เล่าเรื่องเจ้านายกับชุดไทย ชุดแต่ละสมัยรับอิทธิพลมาจากไหนบ้าง

พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรง ชุดไทย 5 เรื่อง “ที่สุด” พระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5
พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจากหนังสือ "ราชพัสตราภรณ์"โดย สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2547)

ชุดเครื่องแต่งกายถือเป็นการแสดงวัฒนธรรม ประเพณี เชื้อชาติ เอกลักษณ์ของคนในแต่ละท้องถิ่น อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและประวัติศาสตร์ เคยเล่าถึงวิวัฒนาการชุดไทยโดยแบ่งข้อมูลออกเป็น 5 กลุ่มตามยุคสมัย

กลุ่มแรก ชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 1- รัชกาลที่ 4                                                                   กลุ่ม 2 ชุดไทยสมัย รัชกาลที่ 5                                                                                    กลุ่ม 3 ชุดไทยสมัย รัชกาลที่ 6                                                                                    กลุ่ม 4 ชุดไทยสมัย รัชกาลที่ 7- รัชกาลที่ 8                                                                   กลุ่ม 5 ชุดไทยสมัย รัชกาลที่ 9

Advertisement

ชุดไทยสมัย รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4

ชุดไทยสำหรับเจ้านายฝ่ายใน ในยุคนี้ไม่ว่าจะเป็นพระมเหสี พระเทวีต่างๆ เจ้าจอม พระราชธิดา ส่วนใหญ่จะนุ่งซิ่น จีบหน้านาง ผ้าถุงยาว โดยใช้ผ้าลายอย่างจากอินเดีย ห่มทับท่อนล่าง ส่วนท่อนบนห่มสไบแพรจีนเปิดไหล่หนึ่งข้าง หรือใส่เสื้อคอตั้งผ้าไหมจีนผ่าอก ติดขัดกระดุม แขนกระบอก โดยแขนกระบอกจะฟิต ถ้าใส่เสื้อจะมีสไบห่มทับเสมอ โดยจะห่มสไบทับอัดกลีบ หรือไม่อัดกลีบก็ได้

สมัยก่อนการแต่งกายเป็นเครื่องจำแนกตวามแตกต่างทางสังคม เช่นการอัดกลีบสไบก็เป็นการแสดงความแตกต่างจากจากสามัญชน โดยทำให้ประณีตขึ้น นอกจากนี้ยังมีการห่มสไบ 2 ชั้น หรือเรียกว่าห่มสไบทรงสพักตร์ อย่างไรก็ตาม พระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4 จะเป็นการนุ่งจีบหน้านาง จะเห็นฝ่ายในใส่โจงกระเบนบ้าง แต่ไม่เป็นพระราชนิยม

เจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 5 ฉลองพระองค์ชุดไทยตามสมัยนิยม
เจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 5 ฉลองพระองค์ชุดไทยตามสมัยนิยม (ภาพจากหนังสือ “ราชพัสตราภรณ์”โดย สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2547)

ชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 5

ในระยะแรกช่วงต้นรัชกาล จะเห็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 เช่น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงชุดไทยจีบหน้านาง แต่ต่อมาพระราชนิยมนุ่งโจงกระเบนกลายมาเป็นที่แพร่หลาย โดยจะนุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อแพรจีนแขนกระบอก ห่มทับสไบ

กระทั่งมีอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามา จากเสื้อแพรจีนก็เปลี่ยนมาเป็นเสื้อแหม่มแบบฝรั่ง โดยได้รับอิทธิพลจากราชสำนักรัสเซียและออสเตรีย เสื้อแบบฝรั่งที่นิยมใส่ก็เป็นผ้าลูกไม้จีบระบายต่างๆ ทั้งปลายแขน รอบอก รวมทั้งเสื้อแขนหมูแฮม โดยต้นแขนจะจีบฟองฟูขึ้น และค่อยๆ แคบลงมาถึงข้อมือ

เมื่อเปลี่ยนเป็นเสื้อฝรั่ง เพื่อโชว์เสื้อลูกไม้ ก็เปลี่ยนมาจับหน้าสไบให้แคบลง โดยพับตามยาวให้หน้าสไบแคบลงเหลือประมาณครึ่งเดียว แล้วนำมาสะพายเฉียงไหล่ซ้ายลงมาที่เอวขวา แล้วเอาชายทั้งสองของสไบผูกเป็นโบทิ้งชายสั้นๆ อยู่บริเวณสะโพกขวาด้านหลัง แต่การผูกโบทำให้ปมใหญ่ไม่สวย ต่อมาจึงเปลี่ยนเอาชายสไบมาทบสะโพกขวาด้านหลังแล้วใช้เข็มกลัดติดทิ้งชายยาว การแต่งกายแบบนี้เป็นพระราชนิยมตลอดรัชกาล

ชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 6

รูปแบบการแต่งกายของสุภาพสตรีไทยโน้มเอียงไปทางตะวันตกมากขึ้น เสื้อแขนหมูแฮม เสื้อลูกไม้ สมัยรัชกาลที่ 5 ยังใส่มาถึงตอนตนของรัชกาลที่ 6 ต่อมาพระองค์โปรดให้เปลี่ยนจากนุ่งโจงมานุ่งซิ่น แต่ไม่โปรดให้เป็นผ้าซิ่นที่เป็นลายอย่างแบบต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่โปรดให้เป็นผ้าหลากหลาย เช่น ผ้าซิ่นลายต๋าจากภาคเหนือ มาใส่กับเสื้อฝรั่ง หรือผ้ายกจากนครศรีธรรมราชจากลำพูน เอามาใส่กับเสื้อลูกไม้ โดยผ้าซิ่นจะถูกนุ่งให้สั้นลงประมาณครึ่งแข้ง จะมีลักษณะผ้าซิ่นทรงกระบอก คล้ายๆ กระโปรงทรงเล็ก

วิวัฒนาการต่อไป สมัยนี้เปลี่ยนจากการสวมเสื้อแบบสมัยรัชกาลที่ 5 มาเป็นเสื้อแบบที่เราเรียกกันว่า “แก๊สบี้” คือตัวเสื้อยาวลงไปจนถึงเข่าและนิยมใช้ผ้าบางเบา ส่วนใหญ่เป็นเสื้อคอปาด แขนล้ำ (แขนกุด) เครื่องเพชร ถ้าไม่ใส่สร้อยยาวลงไปถึงสะดือ ก็จะสร้อยสั้น ติดคอ เรียกกันว่าโชกเกอร์ ซึ่งคนไทยสมัยนั้นเรียกสร้อยแบบนี้ว่าปลอกคอหมา และบางครั้งนิยมเอาสร้อยเพชรมาคาดทับผม หรือคาดหน้าผากเลยก็มี เป็นแบบแก๊สบี้ “ฝรั่ง”

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ในชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 6
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ในชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 6 (ภาพจากหนังสือ “ราชพัสตราภรณ์”
โดย สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2547)

ชุดไทยสมัย รัชกาลที่ 7 – รัชกาลที่ 8

รูปแบบการแต่งกายยังเลียนแบบสมัยรัชกาลที่ 6 อยู่แต่กระโปรงจะเป็นกระโปรงที่สั้นมาถึงใต้เข่า จากนั้นเริ่มเป็นชุดเดรสหรือชุดเสื้อกับกระโปรงติดกัน ซึ่งเกิดขึ้นปลายรัชกาลที่ 6 ต้น รัชกาลที่ 7 โดยมีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ทรงเป็นผู้นำแฟชั่นสมัยนั้น โดยมีห้องเสื้อลองจากปารีสเป็นผู้ทำฉลองพระองค์ถวาย สะท้อนให้เห็นว่าราชสำนักมีความเป็นสากลมาก

ส่วนต้้นรัชกาลที่ 8 พระองค์ไม่มีพระมเหสี ขณะที่เจ้านายฝ่ายในชั้นสูงส่วนใหญ่ประทับต่างประเทศ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แม้จะประทับในประเทสไทย แต่ก็ยังทรงแต่งกายตามพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 5

ชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 9

ช่วงต้นรัชกาล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ยังทรงแต่งชุดไทยตามพระราชนิยมต่อเนื่องจากรัชกาลที่ 7 กระทั่งเสด็จอเมริกาและยุโรป ถึงได้มีการประดิษฐ์ชุดไทยพระราชนิยมขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับวาระโอกาสที่จะต้องออกงาน ประเทศไทยก็จะมีชุดไทยพระราชนิยม 8 แบบได้แก่ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยดุสิต ชุดไทยอัมรินทร์ ชุดไทยจักรี ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยศิวาลัย และชุดไทยจักรพรรดิ ซึ่งเป็นแบบอย่างของการแต่งกายชุดไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับผู้ชายนั้น การแต่งกายไม่มีรูปแบบมากเท่าผู้หญิง โดยในสมัย รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4 ใส่เสื้อไม่มีลายกับโจงกระเบน ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 5 เสื้อราชประแตนกับโจงกระเบน ในสมัยรัชกาลที่ 6 เสื้อราชประแตนกับกางเกงแพร

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“เสน่ห์สุดงดงาม! อ.เผ่าทอง เล่าวิวัฒนาการ ชุดไทย สมัย ร.1-9” ใน, มติชนออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2561. เข้าถึงเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2561