“จีฉ่อย” โชห่วยในตำนาน เปิดมากว่า 50 ปี จะซื้ออะไรหาให้ได้หมด!

จีฉ่อย ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ยู เซ็นเตอร์ ฝั่งที่ติดคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

จีฉ่อย คือร้านโชห่วยอันลือลั่นแห่งสามย่าน เปิดมากว่าครึ่งศตวรรษ เล่าลือกันว่าใครต้องการอะไร ร้านนี้ก็หาให้ได้หมด เดิมตั้งอยู่ในตึกแถวขนาด 1 คูหา ริมถนนพญาไท ภายในอัดแน่นด้วยสินค้าสารพัดจนแทบไม่มีทางเดิน

แต่ราวปี 2552 เมื่อมีการนำพื้นที่บริเวณนั้นไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น “จีฉ่อย” จึงโยกย้ายทำเลไปปักหลักที่ ยู เซ็นเตอร์ ฝั่งที่ติดคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ไกลจากจุดเดิม ขายของชำให้คนสามย่าน บุคลากรและนิสิตจุฬาฯ มาถึงทุกวันนี้

จีฉ่อย เป็นชื่อร้านขายของชำ และเป็นชื่อเจ้าของร้านซึ่งเป็นหญิงร่างเล็ก ช่วงกลางปี 2552 ที่ผู้เขียนไปสัมภาษณ์ จีฉ่อยมีอายุราว 60-70 ปี แต่ยังดูกระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว

หากจะให้ไล่เรียงประเภทสินค้าที่มีขายในร้านคงไม่สามารถจาระไนได้หมด เอาเป็นว่าใครไปถามหาสินค้าอะไร จีฉ่อยหาให้ได้ทุกอย่าง ทั้งอุปกรณ์การเรียน สมุด หนังสือ ยางลบ ปากกา กระดาษสี เชือกฟาง ริบบิน อุปกรณ์กีฬา เรื่อยไปจนถึงหมุด ตะปู ค้อน เลื่อย สีทาบ้าน กระบวยตักน้ำ สายยาง ตะกร้า กระจาด กระด้ง ฯลฯ

แหวนรุ่นของบางคณะในจุฬาฯ ใบลงทะเบียนเรียนของจุฬาฯ ก็ยังมี ยิ่งช่วงนั้นเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาด จีฉ่อยก็ไม่พลาดนำหน้ากากอนามัยมาขายด้วย เคียงคู่สบู่เหลวล้างมือ

ความเอาจริงเอาจัง ซื่อสัตย์ และจริงใจต่อลูกค้าของร้านนี้ เป็นเสน่ห์หลักในการขายที่มัดใจคน ทำให้ชาวบ้านร้านตลาดย่านนั้น รวมถึงอาจารย์และนิสิตจุฬาฯ ติดอกติดใจ พากันมาซื้อของที่ร้านอยู่เป็นประจำ

ตำนานของร้านว่ากันถึงขั้นหากใครหาซื้ออะไรที่ไหนไม่ได้ให้มาร้านจีฉ่อย เจ้าของร้านจะจัดหามาให้ไม่มีพลาด ถ้าวันที่มาซื้อยังหาไม่ได้ ประโยคฮิตติดปากที่ลูกค้าจะได้ยินคือ “พรุ่งนี้ลื้อมาเอา”

ที่มีเสียงร่ำลือว่ามีนิสิตหลายคนชอบมา “ลองของ” กับจีฉ่อย สั่งซื้ออะไรยาก ๆ แล้วจีฉ่อยสามารถหาให้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าเปียโน หรือข้าวมันไก่ เรื่องนี้จริงหรือเปล่า? ผู้เขียนลองถาม เพราะน่าจะเป็น “เสน่ห์” ของร้านด้วยเรื่องหนึ่ง

“เขาคงฝันไปมั้ง” จีฉ่อยบอก

จีฉ่อยไม่ค่อยปริปากบอกใครถึงชีวประวัติ แต่ถ้าจังหวะดี เจ้าตัวจะเล่าให้ฟัง

“พ่อทำงานธนาคาร ส่วนแม่ขายของ จีฉ่อยมีพี่น้อง 5 คน เราเป็นคนที่ 2 ฐานะทางบ้านถือว่าค่อนข้างดี หลายสิบปีก่อนพ่อถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เลยแบ่งเงินมาเปิดร้านขายของชำ…เมื่อก่อนไม่ได้อยู่ตึกแถวตรงนี้หรอก แต่อยู่ลึกเข้าไปใกล้ ๆ กับคณะนิติศาสตร์” เจ้าของตำนานโชห่วยแห่งสามย่านเผย ก่อนลุกขึ้นไปหยิบรูปถ่ายที่อยู่ในซองพลาสติกใสเอาออกมาให้ดู พร้อมบอกเล่าเรื่องราวในรูป

“น้องสาวคนหนึ่งของจีฉ่อยเรียนจบด้านการเกษตรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วได้ทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และยังได้ทุนไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ปัจจุบัน (ปี 2552-ผู้เขียน) น้องสาวเขารับราชการอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ หลังเลิกงานแล้วก็แวะมาหาที่ร้านเสมอ ๆ”

แต่ก่อนจีฉ่อยอาศัยอยู่ที่ร้านมาหลายสิบปี ต่อมาไปปลูกบ้านอยู่แถวพระราม 2 พอเช้าก็มาเปิดร้าน มืด ๆ ก็กลับบ้าน สามย่านในสายตาของจีฉ่อยนั้นคึกคักไม่เคยห่างหายผู้คน แต่เมื่อมีห้างเกิดขึ้นหลายแห่ง สามย่านก็เริ่มซบเซา จวบจนความเปลี่ยนแปลงทางพื้นที่คืบคลานมาถึง

“อาจารย์และนิสิตจุฬาฯ มาถาม จีฉ่อยจะยังขายของอยู่ไหม เราก็บอกว่ายังขายของอยู่นั่นแหละ อาจารย์หลายคนเป็นห่วง เขาซื้อของกับจีฉ่อยมาตั้งแต่ยังเรียนหนังสืออยู่ จนใกล้เกษียณแล้วยังมาซื้ออยู่เลย… จีฉ่อยยังขายของอยู่เหมือนเดิม แต่จะย้ายจากตรงนี้ขึ้นไปอยู่ที่ ยู เซ็นเตอร์” จีฉ่อยบอก

แล้วเล่ารายละเอียดให้ฟังว่าจุฬาฯ เจ้าของพื้นที่มาหา เสนอให้เลือกว่าจะย้ายไปที่ไหน ระหว่าง “จามจุรี สแควร์” อาคารสูงหลายสิบชั้น ตั้งอยู่หัวมุมถนนพญาไท เยื้องกับร้านจีฉ่อยไปเล็กน้อย เป็นที่ตั้งของร้านค้า ที่พัก และอาคารสำนักงาน กับ “ยู เซ็นเตอร์” ซึ่งเปิดเป็นหอพักสำหรับนิสิตจุฬาฯ และมีร้านค้าตั้งอยู่ชั้นล่าง

“จีฉ่อยดูแล้วจามจุรี สแควร์ หรูเกินไป เวลาจะเปิดจะปิดร้านก็ต้องตามเวลาเขา…ไม่สะดวกหรอก เลยบอกทางจุฬาฯ ไปว่า ขอไปอยู่ ยู เซ็นเตอร์ ดีกว่า ปิดร้านดึกได้ แต่ก็เป็นร้านชั้นเดียวนะ ที่นี่มีตั้ง 4 ชั้น ยังไม่รู้เลยว่าจะขนของไปยังไง ตู้นี่ก็ไม่รู้จะเอาไปยังไง” เสียงเจ้าของร้านตอบ แล้วมองไปที่ตู้กระจก 2 ตู้หน้าร้าน ที่มีสินค้าสารพัดอยู่ข้างใน

“จีฉ่อยจะย้ายไปอยู่ที่ใหม่ปลายปีนี้แหละ แล้วว่าจะทำป้ายชื่อร้านจีฉ่อยตัวใหญ่ ๆ เขาจะได้รู้ว่าตัวจริงเสียงจริง” เจ้าตัวปิดท้ายบทสนทนาไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อนตามนี้

ปัจจุบัน ร้านจีฉ่อยซึ่งตั้งอยู่ที่ ยู เซ็นเตอร์ มีป้ายร้านสีชมพูเด่นสะดุดตา มีสินค้าสารพัดคอยบริการลูกค้าเหมือนเดิม และแม้เวลาผ่าน มีมินิมาร์ทผุดขึ้นราวดอกเห็ด แต่ความเป็น “ตำนาน” ยังคงอยู่ เป็นที่กล่าวขานของชาวสามย่านและชาวจุฬาฯ จากรุ่นสู่รุ่นมาถึงทุกวันนี้ รวมระยะเวลาแล้วก็กว่า 50 ปีเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุทธาสินี จิตรกรรมไทย. “จากริมถนนขึ้นตึกไฮไซ ‘จีฉ่อย’ ขวัญใจชาวจุฬาฯ”. นสพ. มติชน ฉบับวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2566