เรื่องขี้ ๆ สมัยกรุงศรี กับการ “ปาขี้” ของชาวอยุธยา

ภาพเขียน ลายรดน้ำ เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง คน ขี้
ภาพเขียนลายรดน้ำ “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” ที่บานแผะประตูของพระอุโบสถ วัดพิชยญาติการาม

สำรวจเรื่อง ขี้ ๆ ในสมัย กรุงศรีอยุธยา ในสมัยที่ยังไม่มีแนวคิดเรื่องสุขอนามัยดังเช่นคนสมัยใหม่ และการ “ปาขี้” ของชาวอยุธยา

ในสมัยอยุธยายังไม่มี “ห้องน้ำ” คนอยุธยาจึงขับถ่ายอุจจาระ (ขี้) ไม่เป็นที่เป็นทาง มักจะใช้วิธีขุดหลุมขี้เป็นคราว ๆ ไป เวลา “ไปขี้” พูดกันอย่างสุภาพว่า ไปทุ่ง ไปท่า ไปป่า ไปเขา หากมีบ้านอยู่ริมทุ่ง ก็ไปทุ่ง หากมีบ้านอยู่ใกล้แม่น้ำลําคลอง ก็ไปท่า หากมีบ้านอยู่ชายป่า ก็ไปป่า ไปเขา

ด้วยความที่ชาวอยุธยาไม่มี “ห้องน้ำ” ไว้สำหรับขี้เป็นที่เป็นทาง จึงก่อให้เกิดปัญหาตามมา หนึ่งในนั้นคือ การขว้างปาขี้ใส่บ้านคนอื่น อาจตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ดังมีกฎหมายบอกโทษที่ทำความผิดเกี่ยวกับการขับถ่ายไว้หลายอย่าง ปรากฏใน “กฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ” มีความโดยสรุปว่า “เอาอาจมซัดเรือนท่าน เอาอาจมซัดบ้านท่าน ถ้าเข้าบ้านท่านแล ถ่ายอุจจาระไว้ ถ้าขุดหลุมถ่ายอุจจาระใกล้เสาเรือนท่าน”

กฎหมายส่วนที่กล่าวว่า “เอาอาจมซัดเรือนท่าน” ระบุบทลงโทษการปาขี้ใส่บ้านคนอื่นไว้ว่าผู้ใดเอาอาจมซัดเรือนท่านให้ไหม ๑๒๐๐๐๐ ถ้าเอาอาจมซัดบ้านท่านไหม ๑๑๐๐๐๐… ถ้าแลขุนแขวงหมื่นแขวงสิบร้อยอายัดว่ากล่าวแลมันมิฟังไซ่บันดาจะไหมทีหนึ่งให้ไหมทวีแล้ว แลจำให้มันแบกอาจมเสียจงได้” คือนอกจากมีโทษถูกปรับแล้ว หากทำผิดซ้ำอีกจะปรับเพิ่มเป็นสองเท่า และยังลงโทษให้ผู้ทำผิดแบกอาจม (ขี้ของคน) อีกด้วย 

กฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การนำเอาขี้ไปขว้างปาใส่บ้านของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในสังคมอยุธยา เพราะมิฉะนั้นก็คงไม่มีกฎหมายออกมาห้ามปราม

ชาวอยุธยานอกจากจะขุดหลุมสำหรับขี้แล้ว คนที่ไม่ได้ ไปทุ่ง ไปท่า ไปป่า ไปเขา อาจขี้ใส่วัสดุหรือภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วนำไปขว้างปาใส่บ้านคนอื่น อาจขี้ใส่ใบตอง แล้วโยนทิ้งทั่วไป อาจโยนลงแม่น้ำลําคลอง หรือไม่ก็โยนไปบ้านข้าง ๆ ถึงได้เป็นเรื่องทะเลาะวิวาทกัน จนทางราชการต้องตราเป็นกฎหมายให้มีบทลงโทษ

เรื่อง “ปาขี้” นี้ยังปรากฏในนิทานเรื่องศรีทนนไชย ตอนที่พระเจ้าแผ่นดินให้นางสนมไปถ่ายอุจจาระและปัสสาวะรดบ้านของศรีทนนไชย เหตุการณ์ตอนนี้ด้านหนึ่งเป็นเรื่องตลกที่จะให้ศรีทนนไชยแสดงไหวพริบสติปัญญา แต่อีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การไปขี้รดบ้านคนอื่นนั้น จัดว่าเป็นการลงโทษอย่างหนึ่งอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

มนฤทัย ไชยวิเศษ. (2545). ประวัติศาสตร์สังคม-ว่าด้วยส้วม และเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2544). อยุธยายศยิ่งฟ้า. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 2563