ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ตัวอย่างการพิสูจน์โบราณวัตถุจริงหรือปลอม?

ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลัง นารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์

“ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” แห่ง “ปราสาทพนมรุ้ง” จังหวัดบุรีรัมย์ ตัวอย่างการพิสูจน์โบราณวัตถุจริงหรือปลอม?

กลางเดือนธันวาคม 2566 มีข่าวดีในวงการโบราณคดีของไทย เมื่อพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) ประเทศสหรัฐอเมริกา แจ้งคืนโบราณวัตถุที่สำคัญ 2 รายการ ให้ประเทศไทย ชิ้นแรกคือ รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 หรือ Golden Boy ประติมากรรมสำริดปิดทองทั้งองค์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 และอีกรายการคือ ประติมากรรมสตรีนั่งชันเข่าพนมมือสูง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เช่นกัน

ย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ก็เคยมีกรณีโด่งดังเรื่องการทวงคืนโบราณวัตถุเช่นกัน นั่นคือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เชื่อว่าถูกโจรกรรมไปประมาณ พ.ศ. 2503 ทางสถาบันศิลปะ นครชิคาโก สหรัฐ ได้ส่งกลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2531 ในพระนามของศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ถึงสนามบินดอนเมืองในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531

คราวนั้น โบราณวัตถุชิ้นดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก ถึงประเด็นว่าเป็นของจริงหรือของปลอม แล้ววิธีตรวจพิสูจน์เพื่อหาความจริงเป็นอย่างไร? ศิลปวัฒนธรรม ชวนย้อนอ่านบทความ “พิสูจน์ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์” ที่ จิราภรณ์ อรัณยะนาค เขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนกรกฎาคม 2542

เปิดวิธีพิสูจน์ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” 

จิราภรณ์เล่าถึงการหาอายุของศิลปโบราณวัตถุว่ามีหลายวิธี เช่น วิธีคาร์บอน-14 (Carbon-14 dating) วิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ (Thermoluminescence dating) วิธีฟิสชันแทรค (Fission track dating) วิธีโพแทสเซียม/ อาร์กอน (Potassium/Argon dating) เป็นต้น

วิธีการเหล่านี้เป็นวิธีทางนิวเคลียร์เคมี และนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ผลที่ได้ช่วยให้สามารถกำหนดอายุคร่าวๆ ของศิลปโบราณวัตถุได้ แต่วิธีการเหล่านี้มีข้อจำกัดมากมาย เพราะแต่ละวิธีการจะสามารถใช้กำหนดอายุวัสดุบางประเภทเท่านั้น ไม่สามารถจะใช้กับวัสดุทุกชนิดได้ เช่น

วิธีคาร์บอน-14 จะใช้กำหนดอายุของศิลปโบราณวัตถุที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ เช่น ไม้ ถ่าน กระดูก งา ผ้า เปลือกหอย ฯลฯ เท่านั้น

วิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ ใช้ได้กับวัสดุที่ผ่านการเผาไฟมาแล้ว เช่น เครื่องปั้นดินเผา อิฐ ฯลฯ

วิธีฟิสชันแทรค ใช้ได้กับแก้วและแร่บางอย่างที่มียูเรเนียมเป็นองค์ประกอบ

วิธีโพแทสเซียม/อาร์กอน ใช้ได้กับหินอัคนีบางชนิดที่มีโพแทสเซียมเป็นองค์ประกอบเท่านั้น

แต่วิธีการเหล่านี้ ไม่สามารถใช้กำหนดอายุหินทรายได้

การกำหนดอายุหินทราย นักธรณีวิทยาใช้วิธีศึกษาเปรียบเทียบโดยจะศึกษาซากฟอสซิลที่ปรากฏอยู่ในชั้นหินทราย แต่ยังไม่มีวิธีการใดๆ ที่จะให้อายุที่แน่นอนของหินทรายได้ นอกจากนี้ การหาอายุของหินทรายไม่มีประโยชน์ต่อการตรวจพิสูจน์ศิลปโบราณวัตถุ เพราะจะช่วยให้ทราบเพียงว่าหินนั้นๆ ก่อกำเนิดขึ้นบนโลกมาแล้วนานเท่าใด แต่ไม่สามารถบอกอายุการใช้งานของหินนั้นๆ

เพราะฉะนั้น การที่จะเลือกใช้วิธีการใดในการตรวจพิสูจน์ นักวิทยาศาสตร์จะพิจารณาข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัด และความแม่นยำของแต่ละวิธีการ

การตรวจพิสูจน์ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ในเดือนพฤศจิกายน 2531 เริ่มด้วยวิธีฟิสิกส์ โดยการตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยสายตาและแว่นขยาย เพื่อตรวจดูเนื้อหิน ร่องรอยการแกะสลัก รอยบิ่น กะเทาะ รูพรุนในเนื้อหิน ความสึกกร่อน การเปลี่ยนแปลงที่ผิวหินที่เกิดจากสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ คราบสกปรกฝังแน่น และคราบที่เกิดจากจุลินทรีย์ พร้อมทั้งถ่ายภาพรอยตำหนิต่างๆ ด้วยกล้องถ่ายรูปที่ใช้ microlens เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

จากการตรวจสอบดังกล่าว พบว่าหินที่ใช้ในการแกะสลักทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ชิ้นนี้ เป็น “หินทรายสีชมพูอ่อน” มิใช่เรชั่น หรือปูนซีเมนต์ผสมทรายอย่างแน่นอน แต่เพื่อความแน่นอนได้สกัดหินทรายด้านหลังของทับหลังเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาดประมาณ 1 ซ.ม. โดยเลือกจุดที่เป็นตัวแทนของหินทรายทั้งก้อนไว้ จากนั้นนำตัวอย่างมาตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอ กำลังขยาย 6.3-40 เท่า และเปรียบเทียบกับหินทรายอีกก้อนหนึ่ง ที่สกัดมาจากทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ชิ้นเล็ก ที่ติดตั้งอยู่บนกรอบประตูปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่ง นายสัญชัย หมายมั่น สถาปนิกที่บูรณะปราสาทหินพนมรุ้งนำมามอบให้

จากการเปรียบเทียบพบว่า หินทรายทั้งสองชิ้นนี้มีลักษณะไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ เป็นหินทรายสีชมพูอ่อน เนื้อละเอียด ประกอบด้วยเม็ดทรายที่มีลักษณะกลม-เหลี่ยมเป็นส่วนใหญ่ ประสมอยู่ในเนื้อพื้นเนื้อละเอียด ซึ่งประกอบด้วยเฟลด์สปาร์เป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นเป็นเศษหินและวัสดุประสาน ซึ่งใกล้เคียงกับหินทรายสีชมพูที่ใช้ทั่วไปในการก่อสร้างปราสาทหินพนมรุ้ง

เพื่อความถูกต้องและแน่นอนยิ่งขึ้น ได้นำตัวอย่างหินทั้งสองชิ้นนี้ไปให้ นางศรีโสภา มาระเนตร์ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางฟิสิกส์ กองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ตรวจสอบด้วยวิธีศิลาวรรณนา (petrography) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันมากในการจำแนกชนิดของหิน โดยการนำหินมาตัดและขัดเป็นแผ่นหินบาง (thin section) แล้วตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดที่ใช้แสง polarize ที่กำลังขยาย 40-400 เท่า

ผลการวิเคราะห์พบว่า หินทรายที่ใช้ในการแกะสลัก ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นหินทรายประเภท Feldspartic sand- stone หรือหินทรายอาร์โคส (Arkosic sandstone) ซึ่งเป็นหินทรายชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วยเฟลด์สปาร์ 25% หรือมากกว่านั้น จากการวิเคราะห์หินทรายสองชิ้นนี้พบว่า ประกอบด้วย ควอร์ตซ์ 55-60% เฟลด์สปาร์ 25-30% นอกนั้นเป็นดินเหนียวที่ผุพังและเศษหิน (ส่วนใหญ่เป็นหินดินดานและหิน tuff) วัสดุประสาน (Cementing material) เป็นซิลิกา และเหล็กออกไซด์ ขนาดของเม็ดแร่ประมาณ 0.1-0.2 ม.ม. หินทรายชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากการสลายตัวผุพังอย่างรวดเร็วของหินแกรนิตหรือหินอัคนีชนิดที่มีเฟลด์สปาร์และควอร์ตมาก

ด้วยความกรุณาจากนักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณีหลายท่านที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแหล่งหินทรายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หินทรายที่ใช้ในการแกะสลักทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จัดเป็นหินชุดพระวิหาร (Phra Wihan Formation) ซึ่งพบทั่วไปในที่ราบสูงโคราช อายุของหินจัดอยู่ในยุค Middle Jurassic หรือประมาณ 190 ล้านปีมาแล้ว

เพราะฉะนั้น สรุปได้แน่นอนว่า ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ส่วนที่ได้มาจากชิคาโก เป็นหินทรายชิ้นเดียวกับทับหลังชิ้นเล็กส่วนที่ยังคงอยู่ในประเทศไทย

ของแท้หรือของปลอม?

เมื่อตรวจสอบดูรายละเอียดบนผิวของทับหลังด้านที่แกะสลัก พบริ้วรอยบิ่นกะเทาะจำนวนมาก ผิวของหินบางส่วนมีรูหรือหลุมขนาดเล็ก-ใหญ่หลายรู คาดว่ารูเหล่านี้เกิดจากจุดอ่อนในเนื้อหิน หรืออาจเกิดจากเม็ดกรวดขนาดต่างๆ ที่ปะปนอยู่ในเนื้อหินหลุดร่วงออกไปจากการสึกกร่อนขัดสี เนื่องจากแรงลมหรือน้ำฝน ทำให้เกิดรูหรือหลุมบนผิวหิน (มิใช่ฟองอากาศอย่างที่หลายท่านสันนิษฐาน)

ผิวของหินส่วนใหญ่สึกกร่อนอย่างเห็นได้ชัด หินบางส่วนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเนื่องจากปฏิกิริยาระหว่างองค์ประกอบของหินกับน้ำ และก๊าซในบรรยากาศ ทำให้ผิวของหินบางส่วนมีสีเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง-นํ้าตาล ซึ่งเกิดจากการที่เหล็กออกไซด์ที่เป็นองค์ประกอบของหินเปลี่ยนไปเป็นเหล็กไฮดรอกไซด์

ปรากฏการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อหินอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานมาก

นอกจากนี้ ยังพบหลักฐานสำคัญที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการตรวจพิสูจน์ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ นั่นคือ ซากของไลเคนส์ (lichens) เกาะติดแน่นบนผิวหินเป็นแผ่นด่างดวงสีเขียวอมเทาอ่อนอยู่ทั่วไป

ไลเคนส์ เป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากสาหร่ายและราอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยสาหร่ายทำหน้าที่สังเคราะห์แสงสร้างอาหาร ส่วนราทำหน้าที่ดูดน้ำ อาหารและแร่ธาตุ เก็บรักษาความชุ่มชื้น และเป็นฐานให้สาหร่ายได้เกาะยึด โดยปกติพบไลเคนส์ทั่วไปบนวัสดุก่อสร้างที่ชื้นและมีรูพรุนมาก ได้แก่ อิฐ หินทราย หินชนวน ศิลาแลง ปูน และไม้

ซากไลเคนส์ที่พบบนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จัดเป็นไลเคนส์ประเภท crustose lichen พบมากทั่วไปบนปราสาทหินพนมรุ้ง มีรูปร่างเป็นแผ่น ทัลลัสเกาะติดแน่นกับเนื้อหิน ไลเคนส์ชนิดนี้ สร้างกรดอินทรีย์บางชนิดออกมาทำปฏิกิริยากับเนื้อหิน แล้วเกิดสารประกอบที่ไม่ละลายน้ำเกาะติดแน่นคล้ายปูนอยู่บนผิวของหิน

จากการตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่า มีซากไลเคนส์ชนิดนี้เกิดขึ้นทับซ้อนกันหลายชั้นบนผิวของหิน แสดงให้เห็นว่า ไลเคนส์ชนิดนี้ได้เจริญอยู่บนหินชิ้นนี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานมาก เมื่อโคโนลีที่เกิดขึ้นตอนแรกๆ ตายไป ก็เกิดโคโลนีใหม่ขึ้นบนที่เดิม หรือในบริเวณใกล้เคียง จึงเห็นเป็นวงกลมๆ ทับซ้อนหรือเหลื่อมกันหลายชั้น การเจริญเติบโตของไลเคนส์เป็นไปอย่างเชื่องช้า ไลเคนส์บางชนิดขยายขนาดเพียง 1 ม.ม. ใน 1 ปี เพราะฉะนั้นการที่มีไลเคนส์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-5 ซ.ม. ทับซ้อนกันหลายชั้นบนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์

แสดงว่าทับหลังชิ้นนี้ได้อยู่กลางแจ้งเป็นเวลายาวนานนับร้อยๆ ปี

จากการทดลองทำความสะอาดหินทรายสีชมพูรอบๆ มณฑปบนปราสาทหินพนมรุ้งในปี 2536 แล้วทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในการยับยั้งป้องกันไลเคนส์ พบว่า หินบางส่วนที่ไม่ได้ทาสารเคมีป้องกันไลเคนส์ เริ่มมีไลเคนส์ชนิดเดียวกับที่พบบนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์เป็นจุดเล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 ซ.ม. ในปี 2542 แสดงว่าหากต้องการให้มีไลเคนส์ปรากฏบนผิวของหินทรายสีชมพูของเดิมที่ใช้ในการก่อสร้างปราสาท จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี จึงจะมีไลเคนส์ขึ้นเจริญเป็นจุดเล็กๆ

และจากการสำรวจไลเคนส์บนปราสาทหินหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า หินทรายสีชมพูหรือสีแดง ที่นำมาทดแทนหินทรายเดิมที่แตกหักชำรุดไปยังคงปราศจากไลเคนส์ แม้ว่าจะนำมาใช้งานนานนับสิบปีแล้วก็ตาม แสดงว่าไลเคนส์จะไม่เจริญบนผิวของหินทรายที่ตัดมาใหม่ๆ อาจเป็นเพราะหินทรายใหม่ๆ เหล่านั้นยังมีเนื้อแน่น ไม่สามารถอมความชื้นไว้ได้มากพอที่ไลเคนส์จะขึ้นเจริญได้

นอกจากนี้ ไลเคนส์ที่พบบนโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในท้องที่ต่างๆ มักแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดองค์ประกอบของวัสดุ และสภาวะแวดล้อมของแต่ละท้องที่ การที่จะทำให้เกิดไลเคนส์ชนิดเดียวกับที่พบบนปราสาทหินพนมรุ้งได้ จะต้องนำทับหลังที่ทำเทียมเลียนแบบมาวางทิ้งไว้ในบริเวณเขาพนมรุ้งเป็นเวลานานมาก จึงจะเกิดไลเคนส์ชนิดนี้ขึ้นได้

เหตุผลดังกล่าว เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ได้รับจากชิคาโก เป็นของแท้ที่เคยติดตั้งอยู่บนกรอบประตูด้านทิศตะวันออกของปราสาทหินพนมรุ้งอย่างแน่นอน มิได้มีผู้ใดทำขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีวิทยาศาสตร์อื่นๆ พิสูจน์ซ้ำอีก

หมายเหตุ : จัดย่อหน้าใหม่ เน้นคำ และเพิ่มหัวข้อย่อย โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม เพื่อความสะดวกในการอ่าน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2565