ค้นหลักฐาน “ชุดไทย” สมัยพระนารายณ์ สตรีสยามเปิด “ท่อนบน” หรือแต่งกายอย่างไร?

ผู้หญิงสยาม ใน ชุดไทย กับ บุตร ขุนนางสยาม สมัย พระนารายณ์ อยุธยา
(ซ้าย) ผู้หญิงสยามกับบุตร (ขวา) ขุนนางสยาม จาก จดหมายเหตุลาลูแบร์

เครื่องแต่งกายของชาวสยามเป็นที่สะดุดตา และเป็นที่สนใจสำหรับชาวต่างชาติมาหลายยุคสมัย หากย้อนกลับไปถึงสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ชาวต่างชาติจากฝรั่งเศสก็สนใจ “ชุดไทย” (เครื่องแต่งกาย) ของสตรีสยาม โดยบันทึกของ ลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศสเล่าไว้ว่า ชาวสยามสมัยนั้นนุ่งน้อยห่มน้อย สตรีก็ “ปล่อยล่อนจ้อน”

เรื่องราวของเครื่องแต่งกาย หรือที่คนสมัยใหม่มักสนใจและคุ้นเคยกับคำว่า “ชุดไทย” นั้น แต่ละคนมีภาพจำที่แตกต่างกันออกไปจากประสบการณ์และการเสพรับข้อมูลจากแหล่งต่างๆ หากพูดถึงการแต่งกายสมัย “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ตามการบันทึกของลาลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ในคณะทูตานุทูตฝรั่งเศสชุดที่ 2 ที่เข้ามาถึงสยาม พ.ศ. 2230 และรจนาใน พ.ศ. 2231 ก็บันทึกเครื่องแต่งกายไว้ว่า ชาวสยามไม่ใคร่จะพอใจหุ้มห่อกายนัก

ลาลูแบร์ เปรียบเทียบกับการแต่งกายของชนชาติอื่นที่แทบจะเปลือยกาย ขณะที่ในความเห็นของลาลูแบร์ ที่ชาวสยามไม่ใคร่พอใจนุ่งห่มนั้น เป็นเพราะ “อาการสะเพร่า และอากาศร้อนจัด”

ลาลูแบร์ เดินทางมาถึงสยาม เมื่อ พ.ศ. 2230 อาศัยในสยามประมาณ 3 เดือน และได้จดบันทึกบรรยายสภาพของสยามไว้หลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ เรื่องการแต่งกายของชาวสยาม

จดหมายเหตุลาลูแบร์ ฉบับแปลไทยมี 2 ฉบับ คือฉบับสันต์ ท.โกมลบุตร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์แปล ในที่นี้ขอยกสำนวนฉบับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ มากล่าวอ้าง

ในส่วนเครื่องแต่งกายของสตรีที่ลาลูแบร์ บรรยายนั้น ระบุว่า ผู้หญิงนุ่งผ้าตามยาววงรอบตัว อย่างเช่นผู้ชาย แต่ปล่อยผ้าตามกว้างคลุมลงมาถึงหน้าแข้ง คล้ายกระโปรงส่ายของฝรั่ง ขณะที่ผู้ชายนุ่งโจงกระเบนม้วนตลบกลับไปข้างหลังระหว่างหว่างขา

“นอกจากผ้านุ่งแล้ว ผู้หญิงก็ปล่อยล่อนจ้อน ด้วยธรรมเนียมสตรีไม่มีเสื้อครุย (ฝรั่งเรียกเสื้อเชิ้ต) ชั่วแต่คนที่มั่งมีศรีสุขจึ่งจะใช้สะไบห่มอีกผืนหนึ่ง บางที่ห่มคาดนมปัดชายสะไบเฉียงบ่า แต่สตรีที่สุภาพราบเรียบ มักใช้สะไบตะแบงมานพันขนองกลางสะไบ ปัดชายทั้งสองมาสพักอุระ พาดสองบ่าปล่อยชายห้อยเฟื้อยปลิวลงไปข้างหลัง (อย่างผ้าห่มนางละครรำ)”

ส่วนการนุ่งผ้าโดยทั่วไป ลาลูแบร์ บรรยายว่า เดินเท้าเปล่า ศีรษะเปลือย ปิดบังแต่ที่อุจาดเท่านั้น โดย “ปกสะเอวและขาลงไปกระทั่งหัวเข่าด้วยท่อนผ้าผืนลายๆ ยาวราว 5 แขน” 

ลาลูแบร์ ระบุว่า สำหรับเด็กก็วิ่งกันโทงๆ โดยไม่มีเครื่องนุ่งห่มจนอายุ 4-5 ขวบหลังจากนั้นก็ปกปิดอวัยวะ (ผูกจับปิ้ง) ซึ่งกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงวิจารณ์ว่า ลาลูแบร์ ไม่ได้บันทึกเรื่องไว้จุกหรือพิธีไว้จุก

สำหรับพวกขุนนางหรืออำมาตย์ นอกจากนุ่งผ้านุ่งแล้ว ยังมีเสื้อครุยผ้าขาวอีกตัว (ฝรั่งเรียกเสื้อเชิ้ต) เหมือนเป็นเสื้อนอก สวมนอกผ้านุ่งและพันชายเสื้อเข้ากับเอว ใช้เมื่อเข้าไปหาขุนนางผู้ใหญ่มียศสูงกว่าตนเอง เพื่อเป็นการแสดงความเคารพผู้ใหญ่

แม้ว่าจากการบรรยายของลาลูแบร์ ที่ว่าสตรีแทบล่อนจ้อนนั้น แต่ในอีกด้าน ลาลูแบร์ บรรยายว่า ชาวสยามยังเป็นผู้มีความละอาย “ว่ากันที่แท้ชายหญิงในกรุงสยามเป็นคนขี้ละอายอย่างยิ่งในโลก ที่จะแสดงอวัยวะในร่างกาย…” 

เมื่อมีเอกอัครราชทูตของกษัตริย์ฝรั่งเศสเข้าพระนคร สตรียังต้องนั่งหันหลังในขบวนแห่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2562