ผู้เขียน | ศราวิน ปานชัย |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัจจุบัน จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หญิง ในสภา ยังมีสัดส่วนน้อยกว่า ส.ส. ชาย อยู่พอสมควร แต่ก็ถือว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากจากยุคก่อน ซึ่ง ส.ส. หญิงคนแรก ที่ได้เข้าไปมีบทบาทในสภา ก็คือ อรพิน ไชยกาล นับเป็นการเบิกทางให้สังคมไทยเห็นถึงบทบาท และความสามารถของผู้หญิงด้านการเมืองมากขึ้น
การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ทำให้สตรีมีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมบุรุษ สามารถออกเสียงเลือกตั้ง รวมถึงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้ตามกฎหมาย แต่ยุคนั้น ผู้หญิงยังคงถูกคาดหวังให้เป็นช้างเท้าหลังของผู้ชาย หากแต่งงาน มีครอบครัว ก็ต้องเป็นแม่บ้าน แม่เรือน บริบทสังคมเช่นนี้ ทำให้ผู้หญิงไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการเมืองมากนัก
เข้าสู่ทศวรรษ 2490 “ผู้หญิง” จึงได้เข้าสภา โดยการเลือกตั้ง ส.ส. เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ปี 2492 ปรากฏชื่อ อรพิน ไชยกาล เป็น ส.ส. อุบลราชธานี พร้อมกับสร้างประวัติศาสตร์ เป็น ส.ส. หญิงคนแรกของไทย และยังเป็นผู้สมัคร ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนสูงสุดอีกด้วย
อรพิน ไชยกาล (นามสกุลเดิม คุณิตะสิน) เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 เป็นภรรยา เลียง ไชยกาล ส.ส. อุบลราชธานี หนึ่งใน ส.ส. ฝีปากกล้าของสภายุคนั้น รวมถึงเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง “พรรคประชาธิปัตย์”
ปัจจัยที่หนุนให้อรพินได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มีหลายอย่างประกอบกัน นอกจากความสามารถของตนเองแล้ว ชื่อเสียง และผลงานของเลียง ก็ยังส่งผลมาถึงอรพิน นอกจากนี้ ภูมิหลังทั้งเรื่องครอบครัว และการศึกษา ก็มีส่วนส่งเสริมด้วยเช่นกัน
หนังสือที่ระลึกวันครู พ.ศ. 2557 (อ้างถึงในบทความ “อรพิน ไชยกาล” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร) เผยว่า
“…ท่านเป็นหลานสาวของตระกูลเก่าที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายทางจำปาสัก และเจ้านายในอุบลราชธานี ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การนับญาติอย่างกว้างขวางเป็นวัฒนธรรมของทางอีสาน คะแนนเสียงของนางอรพิน ไชยกาล จึงหนาแน่นในเขตเมือง…”
ด้านการศึกษา อรพินจบจากโรงเรียนเบญจมราชาลัย และได้รับประกาศนียบัตรกลับมาเป็นครูที่โรงเรียนนารีนุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดแห่งแรกของอุบลราชธานี ต่อมา ได้เลื่อนขั้นเป็นครูใหญ่ จากนั้นเป็นผู้ก่อตั้ง และครูใหญ่ โรงเรียนฝึกหัดครูสตรีอุบลราชธานี ส่งเสริมการศึกษาของผู้หญิงให้มีมากขึ้น มีลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือจำนวนมาก
“สมัยที่แม่มาเรียนหนังสือนั้น (พ.ศ. 2464) รถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือจากกรุงเทพฯ มาถึงนครราชสีมา (เท่านั้น) ต้องเดินทางจากอุบลราชธานีเพื่อมาต่อรถไฟ (ที่นครราชสีมา) เข้ากรุงเทพฯ มาเข้าเรียนที่เบญจมราชาลัย ระหว่างทางไม่รู้ต้องเสี่ยงต่อการเผชิญอะไรต่อมิอะไร…” ปกครอง ไชยกาล บุตรชายคนโตของอรพิน เล่าไว้ในหนังสือที่ระลึกวันครู พ.ศ. 2557
ด้วยชื่อเสียง และความสามารถของอรพิน ทั้งการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้หญิงอย่างจริงจัง รวมทั้ง การเป็นภรรยาของนักการเมืองขวัญใจชาวอุบล ทำให้เมื่ออรพินตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2492 ชาวอุบลจึงสนับสนุนเป็นอย่างดี
การหาเสียงปีนั้น อรพินใช้สโลแกนว่า “งัวงามคู่ รับใช้ชาวอุบลราชธานี” หมายถึงตัวเธอ และสามี เปรียบเสมือนวัวสองตัวที่เป็นคู่ลากเกวียน มีความแข็งแรงงดงาม พร้อมทำงานรับใช้ชาวอุบลนั่นเอง
เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าสภาครั้งแรก อรพินทำงานการเมืองในสภาร่วมกับสามี จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. หลังเกิดรัฐประหาร เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 และเมื่อมีการเลือกตั้งอีกครั้ง ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2495 อรพินก็ชนะการเลือกตั้งได้กลับเข้าสภาอีกครั้ง
ผลงานที่สำคัญของ ส.ส. หญิงคนแรกของไทย คือ การเสนอ ยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในการประชุมสภา เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ปี 2498 โดยเสนอให้สตรีมีสิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกับสามี ต่างจากก่อนหน้านี้ ที่การทำธุรกรรม หรือจัดการทรัพย์สินตามกฎหมาย เป็นอำนาจของสามีโดยสมบูรณ์ การเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นการเพิ่มสิทธิทางกฎหมายของผู้หญิง อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. นี้ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา
หลังจากอรพินแล้ว ผู้หญิงก็เริ่มเข้าสภามากขึ้น เช่น การเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2495 มี ส.ส. หญิงเพิ่มเป็น 4 คน ก่อนที่ในทศวรรษ 2500 จะมี ส.ส. หญิงได้รับเลือกเพิ่มเป็นหลักสิบคน
อรพิน ไชยกาล ดำรงตำแหน่ง ส.ส. จนครบวาระในปี 2500 ก่อนจะวางมือจากการเมือง และถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2539 ขณะอายุ 91 ปี
อ่านเพิ่มเติม :
- ดูไม้เด็ดคนบ้า ปรมาจารย์การเลือกตั้ง “ฉ่ำ จำรัสเนตร” ทำไมเป็น ส.ส. เมืองนครฯ ถึง 5 สมัย
- เลียง ไชยกาล ส.ส. หลายสมัย อภิปรายเดือดเรื่อง “ทุจริตที่ดิน” จนถูกจับโยนลงน้ำ!!!
- โปสเตอร์ “หาเสียง” ของว่าที่ ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร. อรพิน ไชยกาล. เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%99_%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5
ชญากนก จันทะฟอง และ วีรนุช พรมจักร์. บทบาทผู้นำสตรีทางการเมืองในภาคอีสาน. วารสารรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปีที่ 2 ฉบับที่ 5 (กันยายน-ตุลาคม 2565)
อรวรรณ คงเทศ. บทบาทและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีไทย. เข้าถึงจาก https://www.kpi-lib.com/elib/cgi-bin/opacexe.exe?op=mmvw&db=Main&skin=S&mmid=5835&bid=7089
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2566