ผู้เขียน | เด็กชายผักอีเลิด |
---|---|
เผยแพร่ |
ที่มาเสื้อ “ราชแพทเทิร์น” ก่อนเพี้ยนตามสำเนียงไทยเป็น “ราชปะแตน”
เสื้อ ราชปะแตน (อ่านว่า ราด-ชะ-ปะ-แตน) เสื้อนอกคอปิดมีกระดุม 5 เม็ดกลัดตลอดอย่างเครื่องแบบปกติขาวของข้าราชการ เครื่องแต่งกายนี้เกิดขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 5 ก่อนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปและใช้กันมานานถึงจนสมัยปัจจุบัน
ประวัติการเกิดขึ้นของเสื้อ ราชปะแตน ต้องย้อนไปเมื่อครั้ง รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอินเดีย ผู้ตามเสด็จจะแต่งเครื่องแบบเสื้อฝรั่ง คือ เสื้อสูทเปิดอก ผูกเน็กไทหรือผ้าผูกคอ แต่นุ่งโจงกระเบน ไม่นุ่งกางเกงแบบฝรั่ง ระหว่างประทับอยู่ที่เมืองกัลกัตตา มีช่างฝีมือดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดฉลองพระองค์ใส่เล่น โดยปิดตั้งแต่คอ มีดุมกลัดตลอด เพื่อไม่ต้องผูกเน็กไทหรือผ้าผูกคอ
เหตุการณ์นี้มีกล่าวไว้ในหนังสือประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ที่ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า…
“เสื้อชนิดนี้เกิดเมื่อมีการเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2114-2415 ที่อินเดียและพม่า เสด็จไปถึงเมืองกัลกัตตา ทรงปรารภว่า เสื้อเปิดอกอย่างฝรั่งต้องมีเสื้อเชิ้ตชั้นใน และต้องมีผ้าผูกคอ ถ้าหากใช้ยามมีงานก็พอทน แต่ถ้าใส่ลำลองเที่ยวเล่นก็คงทนร้อนไม่ไหว จึงตรัสสั่งให้ช่างตัดฉลองพระองค์คอปิดมีกระดุมตลอดอก ไม่ต้องสวมเสื้อชั้นในอีกเพราะปิดคอแล้ว
เมื่อช่างตัดมาถวายก็ทรงโปรดด้วยความบังเอิญ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นนายราชาณัตยนุหาร อาสาคิดชื่อถวาย จึงเอาคำมคธ คือ ราช บวกกับภาษาอังกฤษคือ แพทเทิร์น (Pattern) เป็นราชแพทเทิร์น หรือแปลว่า เสื้อแบบหลวง มาเพี้ยนเป็นราชปะแตนตามสำเนียงไทยในภายหลัง ก็เป็นที่นิยมใช้กันมานับตั้งแต่นั้น”
การแต่งชุด ราชปะแตน ตามแบบมาตรฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จะประกอบด้วย เสื้อสูทสีขาว คอตั้งสูง ใส่คู่ผ้าโจงสีกรมท่า หรือ “ผ้าม่วง” สวมถุงเท้ายาวถึงเข่าและรองเท้าหุ้มส้น
ราชปะแตนกลายเป็นเครื่องแบบของข้าราชการพลเรือนไทย บ้างใส่คู่กับกางเกงแพรซึ่งเป็นที่นิยมกันอยู่นาน กระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการประกาศ กฎหมายวัฒนธรรม 2484 ซึ่งห้ามนุ่งผ้าม่วงและกางเกงแพร เสื้อราชปะแตนจึงหายไปตั้งแต่นั้น จนมีการฟื้นฟูอีกครั้งในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2523-2531) แต่ปรับจากเสื้อราชปะแตนแบบเดิมให้ใช้ผ้าท้องถิ่น ชุดจึงมีสีสันกว่าแบบดั้งเดิมอย่างมาก
อ่านเพิ่มเติม :
- การแต่งกายในงานศพสมัยโบราณ
- “ซิ่น” แห่งนครเชียงใหม่ วัฒนธรรมการแต่งกายสตรีชาวยวน
- ย้อนดู “การแต่งกาย” สมัยจอมพล ป. รณรงค์ให้นุ่งผ้าถุง ชี้ทั่วโลกกำลังนิยม
อ้างอิง :
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2505). ความทรงจำ. กรุงเทพมหานคร: สมาคมสังคมศาสตร์
อเนก นาวิกมูล. (2525). การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร: ด่านสุทธาการพิมพ์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 สิงหาคม 2565