“หัวเรือใหญ่” แปลว่าอะไร

หัวเรือใหญ่ หัวเรือ เรือแจว เรือ
(ซ้าย) ศาลาภิรมย์ภักดี อยู่ที่วัดอินทาราม ตลาดพลู อันเป็นที่พักรอเรือโดยสาร ที่เรียกว่า “เรือแท็กซี่”, (ขวาบน) เรือจ้างแจวรับคนข้ามฟาก, (ขวาล่าง) เรือจ้างหลังคาเก๋ง

“หัวเรือใหญ่” แปลว่าอะไร

แต่ก่อนนี้รถ (ยนต์) ยังไม่มี, เมื่อรถยังไม่มีก็พลอยให้ถนนไม่มีไปด้วย ถนนสายแรกของกรุงเทพฯ (รวมพระนคร-ธนบุรี) เรานี้คือถนนเจริญกรุง เพิ่งสร้างเมื่อรัชกาลที่ 4 นี่เอง.

การคมนาคมของแต่ก่อนนี้ ใช้เรือเป็นหลัก จึงมีทางน้ำลำคลองมากมาย ในบรรดาคลองทั้งหลาย “คลองบางหลวง” นับเป็นเอก เพราะเป็นที่ตั้งกรุงธนบุรี ข้าราชการทั้งหลายจึงแออัดยัดเยียดกันเข้าไปอยู่ เมื่อย้ายกรุงรัตนโกสินทร์มาฝั่งตรงข้าม (แม่น้ำเจ้าพระยา) ผู้คนก็ขยายกันออกมาบ้าง แต่ก็ไม่มากมายจนรู้สึก.

เมื่อกรุงย้ายมา ข้าราชการก็ต้องย้ายตาม เดินทางมาทำงานของข้าราชการ ก็ยืดออกมาหน่อย พาหนะในการเดินทางก็ไม่พ้นเรือ. ที่มีเรือส่วนตัวก็ให้ข้าทาสบริวารแจว-พายมาส่ง ที่ไม่ร่ำรวยก็ใช้เรือโดยสารสาธารณะที่เรียกว่า เรือจ้าง (เป็นเรือสำปั้นขนาด 4 มือลิง).

การคมนาคมของแต่ก่อนนี้เป็นอย่างนี้ จนมาเมื่อปลายรัชกาลที่ 5 เกิดมีคนหัวใส มองเห็นผลประโยชน์ตรงนี้ คือพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ตั้งเป็นบริษัทเดินเรือโดยสารขึ้นมารับ-ส่งผู้คน.

เรือนี้เป็นเรือใหญ่ (ประมาณสองเท่าของเรือจ้างแจว), ใช้เครื่องยนต์แบบเผาหัว, หัวเรือแบนใหญ่ สำหรับผู้คนยืนเหยียบ ขึ้น-ลงได้สะดวก ปลอดภัย. เวลารับคนก็เอาหัวเสือกเข้ามา, มีคนที่แข็งแรงคอยคัดหัวเรือให้เข้าชิดท่า. ชาวบ้านเรียกเรือนี้ว่า “เรือแท็กซี่” (ที่ท่าช้างวังหลวงยังพอมีให้ดู).

เนื่องจาก หัวเรือใหญ่ และบรรทุกคนได้มากกว่าเรือแจวที่ใช้อยู่เดิม คนจึงหยิบเอากิจกรรมนี้ มาใช้กับคนที่ชอบรับภาระผู้อื่น โดยไม่เลือกเรื่อง.

ผลประโยชน์ที่ได้จากการนี้ท่านมิได้เอาเข้าพกเข้าห่อแต่ฝ่ายเดียว แต่เฉลี่ยคืนให้แก่สังคม คือ โรงเรียน “เศรษฐบุตรบำรุงที่วัดจันทาราม (วัดกลาง)” เศรษฐบุตรบำเพ็ญที่วัดราชคฤห์ (วัดมอญ) และศาลาท่าน้ำที่เรือจอดทุกวัด.

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “‘หัวเรือใหญ่’ แปลว่าอะไร” เขียนโดย ภาษิต จิตรภาษา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2551


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2565