ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“ผ้าลายอย่าง” คือหนึ่งในเครื่องแต่งกายในละครดังของช่อง 3 ตั้งแต่ “บุพเพสันนิวาส” จนถึง “พรหมลิขิต” ในปัจจุบัน ตัวละครไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงมักนุ่งห่มผ้าลายอย่างให้เห็น ในหลายๆ ฉากของเรื่อง ในสมัย กรุงศรีอยุธยา พบว่านอกจากผ้าที่ทอขึ้นใช้เองแล้ว ยังมีการสั่งซื้อจากประเทศต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้นคือผ้าจาก “อินเดีย” ที่เรียกว่า “ผ้าลายอย่าง”
ว่าแต่ผ้าสวยๆ เหล่านี้มาจากไหน!!!
อาจารย์ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง อดีตภัณฑารักษ์และอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ผันตัวเองมาทำงานวิชาการอิสระเรื่อง “ผ้า” ซึ่งมีผลงานเขียนและทำงานอนุรักษ์ผ้าอย่างที่ใจรัก เคยให้สัมภาษณ์ไว้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2561 เกี่ยวกับผ้าลายอย่างว่า ทั้งหมดนั้นเริ่มต้นจาก “ความสงสัย” เมื่อได้เห็นคอลเล็กชันผ้าโบราณนับร้อยผืนที่เก็บอยู่บนห้องคลังผ้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ที่มีคำตอบเพียงว่าเป็น “ผ้าอินเดีย”
อินเดีย มีความรู้เรื่องผ้าที่ก้าวหน้าตั้งแต่อดีต รู้จักการใช้สารติดสี หรือ Mordant ตั้งแต่อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุแล้ว ทำให้ผ้าอินเดียสีไม่ตก รู้จักใช้ตัวกันสีในการทำผ้าลายสำหรับบริเวณที่ไม่ต้องการให้ติดสี (คล้ายกับการทำผ้าบาติกที่ใช้เทียนเป็นตัวกันสี) ดังที่เคยมีการค้นพบผ้าที่เก่าที่สุดของรัฐคุชราต ในประเทศอียิปต์ มีอายุประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 13 ด้วยเพราะสภาพภูมิประเทศอียิปต์เป็นเขตแห้งแล้ง ผ้าจึงยังอยู่ในสภาพที่ดี
ก่อนศตวรรษที่ 17-18 ประเทศทางยุโรปก็ไม่มีความรู้เรื่องเทคนิคการพิมพ์ผ้าเลย หรือการใช้สารติดสี-สารกันสี เรื่องเหล่านี้ไปจากโลกตะวันออกหมดเลย และมีการทดลองนำผ้าอินเดียเข้าไปขายในยุโรป ปรากฏว่ามันก็เข้าไปตีตลาดยุโรป เพราะว่าสีสันสดใส คุณภาพดี
ผ้าอินเดียนำเข้ามาเมืองไทยในรูปแบบของบรรณาการ หรือเป็นสินน้ำใจ เป็นธรรมเนียมในการเปิดประตูการค้าก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มนำเข้ามาเพื่อจำหน่าย ต่อมาเมื่อเริ่มมีความต้องการลวดลายเฉพาะสำหรับคนไทย จึงมีการส่งตัวอย่างลายที่ต้องการว่าจ้างช่างอินเดียในประเทศอินเดียผลิตแล้วส่งกลับมาขายแก่สยาม จึงเรียกว่า “ผ้าลายอย่าง” ซึ่งประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ ฮอลันดา ฯลฯ ก็ทำเช่นเดียวกัน เพราะทุกประเทศต้องการ custom-made ที่ลักษณะเฉพาะของตนเอง
การใช้ ผ้าลายอย่าง ของสยามในช่วงแรก คือตั้งแต่อยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ช่วงต้น ไม่แตกต่างกันมากนักเพราะยังรักษาขนบเดิมตามอยุธยา กล่าวคือผ้าลายอย่างมีฐานะเป็นเครื่องยศ เป็นเครื่องแบบ จนกระทั่งช่วงปลายรัชกาลที่ 4 สยามเริ่มมีการติดต่อกับชาติยุโรป มีความจำเป็นต้องเปิดประเทศ ต้องสร้างภาพลักษณ์ความศิวิไลซ์
ความคิดในการแต่งกายก็มีการเปลี่ยนไปและชัดเจนยิ่งขึ้นในรัชกาลที่ 5 เริ่มเปลี่ยนมาใส่เสื้อราชปะแตน และมีความนิยมนุ่งผ้าม่วง หรือผ้าหางกระรอก โดยเฉพาะในขุนนางชั้นสูงที่ต้องแต่งกายตามพระราชนิยม
ความนิยม ผ้าลายอย่าง ก็ค่อยๆ เลือนหายไป โดยเฉพาะลายขนาดใหญ่ ลายตามยศ ฯลฯ เพราะสยามเริ่มรับ taste อย่างฝรั่ง จึงมองเป็นของเชย ล้ำสมัย แต่ก็เกิดความนิยมผ้าลายขนาดเล็กที่นำเข้าจากอินเดียในกลุ่มขุนนางชั้นรองๆ
โดยตระกูลมัสกาตีเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าสำคัญ ตั้งแต่ พ.ศ. 2399 ผ้าที่มัสกาตีนำเข้านั้น คนอินเดียเรียกมันว่า “เซาดากิรี (Saudagiri)” ที่แปลว่า การค้า เพราะเป็นผ้าที่ผลิตเพื่อการค้าตามแบบของลูกค้า ไม่ใช่เพื่อใช้ในอินเดีย ลวดลายมีขนาดเล็กกว่าผ้าลายอย่าง และมีการพิมพ์คำว่า “มัสกาตี” ซึ่งเป็นชื่อสกุลและยี่ห้อที่ผืนผ้า
“ตอนแรกเราไม่ค่อยรู้ว่าผ้านั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยน เพราะการเรียนโบราณคดี เรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ ฯลฯ จะให้น้ำหนักกับหลักฐานที่เป็นวัตถุมากกว่าที่เป็นเอกสาร การเชื่อมโยงความรู้ทางประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์กับวัตถุวัฒนธรรมก็ไม่ค่อยมอง แต่เมื่อมาศึกษาเรื่องของมัสกาตี เราเห็นว่าตัวสินค้าถูกใช้เป็น currency เป็นของแลกเปลี่ยน
มัสกาตีเอาผ้าเข้ามาในช่วงที่สยามเริ่มผลิตข้าวส่งออก แล้วมีหลักฐานของกรมศุลกากรว่ามีคนจีนมารับผ้าจากมัสกาตีไปแลกข้าว แล้วพอถึงเวลาก็เอาเงินต้นมาคืน และพบว่าคนที่มีรายได้ คนที่ปลูกข้าวทำนา สมัยนั้นต้องนุ่งผ้ามัสกาตี มันจะไปโยงผ้ามัสกาตีที่ห่อคัมภีร์ตามภูมิภาคลุ่มแม่น้ำ และเกี่ยวข้องกับ เศรษฐศาสตร์ของการค้าข้าวที่มีผ้าลาย ผ้าแขกเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน” อาจารย์ประภัสสรกล่าว
ธุรกิจผ้าลายเริ่มการแข่งขันมากขึ้นใน พ.ศ. 2481 มัสกาตีจึงทำโฆษณาด้วยการเป็นสปอนเซอร์การประกวดนางสาวสยาม จึงมีภาพ นางสาวพิสมัย โชติวุฒิ ผู้ประกวดเป็นนางสาวสยามปีนั้น ห่มสไบเฉียงนุ่งผ้าซิ่น สวมมงกุฎนางงาม จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ้าลายจากอินเดียที่ต้องลงแป้งต้องยุติกิจการไปโดยปริยาย เนื่องจากรัฐบาลอินเดียสั่งห้ามนำแป้งซึ่งเป็นอาหารไปทำกิจการอื่น
ส่วนประเทศไทยได้มีการตั้งโรงงานชื่อ “สินไทย” ของ นายเอ็กเซ็ง แซ่ฉั่ว ซึ่งยังเป็นการพิมพ์ผ้าด้วยมือ โดยใช้แม่พิมพ์ทองแดง แม่พิมพ์ไม้ ทำลายเลียนแบบผ้าแขก ต่อมานายเอ็กเซ็งได้ร่วมทุนกับบริษัทฝรั่ง แต่ภายหลังกิจการมีปัญหา โรงงานประณีตศิลป์อุตสาหกรรมมาซื้อกิจการไป และเริ่มมีผู้ผลิตรายอื่นๆ ตามมา ผ้าลายแบบอินเดียก็ค่อยกลายเป็นลายไทยมากขึ้นจนเป็นผ้าลายที่คุณยายนุ่งโจงกระเบนในปัจจุบัน
“นี่ทำให้เห็นว่าผ้ามันเป็นประดิษฐกรรมที่ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ทางกาย ที่ทำให้เราอบอุ่น หรือปกปิดร่าง เพราะสุดท้ายมันตอบโจทย์ความต้องการทางจิตใจและทางสังคม ไม่ว่าเรื่องความสวยงาม การถูกมอง การประเมินสถานภาพบุคคล ฯลฯ” อาจารย์ประภัสสรกล่าว
อ่านเพิ่มเติม :
- เล่าเรื่องเจ้านายกับ ชุดไทย แต่ละสมัยรับอิทธิพลจากไหนกันบ้าง
- มัดหมี่ เทคนิคการสร้างลายผ้าที่มีได้มาจากอินเดีย
- ผ่าระบบทาส กรุงศรีอยุธยา คนยุคนั้นมีเสรีแค่ไหน? ทำไมปรากฏวลี “เสรีภาพอย่างเจ็บปวด”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก วิภา จิรภาไพศาล. “จาก ‘ผ้าลายอย่าง’ ถึง ‘ผ้าลาย’ : ประดิษฐกรรมที่บอกเล่าประวัติศาสตร์” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2561.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2561