“กรุงเทพฯ ยศล่มแล้ว ลอยนรก ลงฤๅ” – ศรีศักร วัลลิโภดม

คลองรอบกรุงผ่านตำบลบางลำพู สมัยรัชกาลที่ 5 บ้านเรือนตั้งเรียงรายสองฝากคลอง (ภาพจากหนังสือชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ)

21 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธีวางเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ จึงถือเป็นวันเกิดของนคร “เทพสร้าง” แห่งนี้ โดยพุทธศักราช 2566 นี้ กรุงเทพฯ จะมีอายุ 241 ปีบริบูรณ์ แม้จะอายุน้อยกว่ากรุงศรีอยุธยาที่มีอายุถึง 417 ปี อยู่มากโข แต่สำหรับชนชั้นผู้มีส่วนร่วมในการ “สร้างบ้าน แปงเมือง” หรือการสถาปนากรุงเทพฯ ให้กลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของราชอาณาจักรสยาม ล้วนถือว่ากรุงเทพฯ เป็นความสืบเนื่องของกรุงศรีอยุธยา

แรกทีเดียว รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเสมือนอยุธยาทั้งในด้านภูมิวัฒนธรรม ผังเมืองที่เป็นเกาะ และเป็นเมืองที่อยู่กับแม่น้ำลำคลองอย่างที่คนตะวันตกขนานนามว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” ทั้งมีการ “เลียนแบบ” และ “เลียนชื่อ” สถานที่ต่าง ๆ ย่านชุมชน บ้านเมือง สถานที่ และวัดวาอาราม อย่างที่เคยมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะการทำให้กรุงเทพฯ เป็น “พระนครศักดิ์สิทธิ์” ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาที่รุ่งเรืองด้วยศิลปวัฒนธรรม ดังโคลงนิราศนรินทร์ (อินทร์) กวีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ประพันธ์ว่า

อยุธยายศล่มแล้ว  ลอยสวรรค์ ลงฤๅ

สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร  เจิดหล้า

บุญเพรงพระหากสรรค์  ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ

บังอบายเบิกฟ้า  ฝึกฟื้นใจเมือง

กรุงเทพฯ จึงถือกำเนิดเพื่อสานต่อความเป็นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมของราชอาณาจักรสยามอย่างเต็มตัวในอดีตราวสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อพุทธศตวรรษที่ 21

ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

หลังจากรัชกาลที่ 1 ทรงย้ายเขตเมืองจากกรุงธนบุรี มาฝั่งพระนครในปัจจุบัน นอกจากการย้าย “ฐานพระราชอำนาจ” (Seat of Power) จากตะวันตกมาตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังมีการขุดคูพระนครจนแปรสภาพเมืองให้กลายเป็น “เกาะ” พร้อมสร้างกำแพงเมืองและติดตั้งป้อมปราการ องค์ประกอบทางภูมิศาสตร์ของศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่จึงเข้าใกล้ความเป็นกรุงศรีอยุธยามากยิ่งขึ้นไปอีก

รัชกาลที่ 1 “จงใจ” หรือตั้งพระราชหฤทัยอย่างแน่วแน่เพื่อสร้างภูมิวัฒนธรรมของพระนคร 2 แห่งนี้ให้คล้ายคลึงกันมากที่สุด รูปแบบกับแผนงานเหล่านี้ปรากฏอย่างเด่นชัดในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งหนึ่งในความเหมือนกันหลัก ๆ ระหว่าง อยุธยา กับ กรุงเทพฯ คือ “น้ำ” เพราะนอกจากอาศัยน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เมืองทั้งเมืองยังอาศัยการคมนาคมทางน้ำด้วย การจัดการน้ำเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างผังเมืองตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว

กำแพงเมือง คลองคูน้ำ สะพาน และถนน ล้วนมีบทบาทสำคัญทั้งในการป้องกันข้าศึกศัตรู การป้องกันน้ำท่วม การระบายน้ำ และการลำเลียงน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค สะท้อนการเกิดย่านชุมชนที่สัมพันธ์กับ “คลองลัด” และ “คลองซอย” ที่เชื่อมโยงกับ “คลองเมือง” แทบทั้งสิ้น หลักการดังกล่าวดำรงอยู่จวบจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) พลเมืองกรุงเทพฯ ตั้งแต่ราษฎรไปจนถึงเหล่าเจ้าขุนมูลนาย ล้วนมีนิวาศสถานชิดติดริมแม่น้ำลำคลองเหมือนสมัยอยุธยา

ภายในกำแพงเมืองกรุงเทพฯ จึงมีการขุดคลองหลายคลองแยกจากคลองเมือง (ที่มีหลายคลองอีกที) เกิดเป็นคลองซอยและคลองลัด ภายหลังจึงเกิดวัดและย่านที่อยู่อาศัยตามแนวลำคลองขึ้น กรุงเทพฯ จึงเป็นเมืองที่ถูกสร้างให้เป็นเกาะ เป็นเมืองป้อมที่แข็งแรง เพื่อป้องกันการโจมตีของข้าศึกทั้งทางบกและทางทะเล เป็นศูนย์กลางการปกครองและศูนย์กลางศาสนาของราชอาณาจักรสยาม รวมศูนย์ทางสัญลักษณ์ไว้ที่ “พระบรมมหาราชวัง” เช่นเดียวกับ พระราชวังกรุงศรีอยุธยา

พระมหาปราสาทและพระที่นั่งเป็นสถานที่สำคัญในการปกครอง การบริหาร และพระราชพิธีสำคัญของราชอาณาจักร รวมถึงเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ฝ่ายใน ที่สำคัญคือพระอุโบสถ “พระแก้วมรกต” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำราชอาณาจักร ทำนองเดียวกับพระพุทธศรีสรรเพ็ชญ์ในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา

“วัดพระแก้ว” หรือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ภาพจากหนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

หลังการขุดคลองบางลำพู หรือคลองโอ่งอ่าง สำเร็จลุล่วง ทำให้กรุงเทพฯ มีสภาพเป็นเกาะอย่างสมบูรณ์เหมือนเกาะเมืองอยุธยา โครงการสร้างความ “ศักดิ์สิทธิ์” ให้พระนครของรัชกาลที่ 1 ก็ขยายต่อไปยัง “วัดสุทัศน์” ทรงมุ่งหมายให้วัดสุทัศน์มีพระวิหารสูงใหญ่คล้ายพระวิหารของพระพุทธรูปพระเจ้าพนัญเชิงแห่งกรุงศรีอยุธยา จึงทรงเชิญพระพุทธรูปศรีศากยมุนี พระประธานวิหารหลวงเมืองสุโขทัยมา ทรงเป็นผู้นำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สวยงามทั้งหลายจากเมืองสุโขทัย อยุธยา และที่ต่าง ๆ ซึ่งถูกทิ้งร้างมาประดิษฐานในกรุงเทพฯ พระราชนิยมดังกล่าวกลายเป็นแบบอย่างให้บรรดาเจ้านายและขุนนางตลอดสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

การสร้างวัดยังดำเนินควบคู่ไปกับการเกิดชุมชน ในฐานะที่วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน “ย่าน” และ “บาง” ต่าง ๆ จึงอุบัติขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร ดังพระราชนิพนธ์ เพลงยาวรบพม่า ที่ว่า

ตั้งใจจะอุปถัมภก  ยอยกพระพุทธศาสนา

ป้องกันขอบขัณฑสีมา  รักษาประชาชนและมนตรี

เหล่านี้คือราชเพณีการขยายบ้านเมืองและสร้างบ้านแปงเมืองของพระมหากษัตริย์ในภูมิภาคนี้ รวมถึงกษัตริย์อยุธยามาแต่ครั้งโบราณแล้ว และการสร้าง กรุงเทพฯ ให้เหมือน อยุธยา ของชนชั้นนำกรุงเทพฯ ยังดำเนินต่ออย่างสืบเนื่องจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3

เมื่อ กรุงเทพฯ สิ้นสภาพเมืองน้ำ

สภาพสังคมและวัฒนธรรมริมแม่น้ำลำคลองของกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) อันเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมแบบสยามจารีตสู่ยุคตะวันตกนิยม (Westernization) ผลกระทบที่เห็นทันตาคือการมีเรือจักรยนต์เข้ามาในท้องน้ำ หรือแม่น้ำลำคลองเพื่อการคมนาคม เกิดเป็นเสียงดังและลูกคลื่นที่เบียดเบียนวัฒนธรรมลอยน้ำของชาวบ้านชาวเมืองตามเรือนแพและเรือนริมน้ำ ตั้งแต่นั้นมา เรือนแพชาวสยามก็ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ส่วนเรือนริมน้ำขยับขึ้นไปอยู่บนบก

บ้านเรือนหน้าจั่วหลังคาสูงที่เรียกว่า “เรือนไทย” ถูกแทรกแซงด้วยเรือนแบบใหม่ที่เป็นอิทธิพลของฝรั่งยุคล่าอาณานิคม ทำให้เรือนปั้นหยา เรือนหลังคามนิลา เรือนตึก กลายเป็นที่นิยมแทน คลองถูกลดบทบาทลงหลังการเกิดถนนเจริญกรุงและบำรุงเมือง ถนนสมัยใหม่แปรสภาพเมืองของกรุงเทพฯ ไปตลอดกาล ชุมชน สถานที่ทำการของรัฐ และย่านตลาด เกิดขึ้นตามริมถนนหรือบริเวณที่ถนนตัดไปถึง

บรรยากาศถนนเจริญกรุงในสมัยรัชกาลที่ 5

ความเป็นกรุงเทพมหานคร ทายาทของกรุงศรีอยุธยา ที่รัชกาลที่ 1 บรรจงสร้างด้วยโลกทรรศน์ อุดมคติ และพระราชนิยมแบบจารีต กระทั่งกรุงเทพฯ กลายเป็น “อยุธยา” ที่ทั้งรุ่งเรือง ร่ำรวย และมโหฬารที่สุด ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนแปลงไปพร้อมการแปรสภาพจาก “เมืองน้ำ” เป็น “เมืองบก” เพื่อสอดรับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาจากภายนอก

กระทั่งยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ความเป็นกรุงเทพฯ แบบเดิมที่เคยห้อมล้อมไปด้วยสวน แหล่งน้ำ ถูกฝังกลบด้วยภาพของเมืองอุตสาหกรรมและย่านทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้า มีอาคารสูงบดบังทิวทัศน์ “ความศักดิ์สิทธิ์” จากสถาปัตยกรรมทางศาสนา ลดทอนมิติทางจิตวิญญาณของเมืองไป ส่วนคูคลองทั้งหลายถูกหลงลืมและมีความสำคัญลดลงจนน้ำเน่าเสีย ไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ดังเดิม 

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ดุจดังกระแสน้ำที่ไม่มีวันไหลกลับให้เป็นเมืองสวรรค์ อย่างในโคลงนิราศนรินทร์ ที่อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ โบราณคดี และมานุษยวิทยา แปลงเป็น “กรุงเทพฯ ยศล่มแล้ว ลอยนรก ลงฤๅ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นจาก ‘กรุงเทพฯ ยศล่มแล้ว ลอยนรก ลงฤๅ’ ในหนังสือ “สร้างบ้านแปงเมือง” เขียนโดย ศรีศักร วัลลิโภดม (มติชน, 2560)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2566