เผยแพร่ |
---|
ละครย้อนยุคหลายๆ เรื่อง แสดงให้เห็นบ้านเมืองร่มรื่นน่าอยู่ ไม่มีมลพิษจากสารเคมี ไม่มีรถติด ผู้คนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน สรุปง่ายว่า “น่าอยู่สุดๆ”
แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าทำได้จริง และท่านคิดจะย้อนกลับไป โปรดอ่านข้อมูลต่อไปนี้ก่อนตัดสินใจ
เมื่อเดือนมกราคม 2562 ผศ.ดร.นิภาพร รัชตพัฒนากุล ได้นำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์ “ความเหม็น” ของกลิ่นต่างๆ ที่ล่องลอยอยู่ในกรุงเทพฯ “กลิ่นเหม็น” ของพระนครไว้ใน บทความ “นาสิกประสาตภัย” : ประวัติศาสตร์ของกลิ่นเหม็นในเมืองกรุงเทพฯ (ศิลปวัฒนธรรม, มกราคม 2562) ซึ่งในที่นี้สรุปย่อมาเพียงบางส่วน เพื่อให้เห็น “มลพิษ” ในอดีตที่ไม่ได้เกิดจากสารเคมีและเทคโนโยลีหน้าต่างเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องมลพิษทางอากาศ
ปัญหามลภาวะทางอากาศเป็นปัญหาสำคัญในช่วงที่เมืองกรุงเทพฯ ขยายตัวเป็นอย่างมากภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาริงใน พ.ศ. 2398 ส่วนกรุงเทพฯ นั้น แม้ตั้งแต่ พ.ศ. 2394 จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่หรือมหานคร แต่ก็มีมลภาวะทางอากาศในลักษณะเฉพาะของตนเอง
“ความเหม็น” ของกลิ่นต่างๆ ที่ล่องลอยอยู่ในพระนครนั้นทำให้เมื่อตั้งกรมสุขาภิบาลเมื่อ พ.ศ. 2440 และเริ่มปฏิบัติภารกิจภายหลังออก “ประกาศจัดการสอาดในจังหวัดพระนคร” (22 พฤษภาคม พ.ศ. 2441) ก็เน้นจัดการปัญหาเรื่อง “…ของปฏิกูลต่างๆ ซึ่งมีกลิ่นเหม็นอันไม่เปนที่พึงใจ และซึ่งบางทีจะเปนเหตุให้เกิดโรคภยันตรายบางอย่างได้…”
ประกาศฉบับนี้ซึ่งมีเนื้อหาทั้งสิ้น 13 ข้อ เน้นจัดการกับ “กลิ่น” ขยะ ของเสียจากร่างกายมนุษย์และสัตว์ ซากสัตว์ ซากศพ กลิ่นจากบรรดาโรงเลี้ยงสัตว์ ช้าง ม้า โค กระบือ หมู ไก่ เป็ด และโรงงานที่มีกลิ่นเหม็นต่างๆ เช่น โรงย้อมคราม โรงทำน้ำเคย โรงทำขนมจีน โดยห้ามสร้างโรงเลี้ยงสัตว์ โรงงานที่มีกลิ่นเหม็น ไว้ใกล้ถนนและแหล่งที่อยู่อาศัย
โดยกรมสุขาภิบาลจะดูแลเฉพาะภายในพระนคร ขณะที่พื้นที่นอกพระนครซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของราษฎรส่วนใหญ่นั้นอยู่นอกเหนือการจัดการ จนกระทั่ง พ.ศ. 2459 และ พ.ศ. 2466 จึงได้ประกาศขยายเขตสุขาภิบาลออกไปครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวตามลำดับ
คราวนี้เราไปดูกันว่า “กลิ่นเหม็น” ของพระนครในเวลานั้นล่องลอยมาจากต้นตอใดกันบ้าง
“กลิ่น” จากขยะและน้ำเสีย
ขยะและน้ำเสียเป็นปัญหาที่สำคัญของกรุงเทพฯ โดยทั่วไปไม่เพียงเฉพาะในเขตพระนคร โดยกรมสุขาภิบาลมีหน้าที่ในการจัดวางถังขยะ การรวบรวมขยะ และการทำลายขยะ ซึ่งในทศวรรษ 2440 มีถังขยะวางอยู่ตามถนนหลวงในเขตพระนครทั้งสิ้น 80 ถัง และวางอยู่ตามถนนหลวงบริเวณพระราชวังดุสิตอีก 8 ถัง
ข้อมูล พ.ศ. 2441 บันทึกไว้ว่า ใน 1 วันเจ้าหน้าที่เหล่านี้สามารถรวบรวมขยะได้ประมาณ 13 ตัน และจากบันทึกในอีก 20 ปีต่อมา ราว พ.ศ. 2460-65 หลังจากขยายเขตสุขาภิบาลครอบคลุมพื้นที่สำเพ็ง เยาวราช ปริมาณขยะที่เก็บได้ต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 155 ตัน
ขยะเหล่านี้จะถูกนำไปถมตามคูคลอง หรือพื้นที่ที่เป็นหลุมบ่อหรือที่ลุ่มที่ต่ำในแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัยต่างๆ เช่น ชุมชนชาวเขมร โดยการจัดเก็บขยะของกรมสุขาภิบาลจะจัดเก็บเฉพาะถังขยะที่จัดตั้งบนถนนหลวง ไม่เกี่ยวกับตรอกซอกซอยต่างๆ ซึ่งต่อมาทางการได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนในการขนเก็บขยะในตรอกซอกซอยเพิ่มเติมด้วย แต่คงจะยังไม่พอเพียงจึงทำให้วิธีการเทขยะลงในคลองยังคงดำเนินอยู่ต่อไป การทำลายขยะด้วยวิธีการนำไปถมตามจุดต่างๆ ในพระนครนั้นเป็นวิธีการที่เจ้าหน้าที่สุขาภิบาลชาวต่างชาติไม่เห็นด้วย แต่เนื่องจากกขาดแคลนงบประมาณและความต้องการถมที่ลุ่มที่ต่ำภายในพระนครทำให้ยังคงใช้วิธีการนี้ต่อไป
หากเมื่อชุมชนขยายตัว การนำขยะไปเทถมไม่ว่าจะที่ใดก็รบกวนราษฎรที่นั้น
เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2460 ขยะที่รวบรวมได้จากตอนเหนือของพระนครถูกนำไปถมบริเวณถนนราชดำเนิน ส่วนขยะจากตอนกลางของพระนครเอาไปถมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขยะจากตอนใต้ของพระนครเอาไปถมที่วัดดอน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ชุมชนในละแวกนั้นเป็นอย่างมาก
เมื่อ พ.ศ. 2470 ฝรั่งที่อาศัยอยู่บริเวณถนนวิทยุเดือดร้อนเข้าชื่อกันแจ้งว่า กรมนคราทรได้ขนขยะไปเทที่สระใหญ่ในสวนลุมพินีริมถนนวิทยุด้านตะวันออกตอนเหนือ น้ำในสระเน่าเหม็นมีลูกน้ำอยู่เต็ม โดยปิดทางน้ำไว้ไม่ให้ไหลลงคลองอย่างเก่า แล้วสระนี้ใหญ่มากเอาขยะมาถม 2 ปีกว่าจะเต็ม พวกฝรั่งจึงย้ายหนีไปหลายคน รวมทั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิตตัวแทนผู้เขียนจดหมายร้องเรียนก็ต้องย้ายออก
ต่อมามีจดหมายชี้แจงมาจากเสนาบดีมหาดไทยบอกว่า ได้พิจารณาเป็นอย่างดีแล้วถึงได้เอาขยะไปทิ้งที่สวนลุมพินี แล้วคนที่โดนกลิ่นเหม็นจากลมขยะก็ถือว่าเป็นจมูกส่วนน้อย แต่บังเอิญเป็นจมูกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต และฝรั่ง รวมทั้ง นายฮง นาวานุเคราะห์ เจ้าของบริษัทออนเหวง คงจะอยากได้กำไรเพิ่มจากการเผาขยะ จึงได้ไปโพนทะนาในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์เพื่อหวังผลอื่นๆ
อันที่จริงในช่วงเวลานั้นมีเทคโนโลยีเกี่ยวกับการทำลายขยะอยู่บ้างแล้ว ดังจะเห็นได้จากข้อเสนอของวิศวกรกรมสุขาภิบาล นาย R. Belhome ในโอกาสที่กรมสุขาภิบาลจะขยายเขตสุขาภิบาลใน พ.ศ. 2459 ที่เสนอให้สร้างเตาเผาขยะ โดยเปรียบเทียบให้เห็นชนิดของขยะ ปริมาณ และวิธีจัดการขยะของเมืองกรุงเทพฯ และเมืองอื่นๆ ว่าขยะของแต่ละเมืองนั้นไม่เหมือนกัน วิธีการทำลายก็แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามเจ้าพระยายมราชไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ โครงการสร้างเตาเผาขยะจึงต้องพับไป
นอกจากกลิ่นขยะดังที่ยกตัวอย่างข้างต้นยังมีกลิ่นเหม็นจากน้ำเสียอีกด้วย
ผู้เดือดร้อนส่วนหนึ่งร้องเรียนผ่านหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็น “ปากเสียงแทนประชาชน” ตัวอย่างเช่นผู้ที่อาศัยอยู่ริมคลองสะพานหัน หรือโอ่งอ่างเดือดร้อนเพราะเวลาน้ำแห้งเหม็นขี้โคลนกลิ่นของเน่าหมัก ที่คนทิ้งจนเรือเกือบเดินเข้าออกไม่ได้ แถมยังประชดว่ากรมสาธารณสุข ฉายหนัง ออกใบปลิว แจ้งความจิปาถะ เพื่อให้ราษฎรรักษาอนามัย แต่ไม่เห็นสนใจกลิ่นเหม็น ชาวบ้านก็ไม่รู้จะไปแจ้งใคร เพราะไม่รู้หน้าที่นี้เป็นของแผนกไหน แล้วถ้าไม่ใช่ผู้ใหญ่สั่งการก็คงทำอะไรไม่ได้ ทั้งยังเสนอให้ขุดลอกคลองใหม่ด้วยเงินเรี่ยไรจากพ่อค้าก็คงได้ แล้วจะช่วยกันรักษา เพราะขุดดีกว่าถมทิ้ง
สาเหตุของการเกิดน้ำเสียนั้น นอกจากปริมาณน้ำเสียที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณประชากรในเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาการระบายสิ่งปฏิกูลในพื้นที่ที่มีผู้อยู่อาศัยหนาแน่น ซึ่งในขณะนั้นการชำระล้างสิ่งปฏิกูลยังคงใช้กลไกธรรมชาติ จากการขึ้นลงของกระแสน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลักแล้ว
นอกจากนี้การปรับปรุงพระนครด้วยการสร้างถนนแบบสมัยใหม่ ที่สร้างรางระบายน้ำบนผิวถนนและท่อระบายน้ำใต้ดินไปพร้อมกัน ผลข้างเคียงที่ตามมาคือทำให้ถนนหลวงถูกยกพื้นขึ้นสูงกว่าเดิม ทำให้บริเวณโดยรอบกลายเป็นหลุมบ่อหรือที่ลุ่มที่ต่ำไป เมื่อฝนตกจึงทำให้น้ำขังบริเวณพื้นที่ต่ำเหล่านี้ ส่วนในยามหน้าแล้งพื้นที่ต่ำก็จะกลายเป็นที่ฝังกลบขยะที่รวบรวมมาจากในพระนครดังที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้พื้นที่เหล่านี้เป็นทั้งบ่อขยะและบ่อน้ำเน่าสลับกันไปทุกฤดูกาล
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ น้ำเน่าเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่เกิดขึ้นในพระนครยังเป็นต้นตอที่สำคัญของกลิ่นต่างๆ ภายหลัง ดังตัวอย่างข่าวเรื่อง “แพรกบ้านใน” ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษบางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2464 เจ้าพนักงานได้แปลเป็นภาษาไทยบรรยายกลิ่นรุนแรงของโรงฟอกหนังไว้ว่า
ถนนสี่พระยาและบริเวณที่ใกล้เคียงสกปรกจนไม่มีคำใดจะกล่าว ท่อน้ำโสโครกเปิดทิ้งไว้ตั้งแต่สะพานพิทยเสถียรไปจนสะพานที่สถานทูตอังกฤษ ท่อน้ำเหล่านี้ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น ทำให้อากาศเสีย เป็นเหตุให้ทารกตายหลายร้อยคน ท่อน้ำบางแห่งเปิดอยู่เสมอกลิ่นเหม็นมากทำให้ผู้คนร่างกายทรุดโทรม แต่สยามปล่อยกันโดยไม่ฟังเสียงแย้งของสาธารณชน
“กลิ่น” จากสิ่งปฏิกูล
ในขณะนั้นการขับถ่ายในที่โล่งเป็นวัตรปฏิบัติโดยทั่วกัน กระทั่งภายหลังออก “ประกาศจัดการสอาดในจังหวัดพระนคร” การถ่ายในที่โล่งเช่นคูคลองและถนนหลวงจึงกลายเป็นสิ่งต้องห้าม ด้วยเหตุนี้งานสร้างส้วมสาธารณะจึงกลายเป็นภารกิจเร่งด่วนของกรมสุขาภิบาลอีกอย่างหนึ่ง แม้กระนั้นจากข้อมูลจำนวนส้วมสาธารณะที่อยู่ในเขตสุขาภิบาลก็น่าจะไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังเห็นได้จากเมื่อหลวงสาทรศุภกิจได้รับมอบภารกิจให้สำรวจส้วมสาธารณะบริเวณสำเพ็งเมื่อ พ.ศ. 2444 ซึ่งมีส้วมสาธารณะและส้วมเอกชนรวมกันประมาณ 214 หลุมนั้น
ส่วนการจัดเก็บสิ่งปฏิกูลนั้นทางราชการได้ออกใบอนุญาตให้บริษัทเอกชนอย่างน้อย 2 แห่ง คือบริษัทออนเหวงและบริษัทสะอาดเป็นผู้จัดเก็บ โดยบริษัทรวบรวมสิ่งปฏิกูลทั้งจากส้วมสาธารณะ และส้วมส่วนตัวในวังหรือบ้านของคหบดีลงเรือไปเททิ้งตามลำคลองต่างๆ เช่น คลองบางขุนพรหม คลองบางกะปิ คลองบางกอกน้อย ราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นๆ ต่างเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นและมีการเสนอให้ใช้เรือกลไฟบรรทุกสิ่งปฏิกูลออกไปทิ้งในทะเล
อีกจำนวนหนึ่งก็นำไปใช้เป็นปุ๋ยธรรมชาติในสวนผักทางตอนใต้ของพระนคร ทำให้ทุกครั้งที่ลมพัดโชยจากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงหอบเอากลิ่นไปกระทบนาสิกของฝรั่งทั้งหลายที่ตั้งบ้านเรือนอยู่แถวบางรัก ศาลาแดง จนทำเรื่องร้องเรียนให้ห้ามการปลูกผักโดยใช้ปุ๋ยจากสิ่งปฏิกูลในดินแดนเหนือลมเหล่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้นหมูเร่ร่อนที่เพ่นพ่านอยู่ในพระนครยังทำให้กลิ่นจากสิ่งปฏิกูลขจรขจายไปทั่วเมือง จะโยกย้ายหากินไปตามถานวัดต่างๆ ในละแวกเดียวกัน เช่น วัดประทุมคงคา วัดสัมพันธวงศ์ และมีหมูอีกฝูงที่อาศัยอยู่ในละแวกวัดบพิตรพิมุข วัดจักรวรรดิ วัดไชยชนะสงคราม วัดสระเกศ โดยจะกินอุจจาระที่ถานพระเป็นอาหาร ภายหลังกินเสร็จหมูเหล่านี้ยังได้เที่ยวสะบัดหัวสะบัดหางจนอุจจาระกระเด็นเปรอะเปื้อนตามถนนหนทาง เจ้าอาวาสวัดส่วนใหญ่รู้สึกว่าหมูพวกนี้เป็นสาเหตุแห่งความสกปรกของวัด แต่ทำอะไรไม่ได้และอยู่ด้วยความ “เคยชิน”
“กลิ่น” ซากศพ
กลิ่นสุดท้ายคือ กลิ่นของซากศพ การจัดการกับซากศพและซากสัตว์ก็เป็นภารกิจอีกอย่างหนึ่งของกรมสุขาภิบาล โดยเริ่มแรกเมื่อมีการจัดการกับซากศพนั้นเป็นไปเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาด โดยประกาศจัดทำสำมะโนประชากรใน พ.ศ. 2452 กำหนดให้เจ้าบ้านจะต้องแจ้งแก่นายอำเภอเมื่อในครัวเรือนมีผู้เสียชีวิต เพื่อรับใบอนุญาตในการเผาหรือฝัง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบศพเหล่านั้นก่อนว่าตายจากโรคระบาดหรือไม่ เพื่อแนะนำวิธีการจัดการกับศพได้อย่างถูกต้องตามหลักการป้องกันการแพร่กระจายของโรค
นอกจากกลิ่นไหม้และควันไฟที่ลอยมาจากสถานที่เผาศพของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธแบบเถรวาท เช่น ไทย พม่า มอญ ลาว กลิ่นจากซากศพยังล่องลอยมาจากหลุมศพของกลุ่มศาสนาอื่นๆ เช่น มุสลิม จีน และฝรั่ง ซึ่งมีธรรมเนียมในการฝัง จากการสำรวจในสมัยรัชกาลที่ 5 มีจำนวนหลุมฝังศพในเมืองกรุงเทพฯ ทั้งสิ้นราว 15,884 หลุม โดยหลุมศพเหล่านี้ส่วนมากตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพระนคร โดยเฉพาะสีลม บางรัก ถนนตก (บ้านทวาย) ถนนจันทร์ จำนวนหลุมศพมากที่สุดคือป่าช้าสุเหร่าบ้านอู่ 6,000 หลุม (ซอยข้างโรบินสัน บางรัก) และสุสานแต้จิ๋ววัดดอน 4,200 หลุม
หลุมฝังศพเหล่านี้ไม่มีปัญหามากนักเพราะมีหลักการปฏิบัติกันมาช้านาน ยกเว้นบางกรณี เช่น สุสานจีนแต้จิ๋วกับจีนไหหลำที่วัดดอนฝังศพตื้นเกินไป ทำให้สุนัขคุ้ยเขี่ย แล้วเวลาฝนตกก็ชะเอาน้ำหนองไหลมากับศพด้วย อีกทั้งยังขุดศพที่เน่าเปื่อยขึ้นมาล้างที่คลอง ทำให้เหม็นมากและน้ำในลำคลองที่ใช้อาบกินใช้ไม่ได้ กระทรวงนครบาลได้ส่งแพทย์สุขาภิบาลไปตรวจก็เห็นจริงตามนั้น ว่าเป็นพื้นที่สกปรก เหม็น และน่ากลัวมาก
นอกจากปัญหาการขุดหลุมตื้นเกินไป ยังมีปัญหาเรื่องกลิ่นจากพิธีล้างป่าช้าของกลุ่มการกุศลชาวจีนที่ทำให้แก่ศพคนอนาถาหรือศพไร้ญาติ บริเวณวัดดอนกลายเป็นนาสิกประสาตภัยอย่างมหันต์ของชุมชนต่างศาสนาและวัฒนธรรมที่อาศัยอยู่รอบๆ
ในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 พระนครสมัยนั้นน่าจะเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย กลิ่นดอกไม้อ่อนๆ ที่โชยมาตามลมน่าจะถูกกลบด้วยกลิ่นจากกองขยะ น้ำเน่า ซากศพ โรงฟอกหนัง โรงขนมจีน กะปิน้ำปลาสารพัด แม้แต่คุณเปรมกับแม่พลอยครอบครัวผู้ดีข้าราชการก็อาจจะเดินสวนกับหมูเร่ร่อนที่เพิ่งอิ่มจากถานพระ แต่ด้วยความ “เคยชิน” กลิ่นเหล่านี้อาจไม่เหม็นสำหรับหลายคน
ข้อมูลจาก :
ผศ.ดร. นิภาพร รัชตพัฒนากุล. “นาสิกประสาตภัย” : ประวัติศาสตร์ของกลิ่นเหม็นในเมืองกรุงเทพฯ, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2562