ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|---|
เผยแพร่ |
“โนรา” เป็นคำกร่อนจาก “มโนห์รา” ชื่อนางเอกเรื่องพระสุธน นางมโนห์รา เป็นละครชาวบ้านของรัฐอยุธยา แล้วแพร่หลายผ่านเมืองเพชรบุรีลงคาบสมุทรถึงภาคใต้ ในสมัยอยุธยา แม้ทุกวันนี้ยังมีความทรงจำว่าขุนศรีศรัทธานำโนราชาตรีจากกรุงศรีอยุธยาไปหัดให้ชาวเมืองนครศรีธรรมราช
โนรา ภาคใต้มาจากละครชาวบ้านภาคกลาง (สมัยอยุธยา) ที่มีต้นตอจากการละเล่นเข้าทรงแก้บนในพิธีกรรมทางศาสนาผี ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเชื่อเรื่องขวัญหลายพันปีมาแล้ว (ขวัญไม่ใช่วิญญาณทางศาสนาพราหมณ์-พุทธที่รับอินเดีย)
ละครชาวบ้านที่แพร่หลายขยายลงไปจากภาคกลางเป็นโนราในภาคใต้ แต่สมัยแรกถูกเรียก “ชาตรี” มีความเป็นมาอย่างสรุปย่อๆ ดังนี้
1. “ชาตรี” เป็นชื่อเรียกละครชาวบ้านรับจ้างเล่นแก้บนสมัยอยุธยาต่อเนื่องถึง
สมัยธนบุรี, สมัยรัตนโกสินทร์ (ตอนต้นๆ) ส่วนคำว่า “ชาตรี” กลายจากคำยืมภาษาสันสกฤตว่า “ยาตรี” หมายถึงนักแสวงบุญด้วยการ “ยาตรา” หรือการเดินทางย่างก้าวของเท้าทั้งคู่ ซึ่งผู้รับจ้างเล่นละครแก้บนต้องสร้างความน่าเลื่อมใสด้วยการเดินตระเวนแสวงบุญเสมือน “ยาตรี” หรือ “ชาตรี” หางานจากผู้ว่าจ้างไปตามชุมชนหมู่บ้าน
2. “มโนห์ราชาตรี” เป็นชื่อคล้องจองของชาวบ้านเรียกทั่วไป เนื่องจาก “ชาตรี” หรือละครแก้บนมักเล่นเรื่อง มโนห์รา ตามความนิยมดูของชาวบ้าน
3. “โนราชาตรี” เป็นคำกร่อนจากชื่อ “มโนห์ราชาตรี”
4. “โนรา” เป็นคำตัดให้สั้นจากชื่อ “โนราชาตรี”
พระสุธน นางมโนห์รา เป็นภาคปลาย (หรือภาคจบ) ของเรื่องพระรถ นางเมรี (หรือนางสิบสอง) นิทานบรรพชนลาวซึ่งแพร่หลายจากลุ่มน้ำโขงลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา
ละครชาวบ้านสมัยอยุธยา เป็นละคร “ชายจริง หญิงแท้” จึงไม่เคยพบหลักฐานว่าสมัยอยุธยาเรียกละครชาวบ้านว่า“ละครนอก”เล่นด้วยผู้ชายล้วน (ตามที่มีในตำรานาฎศิลป์ไทย)
ท่ารำ “โนรา” เป็นละครชาวบ้านที่มีพัฒนาการหลายพันปีมาแล้วจากการละเล่นขับลำคำคล้องจองและสวมเล็บปลอมเต้นฟ้อนด้วยลีลายืด-ยุบ เนิบช้า (ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์) จึงไม่เกี่ยวข้องหรือรับนาฏศิลป์อินเดียใต้ “กถากลิ” และ “กรณะ 108” ซึ่งเร่าร้อนรวดเร็วรุนแรง แต่ครูโนราดั้งเดิมบางคนอาจเลียนแบบบางท่า (เหมือนกายกรรม) ของ “กรณะ 108” เช่น ท่านม้วนกลม , ท่าแมงป่อง, ท่าล้อเกวียน เป็นต้น ซึ่งเป็นความสามารถและความรู้เฉพาะตัว แต่เป็น “ท่าตาย” ไม่ใช่ท่าเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จึงไม่ยกเป็นลักษณะท่ารำสำคัญของโนรา และใช้ชี้ขาดไม่ได้ว่าท่ารำทั้งหมดของโนรามาจากนาฏศิลป์อินเดียใต้ (ตามที่พบในคำอธิบายของทางการด้านวัฒนธรรม)
เล็บปลอม เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์หลายพันปีมาแล้ว พบเหลือตกค้างในพิธีกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ตามหมู่เกาะ แล้วยังเคยพบในบางกลุ่มชนบริเวณลุ่มน้ำโขง การสวมเล็บปลอมเป็นสิ่งแสดงพลังอำนาจเหนือธรรมชาติสามารถปกป้องคุ้มครองและกำจัดผีร้ายจากชุมชน ขณะเดียวกันก็บันดาลให้ชุมชนอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร
เทริด เป็นเครื่องสวมหัวเมื่อเล่นละครในราชสํานักอยุธยา มีต้นเค้าแรกสุดเป็นกะบังหน้าในประติมากรรมแบบเขมรตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1400 ส่วนราชสํานักอยุธยา เครื่องสวมหัวละครคือศิราภรณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีหลักฐานวิวัฒนาการในประติมากรรมทางศาสนาซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ ปัจจุบันมักเรียก “เทริดโนรา” เพราะทางภาคใต้ยังสวมศีรษะเมื่อเล่นโนรา (แต่ความจริงเป็นเทริดละครยุคแรกเริ่มในอยุธยา ส่วนโนราแท้จริงแล้วคือละครของอยุธยาที่แพร่หลายลงไปทางใต้ นับเป็นละครอยุธยาตกค้างเก่าแก่ที่สุดแต่เรียกโนราตามชื่อตัวละครเอกที่นิยมเล่นเรื่องพระสุธน นางมโนห์รา) ความสําคัญของเทริดยังเห็นได้จากต้องมีเทริดตั้งบูชาบนแท่นเชิญศีรษะศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในพิธีไหว้ครูและครอบโขนละคร (ในภาคกลาง)
เพลงดนตรี มีต้นตอจากวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ประกอบด้วยเครื่องมือหลัก 3 อย่าง ได้แก่ ฆ้อง, กลอง, ปี่ (เครื่องมืออื่นๆ เพิ่มเข้ามาสมัยหลัง) โดยเฉพาะ “ปี่โนรา” ในภาคกลางเรียก “ปี่นอก” แพร่หลายเก่าสุดบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและโตนเลสาบกัมพูชา (เชื่อกันว่ามีต้นตอจากแคนที่มีเต้าแคน เพราะปี่นอกมีส่วนที่ป่องตรงกลางเหมือนเต้าแคน)
“โนราชาตรี” ผมเคยเขียนนานแล้วอยู่ในหนังสือ “ร้องรำทำเพลง” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532) หลังจากนั้นพบข้อมูลเพิ่มหลายเรื่องและความคิดปรับเปลี่ยนหลายอย่างอยู่ในหนังสือ “โขน, ละคร, ลิเก, หมอลำ, เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน?” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2563) จึงเรียบเรียงอย่างกระทัดรัดมาแบ่งปันไว้นี้
อ่านเพิ่มเติม :
- อังกะลุง เครื่องดนตรีอินโดนีเซีย มรดกโลกทางภูมิปัญญาโดย UNESCO
- รำวง อาวุธของจอมพล ป. ที่ใช้รับมือญี่ปุ่น
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ธันวาคม 2564