ย้อนดูการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ 3 ครั้งใหญ่ ที่คร่าชีวิตผู้คนไปราว 10 ล้านคน

นักโทษชาวยิว ค่ายกักกัน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
นักโทษชาวยิวภายในค่ายเอาช์วิตซ์ ที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ภาพถ่ายเมื่อปี 1945 (พ.ศ. 2488) ภาพจาก AFP PHOTO / Elizaveta Svilova

องค์การสหประชาชาติ และนักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ให้คำนิยามที่พอสรุปได้ว่า คือ การกระทำที่ทำขึ้นโดยตั้งใจที่จะทำลายล้างส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดของกลุ่มชนชาติ, เชื้อชาติ หรือชาติพันธุ์ หรือศาสนาใดๆ โดยการฆ่า, การทำให้สมาชิกของกลุ่มนั้นพิการทางกายหรือจิตใจ

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษยชาติในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีหลายครั้งด้วยกัน หากครั้งที่เป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวาง คงหนีไม่พ้น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว 6 ล้านคน ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945)

กองทัพเยอรมันของฮิตเลอร์บุกประเทศต่างๆ ในยุโรป จนแทบจะเรียกได้ว่า ยุโรปในภาคพื้นทวีปตกอยู่ภายใต้อำนาจเยอรมนี นอกจากการบุกยึดครองพื้นที่เพิ่มขึ้น ฮิตเลอร์ยังต้องการทำให้ยุโรป “ปลอดยิว” โครงการมาตรการกวาดล้างชาวยิวในเยอรมนีและประเทศอื่นในอำนาจเยอรมันก็เกิดขึ้น ชาวยิวถูกอพยพไปยังค่ายกักกัน

เมื่อจำนวนชาวยิวในค่ายเพิ่มจำนวนมากขึ้น การสังหารชาวยิวก็เกิดขึ้น แลเพื่อให้ได้ปริมาณ และทำเวลาได้อย่างรวดเร็ว วิธีหนึ่งที่กองทัพนาซีเลือกใช้ก็คือ “แก๊สพิษ” ซึ่งสถานที่รมแก๊สพิษหลักๆ เลยก็คือค่ายกักกันนั่นเอง เฉพาะค่ายเอาชวิทซ์ (Auschwitz) ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายที่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชาวยิวเสียชีวิตในค่ายนี้ 1.1 ล้านคน จากชาวยิวทั้งสิ้นราว 6 ล้านคน ที่ถูกสังหารด้วยอคติและความเกลียดชังยิวของฮิตเลอร์

ความโหดร้ายของกองทัพนาซี แพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง เมื่อมีการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Schindler’s List (1993), Life is Beautiful (1997) ฯลฯ เช่นเดียวกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ที่กลายเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Killing Fields (1984)

ปี 1975-1979 เมื่อ “เขมรแดง” หรือ “พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา” เข้ายึดครองประเทศกัมพูชา ที่ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศกัมพูชา มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน จากการสังหารโหดขนานใหญ่กว่า 20,000 ครั้ง และมีทุ่งสังหารมากกว่า 81 แห่ง

โดยมุ่งสังหารบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ชนกลุ่มน้อย คือชาวจามซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ชาวเวียดนาม จีน ไทย ลาว และคนพื้นเมืองจาไรย กุยและพะนง 2. พระสงฆ์ และ 3. กลุ่มแขมร์กรอมหรือเขมรต่ำ เป็นชาวเขมรที่อยู่ใกล้ชายแดนเวียดนาม นอกจากนี้ยังประกอบด้วยกลุ่มผู้มีการศึกษา และคนชั้นกลางในเมือง

อีกตัวอย่างหนึ่งของ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่มักมีการกล่าวถึง เพราะเป็นเรื่องของคนในชาติเดียวกัน ที่เกิดขึ้นจากการปกครอง ก็คือ ประเทศรวันดา

ปี 1994 เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของคนชาติเดียวกัน ที่ประเทศรวันดา โดยชาวฮูตูสังหารชาวตุ๊ดซี่ มีผู้เสียชีวิตนับล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวตุ๊ดซี่ และบางส่วนที่เป็นชาวฮูตูสายกลางที่ถูกสังหาร รวันดามีประชากร 3 กลุ่มหลัก คือ ฮูตู 85 %, ตุ๊ดซี่ 12 %, ปี๊กมี่และทวา 3 เปอร์เซ็นต์ หลัง ค.ศ. 1991 มีประชากรฮูตูมากกว่า 90% ขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์ตุ๊ดซี่มี 8 %

ที่มาของความขัดแย้งระหว่างชาวฮูตู-ตุ๊ดซี่ เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเยอรมันแพ้สงครามหมดรูป เบลเยียมเข้ามาปกครองแทนตั้งแต่ปี 1918-1962 ได้ให้อํานาจกลุ่มชาติพันธุ์ตุ๊ดซี่ในการปกครองต่อ กลุ่มตุ๊ดซี่เป็นผู้นำทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น มีอํานาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีแต่ตุ๊ดซี่เท่านั้นที่เป็นผู้ปกครอง โดยกลุ่มฮูตูเป็นผู้ถูกปกครอง สุดท้ายเบลเยียมก็ถูกกดดันจากนานาชาติและจากชาวฮูตู ให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองเป็นประชาธิปไตย รวมถึงการเรียกร้องเอกราช จึงได้มีการเปลี่ยนผู้นํามาเป็นชาวฮูตู

เดือนกรกฎาคม 1962 รวันดาได้รับเอกราช รัฐบาลฮูตูสถาปนาอำนาจและเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อตอบโต้การกระทำของชาวตุ๊ดซี่ในอดีต ทำให้ชาวตุ๊ดซี่ประมาณ 400,000 คนต้องอพยพออกนอกประเทศ ไปยังประเทศคองโก บูรุนดี แทนซาเนีย และอูกันดา ขณะที่ผู้นำของรวันดาที่เป็นชาวฮูตูยังคงเลือกปฏิบัติต่อชาวตุ๊ดซี่อย่างต่อเนื่อง เกิดการสู้รบระหว่างฮูตู-ตุ๊ดซี่อย่างต่อเนื่องอีกนับสิบปี จนถึงเหตุการณ์ปี 1994 ที่ีผู้เสียชีวิตนับล้าน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

รวิภา ศรีดาวเดือน. โฮโลคอสต์-การเข่นฆ่าชาวยิวในค่ายกักกัน : ศึกษาความเป็นอยู่ของชาวยิวในค่ายเอาชวิทซ์, การค้นคว้าอิสระตามหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศึกษา ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2555.

ศิวัช ศรีโภคางกุล. “ความตายที่ถูกทำให้เป็นสินค้า : การทำงานของพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และทุ่งสังหารผ่านความปรองดองในประเทศกัมพูชา” ใน, เอกสารการประชุมวิชาการ การพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ครั้งที่ 4 ประจำปี 2557 “Rethink : Social Development for Sustainability in ASEAN Community” 11-13 มิถุนายน 2557

ชลัท ประเทืองรัตนา. กระบวนการสันติภาพในรวันดา ภาพรวม 1 ของสถาการณ์ความขัดแย้ง, สำนักสันติวิธีและธรรมภิบาล สถาบันพระปกเกล้า, พ.ศ. 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2566