ตามรอยการฝึกทหารแบบฝรั่ง เรือรบแบบฝรั่ง ในสมัยรัตนโกสินทร์

เรือยงยศอโยธยา ต่อเมื่อ พ.ศ. 2406 ขึ้นระวางเป็นเรือรบของวังหน้า (ภาพจาก “ประชุมภาพประวัติศาสตร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” กรมศิลปากร, พ.ศ. 2548)

บทความนี้คัดย่อจาก พระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมกระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “ความทรงจำ” (สนพ.มติชน, พ.ศ. 2546) ตอนหนึ่งในพระนิพนธ์ดังกล่าว เป็นเรื่องความเป็นการฝึกหัดทหารไทยตามแบบฝรั่ง และเรืบรบแแบบฝรั่ง ในสมัยแรกๆ ของรัตนโกสินทร์ ไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)


 

ในปีมะเส็ง จึงปรากฏว่าจัดบำรุงทหารบกทหารเรือก่อนอย่างอื่น ด้วยมีความจำเป็นจะต้องเตรียมกำลังสำหรับปราบปรามพวกจีนตั้วเฮีย (หรืออั้งยี) ทำกำเริบขึ้นดังกล่าวมาในตอนก่อน ก็ในหนังสือที่แต่งนี้จะมีที่กล่าวถึงทหารต่อไปข้างหน้าอีกหลายแห่ง

ฉันได้เคยตรวจค้นเรื่องตำนานทหารไทยอยู่บ้าง เห็นว่าน่าจะเล่าต้นเรื่องของทหารไทยที่หัดตามแบบฝรั่ง หรือที่เรียกกันว่า “ทหารอย่างยุโรป” แทรกลงตรงนี้เสียก่อน เมื่ออ่านถึงเรื่องทหารต่อไปข้างหน้าจะได้เข้าใจง่ายขึ้น

ทหารไทยที่หัดตามแบบฝรั่ง ปรากฏในเรื่องพงศาวดารว่า แรกมีขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดฯ ให้นายทหารฝรั่งคนหนึ่งชื่อว่า เชวาเลีย เดอ ฟอร์แบง เป็นครูผู้ฝึกหัด แต่พอสิ้นรัชกาลนั้นแล้วก็เลิกมิได้มีต่อมาอีก

จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 2 เมื่อรัฐบาลอังกฤษในอินเดียแต่งให้ ครอเฟิต เป็นทูตเข้ามา มีทหารแขกอินเดียที่อังกฤษจัดขึ้นเรียกว่า “ซีปอย” (Sepoy) ประจำเรือรบมาด้วย เป็นเหตุให้ไทยได้เห็นทหารหัดอย่างฝรั่งเป็นครั้งแรกในกรุงเทพฯ นี้

เมื่อทูตอังกฤษกลับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯ ให้จัดทหารอย่างฝรั่งขึ้นพวก 1 ไทยเรียกกันว่า “ทหารซีป่าย” (มีรูปภาพปรากฏอยู่ในหนังสือฝรั่งแต่งเรื่องหนึ่ง) แต่จะมีจำนวนคนเท่าใด ให้มีหน้าที่อย่างไร และใครเป็นครูฝึกหัด สืบไม่ได้ความ ฉันสันนิษฐานตามเค้าเงื่อนเห็นว่า จะเป็นพวกกรมรักษาพระองค์และมีหน้าที่รักษาพระราชฐาน

ชื่อทหารซีป่ายกับแบบเครื่องแต่งตัวจึงยังมีสืบต่อมาถึงรัชกาลที่ 3 เมื่อแต่งป้อมปากน้ำเตรียมต่อสู้ข้าศึก ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรคสรรค์ ทรงหัดพวกญวนเข้ารีตที่อพยพเข้ามาสามิภักดิ์เป็นทหารปืนใหญ่สำหรับประจำป้อม และมีตำราปืนใหญ่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้แปลจากภาษาอังกฤษปรากฏอยู่ แต่จะฝึกหัดจัดระเบียบการบังคับบัญชาทหารปืนใหญ่พวกนั้นอย่างไร สืบไม่ได้ความ

ถึงรัชกาลที่ 4 ในปีกุนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์นั้น มีนายร้อยเอกทหารอังกฤษคน 1 ชื่อ อิมเป (Impey) ไม่สมัครอยู่ในอินเดีย เข้ามาขอรับราชการในประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้รับไว้เป็นครู แล้วดำรัสสั่งให้เกณฑ์ไพร่หลวงส่งไปฝึกหัดจัดเป็นทหารราบขึ้นกรม 1 เรียกว่า “ทหารหน้า”

ต่อมาไม่ช้ามีนายร้อยเอกทหารอังกฤษตามมาจากอินเดียอีกคน 1 ชื่อ น็อกส์ (Knox ซึ่งภายหลังได้เป็นกงสุลเยเนอราลอังกฤษ) มาขอสมัครรับราชการเหมือนอย่างนายร้อยเอก อิมเป ในเวลานั้นครูทหารวังหลวงมีแล้ว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับนายร้อยเอก น็อกส์ ไว้เป็นครูหัดคนพวกที่ได้ทรงบังคับบัญชามาแต่ในรัชกาลที่ 3 จัดเป็นทหารขึ้นทางวังหน้า ทหารไทยจึงได้ฝึกหัดจัดการบังคับบัญชาตามแบบทหารฝรั่งแต่นั้นมา ใช้แบบอังกฤษหมดทุกอย่าง แม้จนคำบอกทหารและชื่อตำแหน่งนายทหารก็ใช้ภาษาอังกฤษ ต่อมาเมื่อมีแตรวงขึ้น ก็เอาเพลงอังกฤษ God save the Queen มาใช้เป็นเพลงคำนับรับเสด็จ และเครื่องแต่งตัวก็เลียนแบบทหารอังกฤษ

ครั้นถึงปลายรัชกาลที่ 4 ครูอังกฤษไม่มีตัว ได้ทหารฝรั่งเศสคน 1 ชื่อ ลามาช (Lamache) มาเป็นครู ได้เป็นที่หลวงอุปเทศทวยหาญ มาแก้วิธีฝึกหัดและคำบอกทหารเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ยังไม่ทันเปลี่ยนไปได้เท่าใดก็สิ้นรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ก็ให้เลิกครูฝรั่งเศส และให้นายทหารไทยที่เป็นศิษย์ของนายร้อยเอก อิมเป เป็นครู กลับฝึกหัดอย่างอังกฤษต่อมา ในครูพวกนี้ฉันทันรู้จักตัวได้เป็นขุนนาง 4 คน ชื่อครูเชิงเลิง เป็นที่ขุนเจนกระบวรหัด ได้เป็นครูทหารมรีนคน 1 ชื่อครูกรอบ เป็นที่ขุนจัดกระบวรพล ได้เป็นครูทหารรักษาพระองค์ คน 1 ชื่อครูเล็ก เป็นที่ขุนรัดรณยุทธ ได้เป็นครูทหารมหาดเล็ก (และเป็นครูของตัวฉันด้วย) คน 1 ชื่อครูวงศ์ เป็นที่ขุนรุดรณชัย คงเป็นครูทหารหน้า คน 1

เมื่อรัชกาลที่ 4 เห็นจะมีจำนวนทหารเข้าเวรอยู่ประจำการราวสัก 200 คน ทรงตั้งข้าหลวงเดิมซึ่งไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้บังคับการ ในชั้นเดิมจะเป็นใครฉันไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เมื่อยังเป็นที่พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ เป็นผู้บังคับการอยู่ก่อน แล้วโปรดฯ ให้คุณตาของฉันเป็นผู้บังคับการต่อมาจนสิ้นรัชกาล

ถึงรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้พระยาพิชัยสงคราม (อ่ำ อมรานนท์) ปลัดกรมข้าหลวงเดิม เมื่อยังเป็นที่พระอินทรเทพแล้วเลื่อนเป็นพระยามหามนตรีเป็นผู้บังคับการทหารหน้า ดูเหมือนพวกรักษาพระองค์ (ที่สืบเนื่องมาแต่ทหารซีป่ายแต่ก่อน) ก็จะจัดให้เป็นทหารอย่างยุโรปเหมือนทหารหน้าในตอนต้นรัชกาลที่ 5 ที่กล่าวนี้

ส่วนทหารเรือนั้น ปรากฏในหนังสือเก่าว่าถือกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า ไทยเป็นเชื้อชาวดอน อุปนิสัยไม่ชอบทางทะเล คนเดินเรือทะเลของหลวงแม้ในสมัยนั้น จึงใช้แต่คนเชื้อสายพวกแขกจาม และแขกมลายูเป็นพื้น ถ้าเป็นเรือค้ามักใช้จีน ในเวลาทำศึกสงครามก็เป็นแต่รับทหารไทยไปในเรือนั้น เลยเป็นประเพณีเช่นนั้นมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้

เมื่อก่อนรัชกาลที่ 4 ยังมีเรือทะเลหลวง ทั้งสำหรับลาดตระเวนและค้าขาย เดิมเรือค้าขายใช้เรือสำเภาจีน เรือลาดตระเวนใช้กำปั่น (อย่างเดียวกับที่พวกแขกมลายูใช้) มาถึงรัชกาลที่ 3 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นที่หลวงสิทธินายเวรมหาดเล็กอุตส่าห์เรียนวิชาต่อเรือกำปั่นต่อพวกฝรั่งด้วยใจรัก จนสามารถต่อเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่งถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่นั้น เรือรบของหลวงสำหรับลาดตระเวนก็เปลี่ยนเป็นเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่ง และพระเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ได้อำนวยการต่อเรือกำปั่นของหลวงสืบมา

พอถึงรัชกาลที่ 4 ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นกำปั่นไฟ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้เป็นที่สมุหพระกลาโหม ก็ได้อำนวยการต่อเรือกำปั่นและบังคับบัญชาเรือไฟของหลวง จัดขึ้นเป็นกรม 1 เรียกว่า “กรมอรสุมพล” เป็นต้นของกรมทหารเรือไทย เรือกำปั่นไฟชั้นแรกต่อขึ้นเป็นเรือจักรข้างสำหรับบรรทุกคนเป็นพื้น และคงใช้พวกจามเป็นพนักงานเดินเรือต่อมา แต่พวกต้นกลเป็นไทยทั้งนั้น มาจนตอนปลายรัชกาลที่ 4 จึงเริ่มต่อเรือจักรท้ายรายปืนใหญ่เป็นเรือรบอย่างฝรั่ง แรกต่อเป็นเรือปืน (Gunboat) 2 ลำ ชื่อ สงครามครรชิต ลำ 1 ศักดิ์สิทธาวุธ ลำ 1 แล้วต่อเรือขนาดใหญ่ขึ้นเป็นอย่างคอเวต (Corvette) อีกลำ 1 สำเร็จเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2410 ชื่อว่า เรือสยามูประสดัมภ์

เมื่อมีเรือรบอย่างฝรั่งขึ้นจึงเกณฑ์พวกมอญไพร่หลวงหัดเป็นทหารมรีน สำหรับเรือรบฝรั่งตั้งขึ้นอีกกรม 1 แต่กัปตันและต้นหนเรือรบยังต้องหาฝรั่งต่างประเทศมาใช้อยู่อีกนาน ทางฝ่ายวังหน้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงต่อเรือไฟและหัดทหารเรือวังหน้าบ้างเหมือนกัน มีเรือรบวังหน้าต่อ 2 ลำ ชื่อ อาสาวดีรส ลำ 1 ชื่อ ยงยศอโยธยา ลำ 1  เรื่องต้นของทหารอย่างยุโรปเป็นดังแสดงมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2565