ดูเส้นทาง “เสื้อยืด” มาสู่เครื่องแต่งกายสากล ทำไมเสื้อยืด คือชัยชนะแห่งกบฏวัฒนธรรม?

สุภาพสตรี ชู เสื้อยืด ลายฟุตบอลโลก 2002
สุภาพสตรีชู เสื้อยืด ลายฟุตบอลโลก 2002 ถ่ายเมื่อเมษายน ค.ศ. 2002 ย่านพัฒน์พงษ์ ภาพจาก STR / AFP

แม้แฟชั่นในโลกปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งที่ยังคงได้รับความนิยมอยู่ไม่แพ้กางเกงยีนส์ นั่นก็คือ “เสื้อยืด” เครื่องแต่งกายที่บ่งบอกถึงความอิสระ รวมถึงการเป็นตัวของตัวเอง ด้วยพลังของการออกแบบและสร้างสรรค์งานศิลปะแบบป๊อปอาร์ตเข้าไปในเสื้อยืด ทำให้เสื้อยืดในปัจจุบันได้รับความสนใจจากผู้คนทุกช่วงวัย

หากกล่าวถึงจุดกำเนิดของ “เสื้อยืด” ไม่มีใครรู้กันอย่างแน่ชัดว่าถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ได้แต่มีการค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ด้านแฟชั่นออกมาอธิบายเอาไว้หลายสำนวนด้วยกัน

สำนวนที่ได้รับการยอมรับกันอยู่ในปัจจุบัน คือ เสื้อยืดเริ่มจากการเป็นเสื้อชั้นในสำหรับใส่ทำงานกลางแจ้งของพวกกะลาสีเรือในอังกฤษ โดยการเย็บแขนเสื้อติดกับเสื้อกล้าม เพื่อไม่ให้เห็นขนรักแร้อันน่ารังเกียจ

ส่วนสำนวนที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยครั้งคือ เสื้อยืดเกิดขึ้นมาจากการเป็นชั้นในของทหารเรืออเมริกัน โดยกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาให้ใช้เสื้อยืดมาตั้งแต่ ค.ศ. 1913 และมาแพร่หลายในหมู่กองทัพต่างๆ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเริ่มแรกนั้น เสื้อจะทำมาจากฝ้ายสีขาว และใส่ไว้ข้างในเพื่อปกปิดขนหน้าอก

ทั้งนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสื้อยืดนอกจากเป็นเสื้อชั้นในที่ใส่ให้ความอบอุ่นจากผ้าฝ้ายแล้ว ยังบ่งบอกถึงความเสมอภาคทางเพศได้เป็นอย่างดี กล่าวคือผู้ชายก็ใส่ได้ ผู้หญิงใส่ก็ดี ไม่มีการกีดกั้นในหมู่ทหารในเวลานั้น และก็ถือเป็นข้อปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อดาราที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลผู้ล่วงลับไปแล้วอย่าง มาร์ลอน แบรนโด ใส่เสื้อยืดโชว์มัดกล้ามที่รัดรูปเข้ากันได้ดีกับเสื้อในหนังเรื่อง A Street Car Named Desire ใน ค.ศ. 1951 กับบุคลิกการเป็นแก๊งสเตอร์เล็กๆ ดุดัน ดูเป็นชายชาตรีหยาบกระด้าง อันโดนใจวัยรุ่นในสมัยนั้นทุกคน เสื้อยืดก็กลายมาเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายแบบใหม่ของวัยรุ่นที่ต้องการแสดงถึงความเป็นกบฏในสังคม หรือแสดงออกถึงความคิดความอ่านที่เป็นอิสระจากคนอื่นทั่วไป แสดงตัวตนในลักษณะไม่ต้องการยึดติดกับกรอบความคิดทางสังคมแบบเดิมอีกต่อไป

ลักษณะของเสื้อยืดที่สวมใส่ง่าย สบาย ราคาถูก จึงเป็นที่นิยมของชนชั้นแรงงาน ขณะที่เหล่าแฟชั่นชั้นสูงก็ไม่ได้ยอมรับมันมากนัก เนื่องจากเป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงให้เห็นถึงอีกชนชั้น

เสื้อยืดเริ่มเป็นสัญลักษณ์ธงรบแห่งการแหกกรอบความคิดทางสังคมเด่นชัดมากขึ้นในทศวรรษที่ 60 ในภาวะสงครามเย็นและสงครามเวียดนาม การนำเอาเสื้อยืดมาย้อมสีหรือสกรีนข้อความที่แสดงให้เห็นถึงความคิดของผู้คนทั้งหลาย ตลอดจนการสกรีนเครื่องหมายสันติภาพหรือรูปรอยยิ้มเข้าไป ยิ่งทำให้สถานะของเสื้อยืดกลายมาเป็นเวทีใช้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวลงไป โดยเฉพาะในสังคมอเมริกัน

กล่าวได้ว่าเสื้อยืดมิได้เป็นเพียงเครื่องนุ่งห่มให้กับมนุษย์เท่านั้น แต่เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทำหน้าที่หลายอย่างในสังคมอีกมากมาย อาทิ การแสดงออกทางความคิดด้วยการพิมพ์ข้อความโฆษณาต่างๆ ลงไป รวมถึงการทำสัญลักษณ์ต่างๆ ลงไปบนเสื้อ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เป็นต้น

ถึงเสื้อยืดจะกลายเป็นวัฒนธรรมเสื้อผ้าแบบใหม่ของวัยรุ่น แต่ขณะเดียวกันการผลิตเสื้อยืดก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาภูมิอากาศ

ในกระบวนการผลิตเสื้อยืด “ผ้าฝ้าย” วัตถุดิบหลักที่นำมาใช้นั้นมีสโลแกนว่า “ปุยกระหายน้ำ เป็นพิษ” เรียกได้ว่าเป็นพืชที่ใช้น้ำมากที่สุดในโลกอีกชนิดเลยก็ว่าได้ อีกทั้งการชลประทานก็ผลาญน้ำไปมากมายผ่านการรั่วซึมและการระเหย และในประเทศที่ซื้อฝ้ายกำลังใช้น้ำหลายตันนอกประเทศของตน ทำให้ประชาชนในประเทศเหล่านั้นต้องเผชิญกับภาวะการขาดแคลนน้ำ เมื่อการขาดแคลนน้ำสูงขึ้นทั่วโลกก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของส่วนรวมครั้งใหญ่

ตัวอย่างหนึ่งของการสูญเสียน้ำอันน่าสะเทือนใจที่สุด คือกรณีประเทศอุซเบกิสถาน มีไร่ฝ้ายที่ดำเนินการโดยรัฐ ใช้น้ำจากทะเลอารัลซึ่งเป็นทะเลปิดที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกจนระดับน้ำลดลงไปถึงร้อยละ 80 ในช่วงปี 1960-2000 ทำให้เกิดสภาพเกือบเป็นทะเลทราย จากเดิมที่เป็นพื้นที่เขียวชอุ่มสมบูรณ์

เมื่อสภาพอากาศของพื้นที่เปลี่ยนไป ฤดูร้อนสั้นลงและมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่วนฤดูหนาวก็มีอุณหภูมิต่ำลง ฝนตกน้อยลง และมีพายุฝุ่นรุนแรง ดังนั้นการปลูกฝ้ายเพื่อนำมาผลิตเป็นเสื้อยืดนั้นมิใช่แค่ลดปริมาณน้ำ แต่ยังทำลายคุณภาพน้ำอีกด้วย โดยน้ำจะเป็นพิษมากขึ้นเรื่อยๆ จากสารเคมีที่ใช้ในการปลูกฝ้าย

นอกจากนี้ การปลูกฝ้ายสำหรับเสื้อยืดตัวเล็กๆ เพียงหนึ่งตัวได้ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ รวมๆ แล้วประมาณ 5 ปอนด์ อันเกิดจากพลังงานในการผลิตปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชที่มีปิโตรเคมีเป็นส่วนผสมหลัก กระแสไฟฟ้าที่ใช้สูบน้ำมารดต้นฝ้าย กระบวนการล้าง ปั่น ถัก และการปรับแต่ง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

ในยุคหนึ่ง เสื้อยืด (ผ้าฝ้าย) ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังถูกวิจารณ์ไปจนถึงปัญหาด้านสิทธิแรงงาน ยุคหนึ่งคุณภาพชีวิตของแรงงานในโรงงานสิ่งทอที่ผลิตให้บริษัทแบรนด์เสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ยังอยู่ในสภาพเลวร้าย

บริษัทเสื้อผ้าส่วนหนึ่งพยายามเลือกโรงงานที่จ่ายค่าแรงต่ำ นั่นหมายรวมถึงสถานที่อย่างบังคลาเทศ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” หรือ “เขตอุตสาหกรรมส่งออก” ในจีน แอนนี่ เลียวนาร์ด อธิบายว่า คนงานในโรงงานส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ดูแลแรงงานดีนัก พวกเขามีความเป็นอยู่ที่แออัด แสงสว่างไม่เพียงพอ การระบายอากาศไม่ดี และเสียงดัง

กระบวนการผลิตเสื้อยืดผ้าฝ้ายยังเกี่ยวข้องไปถึงขั้นย้อมสี และก่อนการตัดเย็บก็ต้องผ่านสารเคมีอันตรายอย่างฟอร์มาลดิไฮด์ ซึ่งเป็นสารที่ส่งผลต่อทางเดินหายใจ ดวงตา และผิวหนัง

กล่าวได้ว่า เสื้อยืด เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านที่มีทั้งคุณประโยชน์ในการใช้สอยนุ่งห่มสำหรับคนทั่วไปในชีวิตประจำวัน พวกเขาเข้าถึงเสื้อยืดได้ง่ายจากราคาที่เอื้อมถึง ใช้งานสะดวกสบาย แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญ กระบวนการผลิตที่ไม่เหมาะสมสำหรับโรงงานบางแห่งก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและปัญหาแรงงานตามมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ณัฏฐชัย วิรุฬห์วชิระ. “เสื้อยืด ชัยชนะแห่งกบฏวัฒนธรรม”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 29 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2550)

เลียวนาร์ด, แอนนี่. เรื่องเล่าของข้าวของ- The Story of Stuff. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ มีนาคม 2562