ผู้เขียน | อัศวัตถามา |
---|---|
เผยแพร่ |
“ป๊อปคอร์น” (Popcorn) หรือข้าวโพดคั่ว อาหารทานเล่น หรือ ขนม ที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินระหว่างการชมภาพยนตร์และมหรสพอื่น ๆ ทุกวันนี้เราพบเห็นจนเป็นภาพจำไปแล้วว่าการชมภาพยนตร์พร้อมถังป๊อปคอร์นเป็นของคู่กัน แต่ที่มาของเมนูนี้และค่านิยมดังกล่าวเป็นมาอย่างไร เริ่มต้นที่ไหน ?
นอกจาก “ป๊อปคอร์น” จะเป็นชื่อ “ข้าวโพดคั่ว” แล้ว ยังเป็นชื่อของสายพันธุ์ข้าวโพดด้วย นั่นคือพันธุ์ Popcorn ทฤษฎีว่าด้วยที่มาของชื่อนี้จากเรื่องเล่าในหมู่ชาวอเมริกัน ชื่อ “ป๊อปคอร์น” มาจากเสียง “Pop pop pop” ตอนที่เมล็ดข้าวโพดโดนความร้อนจนแตกฟูกลายเป็นช่อนั่นเอง แล้วจึงนำมาประกอบกับคำว่า Corn ที่หมายรวมถึงข้าวโพดพันธุ์อื่น ๆ และธัญพืชอีกบางชนิดด้วย
ป๊อปคอร์นเกิดขึ้นครั้งแรกในดินแดนของชาวอินเดียน ทวีปอเมริกา นักโบราณคดีพบหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าพืชพื้นเมืองอย่าง “ข้าวโพด” ถูกพัฒนาสายพันธุ์และเป็นอาหารของคนที่นี่มาช้านานแล้วก่อนชาวยุโรปมาพบ เมืองโบราณในทวีปอเมริกาจึงมีร่องรอยซังข้าวโพดกระจายอยู่ทั่วไปตามนครเก่าแก่ในอเมริกากลางแถบประเทศเม็กซิโก ถิ่นฐานของชาวมายา แอซแท็ก รวมถึงทวีปอเมริกาใต้ในกลุ่มอารยธรรมแอนเดียนของชาวอินคาและชนพื้นเมืองในแอมะซอน
กลุ่มชนเหล่านี้นำข้าวโพดป่าพัฒนาเป็นข้าวโพดไร่ แล้วนำเมล็ดของมันมาคั่วก่อนบริโภค แต่ข้าวโพดในยุคแรก ๆ ไม่ได้ฝักใหญ่อวบอิ่มแบบที่เราเห็นกัน ซังข้าวโพดอายุราว 4,000 ปี ที่ค้นพบในถ้ำแห่งหนึ่งในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1948 และ 1950 มีขนาดฝักเล็กกว่าเหรียญเพนนีไปจนถึงขนาดสองนิ้วเท่านั้น
อาหารบูชาทวยเทพ
หลังจากการค้นพบทวีปอเมริกาของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในปี 1492 บันทึกต่าง ๆ ของชาวยุโรปมีการกล่าวถึงข้าวโพดและป๊อปคอร์น ซึ่งบ่งชี้ว่าป๊อปคอร์นเป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวอินเดียนเผ่าแอซเท็กในคริสต์ศตวรรษที่ 16
เบอร์นาดิโน เดอ ซาฮากัน (Bernardino de Sahagun) นักประวัติศาสตร์ชาวสเปนผู้ศึกษาวัฒนธรรมของชาวเมโสอเมริกันบันทึกว่า ระหว่างพิธีบูชาทวยเทพ หญิงสาวชาวแอซแท็กจำนวนมากจะเต้นรำพร้อมมาลัยป๊อปคอร์นหนาเท่าฝักข้าวโพดที่วางบนศีรษะของพวกเธอ
ปี 1517 เฮอร์นานโด คอร์เตซ (Hernando Cortes) นักสำรวจและนักล่าอาณานิคมชาวสเปน ผู้รุกรานอาณาจักรของชาวแอซเท็กในเม็กซิโกพบว่า ป๊อปคอร์นเป็นอาหารที่มีความสำคัญและมีบทบาทในวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองสูงมาก เพราะนอกจากเป็นเครื่องประดับติดหมวกหรือมงกุฎสำหรับสวมระหว่างประกอบพิธีกรรมแล้ว ชาวแอซแท็กยังสวมสร้อยคอที่ร้อยจากป๊อปคอร์นและประดับประดามันบนรูปปั้นเทพเจ้าท้องถิ่นของพวกเขา โดยเฉพาะ “ทลาลอค” (Tlaloc) เทพแห่งฝนและความอุดมสมบูรณ์
บันทึกของชาวสเปนยังบอกเล่าถึงพิธีบูชาเทพเจ้าให้ช่วยคุ้มครองชาวประมงแอซแท็กระหว่างการออกทะเล ความว่า “พวกเขานั่งกระจายกันอยู่ตรงหน้าเขาผู้คั่วข้าวโพดซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘โมโมชิทล์’ (Momochitl) เป็นข้าวโพดที่แตกฟูได้เมื่อคั่ว และเผยให้เห็นถึงเนื้อใน ทำให้ดูเหมือนดอกไม้สีขาวมาก ๆ เขากล่าวกันว่านี่เป็นสิ่งบูชาเทพแห่งวารี”
ราวปี 1650 ของ Spaniard Cobo เขียนบันทึกถึงการทำป๊อปคอร์นของชาวอินเดียนในประเทศเปรูว่า “พวกเขาปิ้งข้าวโพดชนิดหนึ่งจนกระทั่งมันระเบิดออก พวกเขาเรียกมันว่า ‘Pisancalla’ และพวกเขากินมันเหมือนเป็นขนม”
ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 ระหว่างการสำรวจประเทศปารากวัยของ เฟลิกซ์ เดอ อซารา (Felix de Azara) ผู้นำทหาร วิศวกร และนักธรรมชาติวิทยาชาวสเปน กล่าวถึงเมล็ดข้าวโพดชนิดหนึ่งที่ “เมื่อต้มในไขมันหรือน้ำมัน เมล็ดของมันจะแตกออกแบบไม่หลุด และผลที่ได้คือช่อดอกที่สวยงามที่สุดซึ่งเหมาะสมจะแต่งผมสตรีในเวลากลางคืนโดยไม่มีใครรู้เลยว่ามันคืออะไร ผมได้กินเมล็ดที่แตกออกนี้บ่อย ๆ และพบว่ามันรสชาติดีมาก”
แทบไม่ต้องสงสัยว่าข้อมูลทั้งหมดกล่าวถึง “ป๊อปคอร์น” ข้าวโพดคั่วจากสายพันธุ์ข้าวโพดที่ชนพื้นเมืองพัฒนาพันธุ์จนทำเป็นป๊อปคอร์นได้ และลูกหลานของมันกำลังจะแพร่กระจายไปทั่วจนเป็นที่นิยมของคนอีกมากมายทั่วโลก
ป๊อปคอร์น หน้าโรงหนัง อาหารโปรดของอเมริกันชน
หลังจากข้าวโพดเป็นที่รู้จักและถูกนำไปปลูกแทบทุกมุมโลก มีการทำไรข้าวโพดกันอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษ 18 และ “ป๊อปคอร์น” กลายเป็นเมนูยอดนิยมในฐานะ ขนม ทานเล่น
ปี 1896 ชาร์ลส์ เครเตอร์ (Charles Cretors) ผู้ก่อตั้งบริษัท C. Cretors and Company ได้สร้างเครื่องคั่วข้าวโพดเคลื่อนที่ออกมาเสนอขาย นี่จึงเป็นเครื่องทำป๊อปคอร์นแบบเคลื่อนที่ได้เครื่องแรกของโลก เปิดตัวในงาน World’s Columbian Exposition ที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา
นิตยสาร Scientific American รายงานเรื่องนี้ว่า “เครื่องนี้ถูกออกแบบด้วยแนวคิดเพื่อเคลื่อนมันไปยังสถานที่ใด ๆ ก็ตามที่คนขายมีโอกาสทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ อุปกรณ์ที่เบาและแข็งแรงนี้มีน้ำหนักเพียง 400-500 ปอนด์ สามารถลากไปได้ด้วยแรงของเด็กชายหรือม้าตัวเล็ก ๆ สู่พื้นที่ปิกนิก งาน ลานหาเสียง ฯลฯ และไปยังสถานที่อื่น ๆ อีกมากมายซึ่งจะสร้างธุรกิจดี ๆ ได้ในเวลาเพียง 1-2 วัน”
ในปลายทศวรรษ 1890 จึงปรากฏ “รถป๊อปคอร์น” ของพ่อค้าแม่ขายเร่ขายเมนูทานเล่นยอดฮิตนี้ตามถนน รถเร่ติดเตาไฟที่ใช้พลังงานไอน้ำและก๊าซมักจะไปโผล่ตามงามรื่นเริง สวนสาธารณะ และงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา
ผู้ขายป๊อปคอร์นมักนำสินค้าของพวกเขาเข้าไปขายในโรงภาพยนตร์อยู่เสมอ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าตลอด กระทั่งปลายปี 1920 เจ้าของโรงภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกามีการสั่งห้ามการขายป๊อปคอร์นในโรงภาพยนตร์ เนื่องจากมองว่าไม่เหมาะสม และเป็นการรบกวนลูกค้าของพวกเขา (ขณะนั้นยังฉายเป็น “หนังเงียบ” อยู่)
ปี 1925 มีการประดิษฐ์เครื่องทำป๊อปคอร์นแบบไฟฟ้าขึ้น ผู้ขายป๊อปคอร์นมองเห็นถึงผลกำไรที่จะได้จากลูกค้านักชมภาพยนตร์ จึงเลือกที่จะเช่าพื้นที่ใกล้ ๆ กันตั้งเครื่องทำป๊อปคอร์นแล้วขายให้คนเหล่านี้
มีเรื่องเล่าว่า ที่รัฐโอคลาโฮมา (Oklahoma) นายธนาคารคนหนึ่งล้มละลายหลังธนาคารของเขาปิดตัวลง เขาซื้อเครื่องทำป๊อปคอร์นแล้วเริ่มธุรกิจร้านป๊อปคอร์นเล็ก ๆ ใกล้โรงภาพยนตร์ ไม่น่าเชื่อว่าในเวลาเพียง 2-3 ปี ธุรกิจของเขาสามารถทำเงินจนสามารถซื้อฟาร์มที่เคยสูญเสียไปในช่วงล้มละลายคืนได้ และซื้อได้ถึงสามจากหนึ่งฟาร์มที่เขาเคยมี
แม้ไม่มีข้อมูลว่านายธนาคารคนนั้นคือใคร และเขาประสบความสำเร็จขนาดนั้นจริงหรือไม่ แต่เรื่องราวนี้ช่วยให้เราเห็นภาพว่าจุดเริ่มต้นและความนิยม “ป๊อปคอร์นหน้าโรงหนัง” ว่าเริ่มขึ้นประมาณไหน
จากความนิยมและรายได้จากการค้าป๊อปคอร์น ในที่สุดเจ้าของโรงภาพยนตร์ก็ตัดสินใจติดตั้งเครื่องทำป๊อปคอร์นไว้ในโรงภาพยนตร์เสียเอง ซึ่งทำรายได้ให้พวกเขามากยิ่งขึ้นไปอีก บรรดาเจ้าของโรงภาพยนตร์ที่ปฏิเสธการขายนี้อย่างหนักแน่นกลับต้องประสบปัญหาการขาดทุนจนบางรายต้องเลิกกิจการไป เจ้าของโรงภาพยนตร์บางรายถึงกับเลือกที่จะลดราคาตั๋วชมภาพยนตร์แล้วเพิ่มเครื่องทำป๊อปคอร์นแทน เพราะกำไรมหาศาลจากการขายป๊อปคอร์นนั้นคุ้มค่ากว่ามาก
นอกจากนี้ ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ธุรกิจอาหารอื่น ๆ ทยอยล้มเลิกไป ทว่า ธุรกิจป๊อปคอร์นกลับยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขายป๊อปคอร์นหน้าโรงภาพยนตร์ อีกเหตุผลที่เป็นไปได้คือ นอกจากอาหารมื้อหลักแล้ว แทนที่จะซื้ออาหารทานเล่นราคาสูงอย่างอื่น ป๊อปคอร์นในราคาถุงละ 5-10 เซนต์ คือสิ่งเยียวยาจิตใจอย่างดีของผู้คนที่กำลังประสบภาวะยากลำบาก
ระหว่างสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II, 1939-1945) น้ำตาลจำนวนมากถูกส่งข้ามทะเลไปให้กองทัพในแนวหน้า ปริมาณน้ำตาลที่เหลือในประเทศจึงน้อยจนไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมลูกกวาด ภาวการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวอเมริกันที่ต้องการขนมขบเคี้ยวมีทางเลือกไม่มากนักก่อนเบนความสนใจไปยังป๊อปคอร์น เมื่อผู้คนบริโภคป๊อปคอร์นมากขึ้น ธุรกิจป๊อปคอร์นก็เติบโตขึ้นตามไปด้วย และเติบโตขึ้นถึงสามเท่าในช่วงสงคราม
ช่วงเวลาเดียวกันนั้น เพอร์ซี สเปนเซอร์ (Percy Spencer) แห่งบริษัท Raytheon Manufacturing Corporation ค้นพบวิธีผลิตแมกนีตรอน (Magnetron, ตัวเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นคลื่นไมโครเวฟ) พร้อมกันคราวละมาก ๆ ได้ นำไปสู่การประดิษฐ์ “เตาไมโครเวฟ” โดยมี “ป๊อปคอร์น” เป็นหนูทดลองในการปรับปรุงและพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวของเขาจนสำเร็จ
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ป๊อปคอร์นเป็นที่นิยมของทั้งชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในสหรัฐอเมริกาตลอดทศวรรษ 1950 เมื่อโทรทัศน์ได้รับความนิยมสูงขึ้นตามลำดับ จำนวนคนเข้าโรงภาพยนตร์ที่ลดลงแม้ส่งผลต่อยอดขายป๊อปคอร์นหน้าโรงภาพยนตร์อยู่บ้าง แต่ในเมื่อพวกเขาสามารถบริโภคป๊อปคอร์นได้ที่บ้านระหว่างชมโทรทัศน์ แถมมีไมโครเวฟที่ทำป๊อปคอร์นได้เองง่าย ๆ ด้วย ความนิยมป๊อปคอร์นจึงอยู่ในระดับสูงแทบไม่ต่างจากเดิมเลย และความนิยมการดังกล่าวก็แพร่กระจายไปทั่วโลกพร้อมวัฒนธรรมความเป็นอเมริกันในช่วงสงครามเย็น…
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
uspopcorn.in.th. เรื่องราวเกี่ยวกับป๊อปคอร์น
ข้อเท็จจริงของข้าวโพดป๊อปคอร์น. From https://www.uspopcorn.in.th/all-about-popcorn/
Stephanie Butler, History. A History of Popcorn. From https://www.history.com/news/a-history-of-popcorn
The Popcorn Board (Popcorn.org). History of Popcorn. From https://www.popcorn.org/All-About-Popcorn/History-of-Popcorn
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2565