แม่ฮ่องสอน “เมืองสามหมอก” หมอกอะไรบ้าง?

เมืองสามหมอก แม่ฮ่องสอน หมอก
(ภาพจาก "เมืองสามหมอก หลากหลายวัฒนธรรม " ใน มติชนออนไลน์, 10 กันยายน 2560)

แม่ฮ่องสอน จังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือของไทย กับสมญานาม “เมืองสามหมอก” หรือ “เมืองในหมอก” มีความหมายว่าอย่างไร?

จากคำขวัญจังหวัด ที่ว่า “หมอกสามฤดู กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี เมืองผู้คนดี ประเพณีงาม ลือนามถิ่นบัวตอง” พอจะเป็นหลักฐานได้ว่า ฉายา “เมืองสามหมอก” ของแม่ฮ่องสอนไม่ได้มีอยู่หรือเกิดขึ้นแบบลอย ๆ แต่เป็นอัตลักษณ์สำคัญที่ฝ่ายปกครองเห็นควรว่าสามารถชูเป็น “จุดเด่น” หรือ “จุดขาย” ได้

หากลองพิจารณาถึงความหมายของสมญานามนี้แบบเบื้องต้น หลายท่านคงนึกถึง “หมอก” ที่ปกคลุมพื้นที่จังหวัดตลอดทั้งปี เรียกได้ว่ายาวนานครบ 3 ฤดู กลายเป็นที่มาของ “สามหมอก”

แต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนหนาวเย็นตลอดปี จนมีโอกาสสัมผัสไอหมอกยาวนานขนาดนั้นเลยหรือ?

ภูมิประเทศของแม่ฮ่องสอนนั้นเต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน อุดมไปด้วยป่าไม้ และมีที่ราบลุ่มหรือที่ราบหุบเขาเป็นส่วนน้อย ซึ่งตัวเมืองหรือชุมชนจะตั้งอยู่ตามหุบเขา อย่างไรก็ตาม แม้จะมีอากาศหนาวจัดในฤดูหนาว แต่… พื้นที่เหล่านี้มีสภาพ “ร้อนจัด” ในฤดูร้อนเช่นกัน

หรือหมอกที่ถูกอ้างอิงถึงนี้ ไม่ใช่ “หมอก” ในสภาพละอองน้ำขนาดเล็ก หรือไอน้ำที่กลั่นตัวอยู่ตามอากาศใกล้พื้นดินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นมากกว่านั้น

ก่อนวิกฤตหมอกควันภาคเหนือจะรุนแรงอย่างทุกวันนี้ (พ.ศ. 2566) แม่ฮ่องสอน คือจังหวัดที่มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่เหมือนจังหวัดอื่น ต้องบอกว่า อาจจะเหมือนบ้าง แต่จังหวัดอื่นไม่โดดเด่นเท่าแม่ฮ่องสอน ก็ว่าได้…

เพราะนอกจากจะมี “หมอกน้ำค้าง” ในฤดูหนาว “หมอกเมฆ” ในฤดูฝน แม่ฮ่องสอนยังมี “หมอกควัน” ในฤดูร้อน

หมอกควันเหล่านี้มาจากไหน? ไม่ต้องสืบเลยว่าคือ ไฟป่าและการเผาไหม้นั่นแหละ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ จากเชื้อไฟจำพวกไม้แห้งท่ามกลางอากาศร้อนจัดในฤดูร้อน และฝีมือมนุษย์จากกิจกรรมทางการเกษตร โดยเฉพาะการเผาตอซังข้าวเพื่อปรับหน้าดินสำหรับปลูกกระเทียมและถั่วเหลือง การเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ตลอดจนการทำให้เกิดประกายไฟในกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ

เป็นที่มาของนามเมืองโด่งดัง เพราะมีทั้งหมอกน้ำค้าง หมอกเมฆ และหมอกควัน ครบ 3 ฤดู แบบเน้น ๆ !

ไฟป่า หมอกควัน แม่ฮ่องสอน
กรมอุทยานฯ จ. แม่ฮ่องสอน ทำแนวกันไฟชายแดน ไทย-เมียนมา (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 19 มกราคม 2562)

กล่าวได้ว่า อัตลักษณ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีส่วนประกอบสร้างคำเรียกเมืองสามหมอกไม่เพียงมาจากธรรมชาติเท่านั้น แต่มาจากท้องถิ่นหรือมนุษย์เป็นส่วนสำคัญด้วย ทั้งนี้ ปัญหาจากหมอกควันในอดีตยังไม่สะสมจนทวีความรุนแรงในระดับที่ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนเหมือนเช่นในปัจจุบัน

ทราบแบบนี้แล้ว ชักไม่แน่ใจว่า คนแม่ฮ่องสอน ตลอดจนคนไทยทั้งหลาย ยังรู้สึก “โรแมนติก” กับคำว่า “เมืองสามหมอก” อยู่หรือไม่…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. (2542). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มีนาคม 2566