ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
“ซอยราชครู” เดิมรู้จักกันในสถานะซอยๆ หนึ่งของถนนพหลโยธิน หากตั้งแต่ พ.ศ. 2490 “ซอยราชครู” ก็มีความหมายเพิ่มขึ้นในความหมายของ “กลุ่มการเมือง” ด้วย พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ผู้นำและเหล่าสมาชิกคนสำคัญย้ายเข้ามาอยู่ที่ซอยดังกล่าว เกิดเป็นกลุ่มการเมืองที่เรียกว่า “กลุ่มซอยราชครู”
พล.ท. ผิณ ชุณหะวัณ ผู้นำกลุ่มซอยราชครู (พ.ศ. 2434-2516) พื้นฐานบ้านเกิดอยู่ที่ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม พ.ศ. 2452 เข้าเรียนที่โรงเรียนนายสิบราชบุรี โดยทำคะแนนได้ดี จึงมีโอกาสเข้าศึกษาโรงเรียนนายร้อยทหารบก ระหว่างนั้น พล.ท. ผิณ ได้สมรสกับวิบูล (วิบุลลักสม์) ชุ่มไพโรจน์ แม้จะมีบุตรชายเพียงคนเดียว คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่บุตรเขยทั้งสี่ คือ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์, อรุณ ทัพพะรังสี (บิดา กร ทัพพะรังสี), พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร และนายเฉลิม เชี่ยวสกุล ก็ล้วนเป็นกำลังสำคัญของกลุ่มซอยราชครู
พ.ศ. 2458 พล.ท. ผิณ ชุณหะวัณ สำเร็จการศึกษาพร้อมกับเพื่อนนักเรียนนายร้อยร่วมรุ่น ซึ่งในนั้นคือนักเรียนนายร้อย แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล แปลก หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม) จากนั้น พล.ท. ผิน เติบโตในงานราชการด้วยดีตามลำดับ ถึง พ.ศ. 2486 ก็ได้ติดยศ “พลโท”
พ.ศ. 2487 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อปรีดี พนมยงค์สามารถผลักดันให้ จอมพล ป. ที่เป็นนายกฯ ต้องลาออก ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน (ภายหลังนายควง อภัยวงศ์ขึ้นเป็นนายกฯ แทน) จากนั้นในเดือนสิงหาจอมพล ป. ก็ถูกปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ขณะที่ พล.ท. ผิน ในฐานะทหารสายของ จอมพล ป. ก็ถูกคำสั่งย้ายเข้ามาประจำกรมเสนาธิการทหารบก ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 ก็มีคำสั่งให้ พล.ท. ผิน ออกจากราชการ ในขณะที่มีอายุ 54 ปี
พ.ศ. 2490 พ.อ. สวัสดิ์ ส. สวัสดิเกียรติ, น.อ. กาจ เก่งระดมยิง, พ.ท. ก้าน จำนงภูมิเวท ฯลฯ คิดจะก่อตั้งคณะรัฐประหาร และมีการชักชวน พล.ท. ผิน เข้าร่วมก่อการในครั้งนี้ เมื่อ พล.ท. ผิน ตัดสินใจเข้าร่วมการรัฐประหาร ก็ได้รับบทบาทเป็นหัวหน้าคณะ มี น.อ. กาจ เก่งระดมยิง เป็นรองหัวหน้า
แล้วบทบาททางการเมืองของ “กลุ่มซอยราชครู” ก็เริ่มต้นขึ้น
แต่คณะรัฐประหารก็ยังมีกำลังในมือไม่เพียงพอ จึงมีการชักชวน พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 ซึ่งคุมกำลังสำคัญ 1 ใน 2 กรมทหารราบในกรุงเทพฯ โดย พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำทหารทั้งกรมทหารราบที่ 1 เข้าร่วมการรัฐประหารในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ท. บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองผู้บังคุบการกรมฯ, พ.ท. ประภาส จารุเสถียร ผู้บังคับกองพันที่ 1 ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม พล.ท. ผิน และ น.อ. กาจ ตระหนักดีว่าตนยังมีบารมีไม่เพียงพอ จึงเชิญ จอมพล ป. มาเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร เพื่อสร้างความยอมรับในหมู่ทหารบก
ส่วนสมาชิกกลุ่มซอยราชครูและบุคคลใกล้ชิด เช่น พ.อ. เผ่า ศรียานนท์-เขยคนโตของ พล.ท. ผิน, พ.ต. ประมาณ อดิเรกสาร-เขยคนที่ 3 ของ พล.ท. ผิน, ร.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ-บุตรชาย, พ.อ. ชาญ บุญญะสิทธิ-น้องภรรยา ฯลฯ ต่างก็มีบทบาทร่วมในการรัฐประหารครั้งนี้
หลังการรัฐประหาร 2490 ประสบผลสำเร็จด้วย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ “กลุ่มซอยราชครู” ก็ได้ความชอบกันทั่วหน้า พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้บัญชาการทหารบก, พ.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้ยศ “นายพลตำรวจตรี” และตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ, ร.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ต่างก็ได้เลื่อนยศเป็นพันตรี และทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ฯลฯ
ขณะเดียวกันก็เกิดความขัดแย้งระหว่าง พล.ท. ผิน กับ พล.ท. กาจ เก่งสงคราม และถึงจุดแตกหักเมื่อ พล.ท. กาจ เตรียมการรัฐประหารซ้อนเพื่อล้มรัฐบาลจอมพล ป. แต่เกิดข่าวรั่วไหล จึงถูกจับกุมและเนรเทศไปฮ่องกงภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2493
นี่คือจุดที่ทำให้อำนาจของ พล.ท. ผิน และกลุ่มซอยราชครู เข้มแข็งยิ่งขึ้น
เดือนเมษายน พ.ศ. 2493 พล.ท. ผิน ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก, พ.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ กลับจากต่างประเทศได้รับตำแหน่งผู้บังคับการกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ และเลื่อนเป็นพันโทในเวลาต่อมา, พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ เลื่อนเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ (พ.ศ. 2492) และอธิบดีกรมตำรวจ (พ.ศ. 2494), พ.ต. ประมาณ อดิเรกสาร ไปช่วยราชการกระทรวงคมนาคมในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การรับส่งสินค้า (ร.ส.พ.) และได้ยศพันเอกในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ กลุ่มซอยราชครู ยังเข้าไปมีบทบาทในรัฐวิสาหกิจสำคัญ เช่น บริษัทส่งเสริมเศรษฐกิจแห่งชาติ, บริษัทกระสอบไทย, องค์การ ร.ส.พ., องค์การทหารผ่านศึก (อ.ผ.ศ.) ฯลฯ
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2495 พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ได้เสนอต่อฝ่ายทหารที่จสนับสนุนให้ พล.อ. ผิน ชุณหะวัณ เป็นทายาททางการเมืองที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่ พล.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่เห็นด้วยและเคลื่อนไหวในกลุ่มนายทหารให้ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว
ขณะเดียวกันก็เป็นเหตุให้ จอมพล ป. เริ่มวางมาตรการถ่วงดุลอำนาจกับกลุ่มซอยราชครู โดยการสนับสนุนกองทัพอากาศให้ขึ้นมาเป็นอำนาจที่สามด้วยการเพิ่มอัตรากำลังพล และงบประมาณอย่างมาก ในระหว่าง พ.ศ. 2494-2498 นอกจากนี้เมื่อมีการเลื่อนยศ พล.อ. ผิน เป็นจอมพลในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2496 ก็เลื่อน พล.อ.อ. ฟื้น รณนภากาศ ขึ้นเป็น “จอมพลอากาศ” ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2497
เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2497 จอมพล ผิน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และผู้บัญชาการทหารบก ปรารภกับจอมพล ป.ว่าจะสละตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก” โดยให้เหตุผลเรื่องอายุ และสุขภาพ จอมพล ป. คิดจะครองตำแหน่งเอง แต่จอมพล ผิน มอบตำแหน่งดังกล่าวให้ พล.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แทน
นั้นคือจุดเปลี่ยนขั้วอำนาจครั้งสำคัญ และทำให้เกิด “กลุ่มสี่เสาเทเวศร์” ของ พล.อ. สฤษดิ์ และตามมาด้วยความขัดแย้งของ พล.ต.อ. เผ่า กับ พล.อ.สฤษดิ์ ที่ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนจอมพล ป. ยังต้องออกมาลดภาพความขัดแย้งดังกล่าวด้วยการแถลงว่า เป็นเรื่องปกติของผู้ที่งานร่วมกัน ทำงานใกล้ชิดกัน เปรียบเหมือนลิ้นกับฟัน หรือสามีภรรยา ที่บางครั้งก็ทะเลาะกันบ้าง
เดือนมิถุนายน 2498 หนังสือพิมพ์สารคดี (10 มิถุนายน 2498) ได้นำบทความของหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ แห่งสิงคโปร์ ฉบับวันที่ 18 มีนาคม 2498 ที่กล่าวว่า “พล.ต.อ. เผ่า ในไม่ช้าคงจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากจอมพล แปลก พิบูลสงคราม” ซึ่งชี้ให้เห็นสถานะของ พล.ต.อ. เผ่า ในขณะนั้น ที่ฝ่ายตำรวจมีกำลังและอำนาจไม่แพ้กองทัพบก จอมพล ป. จึงลดบทบาทของ พล.ต.อ. เผ่า โดยยกเลิกคณะกรรมการนิติบัญญัติ (องค์กรทางการเมืองที่รวบรวม ส.ส.ประเภทที่ 1 และ 2 สำหรับสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งจอมพล ป. เป็นผู้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2495) ที่พล.ต.อ. เผ่า เป็นเลขาธิการ
เดือนมกราคม พ.ศ. 2499 พล.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “จอมพล” ทำให้กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ มีความแข็งแกร่งเทียบเท่ากลุ่มซอยราชครู
พ.ศ. 2500 คณะรัฐประหาร 2490 เกิดความขัดแย้งภายในแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ พรรคเสรีมนังคศิลา ที่มี ส.ส. ประเภทที่หนึ่ง, คณะรัฐบาลจอมพล ป. และกลุ่มซอยราชครู โดยมี จอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค และหัวหน้ารัฐบาล กับ คณะรัฐประหาร ที่มี ส.ส. ประเภทที่สอง และกองทัพบก โดยมีจอมพล สฤษดิ์ เป็นแกนนำสำคัญ
ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่าย นำไปสู่การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 ที่กลายเป็น “การเลือกตั้งสกปรก” ที่กว่าฝ่ายจอมพล ป. ที่ชนะการเลือกตั้งแต่กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ก็ต้องใช้เวลากว่า 30 วัน ขณะที่ฝ่ายสี่เสาเทวเศร์ของ จอมพล สฤษดิ์ เองก็หันไปจับมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม และจัดตั้งพรรคสหภูมิในกลางปี 2500
ส่วนประเด็นสำคัญที่ทำให้ทั้งสองกลุ่มขัดแย้งกัน คือการที่ จอมพล ป. ตั้ง ปุ่น จาติกวณิช ซึ่งเป็นคนของฝ่ายตน เข้าไปควบคุมบัญชีในสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลของจอมพล สฤษดิ์
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีพรรคเสรีมนังคศิลายังออกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2500 คณะรัฐมนตรีถอนตัวออกจากการค้า “…เพื่อจะได้มีโอกาสบริหารราชการแผ่นดินได้เต็มเวลาและหน้าที่อันจะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนและความก้าวหน้าของประเทศสืบไป” (กจช.คศ.0201.1/13)
16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพล สฤษดิ์ เป็นหัวหน้าคณะนำนายทหารส่วนใหญ่ในกองทัพบกทำการรัฐประหารยึดอำนาจ รัฐบาลจอมพล ป. ส่วนบรรดาแกนนำรัฐบาล และกลุ่มซอยราชครูได้รับผลกระทบกันโดยทั่วดังนี้
จอมพล ป. ต้องหลบหนีออกนอกประเทศทางชายแดนตะวันออกไปประเทศกัมพูชา และลี้ภัยการเมืองไปประเทศญี่ปุ่นจนถึงแก่กรรม (พ.ศ. 2507) พล.ต.อ.เผ่า เข้ามอบตัวก่อนถูกเนรเทศไปถึงแก่กรรมที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (พ.ศ. 2503) พล.จ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้บังคับการโรงเรียนยานเกราะและผู้บังคับการกรมทหารม้า ถูกสั่งย้ายไปรับราชการกระทรวงต่างประเทศ และต้องเดินทางออกไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอาร์เจนตินา ส่วนจอมพล ผิน, พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร ต้องกันไปประกอบอาชีพธุรกิจอื่นและเป็นนายทหารนอกราชการ ฯลฯ
บทบาททางการเมืองในระยะแรกของกลุ่มซอยราชครูจึงยุติลง ก่อนจะสามารถฟื้นตัวอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนการเมืองหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516
อ่านเพิ่มเติม :
- เพื่อนรัก หักเหลี่ยมโหด ฉบับ “สฤษดิ์-เผ่า” กับควันหลงวาทะ “ทำไมมึงทำกับกู..พูดกันดีๆ ก็ได้”
- การเมืองไทยสมัยชาติชาย จากเปรม-บ้านพิษณุโลก-รถโมบาย สู่รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. “กำเนิดและพัฒนาการเริ่มแรกของกลุ่มซอยราชครู” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2532.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2565