ผู้เขียน | เด็กชายผักอีเลิด |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 (ค.ศ. 2010) อังกะลุง (Angklung) หรือ “อุงคลุง” เครื่องดนตรีที่มีต้นกำเนิดใน อินโดนีเซีย ถูกรับรองและประกาศจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ในฐานะ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ”
สำหรับชาวอินโดนีเซีย การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของอังกะลุงด้วยสัญชาติ อินโดนีเซีย ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญหลังการฟ้องร้องเพื่อถือสิทธิความเป็นเจ้าของสมบัติวัฒนธรรมแห่งชาตินี้ระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซีย ทั้งเป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงนัยทางการเมืองเรื่องมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโกที่บางครั้งถูกบิดเบือนเพื่อเป้าหมายทางการเมืองและการเรียกร้องผลประโยชน์ระดับชาติ
อังกะลุงถูกประดิษฐ์ขึ้นโดย “ชาวซุนดา” ชนพื้นเมืองแห่งเกาะชวา อินโดนีเซีย โดยเริ่มนิยมและแพร่หลายจากบริเวณชวาตะวันตก เครื่องดนตรีนี้ออกเสียงอย่างชวาว่า “อุง-คะ-ลุง” มีความเก่าแก่ย้อนไปถึงเมื่อ 400 ปีก่อน เกิดจากความเชื่อในสมัยก่อนว่าเสียงของไม้ไผ่สามารถสร้างความพอพระทัยแก่ “เทวีศรี” เทพีแห่งข้าวและความอุดมสมบูรณ์ของชาวซุนดาได้ [อ่านเพิ่มเติม : “เทวีศรี” กับตำนาน “กำเนิดข้าว”]
ในแต่ละปี ช่างฝีมือของหมู่บ้านจะใช้ไผ่ดำ (Black bamboo, ไผ่ดำชวาหรือไผ่ดำอินโดนีเซีย ลำต้นสีเขียวเข้มอมม่วงและกลายเป็นสีดำเมื่อแก่) มาสร้างเป็นอังกะลุง เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวชาวซุนดาจะประกอบพิธีกรรมและเล่นอังกะลุงเพื่อขอให้เทพเจ้าอำนวยพรให้พืชผลทางการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์
อย่างที่ทราบกันว่าอังกะลุงเป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้ไผ่ โดยทั่วไปอังกะลุงจะประกอบด้วยไม้ไผ่ 2 ลำ ประกอบอยู่บนฐาน จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภท “เครื่องตี” ช่างฝีมือจะเหลาไม้ไผ่เป็นกระบอกขนาดต่าง ๆ ซึ่งขนาดที่แตกต่างกันเป็นตัวกำหนดระดับเสียงของอังกะลุง จากนั้นจะเล่นโดยการ “เขย่า” ให้กระบอกกระทบกับรางไม้ หรือเคาะฐานไม้ไผ่ให้เกิดเป็นโทนเสียงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นเสียงระดับเดียวหรือโน๊ตตัวเดียว
อังกะลุงจึงเป็นเครื่องดนตรีที่แตกต่างจากเครื่องดนตรีประเภทอื่นตรงที่ไม่สามารถบรรเลงให้เกิดเพลงได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องเล่นร่วมกันเป็นวงหรือเล่นประกอบกับเครื่องดนตรีอื่นโดยการเขย่าอังกะลุงแต่ละตัวตามจังหวะของตัวโน๊ตนั้น ด้วยหลักการนี้ ผู้เล่นจะต้องร่วมมือกันสร้างท่วงทำนองจากอังกะลุงตามระดับเสียงที่แตกต่างกันนั่นเอง
สำหรับข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของยูเนสโก [www.unesco.org] กล่าวถึงอังกะลุงในฐานะ “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” โดยอธิบายเป็นเนื้อหา ดังนี้
“อังกะลุงเป็นเครื่องดนตรีของชาวอินโดนีเซีย ประกอบด้วยกระบอกไม้ไผ่ 2-4 กระบอกห้อยอยู่ในโครงไม้ไผ่ มัดด้วยเชือกหวาย กระบอกจะถูกเหลาและตัดอย่างระมัดระวังโดยช่างฝีมือระดับสูงเพื่อสร้างโน้ตบางระดับเมื่อเขย่าหรือเคาะโครงไม้ไผ่ อังกะลุงแต่ละเครื่องจะสร้างโน้ตหรือคอร์ดเดียว
ดังนั้น ผู้เล่นหลายคนจะต้องร่วมมือกันเพื่อเล่นท่วงทำนอง อังกะลุงแบบดั้งเดิมใช้บันไดเสียงเพนทาโทนิก [Pentatonic scale หรือ บันไดเสียงที่มี 5 โน๊ต – ผู้เขียน] แต่ใน ค.ศ. 1938 Daeng Soetigna นักดนตรีชาวอินโดนีเซียประยุกต์อังกะลุงให้เล่นด้วยบันไดเสียงไดอะโทนิก [Diatonic scale, บันไดเสียงที่ประกอบด้วยโน๊ต 7 ตัว 8 เสียง เรียงกันเป็น 8 ตัว – ผู้เขียน] เรียกว่า ‘Angklung Padaeng’
อังกะลุงมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปะ และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในอินโดนีเซีย โดยเล่นในพิธีการต่าง ๆ เช่น การปลูกข้าว การเก็บเกี่ยว และการขลิบ ไผ่ดำที่ใช้ทำอังกะลุงจะเก็บเกี่ยวในช่วง 2 สัปดาห์ของปีเมื่อจักจั่นร้อง และจะตัดอย่างน้อยสามส่วนเหนือพื้นดินเพื่อให้แน่ใจว่ารากยังคงขยายพันธุ์ต่อไป
การศึกษาอังกะลุงได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นและในสถาบันการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ การเล่นอังกะลุงเป็นการละเล่นที่ส่งเสริมความร่วมมือและความเคารพซึ่งกันและกันของผู้เล่น ควบคู่กับวินัย ความรับผิดชอบ สมาธิ การเสริมสร้างจินตนาการ และความจำ…”
แม้จะมีความเก่าแก่หลายร้อยปีและถูกอิทธิพลจากเครื่องดนตรีตะวันตกสมัยใหม่กลบทับ แต่อังกะลุงยังคงเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมของชาวอินโดนีเซีย บ่อยครั้งที่รัฐบาลอินโดนีเซียในฐานะเจ้าภาพจะจัดการแสดงอังกะลุงเพื่อต้อนรอบแขกผู้ทรงเกียรติที่ทำเนียบประธานาธิบดี นอกจากนี้ ด้วยเสียงอันไพเราะแต่เรียบง่าย ทำให้เสียงของอังกะลุงกลายเป็นเสียงดนตรีที่มักได้ยินได้จากห้องเรียนทั่วไปในอินโดนีเซียและอีกหลายประเทศทั่วโลก (รวมถึงไทย) เพราะเป็นสื่อที่เหมาะสมสำหรับครูในการสอนหรือแนะนำนักเรียนให้รู้จักเครื่องดนตรีและวัฒนธรรมของชาวอินโดนีเซีย
ถึงตรงนี้ท่านที่เข้าใจว่าอังกะลุงเป็น “เครื่องดนตรีไทย” หรือเป็นเครื่องดนตรีที่ถือกำเนิดในไทยคงกระจ่างใจว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น แล้วเครื่องดนตรีอินโดนีเซีย นี้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยใด ?
คำตอบถือ พ.ศ. 2451 หรือเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยผู้นำเข้าคือ หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งขณะนั้นมียศ “จางวางศร” ผู้ตามเสด็จ “สมเด็จวังบูรพาฯ” ไปยังเกาะชวาและเดินทางกลับพร้อม “อุงคลุง” ชุดหนึ่ง ก่อนจะดัดแปลงให้เหมาะสำหรับการบรรเลงในวงเครื่องดนตรีไทยและเพี้ยนจากคำชวาเดิมเป็น “อังกะลุง” ที่คนไทยรู้จักกันในทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
Google Doodle (November 16, 2022) : Celebrating the Angklung
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) : งานศิลปหัตถกรรมประเภท อังกะลุง. (ออนไลน์)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) : UNESCO ประกาศให้อังกะลุงอินโดนีเซียเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ. (ออนไลน์)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2565