ย้อนเหตุระทึก! ปี 2495 แอร์โฮสเตสไทย ช่วยชีวิตผู้โดยสารทั้งลำจากไฟไหม้ 

ภาพวาด อัจฉราวรรณ ณ เชียงใหม่ แอร์โฮสเตส บน ปกหนังสือ สยามสมัย
อัจฉราวรรณ ณ เชียงใหม่ แอร์โฮสเตสที่ช่วยชีวิตผู้โดยสารทั้งลำ และลงจากเครื่องเป็นคนสุดท้าย บนปกหนังสือ สยามสมัย ฉบับวันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2495

เป็นข่าวใหญ่ปี 2495 เมื่อ อัจฉราวรรณ ณ เชียงใหม่ “แอร์โฮสเตส” ของบริษัทการบิน P.O.A.S สามารถช่วยเหลือผู้โดยสารทั้งลำให้รอดชีวิต เครื่องบินที่เกิดลุกไหม้กลางอากาศ ต้องขอลงจอดฉุกเฉินและชนกับขอบรันเวย์ ก่อนจะเกิดไฟไหม้ลามไปทั้งลำ ความเสียหายเฉพาะส่วนของเครื่องบินมีมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ สนามบินดอนเมือง ในวันที่ 13 มกราคม ปี 2495 เครื่องบิน “นครกรุงเทพฯ” เที่ยวบินกรุงเทพฯ-โตเกียว ของบริษัทการบิน P.O.A.S (Pacific Overseas Airline (Siam) Limited) ซึ่งต่อมาได้รวมกิจการกับ บ.ด.อ. (บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด)

เที่ยวบินดังกล่าว มีผู้โดยสารและพนักงานบนเครื่องทั้งหมด 26 คน โดยมี มิสเตอร์รีฟ (ไม่ได้ระบุนามสกุล) เป็นนักบินที่ 1, เรืออากาศเอก พร้อม ณ ถลาง เป็นนักบินที่ 2, แอร์โฮสเตส 3 คน คือ มิส อาร์.เอส.บี. แวนเลนดิงแฮล์ม-ครูฝึกแอร์โฮสเตส, อำไพ พรรณโชติ และอัจฉราวรรณ ณ เชียงใหม่ และผู้โดยสารจำนวน 21 คน (เป็นชาวนอร์เวย์, เดนมาร์ก และไทย)

อัจฉราวรรณ ณ เชียงใหม่ เล่าว่า เวลา 10.00 น. เครื่องบิน “นครกรุงเทพฯ” บินสู่ท้องฟ้า หลังจากนั้นประมาณ 5-7 นาที เธอรู้สึกแปลกใจที่เครื่องบินก็บินย้อนกลับทางเดิม แต่ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร เพราะไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาได้รับสัญญาณไฟไหม้จึงเกิดความอลหม่านภายในเครื่องบิน ทุกคนไม่รู้ว่าจะหนีไปทางไหน นักบินจึงต้องนำเครื่องบินร่อนลงฉุกเฉิน จากนั้นก็เกิดไฟไหม้เครื่องบินทั้งลำดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ทว่าผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 26 คน ปลอดภัย

เมื่อเห็นสัญญาณไฟไหม้ อัจฉราวรรณคิดถึงหน้าที่ของแอร์โฮสเตส “ก่อนจะเอาตัวรอดจงช่วยผู้โดยสารให้ปลอดภัยก่อน” เธอจึงกระโดดข้ามมิส อาร์.เอส.บี. แวนเลนดิงแฮล์ม ออกมาที่ประตูด้านซ้ายของเครื่องบิน แล้วบิดประตูเปิดอย่างเต็มกำลัง จนกระทั่งนิ้วมือของเธอได้รับบาดเจ็บใช้งานไม่ถนัดไปเป็นเวลานานกว่าครึ่งปี

ผู้โดยสารจึงกรูกันโดดออกจากเครื่องบินเอาตัวรอด ขณะที่ทุกคนกำลังหนีตายกันอุตลุด อัจฉราวรรณเห็นไฟจากเครื่องยนต์เริ่มลุกลามมาในห้องโดยสาร เมื่อผู้โดยสารลงจากเครื่องบินหมด เธอจึงกระโดดตามมาเป็นคนสุดท้าย ก่อนจะมีเสียงระเบิดดังสนั่นตามหลังมา นับว่าเธอรอดชีวิตมาอย่างหวุดหวิด

ฮีโร่หญิงผู้นี้เป็นใครกัน?

อัจฉราวรรณ ณ เชียงใหม่ เป็นคนเชียงใหม่ แม้จะเป็นผู้หญิงแต่เป็นเด็กซน ที่ชอบเล่นผาดโผน หลังจบการศึกษาที่บ้านเกิด ก็เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อที่โรงเรียนเซ็นต์แมรี่ ถนนสาทร จนจบชั้นมัธยม 8 ครอบครัวต้องการให้เธอเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แต่อัจฉราวรรณต้องการเห็นโลกกว้าง และผจญภัย เธอจึงไปสมัครเป็นแอร์โฮสเตสของบริษัท P.O.A.S

หลังเกิดอุบัติดังกล่าว อัฉราวรรณ ยังคงเป็นแอร์โฮเตส ของ บ.ด.อ. และใช้เวลาว่างจากการบิน แสดงภาพยนตร์ โดยรับบทเป็นนางเอกในเรื่อง “ทะเลทม” ของเนรมิตภาพยนตร์ และ “มาตุภูมิ” ของสถาพร ภาพยนตร์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ :

บทความนี้เรียบเรียงเก็บความจาก สยามสมัย ปีที่ 6 ฉบับที่ 269 วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2495

[สยามสมัย เป็นหนังสือรายสัปดาห์ที่เสนอข่าว, บทความ, วรรณกรรม ฯลฯ คล้ายกัน “มติชนสุดสัปดาห์” เป็นหนังสือที่ดังมากในยุคนั้น สำหรับสยามสมัยฉบับที่ใช้อ้างอิงนั้น มีประยูร จรรยาวงษ์ เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2566