“พระร่วง” ลูกนางนาค สะท้อนสัมพันธ์ร่วมเมืองน่านและกลุ่มชนลุ่มน้ำโขง

จารึก ปู่ขุนจิตขุนจอด
จารึกปู่ขุนจิตขุนจอด (หลักที่ 45) พ.ศ. 1935

เปิดตำนาน “พระร่วง” ลูกนางนาค ใน พระราชพงศาวดารเหนือ สะท้อนสัมพันธ์ร่วม เมืองน่าน และ กลุ่มชนลุ่มน้ำโขง

ตํานาน “พระร่วง” ลูกนางนาค

หลักฐานประเภทตำนานหลายฉบับระบุว่า พระร่วง เป็นลูกนางนาค เอกสารเก่าสุดที่พบขณะนี้คือ “พระราชพงศาวดารเหนือ” พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รับสั่งให้พระวิเชียรปรีชา (น้อย) รวบรวมหนังสือหลายเรื่องที่มีมาแต่ครั้งกรุงเก่ามาเรียบเรียงไว้ในที่เดียวกัน

ตํานานเรื่องนี้กล่าวถึงพระร่วง ใน 2 ตอน คือ “พระร่วงอรุณราชกุมารเมือง สวรรคโลก” ซึ่งเป็นลูกนางนาค และ “พระร่วง เมืองสุโขทัย” บุตรนายคงเครานายกองส่วยน้ำเมืองละโว้

เรื่องพระร่วงอรุณราชกุมาร มีใจความโดยสังเขปว่า พระยาอภัยคามินีเสวยราชย์อยู่ในเมืองหริภุญชัย ต่อมาไปจำศีลที่เขาใหญ่ ทันใดนั้น “จึงร้อนถึงอาสน์นางนาคอยู่มิได้ ก็ขึ้นมาในภูเขาใหญ่นั้น ก็มาพบพระยาอยู่จำศีล เธอก็มาเสพเมถุน ด้วยนางนาค” [1] ทั้งสองอยู่กินด้วยกัน 7 วัน นางนาคจะลากลับบาดาล พระยาอภัยคามินีจึงมอบผ้ารัตนกัมพลและพระธำมรงค์ไว้ให้นางนาค ต่อมาพระยาอภัยคามินีเสด็จกลับเมือง ส่วนนางนาคคลอดบุตรทิ้งไว้ที่ภูเขานั้น พร้อมกับทิ้งผ้ารัตนกัมพลและพระธำมรงค์เอาไว้ ขณะนั้นนายพรานออกมาหาเนื้อในป่า มาพบกุมารจึงเก็บไปเลี้ยง

วันหนึ่งพระยาอภัยคามินีเกณฑ์ชาวบ้านมาสร้างพระมหาปราสาท นายพรานถูกเกณฑ์จึงพากุมารนั้นมาด้วย และให้กุมารนั่งใต้เงาพระมหาปราสาท ปรากฏว่าพระมหาปราสาท “ก็โอนไปเป็นหลายที” พระยาอภัยคามินีสงสัยจึงซักถามนายพราน และเห็นผ้ากับพระธำมรงค์ ก็จำได้ว่าเป็นโอรสของตน จึงรับกุมารมาเลี้ยงดูและให้ชื่อว่า “เจ้าอรุณราชกุมาร” และตั้งให้เป็นพระยาร่วงครองเมืองสัชนาไลย

พระราชพงศาวดารเหนือกล่าวถึง “วีรกรรม” ของพระร่วงอรุณราชกุมารไว้ว่า เป็นผู้ลบศักราช ชุมนุมพระสงฆ์ทําตัวหนังสือ ยกกองทัพเรือไปเมืองจีน และเป็นผู้มีวาจาสิทธิ์

“พระยาร่วงขณะนั้นคะนองนัก มักเล่นเบี้ยเล่นว่าว ไม่ถือตัว ว่าเป็นท้าวเป็นพระยาเสด็จไปไหนก็ไปคนหนึ่ง คนเดียว แลพระองค์เจ้าก็รู้ทั้งบังเหลื่อม รู้จักไตรเพททุกประการ ว่าให้ตายก็ตายเอง ว่าให้เป็นก็เป็นเอง อันหนึ่งขอมผุดขึ้นมาแล้วก็กลายเป็นหินแลง แลขอมก็ขึ้นไม่ได้ด้วยวาจาสัจแห่งพระองค์ ๆ ได้ทำบุญแต่ชาติก่อนมา แลเดชะแก้วอุทกประสาทพระยากรุงจีนหากมาให้แก่พระองค์ ๆ จะ ไปได้ 7 วัน น้ำก็มีเสวยก็ได้” [2]

ต่อมาพระยาร่วงองค์นี้เสด็จไปยังเมืองสัชนาไลย ลงไปอาบน้ำที่แก่งหลวง แล้วอันตรธานหายไปไม่ปรากฏ

เรื่องราวของพระร่วงลูกนางนาค ปรากฏในเอกสารหลายแห่ง ส่วนใหญ่มีโครงเรื่องอย่างเดียวกัน แตกต่างเพียงรายละเอียดบางประการ ได้แก่ เรื่องพระร่วงวาจาสิทธิ์ ในจุลยุทธการวงศ์ ความเรียง (ตอนต้น) ระบุว่าบิดาของพระร่วงมีพระนามว่า “พระเจ้าศรีธรรมโศกราช” และหลังจากสมพาสกับนางนาคแล้ว สัญญาว่าจะมารับแต่กลับลืมสัญญา นางนาคจึงสำรอกต่อมโลหิตไว้ก่อนลงไปเมืองบาดาล คางคกตัวหนึ่งมากินต่อมโลหิต ทนพิษนาคไม่ไหวก็ถึงแก่ความตาย แต่กุมารไม่ตายจึงอาศัยอยู่ในร่างคางคก

ต่อมาตายายเก็บไปเลี้ยง เมื่อจับใส่ข้องปรากฏว่า คางคกร่วง ๆ หล่น ๆ ออกมาโดยตลอด จึงให้ชื่อว่า “ออร่วง” กุมารนี้ออกมาจากร่างแล้วก็หาอาหารมาปรนนิบัติตายาย ตายายได้โอกาสก็เผาร่างคางคกนั้น (สังเกตได้ว่าพระร่วงลูกนางนาคฉบับนี้คล้ายคลึงกับนิทานไท-ลาวเรื่องนางอุทัยเทวี) ในท้ายเรื่องระบุว่าพระร่วงองค์นี้ลาขุนนางจะไปอาบน้ำที่แก่งหลวงเมืองสวรรคโลก ถ้าไม่เห็นพระองค์แล้วให้ขุนนางทั้งปวงยกเจ้ารามราชบุตรขึ้นครองราชสมบัติ

ในจุลยุทธการวงศ์ระบุว่าพระร่วงเสด็จไปเยี่ยมมารดาในนาคพิภพ ความว่า “ชะรอยพระองค์ระลึกถึงพระชนนีมารดาพระญาติพระวงศาอันอยู่ในนาคพิภพ พระจะลงไปเยี่ยมเยือนแล้วจะกลับมาหรือไม่กลับมาประการใดก็ไม่แจ้ง” [3] เป็นการเน้นย้ำว่าพระร่วงมีเชื้อสายของนาค

นอกจากนี้ในคำให้การชาวกรุงเก่า ยังระบุถึงตำนานพระร่วงลูกนางนาค โดยกล่าวว่าพระจันทรกุมาร โอรสพระเจ้าสุริยราชา แห่งเมืองสุโขทัย เสด็จออกประพาสป่าแล้วเจอนางนาค จึง “อภิรมย์ด้วยนางนั้น” ต่อมานางนาคตั้งท้องสิบเดือน ก็ไปตกฟองไข่ไว้ในไร่อ้อยของตายายคู่หนึ่ง ตายายนั้นจึงเก็บมาไว้และตั้งชื่อกุมารว่าพระร่วง [4]

อนึ่ง ในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับพระองค์นพรัตน์ (เรียบเรียงเมื่อ พ.ศ. 2420 ในสมัยสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4) ยังกล่าวถึงเรื่องพระร่วงลูกนางนาคไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระอุไทยราชยกนางนาคเป็นพระอัครมเหสี ต่อมาประสูติพระราชโอรสออกมาเป็นฟองไข่ แต่โบราณถือว่า “เป็นเสนียดจัญไร” จึงนำไปฝังยังหาดทราย นายคงเคราซึ่งเป็นนายกองส่วยน้ำเมืองละโว้ เจอฟองไข่นั้นฟักออกมาเป็นคนจึงเก็บมาเลี้ยง ให้ชื่อเด็กนั้นว่านายร่วง

ภายหลังนางนาค มเหสีพระบาทสมเด็จพระอุไทยราช ประสูติพระราชกุมารออกมาเป็นมนุษย์ มีนามว่าพระปทุมกุมาร ต่อมาคือพระเจ้าปทุมสุริยวงษ์ [5] การนําเรื่องพระร่วงมาเชื่อมโยงกับวงศ์กษัตริย์กัมพูชาจึงเป็นภาพสะท้อนอย่างหนึ่งว่าสุโขทัยมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับราชสำนักเมืองพระนคร

นาคที่ปรากฏในตำนานโดยมากมักจะสื่อถึงชนพื้นเมืองดั้งเดิม ดังจะเห็นได้จากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ที่มักจะกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างศาสนาพุทธกับความเชื่อดั้งเดิมผ่านพระพุทธเจ้าที่เสด็จมายังท้องถิ่นนั้น ๆ และมีการประลองฤทธิ์กับพญานาคซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชนพื้นเมืองดั้งเดิม ในขณะเดียวกัน นาคยังหมายถึงสัญลักษณ์สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำกลุ่มชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนลุ่มแม่น้ำโขงที่มีเรื่องนาคอยู่ในตำนานและเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ดังเช่น เรื่องนาคทั้งเจ็ดมาฟังธรรมจากพระฤาษีสองพี่น้องตอนตั้งเมืองเชียงดงเชียงทอง (หลวงพระบาง) เป็นเหตุให้เมืองนี้มีนามว่า “ศรีสัตนาค” หรือเรื่องนาคสร้างเมืองเวียงจันทน์ เป็นต้น [6]

เรื่อง “พระร่วง” ลูกนางนาคนี้ อาจเชื่อมโยงได้กับความสัมพันธ์ระหว่าง สุโขทัย และ เมืองน่าน ซึ่งในตำนานของบรรพกษัตริย์ทั้ง 2 ฝ่ายนั้นมีการอธิบายว่าโคตรวงศ์สืบเชื้อสายมาจากนาค ตำนานพื้นเมืองน่าน กล่าวว่า “ขุนนุ่น ขุนฟอง” โอรสบุญธรรมของ พญาภูคา มีกำเนิดมาจากฟองไข่นาค ดังนี้

ยังมีพรานป่าผู้ 1 อยู่ยังเมืองพูคา ยังมีใน วัน 1 พรานป่าจระเดินไปล่าป่าขึ้นเมื่อคอยพูคา มันไปตามรอยเนื้อขึ้นไป มันหลงป่า ขึ้นเมื่อถึงจอมดอยพูคามันหันร่มไม้ต้น 1 งามจึงเข้าไปสู่ร่มไม้ต้นนั้น ใหญ่ประหมานเท่าลูกหมากพร้าว พรานป่าก็เอาเมื่อถวายพระญาภูคา ซื้อรักษาไว้ บ่นานเท่าใดไข่ 2 ลูกนั้น ก็ออกมาเป็นผู้ชายทั้ง 2 พระญาก็เลี้ยงไว้เอาเป็นลูกตน พระญาก็รักสองเจ้าพี่น้องเสมอลูกคนแล เจ้าพี่น้องใหญ่ขึ้นมาพระญาจึงใส่ชื่อเจ้าทั้ง 2 พี่น้อง พี่ชื่อว่าขุนนุ่น น้องนั้นชื่อว่า ขุนฟองนั้นแล [7]

เมื่อขุนทั้งสองเจริญวัย พญาภูคาให้ขุนนุ่นไปปกครองเมืองจันทบุรี เพื่อปกครองพวกลาว ส่วนขุนฟองให้ไปครองเมืองปัว เพื่อปกครองพวกกาว สําหรับเมืองจันทบุรีที่กล่าวถึงนั้น หมายถึงเมืองเวียงจันทน์ แต่ สรัสวดี อ๋องสกุล ตรวจสอบจากข้อมูลเมืองจันทบุรีที่ระบุไว้ในตํานานนางเกลือพบว่า น่าจะหมายถึงเมืองหลวงพระบางมากกว่าเวียงจันทน์ [8]

จารึก ปู่ขุนจิตขุนจอด
จารึกปู่ขุนจิตขุนจอด (หลักที่ 45) พ.ศ. 1935 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2565)

จารึกปู่ขุนจิตขุนจอดกล่าวถึงบรรพบุรุษเมืองน่านที่เชิญมาเป็นพยานในการสาบานระหว่างสุโขทัยกับน่านเมื่อ พ.ศ. 1935 ไว้ว่า

“…ปู่พระยา ปู่เริง ปู่มุง ปูพอง ปู่ฟ้าฟื้น…..(ผ) กอง ปู่พระยาคําฟู…. (พระยา) ผากองเท่านี้ พงศ์ กาว(ผี)สิทธิแล….”

ประเสริฐ ณ นคร สันนิษฐานว่า ปู่มุง ปู่พอง น่าจะตรงกับขุนนุ่นขุนฟองในตำนานพื้นเมืองน่าน [9] และเมืองน่านอ้างตัวว่ามีเชื้อสาย “กาว” ส่วนฝ่ายสุโขทัยอ้างว่าสืบเชื้อสายมาจาก ผีปู่ผาดํา ปู่ขุนจิตขุนจอด และมีเชื้อสายชาวเลือง ดังนี้

“แต่นี้พงศ์ ผีปู่ผาคำ (ฝูงผู้หวาน (หลาน) ปู่ขุนจิตขุนจอด ปู่พระยาศรีอินทราทิตย์ พระ ยาบาน ปู่พระยารามราช ปู่ไส…(ส)งคราม ปู่พระยา เลอไทย ปู่พระยาตัวนำถม ปู่…. (พระ)ยามหา ธรรมราชา พ่อเมือง พ่อเลอไทย แลไทยผู้ดี ผีชาวเลือง…” [10]

ข้อสังเกตประการหนึ่งคือบรรพบุรุษของน่านและสุโขทัยเป็นคู่วีรบุรุษในตํานาน เมืองน่าน มีขุนนุ่นขุนฟอง ส่วนสุโขทัยมีปู่ขุนจิตขุนจอดตามที่อ้างถึงในจารึก ลักษณะดังกล่าวคล้ายคลึงกับ เรื่อง “ขุนเด็กขุนคาน” ในวัฒนธรรมลาว ลักษณะบรรพบุรุษที่เป็นคู่ดังกล่าวน่าจะสืบทอดมาถึงความเชื่อเรื่องการนับถือรูปเคารพพระร่วงพระลือ ซึ่งเป็นรูปเคารพที่สื่อถึงพ่อขุนรามคําแหงและสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย

ประติมากรรม พระร่วง พระลือ
ประติมากรรม “พระร่วง พระลือ” จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย ประติมากรรมนี้เป็นส่วนจำลองใหม่ในภายหลัง ของเดิมนั้นทำจากงาช้าง เมื่อคราวสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตีเมืองสวรรคโลกได้ จึงโปรดให้อัญเชิญไปยังเมืองพิษณุโลก (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2565)

และข้อความที่สุโขทัยอ้างว่าเป็น “ไทยผู้ดีผีชาวเลือง” นั้น สะท้อนให้เห็นถึงเชื้อสายที่สัมพันธ์กับกลุ่มชน ทางลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากชาวเลือง หรือเลิงนั้น พงศาวดารล้านช้างระบุไว้ว่า เป็นกลุ่มชนเผ่าหนึ่งที่เกิดจากน้ำเต้าปุง ซึ่งงอกออกมาจากรูจมูกควาย ที่พระยาแถนมอบให้มนุษย์ใช้งาน เมื่อน้ำเต้าเกิด เสียงดังขึ้น ผู้นําคนไทขณะนั้นจึงเจาะรูน้ำเต้าให้คนไหลออกมา ดังนี้

ยามนั้นปูลางเชิงจึงเผาเหล็กชีแดงชี หมาก คนทั้งหลายจึงเบียดกันออกมาทางฮูที่ชีนั้น ออกมาทางฮูที่นั้นก็บ่เบิ่งคับคั่งกัน ขุนคานจึงเอาสิ่วไปสิ่วฮู ให้เป็นฮูแควนใหญ่ แควนกว้าง คนทั้งหลายก็ลุไหลออกมานานประมาณ 3 วัน 3 คืน จึงหมดนั้นแล คนทั้งหลายฝูงก็ออกมาทางฮูซีนั้นแบ่งเป็น 2 หมู่ ๆ หนึ่งเรียกชื่อไทยลี ผู้ออกทางฮูสิ่วนั้นแบ่งเป็น 3 หมู่ หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยเลิง หมู่หนึ่งเรียกชื่อไทยลอ หมู่หนึ่งเรียก ชื่อไทยควางแล [11]

ข้อความข้างต้นกล่าวถึงการกำเนิดคนไท จากน้ำเต้าปุง โดยปู่ลางเซิงเอาเหล็กมาเผาแล้วชี (หมายถึง ไช เจาะ) น้ำเต้าปุง ก็บังเกิดมีคนเดิน ออกมาจากน้ำเต้า ขุนคานเห็นว่ามีคนจำนวนมากจึงนำสิ่วมาเจาะให้รูกว้างมากขึ้น ปรากฏว่ามีคนเดินออกมามากถึง 3 วัน 3 คืนจึงจะหมด คน ที่ออกทางรูเหล็กแหลม เป็นพวกไทยลม ไทยลี จัดเป็นพวกข่า (ข้า) และผู้ที่ออกมาจากรูจิ๋วเป็น ไทยเลิง ไทยลอ ไทยควาง พวกนี้จัดเป็นกลุ่มไท

คนไท ตำนาน น้ำเต้าปุง
กำเนิดคนไท-ลาว จากน้ำเต้าปุง วาดโดย สุรเดช แก้วท่าไม้ จัดแสดง ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (ถ่ายภาพ : ชัชพิสิฐ ปาชะนี / ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2565)

เรื่องตำนานบรรพชนที่เกิดจากนาค สามารถเชื่อมโยงกับหลักฐานอื่นที่สะท้อนให้เห็นว่าโคตรวงศ์ของ “พระร่วง” มีความสัมพันธ์อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกับ เมืองน่าน และ กลุ่มชนลุ่มแม่น้ำโขง อย่างเห็นได้ชัด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ : 

[1] “พระราชพงศาวดารเหนือ,” ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, (กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2542) น. 88.

[2] เรื่องเดียวกัน, น. 91

[3] “จุลการวงศ์ ความเรียง (ตอนต้น),” ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1, น. 167.

[4] ประชุมคำให้การ กรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553), น. 254-255.

[5] “พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับองค์นพรัตน์.” ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12, (กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2549). น. 254-255.

[6] ดูเพิ่มเติมใน สุจิตต์ วงษ์เทศ. นาค มาจากไหน?. (กรุงเทพฯ : โพสต์บุ๊กส์, 2554)

[7] สรัสดี อ๋องสกุล ปริวรรต. พื้นเมืองน่าน ฉบับ วัดพระเกิด. นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2539) น. 52.

[8] สรัสดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 7. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2553) น. 107. และดูเพิ่มเติมใน สรัสวดี ปริวรรต. พื้นเมืองน่าน ฉบับ วัดพระเกิด. น.65.

[9] ประเสริฐ ณ นคร. ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด รวมบทนิพนธ์ “เสาทางวิชาการ” ของศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2549), น. 173.

[10] กรมศิลปากร. ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. (กรุงเทพฯ : คณะอนุกรรมการพิจารณาจารึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ในคณะกรรมการการชำระประัวติศาสตรืไทย, 2548) น. 154.

[11] “พงศาวดารล้านช้าง ตามถ้อยคำในฉบับเดิม,” ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 9, (กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2545). น. 17-18.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “โคตรวงศ์พงศา ‘พระยาร่วง’ ” เขียนโดย ธนโชติ เกียรติณภัทร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2565 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2566