ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความนี้คัดย่อจาก “ว่าด้วยเรือรบยนตร์สําหรับไปทางทะเล” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน “ตำนานเรือรบไทย” พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมกระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงขึ้น โดยต้นฉบับที่ใช้นี้เป็น ฉบับที่พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นาวาเอก พระประพิณพนยุทธิ์ (พิณ พลชาติ) ณ เมรุวัดน้อย คลองบางกอกน้อย ธนบุรี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2496 (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
ในเรื่องพงศาวดารกรุงกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปรากฏว่ากองทัพไทยได้เคยยกไปรบพุ่งทางทะเลแต่ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร [1] ว่า “จุลศักราช 817 ปีกุน (พ.ศ. 1998) แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมละกา” เพียงเท่านี้ แต่ควรสันนิษฐานได้ว่ากองทัพที่ยกไปนั้น คงมีกองทัพเรือยกลงไปทางทะเล เพราะเมืองมละกาอยู่ริมทะเลชายแหลมมลายูข้างด้านตะวันตก
ต่อมาปรากฏว่าใช้เรือรบทางทะเลในการศึกอีกครั้งหนึ่ง ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมยกทั้งกองทัพบกทัพเรือลงไปตีกรุงกัมพูชา เมื่อปีจอ พ.ศ. 2165 เรื่องนี้ปรากฏแต่ในจดหมายเหตุของชาวต่างประเทศ กล่าวว่ากองทัพเรือที่ยกลงไปหาได้รบไม่
ต่อมาอีกครั้งหนึ่ง ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาเมื่อปีชาล พ.ศ. 2229 พระยานครศรีธรรมราชเป็นกบฏ โปรดฯ ให้พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพบกคุมพล 10,000 พระยาราชวังสรรค์เป็นแม่ทัพเรือคุม “เรือรบ 100 ลำ เรือชเล 100 ลำ พลรบพลแล้ว 5,000 ยกไปทางทะเลทัพหนึ่ง ยกไประดมเอาเมืองนครศรีธรรมราช” ได้ดังประสงค์
ต่อมาปรากฏเรื่องยกกองทัพเรือรบทางทะเลอีกครั้งหนึ่ง ในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระเมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2254 เหตุด้วยเจ้าเขมรชิงราชสมบัติกันในกรุงกัมพูชา ฝ่ายหนึ่งชื่อนักแก้วฟ้าไปอ่อนน้อมต่อญวนขอกองทัพมาช่วยซึ่งเอากรุงกัมพูชาได้ อีกฝ่ายหนึ่งก่อนก็เสด็จหนีเข้ามากรุงศรีอยุธยา ทูลขอกองทัพไปช่วยตีเอากรุงกัมพูชาคืนมาขึ้นไทยดังแต่ก่อน
พระเจ้าท้ายสระจึงโปรดฯ ให้เกณฑ์กองทัพบกทัพเรือ กองทัพบกมีจำนวนพล 20,000 ให้นักเสด็จเป็นแม่ทัพ [2] ให้พระยาโกษาธิบดีจีน [3] เป็นแม่ทัพเรือ จำนวนพล 10,000 มี “เรือรบ 100 เศษ พร้อมด้วยพลแจวและเครื่องสรรพาวุธต่างๆ [4]” กองทัพเรือไทยยกไป ครั้งนี้ได้รบกับกองทัพเรือของญวนที่ปากน้ำเมืองผไทมาศ (เรียกกันเป็นสามัญเดี๋ยวนี้ว่า เมืองฮาเตียน) แต่กองทัพไทยแพ้กลับมา เพราะพระยาโกษาธิบดีจีนขลาด ต้องถูกปรับให้ใช้เรือและเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ของหลวงซึ่งเลยไปในครั้งนั้น การสงครามซึ่งไทยใช้เรือรบทางทะเลในสมัยเมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร 3 ครั้งดังแสดงมา
ถึงสมัยเมื่อกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ในเรื่องพงศาวดารก็ปรากฏว่า ทำสงครามด้วยใช้เรือรบทะเลหลายครั้ง เริ่มต้นแต่พระยาตาก (สิน) ลงไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ ณ เมืองจันทบุรี เมื่อรวบรวมกำลังได้มากแล้ว ต่อเรือรบใน 100 ลำเศษ ยกกองทัพเรือนั้นเข้ามาเมื่อเดือน 11 ปีกุน พ.ศ. 2310 มาตีได้เมืองธนบุรี และพระนครศรีอยุธยาคืนจากพม่าแล้วลงมายังกรุงธนเป็นราชธานี พยายามรวบรวมราชอาณาเขตสยามประเทศให้คืนคงตั้งแต่ก่อน
ในการที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทำสงครามรวบรวมราชอาณาเขตในสมัยนั้น ปรากฏว่าเสด็จโดยกระบวนทัพเรือทางทะเลตามกองทัพบกลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเดือน 8 ปีฉลู พ.ศ. 2312 ครั้งหนึ่ง ได้เมืองนครศรีธรรมราชตามพระราชประสงค์ ต่อมาถึงปีเถาะ พ.ศ. 2314 เสด็จโดยกระบวนทัพเรือทางทะเลตามทัพบกลงไปที่ได้กรุงกัมพูชาอีกครั้งหนึ่ง
ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีในรัชกาลที่ 1 เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2328 คราวศึกพม่ายกทัพใหญ่มาตีเมืองไทยทุกทางนั้น ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จโดยกองทัพเรือตามกองทัพบกลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราชได้คืนจากพม่า แล้วเลยลงไปตีได้เมืองปัตตานีด้วย
ต่อมาเมื่อปีมะแม พ.ศ. 2330 พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริจะตีเมืองพม่าตอบแทนบ้าง โปรดฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จลงไปตั้งต่อเรือรบที่เมืองกระบุรี แล้วส่วนพระองค์เสด็จยกกองทัพบก ให้กรมพระราชวังบวรฯ ยกกองทัพเรือขึ้นไปยังเมืองทวาย ซึ่งเอาเป็นที่มั่นในครั้งนั้น กองทัพเรือไทยได้รบกับกองทัพเรือพม่าหลายครั้ง
ในรัชกาลที่ 2 เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2362 ได้ข่าวว่าพม่าจะยกกองทัพมาเมืองไทยอีก พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯ ให้เตรียมการที่จะต่อสู้พม่า ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (คือพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) เสด็จยกกองทัพบกไปตั้งรักษาเมืองกาญจนบุรี ขัดตาทัพพม่าที่จะยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทางหนึ่ง โปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ คุมกองทัพบกไปตั้งที่เมืองเพชรบุรี ขัดตาทัพพม่าที่จะยกมาทางด้านสิงขรทัพ 1 ให้พระยากลาโหมราชเสนา คุมกองทัพลงไปรักษาเมืองถลางทัพ 1
และครั้งนั้นระแวงว่าเจ้าพระยาไทร (ปะแงรัน) จะเอาใจออกหากไปเข้ากับพม่า และจะเป็นกบฏขึ้นในเวลาเมื่อพม่ายกกองทัพมา จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยานครฯ (น้อย) เตรียมกองทัพบกไว้ที่เมืองนครฯ อีกทัพ 1 และให้ตั้งกองต่อเรือรบที่เมืองสตูล เป็นกองทัพเรือของเมืองนครศรีธรรมราชอีกทัพ 1 ครั้นศึกพม่าเลิกไปไม่ยกมา พวกกรมการเมืองไทรฟ้องกล่าวโทษเจ้าพระยาไทร ว่าเอาใจไปเผื่อแผ่แก่พม่าจริง จึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยานครฯ ยกกองทัพบกทัพเรือลงไปตีได้เมืองไทรบุรี ตั้งไทยเป็นเจ้าเมืองปกครองแต่นั้นมา การศึกคราวนี้นับว่าได้ใช้เรือรบทางทะเลอีกคราว 1
ถึงรัชกาลที่ 3 เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2374 พวกแขกเมืองไทรเป็นกบฏขึ้น แขกเมืองปัตตานึกพลอยเป็นกบฏขึ้นด้วย โปรดฯ ให้กองทัพกรุงเทพฯ เป็นกองทัพน้อยๆ ยกลงไป 4 กอง ช่วยเจ้าพระยานครฯ และพระยาสงขลาปราบปรามแขกมลายู แต่จะยกไปเป็นทัพบกหรือทัพเรือหาปรากฏไม่ ปรากฏแต่ว่าไปทำการไม่สำเร็จ ถึงปีมะโรง พ.ศ. 2375 พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง ที่สมุหพระกลาโหม (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์) เป็นแม่ทัพใหญ่ ยกกองทัพเรือลงไปบัญชาการ แต่เมื่อลงไปถึงนั้นเจ้าพระยานครฯ ปราบปรามกบฏทางเมืองไทรบุรีราบคาบแล้ว ได้ใช้เรือรบแต่ในการปราบปรามพวกกบฏที่เมืองปัตตานี
ต่อมาถึงปีมะเส็ง พ.ศ. 2376 ไทยเกิดรบกันขึ้นกับญวน พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพบก ให้เจ้าพระยาพระคลังที่สมุหพระกลาโหมเป็นแม่ทัพเรือ ยกลงไปตีเมืองไซ่ง่อน กองทัพเรือที่ยกลงไปครั้งนั้น ที่ได้เมืองโจดก แต่ทำการต่อไปหาสำเร็จไม่ ขัดเสบียงอาหารต้องถอยกลับมา
ครั้งนั้นญวนกับไทยเป็นข้าศึกกันต่อมาอีกหลายปี แต่รบกันในแดนเขมรเป็นพื้น ถึงปีฉลู พ.ศ. 2384 พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดําริจะกันเมืองเขมรให้ขาดจากอำนาจญวน โปรดฯ ให้จัดกองทัพเรือ ให้จมื่นไวยวรนาถ ช่วง (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) คุมกองหน้า ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) คุมกองหลวง ยกลงไปหมายจะทำลายคลองขุดทางเดินเรือของญวนในระวางทะเลใหญ่กับทะเลสาบ ตัดทางคมนาคมของข้าศึกเสีย แต่กองทัพเรือที่ยกลงไปครั้งนั้นทำการหาสำเร็จไม่ เรื่องการใช้เรือรบไทยสำหรับทางทะเลทำสงครามมีปรากฏในพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ดังพรรณนามา
รูปร่างเรือรบไทยแต่โบราณ ส่วนเรือรบซึ่งสำหรับใช้ทางแม่น้ำ ยังมีเรือแซ เรือเอกไชย เรือศีรษะสัตว์ และเรือกราบ ซึ่งสำหรับแห่กระบวนเสด็จกฐินปรากฏเป็นตัวอย่างอยู่ แต่ส่วนเรือรบซึ่งสำหรับใช้ทางทะเลนั้นสูญเสียหมดแล้วหามีตัวอย่างเหลืออยู่ไม่ มีแต่คำพรรณนาบอกลักษณะไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร [5] ตอนพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จลงไปตีเมืองนครศรีธรรมราช พรรณนาว่าด้วยเรือพระที่นั่ง ว่า “จึงเสด็จทรงเรือพระที่นั่งสุวรรณพิไชยนาวาท้ายรถ ยาว 11 วา ปากกว้าง 3 วาเศษ พลกรรเชียง 29 คน” ดังนี้แห่งนี้ ที่พรรณนาชัดเจนกว่านั้นมีในกลอนนิราสพระราชนิพนธ์กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ว่าด้วยเรือพระที่นั่งครุฑ ซึ่งพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯ ให้ต่อใหม่ยังมิทันได้ทรงเอง…
…สันนิษฐานว่าเรือรบไทยซึ่งสำหรับใช้ทางทะเลแต่โบราณ คงเป็นเรือขนาดยาว 10 วา ปากกว้างราว 3 วา มีทั้งเสาใบและกรรเชียงหรือแจวด้วย ปืนใหญ่เห็นจะวางรายแคมและหัวเรือ ข้างท้ายเรือเป็นเก๋งที่อยู่ของนายเรือ
เรือรบครั้งกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาเลยเมื่อครั้งเสียกรุงฯ ดังกล่าวมาแล้ว มาถึงครั้งกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ต้องต่อใหม่ เรือที่ต่อในชั้นที่กล่าวนี้ น่าจะต่อแต่พอใช้ได้ ไม่เป็นของมั่นคงถาวร เพราะฉะนั้นจึงปรากฏในจดหมายเหตุว่าเมื่อเกิดรบขึ้นกับญวนในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้เจ้าพระยานครฯ (น้อย) คิดแบบอย่างเรือรบขึ้นใหม่
เจ้าพระยานครฯ คิดต่อเป็นเรือกำปั่นแปลงขนาดยาว 11 วา กว้าง 9 ศอกคืบ หัวเป็นเรือปากปลา ท้ายเป็นกำปั่น มีหลักแจวรายตลอดลำทั้งสองแคม สำหรับแจวในแม่น้ำลำคลอง และมีเสาใบสำหรับแล่นไปในทะเลด้วย เมื่อคิดแบบอย่างตกลงแล้ว โปรดฯ ให้เจ้าพระยานครฯ ต่อเรือกำปั่นแปลงลำแรกที่บ้านหน้าวัดมหาธาตุ ต่อสำเร็จแล้วถวายทอดพระเนตร ก็โปรดพระราชทานชื่อว่า เรือมหาพิไชยฤกษ์ เอาเป็นตัวอย่างเกณฑ์ขอแรงข้าราชการผู้ใหญ่ และเจ้าภาษีนายอากรให้ช่วยต่อขึ้นอีก 30 ลำ พระราชทานเงินช่วยลำละ 2,400 บาท ครั้นต่อเสร็จแล้วพระราชทานชื่อเรือ…
เรือกำปั่นแปลงเหล่านี้โปรดฯ ให้ปลูกโรงเก็บรักษาไว้ที่คลองบางกอกใหญ่ การต่อเรือรบสำหรับใช้ทางทะเลอย่างเก่าสิ้นเรื่องเพียง ต่อเรือกำปั่นแปลงที่กล่าวมา ต่อแต่นี้ไปก็แปลงเป็นเรือกำปั่นอย่างฝรั่ง
เรื่องต่อเรือกำปั่นอย่างฝรั่งในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ปรากฎว่าชั้นเดิมมีพวกฝรั่งต่างประเทศ (ดูเหมือนจะเป็นโปรตุเกศ) เข้ามาขออนุญาตต่อเรือกำปั่นใบสำหรับการค้าขายที่ในกรุงเทพฯ นี้ มีสักคราวหนึ่งหรือสองคราว เพราะเห็นว่ามีไม้ดีบริบูรณ์ ซื้อได้ราคาถูก แต่เรือค้าขายของไทยยังใช้เรือสำเภาจีน มีแต่เรือกำปั่นของหลวงในรัชกาลที่ 2 สำหรับไปค้าขายทางเมืองสิงคโปร์และเมืองหมาเก๊า 2 ลำ ชื่อว่า เรือมาลาพระนครลำหนึ่ง เรือเหราข้ามสมุทรลำหนึ่ง จะเป็นเรือต่อในเมืองนี้ หรือซื้อมาแต่ต่างประเทศหาปรากฏไม่
เริ่มที่ไทยจะใช้เรือกำปั่นอย่างฝรั่งแทนเรือรบทางทะเลอย่างโบราณ และแทนเรือสำเภาจีนที่ค้าขาย เกิดขึ้นด้วยความคิดและความพยายามของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แต่เมื่อยังเป็นที่หลวงนายสิทธิ์อยู่ในรัชกาลที่ 3 มีคำเล่ากันมาว่า
แรกเมื่อมีพวกมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาตั้งสั่งสอนศาสนาและสอนวิชาแก่ชาวประเทศนี้ในรัชกาลที่ 3 นั้น มีผู้เห็นประโยชน์และได้พยายามเรียนความรู้ต่างๆ จากพวกมิชชันนารีอเมริกัน คือพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชอยู่ทรงศึกษาในทางภาษาฝรั่งพระองค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงศึกษาวิชาทหารอย่างฝรั่งพระองค์หนึ่ง กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเมื่อยังเป็นกรมหมื่นวงศาสนิททรงศึกษาวิชาแพทย์อย่างฝรั่งพระองค์หนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นองค์หนึ่ง นายโหมด อมาตยกุล ศึกษาวิชาแยกธาตุและวิชาเครื่องจักรคนหนึ่ง
ในสมัยเมื่อไทยเกิดเป็นข้าศึกกับญวนเมื่อรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเกรงว่าญวนจะยกกองทัพเรือขึ้นมาบุกรุกพระราชอาณาเขตบ้าง จึงโปรดฯ ให้สร้างป้อมปราการตามหัวเมืองชายทะเล และให้ต่อเรือรบกำปั่นแปลงขึ้นดังกล่าวมาแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เมื่อยังเป็นที่เจ้าพระยาพระคลัง ได้ว่าทั้งกลาโหมและกรมท่า ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ลงไปสร้างป้อมปราการที่เมืองจันทบุรี
ครั้งนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นที่หลวงนายสิทธิ์ ลงไปช่วยราชการบิดาที่เมืองจันทบุรี ได้ไปตั้งโรงต่อเรือกำปั่นใบตามแบบฝรั่งขึ้น 2 ลำ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์สั่งเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรก็โปรดฯ พระราชทานชื่อว่าเรือเทพโกสินทรลำหนึ่ง เรือระบิลบัวแก้วลำหนึ่ง แล้วมีรับส่งให้ต่อเพิ่มเติมขึ้นอีก 10 ลำ พระราชทานชื่อ ดังนี้ 1. เรือแกล้วกลางสมุทร 2. เรือพุทธอำนาจ 3. เรือราชฤทธิ์ 4. เรือวิทยาคม 5. เรืออุดมเดช 6. เรือเวทชะงัด 7. เรือวัฒนานาม 8. เรือสยามภพ 9. เรือจบสมุทร 10. เรือสุดสาคร
เรือกำปั่นใบซึ่งต่อในคราวนี้ ได้ใช้เป็นเรือรบในคราวเมื่อโปรดฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อเป็นที่จมื่นไวยวรนาถยกลงไปตีเมืองญวน
ถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เป็นแม่กองต่อเรือกำปั่นหลวงต่อมาจนตลอดรัชกาล ได้ต่อเรือรบกำปั่นใบอย่างเช่นต่อเมื่อรัชกาลที่ 3 ในอีก 4 ลำ…
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ คิดต่อเรือปืนขึ้นใหม่อย่างหนึ่ง 4 ลำ เรียกว่า “กันโบต” ตามแบบฝรั่ง (เข้าใจว่าเป็นรูปเรือบตขนาดใหญ่ตีกรรเชียง) วางปืนใหญ่ที่หัวเรือลำละกระบอก ซึ่งอยู่มาจนรัชกาลที่ 5 พระราชทานชื่อดังนี้ 1. เรือปราบหมู่ปรปักษ์ 2. เรือหาญหักศัตรู 3. เรือต่อสู้ไพรีรณ 4. เรือประจญปัจจนึก
เรือรบที่ต่อเป็นเรือใบในรัชกาลที่ 4 หมดเพียงนี้ ต่อนี้ไปเริ่มทำเป็นเรือกลไฟ
เรื่องต่อเรือกลไฟในประเทศนี้ มีปรากฏในจดหมายเหตุของพวกมิชชันนารีอเมริกันกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ได้หมอจันดเลเป็นผู้ช่วย ทรงพยายามทำหม้อและเครื่องจักรต่อเรือกลไฟขึ้นได้ลำหนึ่งเมื่อรัชกาลที่ 3 แต่ว่าเป็นเรือเล่นพอแล่นได้ จะใช้การหาได้ไม่
ถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์สั่งเครื่องจักรกลไฟมาแต่เมืองอังกฤษ มาต่อตัวเรือนในกรุงเทพฯ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2398 เป็นเรือจักรช้าง ยาว 75 ฟุต พระราชทานชื่อว่า เรือสยามอรสุมพล นับเป็นเรือกลไฟลำแรกซึ่งมีขึ้นในประเทศนี้ แต่นั้นก็เลิกต่อเรือใบ ต่อแต่เรือกลไฟสืบมา เป็นเรือรบ 6 ลำ คือ
1. เรือศรีอยุธยาเดช จักรท้าย ยาว 200 ฟุต กว้าง 27 ฟุต มีปืน 4 กระบอก ต่อเมื่อมมะเมีย พ.ศ. 2401 เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า Ayudian Power
2. เรือมหาพิไชยเทพ จักรท้าย ยาว 120 ฟุต กว้าง 18 ฟุต มีปืน 7 กระบอก ต่อเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2403 เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า Illustrious Conquerer
3. เรือราญรุกไพรี จักรท้าย ยาว 180 ฟุต กว้าง 29 ฟุต มีปืน 9 กระบอก ต่อเมื่อปีมะแม พ.ศ. 2402 เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า Enemy Chaser
4. เรือสงครามครรชิต จักรท้าย ยาว 100 ฟุต กว้าง 21 ฟุต มีปืน 2 กระบอก ต่อเมื่อปีระกา พ.ศ. 2404 เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า Warlike
5. เรือศักดิสิทธาวุธ ต่อคู่กับเรือสงครามครรชิต แต่กว้างกว่า 1 ฟุต เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า Success in Arms
6. เรือยงยศอโยชฌยา เรือรบวังหน้า จักรท้าย ยาว 140 ฟุต กว้าง 29 ฟุต มีปืน 6 กระบอก ต่อเมื่อปีกุน พ.ศ. 2406 ภาษาอังกฤษว่า Impregnable
ถึงตอนปลายรัชกาลที่ 4 เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2410 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ คิดต่อเรือรบขึ้นอีกลำหนึ่ง อย่างเรียกว่า เรือโคเวต ใหญ่กว่าบรรดาเรือรบที่ได้ต่อมาแล้ว พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อว่า เรือสยามูประสดมภ์ เรือรบต่อในรัชกาลที่ 4 หมดจํานวนเพียงเท่านี้
ถึงรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในระวางเวลาเมื่อพระชันษาพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่ครบ 20 ปี ตั้งแต่ปีมะโรง พ.ศ. 2411 จนปีระกา พ.ศ. 2416 แต่ท่านไม่ทิ้งหน้าที่เรื่องการต่อเรือกำปั่นด้วยยังมีใจรักอยู่ จึงย้ายที่ต่อเรือเข้าไปตั้งที่ริมคลองขนอนตรงหน้าวัดอนงคารามข้าม ให้ใกล้จวนที่ท่านอยู่ได้ลงมาดูการงานง่ายขึ้น เจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรของท่านซึ่งเอาใจใส่ในเรื่องการต่อเรือกำปั่นตามบิดา ได้เป็นผู้ช่วยและเป็นกัปตันเรือพระที่นั่งเมื่อเป็นจางวางมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4 มาถึงรัชกาลที่ 5 ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาฯ สมุหพระกลาโหม ก็ยังเป็นผู้ช่วยสมเด็จเจ้าพระยาฯ ในเรื่องการต่อเรือกำปั่นต่อมา
เรือกำปั่นรบซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาฯ จัดสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 คือ
1. เรือพิทยัมรณยุทธ์ เรือลำนี้เป็นเรือเหล็กต่อที่สก๊อตแลนด์ ประเทศอังกฤษ ได้ยินว่าเดิมรัฐบาลประเทศหนึ่งในอเมริกาใต้ว่าให้ต่อแล้วเกิดเกี่ยงแย่งไม่รับซื้อ ผู้ต่อจึงบอกขายมายังประเทศนี้เหตุด้วยเป็นเรือกินน้ำตื้น เข้าใจว่าได้ตกลงรับซื้อกันแต่ในรัชกาลที่ 4 แต่ได้แล่นออกมาถึงกรุงเทพฯ ต่อในรัชกาลที่ 5 เดิมชื่อเรือ Lotus พระราชทานนามกาเรือพิทยัมรณยุทธ์ ต่อชื่อเรือสยามูประสดัมภ์ เรือพิทยัมรณยุทธ์นี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นเรือพระที่นั่งเมื่อเสด็จไปประพาสเมืองสิงคโปร์ และบเตเวียครั้งแรก
2. เรือวรารัตนพิไชย เป็นเรือไม้ จักรข้าง 2 ปล่อง ได้ยินว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มต่อขึ้นในยุคเดียวกับต่อเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชทางวังหลวง แต่ทำเป็นเรือรบค้างอยู่หาทันแล้วไม่ ถึงรัชกาลที่ 5 สมเด็จเจ้าพระยาฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงต่อๆ มาจนสำเร็จ แต่ใช้เพียงเป็นเรือพระที่นั่งกรมพระราชวังบวรฯ เรือลำนี้เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ทิวงคต ตกมาเป็นเรือวังหลวง แก้ไขเป็นเรือพระที่นั่งรอง เรียกชื่อว่าเรืออรรคเรศรัตนาสน์ แทนเรืออรรคเรศรัตนาสน์ลำเก่า ซึ่งเอมเปอเรอนโปเลียนที่ 3 ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
3. เรือมรุธาวสิตสวัสดิ์ เป็นเรือรบไม้ จักรท้าย สมเด็จเจ้าพระยาฯ ต่อขึ้นในกรุงเทพฯ (เรือกลไฟที่ต่อมาแต่ก่อนใช้แต่เครื่องจักรชนิด โลเปรชเชอร์ เรือลำนี้แรกที่ได้เครื่องจักรอย่างคอมเปาน์ดมาต่อเรือไทย) สำเร็จเมื่อปีระกา พ.ศ. 2416 เป็นปีที่ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 จึงพระราชทานนามว่า “มรุธาวสิตสวัสดิ์” เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า Coronation เป็นเรือรบลำแรกซึ่งต่อในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นเรือพระที่นั่งออกจากกรุงเทพฯ ไปจนปากน้ำแม่กลอง เมื่อคราวเสด็จประพาสแม่น้ำน้อยเมืองกาญจนบุรีครั้งแรก
4. เรือหาญหักสูตร เป็นเรือรบอย่างเรียกกันว่าเรือป้อม เพราะทำรูปป้อมข้างหัวเรือ ตั้งปืนอามสตรองขนาดใหญ่บอกหนึ่ง และตั้งปืนขนาดย่อมข้างท้ายบอกหนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้แบบเรืออังกฤษมา ต่อขึ้นเป็นเรือไม้ เอาชื่อเรือกันโบตครั้งรัชกาลที่ 4 มาใช้
5. เรือต่อสู้ไพรีรณ ต่อเป็นคู่กับเรือหาญหักศัตรู และเอาชื่อเรือกันโบตครั้งรัชกาลที่ 4 มาใช้เช่นกัน
เรือรบที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ต่อหมดจำนวนเพียงที่กล่าวมา เพราะเรือรบซึ่งสร้างขึ้นแต่นี้ไปเปลี่ยนเป็นใช้เรือเหล็ก จึงสั่งมาแต่ต่างประเทศทั้งนั้น
6. เรือพระที่นั่งเวสาตรี เรือลำนี้ต่อในประเทศอังกฤษ เดิมสั่งให้ทําเป็นเรือย๊อต ครั้นมาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อ พ.ศ. 2421 จึงได้เอาปืนอามสตรองลงตั้งรายแคมใช้เป็นเรือรบด้วย
7. เรือมกุฎราชกุมาร เรือปืนต่อที่เมืองฮ่องกง ยาว 55.66 เมตร กว้าง 7.17 เมตร ตั้งปืนใหญ่ 6 กระบอก กำลังเร็ว 11 น๊อต ระวางน้ำหนัก 609.6 ตัน เริ่มต่อสำหรับรัฐบาลสเปญ แต่เกิดเกี่ยงแย่งไม่ตกลงกันด้วยเหตุอันหนึ่ง ประจวบเวลาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จไปประเทศญี่ปุ่นกลับมาถึงเมืองฮ่องกงทรงทราบจึงจัดการซื้อมา มาถึงเมื่อ พ.ศ. 2433
8. เรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลำที่ 1) โปรดฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อยังเป็นกรมหมื่น กับพระยาชลยุทธโยธินทร (เดอริชลิว) ต่อที่ประเทศอังกฤษเมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2434 เป็นเรือชนิดครูเซอร ยาว 89.63 เมตร กว้าง 12.19 เมตร มีปืน 12 กระบอก ความเร็ว 12 น๊อต น้ำหนัก 2,600 ตัน ทำห้องที่ประทับเป็นเรือพระที่นั่งได้ด้วย แล่นออกมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2435 ใช้เป็นเรือพระที่นั่งตลอดมาจนถึงรักาลที่ 6 เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยุโรปคราวแรกก็ทรงเรือพระที่นั่งมหาจักรีไปจนยุโรป
9. เรือพาลีรั้งทวีป เรือปืนต่อที่เมืองฮ่องกงเมื่อปีชวด พ.ศ. 2443 ยาว 52.46 เมตร กว้าง 7.02 เมตร มีปืน 6 กระบอก ความเร็ว 10 น๊อต น้ำหนัก 508 ตัน
10. เรือสุคครีพครองเมือง เรือปืนยาว 52.46 เมตร กว้าง 7.02 เมตร มีปืน 6 กระบอก น้ำหนัก 508 ตัน ความเร็ว 10 น๊อต ต่อที่เมืองฮ่องกงเป็นคู่กับเรือพาลีรั้งทวีป เมื่อปีฉลู พ.ศ. 2444 ชื่อเรือ 2 ลำนี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานตามชื่อเรือรบสำหรับกระบวนเสด็จแต่โบราณ ด้วยทรงพระราชดำริว่าชื่อเพราะ ควรจะเอามาใช้สำหรับเรือรบอย่างใหม่ ดีกว่าคิดชื่อใหม่
11. เรือมรุธาวสิตสวัสดิ์ (ลำที่ 2) ต่อเที่เมืองฮ่องกงเมื่อปีจอ พ.ศ. 2441 ยาว 47.89 เมตร กว้าง 7.02 เมตร มีปืน 5 กระบอก น้ำหนัก 447.04 ตัน ความเร็ว 9.5 น๊อต ใช้ชื่อเรือมรุธาวสิตสวัสดิ์แทนลำเก่าซึ่งผุชำรุด
12. เรือราญรุกไพรี เดิมเป็นเรือสำหรับการค้าขาย เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ รับซื้อมาแต่ต่างประเทศเอามาแก้ไขเป็นเรือย๊อต พระราชทานนามว่า เรืออุบลบุรทิศ ภายหลังตกมาเป็นของหลวง ใช้เป็นเรือพระที่นั่งร้องอยู่จนเรือมหาจักรีเข้ามาถึง ต่อมาจึงแก้ไขเป็นเรือรบ
ถึงตอนปลายรัชกาลที่ 5 เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงบัญชาการทหารเรือ และกรมหลวงชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ทรงคิดกะการสร้างเรือรบเปลี่ยนแบบแผนให้ทันกับความต้องการตามสมัย เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงได้สั่งให้สร้างเรืออย่าง เดรสตรอยเออร์ เรียกในภาษาไทยว่า เรือพิฆาต 2 ลำ กับเรือตอร์ปิโด 4 ลำ ให้ทำที่เมืองญี่ปุ่น เรือที่สร้างชุดนี้ได้มาถึงกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ 5 บ้าง มาถึงต่อในรัชกาลที่ 6 บ้าง
13. เรือเสือทยานชล เรือพิฆาตรักษาฝั่ง ต่อในประเทศญี่ปุ่น ยาว 71.37 เมตร กว้าง 6.56 เมตร มีปืน 6 กระบอก มีท่อตอร์ปิโด 2 ท่อ ความเร็ว 24 น๊อต น้ำหนัก 381 ตัน มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปีระกา พ.ศ. 2451 ชื่อที่พระราชทานเอาชื่อเรือพิฆาตของโบราณใช้
14. 15. 16. เรือตอร์ปิโด ชื่อว่าที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ต่อที่ประเทศญี่ปุ่นยาว 41.05 เมตร กว้าง 4.94 เมตร มีปืน 2 กระบอก มีท่อตอร์ปิโด 2 ท่อ ความเร็ว 20 น๊อต น้ำหนัก 101.6 ตัน เหมือนกันทั้ง 3 ลำ เข้ามาถึงเมื่อ พ.ศ. 2451 พร้อมกับเรือเสือทยานชล
เรือรบซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 6 คือ
1. เรือเสือคำรณสินธุ์ เรือพิฆาตรักษาฝั่ง ซึ่งสั่งให้ต่อในประเทษญี่ปุ่นเมื่อรัชกาลที่ 5 เข้ามาถึงเมื่อปีกุล พ.ศ. 2454 ขนาดและกำลังอาวุธเท่ากับเรือเสือทยานชล แต่ความมากกว่า 3 น๊อต
2. เรือตอร์ปิโดที่ 4 เหมือนกับเรือตอร์ปิโด 3 ลำที่กล่าวมาแล้ว
3. เรือพระร่วง เป็นเรืออย่างพิฆาตเดินสมุทร สร้างปีมะโรง พ.ศ. 2459 ยาว 83.57 เมตร กว้าง 8.34 เมตร มีปืน 4 กระบอก มีท่อตอร์ปิโด 4 ท่อ ระวางน้ำหนัก 1,046.48 ตัน แรงเครื่องจักรเร็ว 32 น๊อต เรือลำนี้สมาคมราชนาวีสยาม มีพระเจ้าอภัยราชา (หม่อมราชวงศ์ลบ สุทัศน์ ณ อยุธยา) เป็นนายก จัดการเรี่ยไรทุนทูลเกล้าฯ ถวายช่วยราชการแผ่นดิน สำหรับสร้างเรือรบ จึงโปรดฯ ให้นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเจตร์อุดมศักดิ์ เสด็จไปหาเรือ ซื้อได้ในประเทศอังกฤษ กรมหลวงชุมพรฯ กับนายทหารเรือไทยบังคับแล่นเรือมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2463 เป็นครั้งแรกที่ไทย ได้แล่นเรือมาแต่ยุโรป พระราชทานชื่อว่าเรือ พระร่วง
4. เรือหาญหักศัตรู เป็นเรือยนตร์อย่างเรือยามฝั่ง ยาว 16.78 เมตร กว้าง 3.36 เมตร แรงเครื่องจักรเร็ว 41 น๊อต น้ำหนัก 9.14 ตัน มีท่อตอร์ปิโด 2 ท่อ ต่อในประเทศอังกฤษ ได้มาถึงกรุงเทพฯ พ.ศ. 2466
5. เรือเจ้าพระยา ซื้อจากประเทศอังกฤษ ใน พ.ศ. 2466 ขนาด 231X28.8 ระวางบรรทุก 750 คน แล่นได้ 16 น๊อต ใช้เป็นเรือฝึกหัด
เรือซึ่งขึ้นระวางเป็นเรือรบในรัชกาลที่ 7 คือ
1. เรือรัตนโกสินทร์ สร้างในประเทศอังกฤษ ลงน้ำ พ.ศ. 2468 ระว่างทุก 1,000 ตัน ขนาด 160X37X10 ¾ ฟุต ปืน 6 นิ้ว 2 กระบอก ปืน 3 นิ้ว 4 กระบอก เครื่องจักรคำนวณเสมอ 850 แรงม้า แล่นได้ 12 น๊อต
2. เรือสุโขทัย สร้างในประเทศอังกฤษ ลงน้ำ พ.ศ. 2472 ระวางบรรทุก 1,000 ตัน ขนาด 173X37X15 ฟุต ปืน 6 นิ้ว 2 กระบอก ปืนยิงเร็วขนาด 3 นิ้ว 4 กระบอก ซึ่งแหงนยิงสูงได้ แล่นได้ 12 น๊อต
เรื่องตำนานเรือบรบสำหรับใช้ทางทะเล สิ้นเนื้อความเพียงเท่านี้
อ่านเพิ่มเติม :
- ตามรอยการฝึกทหารแบบฝรั่ง เรือรบแบบฝรั่ง ในสมัยรัตนโกสินทร์
-
“เรือหลวงพระร่วง” เรือรบลำแรกของไทย ร.6 พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบทุน
เชิงอรรถ :
[1] ฉบับหลวงประเสริฐในประชุมพงศาวดารภาค 8 หน้า 119
[2] เห็นจะมีข้าราชการไทยเป็นแม่ทัพ แต่ไม่ปรากฏชื่อในหนังสือพระราชพงศาวดาร
[3] ที่เรียกว่าพระยาโกษาธิบดีจีน จะหมายความว่า ชื่อจีนหรือว่าเป็นเชื้อจีน ก็อาจจะเป็นได้ทั้ง 2 อย่าง
[4] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2 หน้า 200
[5] พระราชพงศาวดารฉบับหัตถเลขา เล่ม 3 หน้า 38
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ธันวาคม 2565