“โทรเลข” การสื่อสารสุดฉับไว (ในยุคก่อน) ปัจจัยชิงความได้เปรียบในสงคราม

วังสราญรมย์ ที่ทำการ โทรเลข แห่งแรก ของ ประเทศไทย
วังสราญรมย์ ที่ทำการโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย

“โทรเลข” เป็น การสื่อสาร รูปแบบหนึ่ง ที่วันนี้อาจไม่เป็นรู้จัก และถ้าอยากรู้ว่า “โทรเลข” หน้าตาเป็นอย่างไร คงต้องไปหาดูในพิพิธภัณฑ์ หากยุคหนึ่งโทรเลขเคยสร้างแต้มต่อให้แก่ผู้ใช้มันในสงครามหลายสมรภูมิ

ก่อนอื่นไปดูกันว่าสมัยที่เรายังไม่ใช้โทรเลข การสื่อสารเป็นอย่างไร

สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อเกิดวิกฤตหัวเมืองภาคใต้ หลวงอุดมสมบัติบันทึกกระแสรับสั่งเกี่ยวกับการสื่อสารขณะนั้นว่า “อย่างไรหนอ เงียบหายไปเสียหมดทีเดียว คอยฟังเรือพวกสงขลา คอยข่าวเมืองตรังกานูก็ไม่ได้ความ ข่าวราชการเมืองไทรก็เงียบไป ไม่มีใครบอกกล่าวเข้ามาเลย คอยอกใจวับๆ หวิวๆ อยู่ทีเดียว อย่างไรอยู่หนอ มันจะคิดไปทำเอาเมืองถลางด้วยฤาอย่างไรก็ไม่รู้” [1]

ต้นรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2419) เมื่อต้องการประเมินสถานการณ์ชายแดน และกำลังของฝ่ายฮ่อ ทำได้แต่อาศัยข้อมูลประเภท “คำที่เล่าฦา” ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ถึงการฮ่อยกมานี้ เป็นแต่การเล็กน้อย ไม่เป็นศึกใหญ่โตก็จริง แต่เมื่อได้ทราบข่าวมานั้น ฝ่ายเราไม่ทราบเลย ว่าคนพวกนี้จะเป็นอย่างไรแน่ กองทัพที่มานั้นจะเป็นกองใหญ่ฤาเล็กก็ไม่ทราบ แต่คำที่เล่าฦาการต้นเดิมของคนพวกนั้นเป็นพวกใหญ่อยู่” [2]

ปัญหาของการสื่อสารที่ล้าช้า ไม่ได้เป็นปัญหาสากล จนกระทั่งมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม และประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เรียกว่า “โทรเลข” ขึ้น และเปิดใช้เชิงพาณิชย์ใน พ.ศ. 2382 หลายประเทศก็เริ่มมีกิจการโทรเลขของตนเอง

หมอบลัดเลย์ เขียนบทความบรรยายคุณสมบัติของโทรเลขไว้ว่า “จะว่าด้วยเครื่องส่งข่าว, ที่ทำด้วยเครื่องไฟฟ้ากับเครื่องแม่เหล็กติดกันอย่างหนึ่ง, ทำเปนที่จะสำแดงให้รู้ข่าวเรว, เหมือนกับหนทางไกล 20 โยชน์ 30 โยชน์ 40 โยชน์, เครื่องนั้นก็จะทำให้รู้ข่าวเรวรู้ใน 2 นาที 3 นาทีได้” [3]

สำหรับประเทศไทย รัชกาลที่ 5 สนพระราชหฤทัยกิจการโทรเลข ตั้งแต่ครั้งเสด็จฯ อินเดีย

พ.ศ. 2414 รัชกาลที่ 5 เสด็จดูงานที่ประเทศอินเดีย ได้ทอดพระเนตรสถานที่หลายแห่งที่เกี่ยวกับกบฏซีปอย กองทัพของรัฐบาลบริติชราชสามารถชนะทหารพื้นเมืองที่มีจำนวนมากกว่าด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะ “โทรเลข” ที่ทำให้กองทัพที่อยู่ห่างไกลทราบข่าวการกบฏ และเข้ามาควบคุมสถานการณ์ทันเวลา อนุสรณ์สถานแห่งหนึ่งมีการจารึกเอาไว้ว่า “โทรเลขไฟฟ้าช่วยรักษาอินเดียไว้” [4]

พ.ศ. 2404-2408 ที่เกิดสงครามกลางเมืองอเมริกา โทรเลขมีบทบาทโดดเด่น เพราะมันช่วยให้ผู้บัญชาการสูงสุดสามารถออกคำสั่งถึงแนวหน้าทุกหน่วยได้โดยไม่ต้องไปถึงสนามรบ [5]

พ.ศ. 2418 รัชกาลที่ 5 มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ ก็โปรดให้จัดตั้งที่ทำการโทรเลขในพระบรมมหาราชวังทันที [6] ก่อนการปฏิรูปการปกครองส่วนกลางในพุทธทศวรรษที่ 2430 โครงข่ายโทรเลขก็ครอบคลุมอาณาเขต “วังราชธานี” เรียบร้อย พุทธทศวรรษที่ 2440 กรุงเทพฯ สามารถเชื่อมต่อการสื่อสารได้กับทุกภูมิภาค [7] กลางพุทธทศวรรษที่ 2450 พื้นที่ 3 ใน 4 ของประเทศสามารถสื่อสารได้โดยตรงกับกรุงเทพฯ

เมื่เกิดกบฏหัวเมืองปี พ.ศ. 2445 โทรเลขได้แสดงศักยภาพเป็นที่ประจักษ์คราวเมื่อรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ทราบสถานการณ์และบัญชาการกลับไปยังกองทัพส่วนภูมิภาคได้เกือบ “ร่วมเวลาจริง” (real time) [8] ก็เพราะมีโทรเลข ซึ่งต่างกับคราววิกฤตหัวเมืองภาคใต้ในรัชกาลที่ 3, การปราบฮ่อในต้นรัชกาลที่ 5 ที่รัฐบาลต้องรอคอยข่าวสารที่ล่าช้า

ความรวดเร็วของ “โทรเลข” ที่ถ่ายทอดข้อมูลและคำสั่งระหว่างส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค ทำให้ “ม้าเร็ว” หรือ “คนเดินสาร” ค่อยๆ หมดความหมายไป ส่วนโทรเลขเองก็มาพ่ายให้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นที่หลังไม่ว่าจะเป็นเครื่องแฟกซ์, อีเมล์ ฯลฯ จนเลิกบริการโทรเลข ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] หลวงอุดมสมบัติ. จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, 2554, น.191.

[2] ประยุทธ สิทธิพันธ์ รวบรวม. “พระราชดำรัสตอบพระบรมวงษานุวงษ์ ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ และข้าทูลลอองธุลีพระบาท ในการเฉลิมพระชนมพรรษา ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 3 ค่ำ ปีชวดอัฐศก จุลศักราช 1238 (พ.ศ. 2419)” ใน ประวัติศาสตร์ประพาสต้นของพระพุทธเจ้าหลวง (เล่ม 1-2). (กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2552), น.764.

[3] “ELECTRO-MAGETIC TELEGRAPH” ใน หนังสือจดหมายเหตุ=The Bangkok Recorder. (กรุงเทพฯ: สำนักราชเลขาธิการ, 2537), น.54.

[4] สาคชิดอนันท สหาย เขียน กัณฐิกา ศรีอุดม แปล. ร.5 เสด็จอินเดีย. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2546), บทที่ 7.

[5] สุรชาติ บำรุงสุข. สงคราม จากยุคบุพกาลถึงศตวรรษที่ 21. (กรุงเทพฯ: โครงการวิถีทรรศน์, 2541), น.107-114.

[6] การจัดตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2418 สังกัดกรมกลาโหม ปี พ.ศ. 2426 เป็นกรมโทรเลขสยาม ปี พ.ศ. 2441 เป็นกรมไปรษณีย์โทรเลข

[7] คำนวณจาก หจช. กส.1/995 เรื่อง กระทรวงมหาดไทยส่งแผนที่การแบ่งพระราชอาณาจักรตามการปกครอง ประจำศก 131.

[8] ดู เตช บุนนาค. ขบถ ร.ศ.121. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2551). และจากโทรเลขที่ส่งจากพื้นที่ที่เกิดเหตุส่งไปยังกรุงเทพฯ หากดูตามวันเวลาที่เอกสารลงบันทึกไว้จะใช้เวลาเร็วสุดราว 12-24 ชั่วโมงเท่านั้น จากศาลาว่าการมณฑลที่ใกล้แนวหน้าที่สุดมายังศาลาว่าการมหาดไทยที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ ศักยภาพของการส่งข้อความทางโทรเลขในยุคแรกเริ่มจาก 150 คำ/วัน และพัฒนาไปได้เร็วถึง 400 คำ/นาที ในช่วงทศวรรษ 1920 ที่ถือได้ว่าเร็วมากกว่าหรือเท่ากับการพูดโดยปกติของมนุษย์ ดู เจ.อาร์.แมคนีล เขียน คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ แปล. ประวัติศาสตร์มนุษย์ฉบับย่อ. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2552), น.329.


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก วิภัส เลิศรัตนรังษี “รัฐกับความเร็ว : การคมนาคมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม 2559.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มีนาคม 2566