ประวัติ “เครื่องแต่งกาย ” เปลือยอกถึงเสื้อลูกไม้ และที่มาสมัย ร.3 “สวมเสื้อเข้ามาก็ไม่โปรด”

เครื่องแต่งกาย เจ้านายฝ่ายใน ชาววัง

พัฒนาการของ “เครื่องแต่งกาย” ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงรัตนโกสินทร์ ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับบริบททางสภาพอากาศ แต่อีกแง่หนึ่งยังสะท้อนถึงบริบทอีกหลายประการ ตั้งแต่ยุคสมัยที่เปลือยอกจนถึงช่วงยุคกำเนิดราชปะแตน เสื้อลูกไม้ มาจนถึงเสื้อและกางเกงตามแบบสากลนิยม

เมื่อลองสืบค้นหลักฐานเกี่ยวกับการแต่งกายของคนโบราณ เอนก นาวิกมูล ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ด้านต่างๆ เคยรวบรวมเอาไว้ในหนังสือ “การแต่งกายของไทย” ชุดขององค์การค้าคุรุสภา เอนก บรรยายว่า หลักฐานเกี่ยวกับการแต่งกายยุคสุโขทัยยังไม่สามารถหาเครื่องบ่งชี้อย่างชัดเจน นอกเหนือจากเครื่องถ้วยสังคโลกรูปชายหญิง ที่เป็นหลักฐานพอช่วยเทียบเคียงได้บ้าง จนมาเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 400 ปี ซึ่งมีหลักฐานที่สามารถพออธิบายได้

อยุธยา

ในสมัยช่วงต้นอยุธยา ผู้ชายที่เป็นชาวบ้านทั่วไปมักไม่สวมท่อนบน หรือแม้แต่ขุนนางถึงพระมหากษัตริย์ก็สวมเสื้อบ้างตามแต่ความเหมาะสม หลักฐานหนึ่งที่พบข้อมูลเกี่ยวกับ “เครื่องแต่งกาย” คือกฎมณเฑียรบาล เมื่อ พ.ศ. 1901 สมัยพระเจ้าอู่ทอง มีข้อความส่วนหนึ่งว่า

“ขุนหมื่นพระกำนัลก็ดี ราชยานก็ดี อภิรมก็ดี โภกหูกระต่าย เสื้อขาว นุ่งขาว ผ้าเชีงวรรณ”

เสื้อผ้ายังเป็นอีกหนึ่ง “รางวัล” ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้ผู้ประกอบความดีความชอบเช่นรบชนะศัตรู รางวัลเป็นทั้งขันเงิน ขันทอง และ “เสื้อผ้า” ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า “เสื้อ” (แบบอยุธยา) มีปรากฏมานานกว่า 500 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ใส่ในชีวิตประจำวันทั่วไป ซึ่งนั่นทำให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาในไทยสมัยพระนารายณ์มหาราช เมื่อ 300 ปีก่อนอย่างนิโกลาส์ แชร์แวส แสดงความคิดเห็นว่า “อาชีพที่อัตคัดที่สุดในราชอาณาจักรสยามก็คืออาชีพช่างตัดเสื้อ เพราะพลเมืองสามัญเขาไม่สวมเสื้อกัน”

ขณะที่กางเกงก็เชื่อว่ามีขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ศัพท์ที่คนยุคนี้อาจคุ้นเคยกันคือ “สนับเพลา” หมายถึง กางเกงขาสั้นครึ่งน่อง ในกฎมณเฑียรบาลก็มีเอ่ยถึงสนับเพลาไว้ในส่วนพระสนมที่ต้องโทษถึงประหารชีวิต ให้ใส่ “สนับเพลาจึ่งมล้าง

ส่วนผู้หญิงมีทั้งเสื้อ-ผ้าสไบ และผ้านุ่ง หลักฐานเกี่ยวกับเครื่องแต่งตัวเจ้านายผู้หญิงยังปรากฏในกฎมณเฑียรบาล อธิบายว่า ลูกเธอ เอกโท “เสื้อโภคลายทอง” หลานเธอเอกโท “เสื้อแพรพรรณ” แต่เชื่อว่าโดยผู้หญิงทั่วไปแล้วก็นิยมห่มสไบ ท่อนล่างนุ่งผ้าจีบ หรือนุ่งแบบโจงกระเบน

กระบวนแห่พยุหยาตรา สมัยอยุธยาตอนปลาย จิตรกรสมัยร.5 วาดจำลองจากวัดยม จ.พระนครศรีอยุธยา ลงในสมุดข่อย (ภาพจาก “การแต่งกายของไทย”, 2532)

เมื่อมาถึงสมัยกรุงธนบุรี เชื่อว่า การแต่งกายน่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลงจากสมัยกรุงศรีอยุธยามากนักจากที่กรุงธนบุรีมีระยะเวลาประมาณ 12 ปี และเวลาผ่านมาถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังพบเห็นลักษณะการแต่งกายที่ใกล้เคียงกับกรุงศรีอยุธยา

รัตนโกสินทร์ : รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3 

สมัยรัตนโกสินทร์ ในช่วงต้นยุคตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 เอนก นาวิกมูล บรรยายว่า การแต่งกายยังเป็นแบบสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ผู้ชายเปลือยท่อนบน หรือพาดผ้าบ้าง สวมเสื้อบ้างตามโอกาส แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งน่าจะขึ้นกับสภาพอากาศและกาลเทศะ สำหรับชนชั้นเจ้านายก็มักพบเห็นภาพถ่ายไม่สวมท่อนบนอยู่หลายรูป แต่ในช่วงฤดูหนาวก็จะมีการแต่งกายอีกลักษณะ ดังที่เห็นจากเนื้อความในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มีใจความตอนหนึ่งว่า

“…ถ้าฤดูหนาว เจ้าทรงเสื้อสีชั้นเดียว คาดส่านบ้าง แพรสีบ้าง ขุนนางสวมเสื้อเข้มขาบอัตลัด แพรสี 2 ชั้น ที่ได้พระราชทาน เสนาบดีคาดส่าน ถ้าวันไหนที่ไม่หนาว หรือฤดูร้อน ผู้ใดสวมเสื้อเข้ามาก็ไม่โปรด…”

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานเกี่ยวกับการแต่งกายเมื่อเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์อีก โดยเว็บไซต์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ยกข้อความจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงอธิบายว่า

“ข้าราชการมาจากบ้านมักเอาเสื้อคลุมมาด้วย ถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงฉลองพระองค์ ก็ต้องถอด หนาวแสนหนาวก็ต้องทนเอา บางคราวกำลังเฝ้า พระเจ้าแผ่นดินทรงเรียกฉลองพระองค์มาสวมก็มี จนเป็นที่สังเกตกันว่า เมื่อไรพระถันหด ข้าราชการก็ดีใจจะได้สวมเสื้อ”

ส่วนการแต่งกายท่อนล่างของผู้ชาย จะนุ่งโจงกระเบนผืนเดียว หรือหากเป็นทหารอาจนุ่งโจงกระเบนทับสนับเพลา สำหรับกรณีที่อยู่ในบรรยากาศแบบตามสบาย บางคนก็อาจนุ่งผ้าลอยชาย หรือปล่อยชายลงมาไม่ม้วนไปเหน็บท้าย

ขณะที่ผู้หญิงเมื่อสังเกตจากภาพจิตรกรรมฝาหนัง ก็จะพบว่ายังนุ่งโจงกระเบน ส่วนหญิงชาววังอาจนุ่งจีบ (ใกล้เคียงกับที่ตัวนางที่อยู่ในพวกละครนุ่ง)

ภาพวาดในหอไตร วัดระฆัง สมัยรัชกาลที่ 1 (ภาพจาก “การแต่งกายของไทย”, 2532)

รัชกาลที่ 4 

ครั้นสมัยรัชกาลที่ 4 การแต่งกายจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามแบบตะวันตกหลังจากติดต่อกับยุโรปมากขึ้น รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้สวมเสื้อเข้าเฝ้าฯ สืบเนื่องจากช่วงก่อนหน้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีข้าราชการมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พลับพลาที่ประทับชั่วคราว ทรงพบว่า ข้าราชการที่เข้าเฝ้าไม่สวมเสื้อ พระองค์ทรงเห็นว่าข้าราชการในประเทศมหาอำนาจสวมเสื้อกันหมด มีเพียงแต่ชาวป่าที่ยังเปลือยท่อนบน ดังพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 4 ตอนหนึ่งว่า

“ครั้งนั้นยังไม่มีธรรมเนียมที่จะสวมเสื้อเข้าเฝ้า จึงดำรัสว่า ดูคนที่ไม่ได้สวมเสื้อเหมือนเปลือยกาย ร่างกายจะเป็นกลากเกลื้อนก็ดีหรือเหงื่อออกมาก็ดี โสโครกนัก…”

หลังจากนั้นจึงเริ่มมีธรรมเนียมข้าราชการสวมเสื้อมาเข้าเฝ้า แต่ช่วงแรกยังไม่เป็นแบบแผนที่ชัดเจน ภายหลังจึงเริ่มเป็นเสื้อกระบอกแบบเสื้อบ้าบ๋า (เสื้อของบุตรชาวจีนที่เมืองปัตตาเวีย) ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของเสื้อข้าราชการในราชสำนักในภายหลังก่อนที่รูปแบบตะวันตกจะแพร่หลายในช่วงการปกครองแบบประชาธิปไตย

กรณีนี้หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ยังวิเคราะห์ว่า การที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้า ส่วนหนึ่งมาจากที่พระองค์ทรงเคยเป็นพระภิกษุ เมื่อลงอุโบสถกรรม พระสงฆ์ต้องแต่งกายให้เรียบร้อย แต่แทนที่จะทรงนำการแต่งกายของพระสงฆ์มาเทียบ พระองค์ทรงใช้ตัวอย่างประเทศใหญ่มาเปรียบเทียบแทน (หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, 2549)

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งอาจมองได้ว่ามาจากอิทธิพลจากการติดต่อกับตะวันตก ดังเช่นพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงสวมสนับเพลา (กางเกง) และฉลองพระองค์ (เสื้อ) แบบฝรั่งฉายพระรูปหลายครั้ง

รัชกาลที่ 5 

การเปลี่ยนแปลงเรื่องเครื่องแต่งกายมาเริ่มแบบจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มเกิดเสื้อราชปะแตน อีกทั้งทรงผมผู้ชายก็เลิกไว้ทรงมหาดไทย หลังจากที่รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จไปต่างประเทศครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2413 ทรงทอดพระเนตรความเจริญของบ้านเมืองใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์และชวา โปรดฯ ให้ผู้ตามเสด็จไว้ผมยาวตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง จากนั้นพระองค์ทรงเปลี่ยนแบบพระเกศาด้วย ข้าราชการทั้งหลายก็เปลี่ยนตามพระราชนิยม ทำให้ทรงมหาดไทยเริ่มเสื่อมความนิยม

ช่วงการเปลี่ยนทรงผม เอนก นาวิกมูล บรรยายว่า ขุนนางผู้ใหญ่บางรายยักย้ายตัดผมข้างล่างสั้นข้างบนยาว เรียกกันว่า “ผมรองทรง” (ครึ่งไทยครึ่งฝรั่ง) จึงถือว่าผมแบบรองทรงเริ่มเกิดมาตั้งแต่สมัยนั้น

สำหรับเสื้อราชปะแตนนั้นเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2415 เริ่มต้นจากที่รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าเสื้อนอกแบบฝรั่งใส่แล้วร้อนอบอ้าวเพราะต้องมีเสื้อใน ผ้าผูกคอ จึงทรงคิดฉลองพระองค์คอปิด กระดุม 5 เม็ด ไม่ต้องสวมเสื้อชั้นใน เรียกกันว่า “ราชปะแตน” เพราะมาจาก “ราช” กับ “Pattern” (รูปแบบ)

ขณะที่ผู้หญิงก็มีเปลี่ยนแปลงทรงผมเช่นกัน เปลี่ยนจากผมปีกแบบเก่ามาไว้ผมยาว เริ่มเพิ่มเสื้อแขนยาวแล้วจึงห่มสไบทับในช่วง พ.ศ. 2416 โดยโปรดฯ ให้ผู้หญิงในราชสำนักใส่เสื้อแขนยาว ชายเสื้อเพียงบั้นเอว และห่มแพร สไบเฉียงบ่านอกเสื้อ และให้สวมเกือกบู๊ตกับถุงเท้าตลอดน่อง และยังเกิดเสื้อลายลูกไม้และเสื้อแขนพองแบบหมูแฮม

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ไว้พระเกศายาว หวีเสยด้านหน้า ฉลองพระองค์แบบตะวันตก ฉลองพระองค์แขนหมูแฮม ทรงถุงพระบาท และฉลองพระบาทหนังหุ้มส้น (ภาพจากหนังสือ ราชพัสตราภรณ์)
จากซ้าย: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร (ขานพระนามว่า ทูลกระหม่อมหญิง), พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี, เจ้าคุณจอมมารดาสำลี และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

เอนก นาวิกมูล สันนิษฐานว่า เสื้อลายลูกไม้มีมาอย่างช้าตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2428 คาดว่า เป็นอิทธิพลจากที่มีห้างขายเสื้อผ้าของฝรั่งและแฟชั่นในเมืองนอก สังเกตจากภาพถ่ายของเจ้านายผู้หญิง อาทิ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ขณะที่เสื้อผู้หญิงที่แขนพองตอนบนแบบขาหมูแฮม คาดว่านิยมกันเมื่อ พ.ศ. 2439 จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นสวมเสื้อแพรแขนยาวไม่โป่งตอนบน

การแต่งพระองค์ของพระบรมวงศ์ชั้นสูงและการแต่งกายของเจ้าจอมในสมัยรัชกาลที่ 5

รัชกาลที่ 6 

สมัยรัชกาลที่ 6 ชาวบ้านก็เริ่มแต่งกายตามฐานะและสภาพสังคม ผู้ชายทั่วไปนุ่งกางเกงแพรของจีน หรือนุ่งผ้าม่วง ผ้าพื้น (ผ้าทอเอง) สวมรองเท้าบ้าง หรือไม่สวมบ้าง ข้าราชการสวมเสื้อราชปะแตน นุ่งผ้าม่วง สวมรองเท้า

ผู้หญิงทั่วไปเดิมทีก็นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อ หรือคาดผ้าแถบ ห่มสไบ ต่อมาเริ่มมีพระราชนิยมให้นุ่งผ้าซิ่น ไว้ผมยาว และเกิดแฟชั่นเสื้อแขนสั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ก็เปลี่ยนแปลงอีกคราเป็นเสื้อไม่มีแขน

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ในชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 6 (ภาพจากหนังสือ “ราชพัสตราภรณ์”
โดย สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2547)

รัชกาลที่ 8 – รัชกาลที่ 9 : รัฐนิยม ถึงชุดประจำชาติ

ในสมัยรัชกาลที่ 8 นโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงครามก็เข้ามาปรับเปลี่ยนการแต่งกายอีกครั้ง หลังจากเข้ามาดำรงตำแหน่งพ.ศ. 2481 ให้ชายและหญิงสวมหมวก เสื้อมีแขน (ชาย) และรองเท้า ผู้หญิงต้องสวมเสื้อคลุมไหล่ และชักชวนให้สวมผ้าถุงแทนโจงกระเบน

เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 9 ในช่วงก่อน พ.ศ. 2500 เครื่องแต่งกาย ใกล้เคียงกับสมัยรัชกาลที่ 8 มีรายละเอียดเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยตามสมัยนิยม อาทิ กระโปรงนิวลุคของฝ่ายหญิง (กระโปรงบาน นั่งกับพื้นแล้วจะเห็นเป็นวงกลม) กับกระโปรงสุ่มไก่

หลังพ.ศ. 2500 จึงเริ่มมี “ชุดแต่งกายประจำชาติ” ทั้งหญิงและชาย โดยเกิดในฝ่ายหญิงก่อนในพ.ศ. 2503 สืบเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนยุโรปและอเมริกา 14 ประเทศ ทรงโปรดฯ ให้คิดชุดประจำชาติรวม 8 แบบเพื่อสวมในโอกาสต่างๆ ดังเรียกกันว่า “ชุดไทยพระราชนิยม”

ฝ่ายชายเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2522 มาจากช่วงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสมัยนั้นเยือนประเทศอาเซียน และเห็นแต่ละประเทศมีชุดประจำชาติ จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลปรึกษาสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงพระราชทานฉลองพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แก่พลเอกเปรม พร้อมทั้งพระราชทานแบบเสื้อ จึงเกิดเป็น “เสื้อพระราชทาน” พลเอก เปรม เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2522 โดยมี 3 แบบ แขนสั้น, แขนยาวคาดผ้า และแขนยาวไม่คาดผ้า เป็นเสื้อคอตั้งมีสาบผ่าอก มีกระดุม 5 เม็ด

อีกด้านหนึ่งช่วงพ.ศ. 2511 ก็เริ่มเป็นยุคของ “แฟชั่น” สมัยนิยม ซึ่งเปลี่ยนแปลงกันตามกระแส ตั้งแต่ กระโปรงสั้น กระโปรงมิดี้ (ครึ่งน่อง) กระโปรงแม็กซี่ (ใส่ไปงานราตรี) เมื่อพ.ศ. 2513 มีกระแสฮิปปี้ (เสรีชนตะวันตก) ก็เริ่มมีไว้ผมยาว มาถึงกางเกงขายาว ที่มีศัพท์เรียกกันว่า กางเกงเด๊ฟ (ลีบทั้งขา) กางเกงม้อด (ลีบเฉพาะหัวเข่า) กางเกงเซลเลอร์ (หลวมตั้งแต่เอวถึงกรอมรองเท้า) และกลายเป็นกางเกงแบบสุภาพที่ดูเรียบแต่สุภาพ สวมใส่สบายในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

เอนก นาวิกมูล. การแต่งกายของไทย. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภาพ, 2532

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, หม่อมราชวงศ์. พระอภิเนาว์นิเวศน์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549

เล่าเรื่องเจ้านายกับชุดไทย แต่ละสมัยรับอิทธิพลจากไหนกันบ้าง. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2562. เข้าถึง 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562. <https://www.silpa-mag.com/culture/article_15436>

การแต่งกายของคนไทย. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 18. ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562. <http://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=18&chap=3&page=t18-3-s.htm>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562