“หมอกควัน” เหตุหายนะครั้งใหญ่ คร่าชีวิตชาวลอนดอนนับหมื่น รัฐบาลทำยังไง?

หมอกควัน อังกฤษ ประเทศอังกฤษ
(ภาพโดย George Tsiagalakis จาก Wikimedia Commons สิทธิ์การใช้งาน CC BY-SA 4.0) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

หมอกควัน เข้าปกคลุมกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในเช้าตรู่วันที่ 5 ธันวาคม ปี 1952 (พ.ศ. 2495) ผู้คนในกรุงลอนดอนตื่นมาพบว่าบรรยากาศรอบตัวและนอกเคหสถานเต็มไปด้วยหมอกควัน แต่พวกเขาคิดว่าเป็นหมอกทั่ว ๆ ไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับเช้าวันกลางฤดูหนาวแบบนี้ เพราะชาวอังกฤษคุ้นเคยกับหมอกหนาที่ปกคลุมทั่วเมืองอยู่แล้ว

เช้าวันนั้น ชาวลอนดอนออกมาใช้ชีวิตกันตามปกติท่ามกลางทัศนวิสัยอันย่ำแย่ ก่อนความผิดปกติบางอย่างจะเริ่มเด่นชัดขึ้น เพราะแม้อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นในตอนกลางวัน แต่หมอกประหลาดสีเหลืองยังปกคลุมอยู่หนาแน่น แถมมันยังทิ้งคราบเขม่าสีดำไว้บนพื้นผิวต่าง ๆ ทั่วกรุงลอนดอนด้วย เพราะ “หมอก” ที่ปกคลุมทั่วเมืองนั้น คือ “หมอกควัน” (Smog) ไม่ใช่ หมอก (Fog) ตามธรรมชาติ

แน่นอนว่าหมอกควันเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนที่สูดดมมันเข้าสู่ร่างกาย และชาวลอนดอนกำลังถูกแวดล้อมไปด้วยหมอกพิษที่แผ่ปกคลุมไปทั่วเมือง มันไม่ใช่ละอองน้ำที่ลอยตัวเหนือพื้นดินยามหนาว แต่เป็นหมอกที่มีส่วนผสมของ ฝุ่นควัน (Smoke) จากการเผาไหม้ ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นเถ้าธุลีขนาดจิ๋ว หรือสารแขวนลอย (Particulate Matter) ซึ่งเราเรียกอย่างย่อว่า PM นั่นเอง

ท้องถนน ใน กรุงลอนดอน ช่วงวิกฤต หมอกควัน ปี 1952 ประเทศอังกฤษ
(ภาพโดย Willem van de Poll สิทธิ์การใช้งาน CC0 1.0 / public domain)

ที่มาของ “หมอกควัน”

หมอกควัน เป็นผลผลิตจากการใช้ “ถ่านหิน” (Coal) ของโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงบ้านเรือนประชาชนทั่วไป ช่วงเวลานั้น ถ่านหิน ถือเป็นเชื้อเพลิงที่ได้รับความนิยมสูง เพราะให้ความร้อนสูงกว่าฟืนไม้ทั่วไป การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว สหราชอาณาจักรยังเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ของโลกด้วย

ถ่านหินอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโรงงานอุตสาหกรรม และอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวอังกฤษ หลัก ๆ คือ การประกอบอาหารและเชื้อไฟในเผาผิงเพื่อสร้างความอบอุ่น เมื่อภาพกรุงลอนดอนถูกหมอกปกคลุมทั่วเมือง จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนคุ้นเคย หมอกควันในอากาศที่เด่นชัดและส่งผลต่อการใช้ชีวิตขึ้นทีละน้อย จึงไม่อยู่ในความสนใจหรือการระแวดระวังมากเท่าที่ควร ยิ่งอากาศหนาวเย็น บ้านเรือนต่าง ๆ เพิ่มถ่านหินเข้าไปในเตาผิง ยิ่งเร่งให้เกิดการเผาไหม้และเติมฝุ่นควันเข้าไปในอากาศมากยิ่งขึ้นไปอีก

ประเด็นสำคัญคือ คนอังกฤษไม่ทราบว่าควันจากการเผาไหม้ถ่านหินส่งผลเสียต่อสุขภาพและเป็นภัยต่อร่างกาย หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก รวมถึงภาครัฐเองก็ไม่ได้ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้มากเท่าที่ควรจะทำด้วย

อีกปัจจัยหนึ่ง สภาพอากาศบริเวณกรุงลอนดอนในเวลานั้นมีหย่อมความกดอากาศสูง ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตัวเมืองพอดี เป็นผลให้อากาศในพื้นที่โดยรอบเคลื่อนที่ช้า ลมสงบ อากาศไม่ถ่ายเท มวลอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นพิษจึงสะสมอย่างเข้มข้นอยู่จุดเดียว

หลายวันก่อนวิกฤตหมอกควันจะเป็นที่รับรู้ มีรายงานเตือนหลายฉบับที่อธิบายผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ไปยัง วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า รายงานเหล่านั้นไม่เคยไปถึงเขาเลย แม้แต่ฉบับเดียว…

มีการเปิดเผยในภายหลังว่า หนึ่งในทีมเลขาฯ สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจสอบเอกสารเหล่านั้นก่อนไปถึงนายกรัฐมนตรีผู้เฒ่า (ปีนั้น ‘เชอร์ชิล’ อายุ 78 ปี) ได้นำเอกสารดังกล่าวไปให้หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านแทนที่จะส่งให้ถึงมือวินสตัน เชอร์ชิล เรื่องราว “หนอนบ่อนไส้” นี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้การรับรู้ปัญหาสำคัญถูก “ปกปิด” จากนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายความนิยมในตัวของ วินสตัน เชอร์ชิล จากการแก้ปัญหาหมอกควันนั่นเอง

อาจเป็นไปได้ว่า วินสตัน เชอร์ชิล แทบไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับหมอกควันสีเหลืองปริศนานี้ เขาเข้าใจว่ามันคือหมอกทั่วไป และกว่าจะรู้ถึงอันตรายที่แท้จริง ประชาชนในกรุงลอนดอนต้องเจ็บป่วยล้มตายไปมากมายเพราะหมอกควันมรณะเหล่านี้ ชาวลอนดอนถูกปล่อยให้สูดดมและสัมผัสหมอกควันอยู่หลายวัน ฝุ่นพิษพวกนี้มีความเป็นกรดและมีฤทธิ์ในการกัดกร่อนสูง เป็นผลให้ประชาชนเกิดโรคทางเดินหายใจ โรงพยาบาลในกรุงลอนดอนแน่นขนัดไปด้วยผู้ป่วยจากภาวะดังกล่าว คนจำนวนมากล้มตาย

นอกจากอันตรายหลังสูดดมเข้าสู่ร่างกายแล้ว หมอกควัน ยังทำให้ทัศนวิสัยหรือความสามารถในการมองเห็นลดลง การสัญจรด้วยรถยนต์เกิดปัญหา เพราะระยะการมองเห็นของผู้ขับขี่เหลือเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น มีรายงานว่า วันที่ 3 ของเหตุการณ์วิกฤตหมอกควัน ระยะมองเห็นของคนที่สัญจรภายในเมืองเหลือเพียงฟุตเดียวเท่านั้น

ไม่แปลกเลยที่บุคลากรวงการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงประชาชนจำนวนไม่น้อย เริ่มตั้งข้อสงสัยถึงการทำงานของ วินสตัน เชอร์ชิล ที่ทั้งล่าช้า มองไม่เห็นปัญหา และไม่ใส่ใจความเดือดร้อนของประชาชน

ท้องถนน ใน กรุงลอนดอน ช่วงวิกฤต หมอกควัน ปี 1952 ประเทศอังกฤษ
ท้องถนนในกรุงลอนดอน ช่วงวิกฤตหมอกควันปี 1952 (ภาพจาก Flickr / Public domain)

วินสตัน เชอร์ชิล พลิกสถานการณ์

จุดเปลี่ยนสำคัญของวิกฤตครั้งนี้คือ มีเจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่งที่ทำงานให้วินสตัน เชอร์ชิล เสียชีวิตเพราะถูกรถชน เขาเลือกแสดงออกถึงภาวะผู้นำโดยเดินทางไปเคารพศพเธอที่โรงพยาบาล ที่นั่นเองเขาได้สัมผัสและเห็นสถานการณ์อันเลวร้ายซึ่งเกิดขึ้นภายในโรงพยาบาล ภาพของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากหมอกควันพิษ ความโกลาหลที่เหล่าแพทย์และพยาบาลต้องจัดการ ทำให้นายกรัฐมนตรีอังกฤษตกตะลึงสุด ๆ เขาจึงเรียกสื่อมวลชนมาฟังคำแถลงที่โรงพยาบาลทันที

วินสตัน เชอร์ชิล สั่งให้เพิ่มงบประมาณและจำนวนบุคลากรภายในสถานพยาบาล ยุติการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมชั่วคราว เพื่อลดการปล่อยฝุ่นควันสู่อากาศ นโยบายที่เด็ดขาดดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลทันทีในระยะเวลาอันสั้น หมอกควันสีเหลืองที่เข้ายึดกรุงลอนดอนได้ 5 วัน ค่อย ๆ สลายตัวไปในช่วงสายวันที่ 9 ธันวาคม ปี 1952

เรียกได้ว่า สั่งการครั้งเดียว พลิกสถานการณ์ทุกอย่าง ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม สาธารณภัยที่ประชาชนกำลังเผชิญ แถมกอบกู้สถานการณ์ เรียกคะแนนนิยม เรียกคือความศรัทธาให้ตนเองได้อย่างท่วมท้น แบบที่ฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามที่เล่นเกมการเมืองอันน่ารังเกียจ เดิมพันด้วยชีวิตของคนบริสุทธิ์มากมาย จนปัญญาเลยทีเดียว

ไม่มีหลักฐานชี้ขาดว่า แท้จริงแล้วนายกรัฐมนตรีอังกฤษถูกปกปิดการรับรู้มาตั้งแต่แรกหรือไม่ แต่อย่างไรเสียปัญหาก็ปรากฏให้เห็นตรงหน้าอยู่แล้ว ถึงถูกบิดเบือนการ “รับรู้” เชิงลึก แต่ก็ยากจะปกปิดปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้า (อยู่ส่วนไหนของเมืองก็เจอฝุ่นพิษ) นอกเสียจาก วินสตัน เชอร์ชิล เลือกจะเมินเฉยต่อปัญหาในระยะแรกจริง ๆ ถึงกระนั้น ในเมื่อไม่รู้และไม่เข้าใจปัญหา ก็ยากที่แก้ปัญหาใด ๆ ได้

ภาพถ่าย วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ในปี 1949

5 วันที่กรุงลอนดอนเผชิญหมอกควัน ดูเผิน ๆ คล้ายกับว่า ฝุ่นพิษเหล่านี้แค่ผ่านมาและผ่านไปเท่านั้น แต่จากรายงานสถิติพบว่ามีคนกว่า 12,000 คน ที่ต้องสังเวยชีวิตเพราะ “หมอกควันมรณะ” เหล่านี้ เหตุการณ์นี้ ได้รับการขนานนามว่า หมอกควันครั้งใหญ่ของกรุงลอนดอน ปี 1952 หรือ “The Great Smog of London 1952” นอกจากนี้ วิกฤตหมอกควันยังถือเป็นมหาภัยพิบัติที่รุนแรงเป็นลำดับ 10 ในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักรด้วย

บทเรียนจาก The Great London Smog 1952 ที่ล่วงเลยมาแล้วกว่า 70 ปี คือแบบเรียนสำหรับการแก้วิกฤตหมอกควันที่ชัดเจน ทั้งในแง่การทำความเข้าใจปัญหา ผลกระทบ และวิธีดำเนินการแก้ปัญหา ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ พัฒนาก้าวหน้ากว่าเมื่อก่อนมาก ปัญหาเหล่านี้ยิ่งสมควรถูกจัดการให้หมดไป ไม่ใช่ปล่อยตามมีตามเกิด หรือปฏิบัติเหมือนเป็นเรื่องเหนือการควบคุม แล้วทิ้งให้เป็นภาระแก่ประชาชนในการจัดการ…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์. มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 – 18 เมษายน 2562 : “บทสะท้อนภาวะผู้นำ กับ วิกฤตหมอกควัน วิเคราะห์ตีแผ่ครบทุกมิติ!”. <https://www.matichonweekly.com/special-report/article_187584>

NGThai. ngthai.com (2 กุมภาพันธ์ 2566) : หมอกปนควันครั้งใหญ่ของลอนดอน ที่ฆ่าผู้คนนับหมื่นจากอากาศเสีย”. <https://ngthai.com/history/46662/great-smog-of-london-1952/>

Chistopher Klein. www.history.com (Aug 22, 2018) : The Great Smog of 1952. <https://www.history.com/news/the-killer-fog-that-blanketed-london-60-years-ago>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566