เลียง ไชยกาล สส.หลายสมัย อภิปรายเดือดเรื่อง “ทุจริตที่ดิน” จนถูกจับโยนลงน้ำ!!!

เลียง ไชยกาล
นายเลียง ไชยกาล ขณะทำหน้าที่เป็น สส.ในสภา (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เลียง ไชยกาล เป็นนักการเมืองไทยที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดคนหนึ่งในยุคเริ่มแรกของการเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เขาเป็น สส. จังหวัดอุบลราชธานี ถึง 10 สมัย มีบทบาทในการอภิปรายประเด็นสำคัญหลายเรื่อง รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ

นอกจากนี้ เลียงยังเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ วีรกรรมซึ่งเป็นที่กล่าวขานของเขาคือการอภิปรายอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนในสภาผู้แทนราษฎร ตีแผ่ข้อมูลการทุจริตที่ดิน เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลล่ม และผู้ที่ไม่พอใจเลียงจากการอภิปรายดังกล่าวถึงกับจับเขาโยนบ่อน้ำหลังสภา!!!

เหตุการณ์เริ่มขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 จากกรณีการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่ ซึ่งพบว่ามีบุคคลในคณะรัฐบาลหลายคนแห่เข้าไปซื้อที่ดินในราคาถูกเกินจริง และทำกันอย่างเงียบ ๆ ทำให้เกิดความน่าสงสัยเป็นอย่างมาก เลียงจึงตั้งกระทู้ถามในสภาถึงเรื่องดังกล่าว ความว่า “เวลานี้เสียงโจษจันว่าในกรมพระคลังข้างที่เกิดทุจริตกันมาก น่าจะตั้งกรรมการคือคนภายนอกจริง ๆ ไม่เกี่ยวแก่ส่วนได้เสีย ชำระสะสางถึงเรื่องทุจริตเกี่ยวแก่ที่ดินได้หรือไม่”

การอภิปรายครั้งนี้ เลียงได้กล่าวถึงรายชื่อบุคคลและที่ดินหลายแห่ง ที่บุคคลในรัฐบาลหลายคนครอบครองอยู่ ดังความว่า

“ท่านทราบหรือไม่ว่า ที่ดินแทบทุกแห่งที่ขายคราวนี้ มีลักษณะที่น่าสนใจอยู่ข้อหนึ่งคือ รายได้จากที่ดินไล่เลี่ยกันกับเงินค่าซื้อผ่อนส่ง หมายความว่าผู้ซื้อไม่ต้องลงทุนก็ได้ เช่นที่ดินที่ขายให้พระดุลย์ธารณ์ปรีชาไวท์ ได้ค่าเช่าเดือนล่ะ 150 บาท ผ่อนส่งเดือนล่ะ 100 บาท เป็นต้น ถ้าท่านไม่ทราบ ขอเรียนข้อเท็จจริงให้ทราบดังกล่าวมานี้ และขอถามว่าท่านจะลงโทษผู้ทุจริตยิ่งกว่าไล่ออกเฉย ๆ เขาไม่ทุกข์ร้อน เพราะเขาได้ทรัพย์คุ้มพอ”

พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ตอบเลียงว่า “ข้าพเจ้าจะไปรู้เรื่องในกระเป๋าของเขาได้อย่างไร ไม่รู้จริง ๆ ในเรื่องกระเป๋าของเขา ว่าจะมีอย่างไร ข้าพเจ้าตอบไม่ได้ในเรื่องนี้” เลียงจึงกล่าวว่า

“รัฐบาลตอบอย่างนี้คลุมไป และตอบเลอะ เมื่อตอบเลอะไปแล้วก็ไม่เกิดผลในการถาม ข้าพเจ้าขอซักว่าอย่างนี้ การที่ท่านตอบว่าการขายนี้เป็นการขายในราคาธรรมดาจะว่าถูกก็ได้แพงก็ได้ แต่เป็นการขายให้ผู้ขอพระมหากรุณาเป็นราย ๆ ไป การที่ท่านข้าพเจ้าขอทราบว่า ท่านทราบหรือไม่ว่าขณะนี้พระมหากษัตริย์ยังทรงพระเยาว์ การขอพระมหากรุณาจากพระมหากษัตริย์ซึ่งเวลานี้มีความรู้สึกในทางพระกรุณาหรือไม่ และเหตุใดจึงมีพระมหากรุณาแก่บุคคลซื้อที่ดินเหล่านี้เท่านั้น”

การตั้งกระทู้อภิปรายของ เลียง ไชยกาล ในวันที่ 27 กรกฎาคม ปี 2480 สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงขั้นทำให้ผู้มีอำนาจในคณะรัฐบาลหลายคนต้องลาออก เช่น พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี รวมไปถึงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย (แต่ภายหลังพระยาพหลฯ ก็กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งจากการเลือกของสภา)

การอภิปรายของเลียง น่าจะสร้างความไม่พอใจให้ สส. ฝ่ายรัฐบาลอย่างมาก ที่ผลประโยชน์และชื่อเสียงของพวกตนถูกกระทบอย่างรุนแรง เห็นได้จากเหตุการณ์หลังจากนั้นไม่นาน

ตอนบ่ายวันที่ 12 สิงหาคม 2480 ซึ่งเป็นเวลาพักการประชุม ขณะที่เลียงกำลังนั่งดื่มสบาย ๆ อยู่ในสโมสรรัฐสภา ก็มีกลุ่ม สส. จำนวน 3 คน รวมทั้งผู้ที่ได้ชื่อว่าซื้อที่ดินของพระคลังข้างที่ กรูกันเข้าไปยกเก้าอี้และตัวนายเลียง โดยจับตัวไม่ให้เลียงดิ้นหลุด แล้วนำตัวออกไปจากสโมสรรัฐสภา มี สส. ประเภทที่ 2 (มาจากการแต่งตั้งคล้าย ส.ว.ในปัจจุบัน) บางคนถือถาดและเครื่องโลหะเคาะเสียงดังให้เป็นจังหวะ เดินตามกันออกมาเป็นกลุ่มด้วย

เมื่อนำตัวเลียงออกจากสโมสรรัฐสภาแล้ว คนกลุ่มดังกล่าวก็โยนเขาพร้อมเก้าอี้ลงในสระน้ำตื้นๆ หน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน จนตัวเลียงเปียกน้ำและเปื้อนโคลนไปหมด

อย่างไรก็ตาม ผลสะเทือนของการอภิปรายไม่ได้หายไปไหน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลอยู่ในภาวะวิกฤต กระทั่งวันที่ 13 กันยายน 2481 พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาต้องประกาศยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2481 ซึ่งถือเป็นการยุบสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เลียง ไชยกาล ถือเป็นนักการเมืองฝีปากกล้าที่มีบทบาทสูงในสภามาตลอดทศวรรษ 2480-2490 และได้รับฉายาว่า “ผู้แทนตลอดกาล” จากการลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้เป็น สส.ทุกครั้ง เขาเกษียณตัวเองจากการเมือง หลังจากวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง เขาเสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ปี 2529 ขณะอายุ 83 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

บันทึกการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 9 ของสภาผู้แทนราษฎร ญัตติด่วน เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์, 27 กรกฎาคม 2480. เข้าถึงจาก https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-09.pdf, สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2566

อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ นายเลียง ไชยกาล ป.ม.,ท.ช. ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร 18 สิงหาคม 2529 เข้าถึงจาก file:///C:/Users/PL2012/Downloads/cretu1880.pdf, สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2566

ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร. เลียง ไชยกาล. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87_%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A5


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2566