ธรรมศาสตร์ ถูกจอมพล ป. ยึดเป็นที่พักทหาร อ้างเพื่อความสงบเรียบร้อย

ตึกโดม ธรรมศาสตร์
อาคารตึกโดม สัญลักษณ์อย่างไม่เป็นทางการของ มธก. (ภาพจาก “ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยสลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง”)

หลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน (29 มิถุนายน 2494) รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งกำลังเข้ายึด ธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) เนื่องจากรัฐบาลระแวงว่า มธก. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติรัฐประหารดังกล่าว

โดยให้เหตุผลว่า “ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราวและเพื่อความสงบเรียบร้อย”

Advertisement

เมื่อ “ธรรมศาสตร์” ถูกทหารยึดครอง

ศ. (เกียรติคุณ) เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม เขียนถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประสบภัยเลวร้ายที่สุด เมื่อเกิดกบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494…หลังจากนั้นรัฐบาลได้จัดการกับฝ่ายตรงกันข้ามอย่างเด็ดขาด โดยได้ส่งทหารบกจํานวนหนึ่งเข้ายึด มธ. โดยได้ให้เหตุผลว่า ‘ขอยืมใช้เป็นสถานที่ชั่วคราวและเพื่อความสงบเรียบร้อย’ ซึ่งตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา มธ. ก็ได้ถูกปิดโดยปริยาย เพราะนักศึกษาไม่มีที่จะเข้าไปเรียน ในขณะเดียวกัน ในวันที่ 28 ก.ย. 2494 กองทัพบกได้ขอซื้อ มธ. ด้วยเงิน 5 ล้านบาท เพราะเดิม มธก. ได้ซื้อพื้นที่ทหารไปเมื่อปี 2478 ในราคา 3 แสนบาท…”

การสั่งปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และส่งทหารเข้ายึดครอง โดยไล่ให้นักศึกษาไปอาศัยเรียนที่เนติบัณฑิตยสภา และโรงอาหารโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รัฐบาลชี้แจงเหตุผลความจําเป็นในการยึดครองดังนี้ 1. สถานที่นี้เคยเป็นของทหารมาก่อน 2. เพื่อรักษาพระราชวัง 3. เกี่ยวกับปัญหายุทธศาสตร์และต้องคุมเส้นทางคมนาคม 4. เกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านอินโดจีน

นายบุญเกิด งอกคำ เรียบเรียงการเข้ามาในพื้นที่ มธก. ของทหารว่า “มีข่าวว่า มธก. ได้รับคำสั่งให้ขนย้ายอุปกรณ์การสอนต่างๆ ออกจาก มธก. ภายใน 3 โมง นายฉัตร ศรียานนท์ [น้องชาย พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์] ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายปกครองของมหาวิทยาลัยชี้แจงว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับหนังสือขอใช้มหาวิทยาลัยเป็นที่พักของทหารราบที่มาจากต่างจังหวัด (กรมผสมที่ 21) บัดนี้ทหารจะมาพักกะทันหัน จึงจําเป็นต้องย้ายที่โดยด่วน ซึ่งขนไปแต่เฉพาะของที่จําเป็นเท่านั้น นอกนั้นก็ลั่นกุญแจและประทับตราครั่งเอาไว้ เพราะขนไม่ทัน”

10 สิงหาคม 2494 นักศึกษา มธก. จึงขอใช้สนามหลวงเป็นที่เรียนชั่วคราว  เนื่องจากสถานที่ที่เนติบัณฑิตยสภาไม่เหมาะสม การบรรยายฟังได้ไม่ค่อยชัดเจน

3 กันยายน 2494  มีการแจกใบปลิวที่สนามหลวง สถานที่เรียนชั่วคราว เพื่อชักชวนให้นักศึกษา มธก. มาชุมนุมที่ท้องสนามหลวง เพื่อเดินขบวนเรียกร้องขอคืนมหาวิทยาลัยจากทหาร บ่ายวันเดียวกัน นายเลียง ไชยกาล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษา สั่งให้เจ้าหน้าที่มาชี้แจงว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าคณะรัฐมนตรี ขอให้นักศึกษาอยู่ในความสงบก่อน

11 ตุลาคม 2494 นักศึกษา มธก. ประมาณ 3,000 คน เดินขบวนจากท้องสนามหลวง บริเวณกระทรวงยุติธรรม ไปรัฐสภาเพื่อทวงคืน มธก. จากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ขณะที่ในรัฐสภา นายเพทาย โชตินุชิต ส.ส. ธนบุรี ตั้งกระทู้ถามรัฐบาล กรณีทหารเข้าไปอาศัยในธรรมศาสตร์ ฝ่ายทหารยืนยันว่า จําเป็นต้องใช้สถานที่นี้ ขอให้ทางมหาวิทยาลัยจัดหาสถานที่ก่อสร้างใหม่ ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้ง คณะกรรมการเพื่อพิจารณาการจัดซื้อ มธก. ประกอบด้วย 1. พล.ท. สวัสดิ์ สวัสดิรณรงค์ สวัสดิ์เกียรติ ผู้รักษาการณ์แทนผู้ประศาสน์การ มธก. 2. ดร. วิบูลย์ ธรรมวิทย์ เลขาธิการ มธก. 3. พระดุลยพากษ์สุวมัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม 4. นายเลียง ไชยกาล ตัวแทนคณะรัฐมนตรี 5. พล.อ. ผิน ชุณหะวัณ ตัวแทนกองทัพบก

แต่ในส่วนนักศึกษาที่เดินทางไปรัฐสภา รัฐบาลกลับบ่ายเบี่ยงและไม่ได้รับคำตอบที่แน่นอน จอมพล ป. ออกมาพบนักศึกษาและกล่าวปลอบใจว่า เสร็จพิธีรับทหารจากกลับจากเกาหลีแล้วจึงจะคืนธรรมศาสตร์ให้

นักศึกษาทวงพื้นที่คืน

2 พฤศจิกายน 2494 นักศึกษา มธก. จึงวางแผนเดินทางไปทัศนาจรที่จังหวัดนครสวรรค์ และเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในเช้าวันที่  5 พฤศจิกายน และทวงคืน มธก. ทหารที่เฝ้ามหาวิทยาลัยอยู่ไม่ทันรู้ตัว ประกอบกับแรงกดดันจากประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายนักศึกษา สุดท้ายจอมพล ป.ก็ต้องยอมคืน มธก. ให้นักศึกษา จึงพร้อมใจกันถือเอาวันที่ 5 พฤศจิกายน เป็นวันคืนสู่เหย้าของชาวธรรมศาสตร์ (ปัจจุบันมีการจัดงานรำลึกทุกปี ชื่อว่า “วันธรรมศาสตร์สามัคคี 5 พฤศจิกายน”)

อาจกล่าวได้ว่านี่คือ ชัยชนะครั้งแรกของขบวนการนักศึกษาไทย

ภาพหมู่นายปรดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ กับนักศึกษาและคณาจารย์ ที่ใต้ตึกโดม (ภาพจาก “ปรีดี พนมยงค์ กับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง”)

13 มีนาคม 2495 รัฐบาลจอมพล ป. ยังคงพยายายามแสดงให้ถึงอำนาจที่จะควบคุม มธก. ด้วยการออก พระราชบัญญัติมหาธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 ซึ่งมีผลให้ต้องเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย จากเดิมคือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) เป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และยุบเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การ และให้มีตำแหน่งอธิบการบดี เป็นผู้บริหารสูงสุดแทน เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

บุญเกิด งอกคำ. ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งความหวัง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คนดีที่โลกต้องการ, วิจิตรศิลป์การพิมพ์ , 2526

ศ. (เกียรติคุณ) เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม. “ศิษย์เก่าเล่า ยุคมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ใน, สู่โดม จุลสารศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ฉบับที่ 19 ปีที่ 6 ประจำไตรมาสที่ 2

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ และคณะ. ปรีดี ป๋วย กับธรรมศาสตร์และการเมือง, หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มีนาคม 2549


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2563