ก่อนเจอฝุ่น PM 2.5 ไทยเผชิญปัญหา PM 10 มาแล้ว 2 ทศวรรษ!

ภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์

ก่อนเจอฝุ่น PM 2.5 ไทยเผชิญปัญหา PM 10 มาแล้ว 2 ทศวรรษ!

ที่ผ่านมาเมื่อเห็นท้องฟ้าในฤดูหนาวขมุกขมัว ไม่เห็นแสงแดด ทัศนวิสัยไม่ได้ดี ใครๆ ก็นึกถึง “หมอก” แต่ปัจจุบันเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะ ฝุ่น PM 2.5 (ชื่อเต็มว่า Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron) เป็นฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน และเป็น 1 ใน 8 ตัววัดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ

ก่อนหน้านี้คนไทยรู้จักฝุ่น PM 2.5 จากข่าวต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ปักกิ่งที่เป็นเมืองหลวงของประเทศมีปัญหาเรื่องฝุ่นควันก่อนหน้าไทยมาหลายปี และเดือนพฤศจิกายน 2557 เมื่อเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) รัฐบาลจึงออกคำสั่งให้ปิดโรงงานต่างๆ เป็นการชั่วคราว เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีในระหว่างการประชุม

ฝุ่น PM 2.5 “ฝุ่นพิษ” จึงดูเป็นเรื่องไกลตัว จนเมื่อปลายปี 2561 ต่อต้นปี 2562 คนไทยก็เริ่มรู้จัก PM 2.5

รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศโลก พ.ศ. 2561 มีการจัดอันดับมลพิษ PM 2.5 ของเมืองและภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งจำแนกตามความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 23 จากทั้งหมด 73 ประเทศ มีค่า PM 2.5 อยู่ที่ 26.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง อันดับที่ 24 จากทั้งหมด 62 เมือง มีค่า PM 2.5 อยู่ที่ 25.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ในบทคัดย่อของรายการดังกล่าวยังกล่าวว่า มลพิษทางอากาศเป็นความท้าทายเร่งด่วนที่สุดด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญ มีการคาดการณ์ว่ามลพิษทางอากาศมีส่วนต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 7 ล้านคน/ปี และทำให้มีค่าใช้จ่ายประมาณ 225,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาจากความเจริญทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ตระหนักในสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้จากรถยนต์, อากาศพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม (โดยเฉพาะถ่านหิน) และการทำเกษตรแบบเดิม ด้วยการเผาเศษวัสดุต่างๆ ในที่โล่ง  (เช่น การเผาตอซังข้าว, การเผาไร่อ้อย, การเผาเพื่อเก็บหาของป่า) ฯลฯ

แต่ก่อนหน้า PM 2.5 ไทยเผชิญกับ PM 10 มาแล้ว

หากย้อนกลับ เมื่อปี 2547 กรมควบคุมมลพิษออกประกาศให้ ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เป็น “เขตควบคุมมลพิษ” เนื่องจากกิจการโรงโม่บดหรือย่อยหิน เหมืองหิน โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานปูนขาว โรงแต่งแร่ และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งการจราจรและบรรทุกขนส่งในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบให้มีฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 10) ในบรรยากาศสูงเกินค่ามาตรฐานค่อนข้างมาก

สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง จังหวัดสระบุรี ปี 2559 มีวันที่ฝุ่นเกินมาตรฐาน 89 วัน, ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 107 วัน ปัจจุบันก็มีตรวจพบว่ามีแนวโน้มฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ในบรรยากาศสูงเกินมาตรฐานอยู่ และยังเป็นปัญหาถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้พื้นที่อื่นที่เป็น โรงงานอุตสาหกรรม, นิคมอุตสาหกรรม, โรงงานผลิตไฟฟ้า, โรงสีข้าว ฯลฯ ก็มีโอกาสที่จะมีค่าฝุ่น PM 2.5 หรือ PM 10 หรือทั้ง PM 2.5 และ PM 10 สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ

ส่วนมาตรการแก้ปัญหาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันคือ นอกจากการฉีดพ่นละอองน้ำลดฝุ่นแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นไปในรูปแบบการให้คำแนะนำ, ขอความร่วมมือ เช่น งดกิจกรรมที่ทำให้เกิด PM 2.5 (การเผาขยะ, เผาใบไม้-หญ้า, หยุดการก่อสร้างขนาดใหญ่ ฯลฯ), ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5, สวมหน้ากากอนามัย, งดกิจกรรมกลางแจ้ง, ทำงานแบบ Work From Home ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศโลก พ.ศ. 2561 มีการจัดอันดับมลพิษ PM 2.5 ของเมืองและภูมิภาคทั่วโลก. จัดพิมพ์เผยแพร่ภาษาไทย โดย กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ประเทศไทย)

“บิ๊กเต่าตรวจมลพิษหน้าพระลาน ชี้ต้นปี-ปลายปีฝุ่นสูงเกินมาตรฐานตลอด” ในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ วันที่ 15 ธันวาคม 2560.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2566