ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน 2546 |
---|---|
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
เผยแพร่ |
สำรวจ “วังหลัง-พรานนก” ย่าน “อาหารใต้” ทศวรรษก่อน กับร้านที่ พล.อ. เปรม ต้องมาเหมา
คนภาคใต้ที่มาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ย่อมคิดถึง อาหารปักษ์ใต้ หรือ “อาหารใต้” หากไม่ทำกินเองก็มักฝากท้องไว้กับร้านอาหารใต้ที่รสชาติพอจะคุ้นลิ้น ซึ่ง ย่านวังหลัง มีถนนสำคัญสายหนึ่ง ชื่อ ถนนพรานนก ตัดจากท่าน้ำข้างโรงพยาบาลหรือท่าวังหลัง ตรงไปทางตะวันตก เชื่อมถนนจรัญสนิทวงศ์ ที่เคยมีสถานีขนส่งสายใต้ตั้งอยู่ ถนนพรานนกข้างโรงพยาบาลศิริราช เต็มไปด้วยร้านขายยา และหาบเร่แผงลอยขายอาหาร แต่เลยสี่แยกตรงไปจะเป็นย่าน อาหารใต้ ที่ชาวสะตอรู้จักดี
เหตุที่ย่านนี้มีร้านขายอาหารปักษ์ใต้รวมกันอยู่มาก เพราะแต่เดิมรถไฟจากปักษ์ใต้ทุกสายมาจอดที่สถานีรถไฟธนบุรีที่บางกอกน้อย (ยังไม่เข้าหัวลำโพง) ต่อมาเมื่อมีสถานีขนส่งสายใต้ก็ตั้งอยู่ใกล้กัน
ชาวใต้นั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯ ต้องมาลงที่สถานีธนบุรีข้างโรงพยาบาลศิริราช จากนั้นก็มองหาที่พักพิงตามธรรมชาติ เช่น หาห้องเช่า บ้านเช่า จนถึงขออาศัยวัด ดังกรณีอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ก็เคยเป็นเด็กวัดอยู่วัดอมรินทราราม นานเข้าย่านนี้จึงกลายเป็นหลักแหล่งของชาวใต้ส่วนมาก แล้วสืบมาถึงปัจจุบัน ผลที่ตามมาต้องมีร้านอาหารขายให้ชาวใต้
ตรงหน้าวัดวิเศษการใกล้สี่แยกศิริราช ซึ่งพระเกือบทั้งวัดเป็นชาวใต้ ถ้าหันหน้าเข้าวัด ทางซ้ายมือมีร้านข้าวแกงเป็นเพิงอยู่ ร้านนี้แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ว่าเป็นร้านข้าวแกงปักษ์ใต้รสเด็ดที่เปิดมานานแล้ว ไม่มีชื่อร้าน เจ้าของชื่อป้าเจียมจิต แก้วเพิ่มพูล ชาวบ้านเรียกว่าร้านป้าเจียม ขายมา 20 กว่าปี เป็นคนสงขลา แต่ก่อนขายอยู่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เมื่อเดินทางมาเที่ยวแล้วเห็นช่องทางทำมาหากินจึงมาเปิดขายอาหารใต้ ขายกันตั้งแต่ถุงละ 3 บาท จนปัจจุบันถุงละ 15 บาทแล้ว (เมื่อ พ.ศ. 2546 – กองบก.ออนไลน์)
ฝีมือปรุงอาหารปักษ์ใต้ของป้าเจียมเป็นที่ร่ำลือ ถึงขนาดอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ เมื่อมีงานเลี้ยงจะต้องให้เจ้าหน้าที่มาซื้อเหมาแกงไตปลาที่นี่ไปเลี้ยง คุณวีระ มุสิกพงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีมหาดไทย และคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กินประจำที่นี่ ตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษา จนปัจจุบันแม้เป็นใหญ่เป็นโตก็ยังแวะมาเสมอ
จากวัดวิเศษการ ไปตามถนนพรานนก จะมีร้าน “อาหารใต้” ในตึกแถวอีกหลายร้าน แต่ร้านที่คนนิยมคือฉวาง เจ้าของร้านชื่อคุณอวย แซ่ลิ้ม อายุ 77 ปี เป็นร้านใหญ่เปิดมากว่า 30 ปีแล้ว สะอาดสะอ้าน มีข้าวแกงให้เลือกเยอะมาก อร่อยทั้งนั้น ทั้งคั่วกลิ้ง แกงไตปลา แกงเหลือง กุ้งหวาน สะตอ ฯลฯ ของหวานมีระกำดอง ใครอยากนั่งสบายๆ ก็มานั่งรับประทานได้ ซื้อกลับบ้านก็ดี แต่เรื่องความเผ็ดหายห่วง เจ้าของร้านฝากกำชับมาว่า ร้านฉวางมีแห่งเดียวเท่านั้น บางร้านเอาชื่อไปแอบอ้างแล้วทำไม่อร่อยเท่า เสียชื่อแม่อวยหมด ฉะนั้นต้องมากินฉวางที่นี่ที่เดียว
แกงใต้ที่ไม่เผ็ดก็ไม่ใช่แกงใต้ของแท้ ที่ผ่านมาเผ็ดดีทั้งสองร้าน ใกล้ๆ กันมี ร้านรวมใต้ ฝั่งตรงข้ามเป็น ร้านดาวใต้ ซึ่งแต่ละร้านก็อร่อยเด็ดเผ็ดจัดกันทุกร้าน นอกจากนี้ยังมีร้านเล็กร้านน้อยที่อยู่ในซอยวังหลัง และถนนพรานนกอีกมาก
กินของเผ็ดเสร็จแล้วอยากได้ของหวานล้างปาก ก็เดินย้อนขึ้นจากร้านฉวางมาหน่อย ห่างกันสองสามก้าว มีร้านขนมชื่อ ร้านขนมหม้อแกงเพ็ญศรี นอกจากจะมีขนมหม้อแกงอร่อยสูตรเมืองเพชรตั้งแต่รุ่นแม่ของแม่แล้วยังมีขนมไทยอีกนานาชนิด ซื้อกลับไปกินเองก็ดีหรือเป็นของฝากยิ่งดีใหญ่ เจ้าของร้านชื่อ คุณแม่เพ็ญศรี ปานุราช เดิมเป็นคนเพชรบุรี ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เห็นคนอื่นทำขนมหวานขาย ท่านเห็นว่าแค่นี้ฉันก็ทำได้ เลยทำขายบ้าง ปรากฏว่าขายดีจนทุกวันนี้
ตรงสี่แยกพรานนกมีตลาดสด มีร้านกวยจั๊บรสเด็ด หนักเครื่อง ไม่มีชื่อร้าน เปิดขายตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึง 4 โมงเย็น ไปไม่ทันก็อดกิน
อ่านเพิ่มเติม :
- “ซามารอเด็ง” หรือ “กือโป๊ะ” อาหารทานเล่นของคนใต้ ต้นตำรับ “ข้าวเกรียบปลา”
- แกงพริก (ไทย) กระดูกหมู หรือจะเป็นแกงเผ็ดร้อน โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์กว่าแกงใต้หม้ออื่น?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “บ้านเกิดสุนทรภู่ อยู่บริเวณวังหลัง บางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2546
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2560