ผู้เขียน | กัญญารัตน์ อรน้อม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ผ้าถุง” คือคำที่ชาวภาคใต้ใช้สำหรับเรียก ผ้าปาเต๊ะ หรือ ผ้าบาติก จะนิยมสวมโดยเพศหญิง โดยวัยอายุกลางคนและวัยสูงอายุจะนิยมสวมมากที่สุด และถ้าครอบครัวไหนมีลูกสาวก็จะมีการสอนสวม “ผ้าถุง” กัน เปรียบเสมือนเป็นประเพณีการแต่งกายไปโดยปริยาย ซึ่งสรุปความเป็นมาและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องได้พอสังเขปดังนี้
ผ้าปาเต๊ะคืออะไร
ผ้าปาเต๊ะ หรือ บาเต๊ะ (Batek) บาติก (Batik) เดิมทีแล้วเป็นภาษาชวา (เป็นภาษาของชาวชวาในภาคกลางและภาคตะวันออกของเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย) ที่ใช้เรียกผ้าย้อมสีชนิดหนึ่งที่รวมเอาศิลปหัตถกรรมและเทคนิคการย้อมสีเข้าด้วยกัน
ผู้ที่ริเริ่มคือผู้หญิงในตระกูลสูงของชวา ในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 จากนั้นชาวดัทช์ได้นำไปเผยแพร่ทั่วทั้งทวีปยุโรป และมีผลตอบรับดีมาก เพราะลวดลายของผ้ามีความแปลกใหม่ และแต่ละท้องถิ่นก็จะมีลวดลายและรูปแบบที่อยู่บนผ้าไม่เหมือนกัน ซึ่งลวดลายแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างบ่งบอกถึงวิถีการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ หรือวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่
ลวดลายของผ้ามีรูปแบบมาจากธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ หรือรูปเลขาคณิตต่างๆ นอกจากนี้ยังมีลวดลายรูปสัญลักษณ์มงคลตามคติจีน ที่นิยมใช้ในวัฒนธรรมเปอรานากัน (เป็นกลุ่มชาวจีนที่มีเชื้อสายมลาย) เช่น รูปดอกท้อ ดอกโบตั๋น พัด ลายหงส์ หรือ นกฟินิกส์ ซึ่งเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมมลายูและจีน
ในประเทศไทย พ.ศ. 2483 ได้มีการทำ ผ้าบาติก ลายพิมพ์เทียน ที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยสองสามี-ภรรยาชาวไทยเชื้อสายมลายูชื่อ นายแวมะ แวอาลี และ นางแวเย๊าะ แวอาแด ซึ่งเริ่มต้นด้วยการทำผ้าเป็นผ้าคลุมหัวสไบไหล่ (Kain lepas) ใช้วิธีแกะสลักบนมันสำปะหลังมาทำแม่พิมพ์ ต่อมามีการผลิตในรูปแบบผ้าโสร่งปาเต๊ะ (Batik Sarong) โดยใช้แม่พิมพ์โลหะที่ผลิตจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
ต่อมาใน พ.ศ. 2523 นายเอกสรรค์ อังคารวัลย์ เป็นคนแรกที่ริเริ่มทำผ้า “ผ้าบาติกลายเขียนระบายสี” (Painting Batik) ซึ่งเป็นผ้าติกที่เขียนลายเทียนด้วยจันติ้ง (Canting) ระบายสีลวดลายบนผืนผ้าทั้งผืนด้วยพู่กัน และนำวิธีการทำผ้าบาติกแบบระบายมาเผยแพร่ โดยศึกษามาจากประเทศมาเลเซีย เผยแพร่เพื่อเป็นการศึกษาครั้งแรกแก่คณาจารย์ภาควิชาศิลปะ คณะวิชามนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูยะลา (ผศ. นันทา โรจนอุดมศาสตร์ เป็นหัวหน้าภาควิชาในขณะนั้น)
ความงดงามบนผืนผ้า
กรรมวิธีการทำลวดลายลงบนผ้านั้น มีขั้นตอนวิธีการทำคือการใช้จันติ้ง (Canting หรือ Tjanting) จุ่มน้ำเทียน และลงลวดลายอย่างประณีตลงบนผืนผ้า โดยจะมีวิธีการทำ 2 วิธีด้วยกันคือขั้นตอนในการเทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสี การแต้มสี ระบายสี และย้อมสีทับกัน จากนั้นนำไปตากให้แห้ง ทำซ้ำต่อเนื่องประมาณสิบรอบ จนกว่าจะได้สีตามต้องการ ส่วนการทำผ้าอย่างง่ายจะใช้วิธีการเขียนเทียนหรือพิมพ์เทียน หลังจากนั้นก็นำไปย้อมสีตามที่ต้องการ โดยไม่ผ่านวิธีการปิดเทียนในวิธีที่กล่าวมาข้างต้น
วัสดุที่ใช้ประกอบในการทำผ้าประกอบไปด้วย ผ้า เทียน เฟรม และสี ส่วนผ้าจะนิยมใช้เป็นผ้าฝ้าย ผ้าลินินหรือผ้าป่าน หรือผ้าไหม และเนื้อผ้าต้องมีความเหนียวแน่นเนียน มีคุณสมบัติในการดูดซึมได้ดี ผ้าที่มีลักษณะเป็นผ้าสังเคราะห์จะไม่เหมาะ ผ้าที่จะนำมาย้อมสีนั้นควรเป็นผ้าที่เป็นสีขาว เพราะสีขาวสามารถดูดสีได้ดีกว่าผ้าสี เทียนหรือขี้ผึ้งจะใช้เป็นจำพวก Bee Wax เพราะขี้ผึ้งจำพวกนี้จะเป็นขี้ผึ้งบริสุทธิ์และมีความหนักเบา เหมาะที่จะนำมาทำผ้า
ปัจจุบัน การทำผ้าโดยวิธีพิมพ์ลายผ้าจะนิยมมากกว่าวิธีเขียนลายด้วยมือ เพราะช่วยเรื่องความรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น โดยวิธีที่ใช้คือนำผ้าวางบนแท่นที่มีความสูงประมาณ 3 ฟุต และกว้างตามความเหมาะสม บนพื้นโต๊ะจะปูด้วยกาบกล้วย เพื่อทำให้เกิดความเย็นในขณะที่ใช้แม่พิมพ์พิมพ์ลวดลายลงบนผืนผ้า จุ่มลงในขี้ผึ้งหรือไขที่อุ่นไว้ พิมพ์ลงบนผ้าสีขาว หลังจากนั้นก็นำผ้าที่จุ่มไปย้อมและตากให้แห้ง พอผ้าแห้งแล้วก็นำผ้ามาพิมพ์กับแม่พิมพ์ครั้งที่ 2 แล้วนำไปย้อมและตากให้แห้งอีกรอบ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งครบจำนวนแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ การย้อมสีในแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับช่างที่ออกแบบเม่พิมพ์ไว้ว่าจะเป็นในลักษณะลวดลายอย่างไร
แหล่งผลิตที่สำคัญที่สุดในภาคใต้ คือ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส จังหวัดภูเก็ต และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามลำดับ ปัจจุบันการผลิตผ้านี้ถือเป็นแหล่งรายได้ของคนภาคใต้อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีให้สืบต่อไปในรุ่นหลังเพื่อแสดงถึงความงดงามหรือความสวยงามของผ้าให้คงอยู่คู่กับชาวใต้ รวมถึงอยู่คู่เป็นมรดกของประเทศไทย
อ่านเพิ่มเติม :
- ผ้าลายอย่าง ผ้าอินเดียที่มีฐานะเป็นเครื่องยศ เครื่องแบบ ตั้งแต่อยุธยา-รัชกาลที่ 4
- เปิดวิธีซักรีดผ้าของชาววัง และเคล็ดลับ “หอมติดกระดาน”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สถาบันทักษิณคดีศึกษา, “ผ้าปาเต๊ะ,” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่มที่ 6, (2529), หน้า 2158-2161
อติยศ สรรคบุรานุรักษ์ และ ศศิณัฎฐ์ สรรคบุรานุรักษ./(2561)./เปอรานากัน : บาบ๋า-ย่าหยามรดกทางวัฒนธรรมสายเลือดลูกผสมมลายู-จีน./ Veridian E Journal ฯ สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ ,13(2),/3-4. https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย,ปาเต๊ะไทยแลนด์. https://district.cdd.go.th/. 2021. แหล่งที่มา : https://district.cdd.go.th/sungaikolok/services/%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%8A%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B9%8C/ ค้นเมื่อ 21 ธันวาคม, 2564.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ธันวาคม 2565