่ออกไปทั่วยุโรป แต่กลับเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานและจำกัดสวัสดิการต่างๆ ปล่อยให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างชนชั้นขยายตัวมากขึ้น

……..

ความไม่พอใจในนโยบายของพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป ทวีความรุนแรงขึ้นอีกช่วงวิกฤติทางเกษตรตกต่ำระหว่าง ค.ศ. 1844-1847 ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารเป็นเวลานาน ข้าวของมีราคาแพง และเกิดภาวะคนว่างงานทั่วประเทศ…เหตุการณ์จึงทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก สถานการณ์พลิกผันไปใหญ่โตเมื่อทหารส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะทำร้ายฝูงชน แล้วหันไปเข้าข้างประชาชนต่อต้านรัฐบาลเสียเอง [2]

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1848 พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป ทรงประกาศสละราชสมบัติ และหลบหนีออกนอกประเทศ ทิ้งปัญหาต่างๆ ไว้เบื้องหลัง นับแต่นั้นมาคนฝรั่งเศสก็กดดันให้บรรดาหัวหน้าผู้นำการเมืองก๊กต่างๆ ยกเลิกระบอบกษัตริย์ แล้วให้สามัญชนปกครองกันเองในระบอบสาธารณรัฐอย่างเด็ดขาด

……..

นโปเลียนที่ 3 แรงบันดาลใจให้ลืมอดีต

เรื่อราวของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 นั้น เป็น “เหรียญอีกด้านหนึ่ง” ของพงศาวดารฝรั่งเศสที่ถูกลืม และเต็มไปด้วยความเหลือเชื่อของเจ้านายตกอับที่สามารถลุกขึ้นมารับบทพระมหากษัตริย์จำเป็นได้ในชั่วข้ามคืน เหมือนคำเปรียบเปรยว่าชีวิตจริงยิ่งกว่าละครอะไรทำนองนั้น

นโปเลียนที่ 3 ทรงเป็นผู้สร้างตำนานใหม่ให้กับบทบาทของกษัตริย์ที่เคยตกอับถึงขีดต่ำสุดให้ผงาดขึ้นมาเป็นหลักชัยของแผ่นดินได้อีกครั้ง

พระองค์ทรงประสูติขึ้นพร้อมภูมิหลังอันสูงศักดิ์ที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1808 เป็นพระโอรสองค์ที่ 3 ของเจ้าชายหลุยส์ โบนาปาต ซึ่งเป็นพระอนุชาของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ทรงมีพระนามว่าเจ้าชายหลุยส์ นโปเลียน เช่นเดียวกับพระชนก

…ในวัยหนุ่มพระองค์ทรงพำนักอยู่นอกฝรั่งเศสทำให้มีโอกาสเดินทางไปทั่วยุโรปเป็นเหตุให้ทรงได้ซึมซับความคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม ชาตินิยม และประชาธิปไตยจากประเทศต่างๆ

ต่อมาก็ทรงเกิดความคิดที่จะรื้อฟื้นราชวงศ์โบนาปาร์ตและสามารถชักจูงพวกที่ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์โบนาปาร์ต (เรียกพวกโบนาปาติส – ผู้เขียน) ให้ล้มรัชกาลของพระเจ้าหลุยส์ฟิลิปแห่งราชวงศ์ออร์เลอองส์ ถึง 2 ครั้ง  ใน ค.ศ. 1836 และ 1840 แต่ไม่สำเร็จ หลังจากความพยายามในครั้งที่ 2 ก็ทรงถูกจับกุม แต่ก็ทรงหลบหนีออกมาจากที่คุมขังได้…

โอกาสมาถึงพระองค์อีกครั้งหนึ่งเมื่อเกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศสปลายเดือนกุมภาพันธ์ 1848 กดดันให้พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปต้องลงจากราชบัลลังก์ และมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดรูปแบบการปกครองของฝรั่งเศสตามกระแสใหม่ โดยแยกอำนาจบริหารออกเป็นอิสระจากสภาขุนนาง…และได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก ตามความต้องการของประชาชน

ช่วงนี้เองที่เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียน ทรงตระหนักถึงโอกาสที่จะหวนคืนบัลลังก์ จึงกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งดังกล่าว และก็สำเร็จผลได้รับเลือกเป็น “ประธานาธิบดี” แห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นในเดือนธันวาคม 1848 ก็เพราะเกียรติประวัติของพระเจ้านโปเลียนที่ 1 มีอิทธิพลเตือนใจชาวฝรั่งเศสให้รำลึกถึงคุณงามความดีของราชวงศ์โบนาปาร์ต

……..

ในขณะวางแผนที่จะรื้อฟื้นสมบูรณาญาสิทธิราชโดยปราศจากการรับรู้ของรัฐบาลสามัญชนโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งวันที่ 2 ธันวาคม 1851 ซึ่งเป็นวันครบรอบชัยชนะของนโปเลียนที่ 1 ในการรบที่สมรภูมิเอาส์เทอลิตซ์ ประธานาธิบดีหลุยส์ นโปเลียนถือโอกาสทำรัฐประหารตนเอง ประกาศตัวขึ้นเป็นจักรพรรดิหน้าตาเฉย ส่งผลให้ฝรั่งเศสกลับมาใช้ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชอีกครั้งหนึ่ง

……..

ทว่าผลงานของนโปเลียนที่ 3 ในอีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้ากลับพิสูจน์ว่าพระองค์มิใช่นักรบผู้สามารถแบบเสด็จลุงเลย และนโยบายต่างประเทศที่ตอนแรกดูน่าเชื่อถือกลับลงเอยแบบล้มเหลวและไร้แผนสำรองรองรับ ส่งผลให้ฝรั่งเศสมีศัตรูมากขึ้น และศัตรูจากภายอกกลายเป็นปัจจัยใหม่ที่บ่อนทำลายเสถียรภาพของราชบัลลังค์มากกว่าศัตรูภายในที่เคยรุมเร้าความมั่นคงของระบอบกษัตริย์

การแทรกแซงปัญหาการรวมชาติอิตาลี ใน ค.ศ. 1861 เป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่ผิดพลาด…ทำให้ถูกปลงพระชนม์ถึง 3 ครั้ง และถึงแม้จะรอดตายอย่างปาฎิหารย์แต่ก็ไม่ทรงเข็ดหลาบ

ใน ค.ศ. 1863 ก็ทรงเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของรัสเซีย โดยหันไปสนับสนุนชาวโปล (โปแลนด์) ก่อกบฏต่อรัฐบาล แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ นับจากนี้ความสัมพันธ์ของฝรั่งเศสกับรัสเซียเริ่มเสื่อมทรามลง…

ความพลาดพลั้งครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1870 เมื่อพระองค์เข้าไปแทรกแซงปัญหาการสืบราชบัลลังก์ในสเปน เนื่องจากสเปนได้เชิญเจ้าชายเลโอโปลด์ พระญาติของพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งปรัสเซียให้ไปครองแผ่นดินสเปน แต่ถูกนโปเลียนที่ 3 คัดค้านและต่อต้านเพราะจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของฝรั่งเศส นโปเลียนที่ 3 ประท้วงอย่างรุนแรงและส่งราชฑูตไปกดดันพระเจ้าวิลเลียมที่ 1

……..

[จนนำไปสู่] สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (ค.ศ. 1870-1871) …ฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างยับเยิน พวกสาธารณรัฐนิยมในปารีสฉวยโอกาสทำการปฏิวัติล้มราชบัลลังก์นโปเลียนที่ 3 แล้วจัดตั้งระบอบสาธารณรัฐขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยโจมตีและประนามนโปเลียนที่ 3 ว่า เป็นต้นเหตุของความพ่ายแพ้และอับจน ทรงถูกจับและเนรเทศออกนอกประเทศอย่างน่าเวทนา คุณความดีของราชวงศ์โปนาปาตลบเลือนออกไปจากหัวใจของประชาชนจนหมดสิ้น [3]

ในที่สุดคนฝรั่งเศสก็หมดความอดทนกับการลองผิดลองถูก

พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ทรงถูกกองทัพปรัสเซียจับกุมคุมขังอยู่ระยะหนึ่ง แต่ต่อมาก็ได้รับการปลดปล่อยและถูกเนรเทศให้ไปประทับลี้ภัยอยู่ในอังกฤษ ภายใต้พระบรมราชานุเคราะห์ของพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งเป็นพระสหายเก่า…

…ถึงแม้ชาวฝรั่งเศสจะรับไม่ได้กับความพ่ายแพ้ของนโปเลียนที่ 3 และโค่นล้มราชบัลลังค์ลงได้ ทว่าความเป็นจักรพรรดิก็ยังอยู่ มิได้ถูกถอดถอนไปด้วย และราชวงศ์ยุโรปทั้งหลายก็ยังเคารพนับถือนโปเลียนที่ 3 อย่างออกนอกหน้า…แต่ชาวฝรั่งเศสกลับหันหลังให้และไม่ต้องการรับรู้เกี่ยวกับกษัตริย์พลัดแผ่นดินของตนเองอีกต่อไป

นโปเลียนที่ 3 ทรงดำเนินพระชนม์ชีพแบบเรียบง่ายและสมถะ…แต่พระอาการประชวรจากพระโรคเก่า…เสด็จสวรรคตด้วยพระชนม์เพียง 65 พรรษา ภายหลังประทับลี้ภัยอยู่ในอังกฤษเพียง 2 ปี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 1873

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ชาคริต ชุ่มวัฒนะ, FRENCH REVOLUTION, สารานุกรมประวัติศาสตร์สากล, ยุโรป เล่ม 3, ราชบัณฑิตสถาน 2543

[2] อนันต์ชัย เลาหะพันธุ, FRANCE, SECOND EMPIRE OF, สารานุกรมประวัติศาสตร์ สากล ยุโรป เล่ม 3, ราชบัณฑิตยสถาน 2543

[3] เพ็ญศรี ดุ๊ก, BONAPARTE, CHARLES LOUIS NAPOLEON, สารานุกรมประวัติศาสตร์ สากล, ยุโรป เล่ม 1, ราชบัณฑิตยสถาน 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2565