ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2544 |
---|---|
ผู้เขียน | อัษฎาวุธ สาคริก, อานันท์ นาคคง |
เผยแพร่ |
พ.ศ. 2451 หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ขณะยังเป็นจางวางศร ต้องตามเสด็จจอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช หรือ “สมเด็จวังบูรพาฯ” ไปชวา ซึ่งในขณะนั้นภรรยา (โชติ ศิลปบรรเลง) กำลังท้องแก่ใกล้คลอด ในการเดินทางครั้งนั้นจางวางศรได้หอบหิ้ว “อุงคลุง” เครื่องดนตรีไม้ไผ่ชุดหนึ่งกลับมาด้วยหวังว่าลูกที่เกิดใหม่จะเป็นลูกชาย จะได้ให้ลูกเขย่าเล่น เพื่อปลูกฝังนิสัยรักดนตรีตั้งแต่ยังเด็ก
เรื่องนี้ อัษฎาวุธ สาคริก และ อานันท์ นาคคง เล่าไว้อย่างละเอียดใน “อังกะลุง หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ประคองมาจากเกาะชวา สู่กรุงสยาม เมื่อ 93 ปีมาแล้ว” (ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2544) แต่ขอสรุปย่อมาเพียงบางส่วนดังนี้
เมื่อ ร.ศ. 127 หรือ พ.ศ. 2451 สมเด็จวังบูรพาฯ ทรงมีพระราชภารกิจที่จะต้องเดินทางไปยังเกาะชวา ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้จางวางศรเป็นผู้หนึ่งที่ได้ร่วมคณะตามเสด็จฯ ไปด้วย ทั้งในฐานะนักดนตรีคนโปรด และมหาดเล็กห้องพระบรรทม
ด้วยความที่เป็นนักดนตรีที่ ช่างสังเกต สนใจศึกษาสิ่งต่างๆ รอบตัว จากประสบการณ์ที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้ร่วมบรรเลงดนตรีกับนัก ดนตรีพื้นเมืองมาพอสมควร จางวางศรจึงได้จดจําสําเนียงเพลงชวาได้ และได้แต่งเพลงไทยที่มีสำเนียงชวาไว้หลายเพลง โดยตั้งชื่อ เพลงตามชื่อสถานที่ หรือเมืองที่เดินทางไป เช่น บูเซ็นซอร์ค-ชื่อพระราชวังที่รับแขกเมือง, กระหยัดรายา-ชื่อเมืองที่ไป ฯลฯ
นอกจากสำเนียงเพลงชวาที่ได้จดจำมาแล้ว ยังมีเครื่องดนตรีรูปร่างประลาด ที่ทำจากไม้ไผ่สองปล้อง ขนาดต่างกัน แขวอยู่กับราวเล็กๆ คั่นด้วยเสาค้ำวางรียงขนานกัน 3 เสา ส่วนบนกระบอกปาดโค้งลงมาครึ่งลำ ส่วนล่างของปล้องไม้ไผ่เหลาเป็นลิ่ม 2 ขา ผ่าเป็นร่องตรงกลาง พันข้อส่วนต่อกันด้วยหวายให้แน่น ในการบรรเลงนักดนตรีจะใช้มือซ้ายถือราวด้านบนและมือขวา “ไกว” ฐานกระบอกให้กระทบกับลิ่มไม้ ทำให้เกิดเสียงไพเราะล่องลอยไปไกล เครื่องดนตรีชนิดนี้คือ “อุงคลุง”
ที่จริงเครื่องดนตรีไม้ไผ่ชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่ม Shaken bamboo idiophone มีแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณกลุ่มเกาะต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซีย ทั้งเกาะชวา บาหลี มาดูรา สุมาตรา โดยเฉพาะเกาะชวานั้นมีเล่นกันอยู่หลายพื้นที่ และที่ นิยมมากที่สุดคือเขตซุนดาหรือชวาตะวันตก
ซึ่งมีปรากฏหลักฐานภาพวาดในหนังสือโบราณของชนเผ่าซุนดานี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2247 แล้ว โดยมีคําบรรยายว่าเป็นเครื่องดนตรีพิเศษที่ใช้เล่นในงานพิธีสําคัญ เช่น ต้อนรับอาคันตุกะจากต่างแดน ในภายหลังจึงเกิดการประสมวงเป็นอุงคลุงหลายขนาด เทียบระดับ เสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของดนตรีอินโดนีเซีย คือ 5 เสียง เรียก ว่า “สเลนโดร” และ 7 เสียง เรียกว่า “เปลอค” พร้อมทั้งมีลีลาการไกวด้วยกระสวนจังหวะและบทเพลงเฉพาะที่พัฒนาแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น
อุงคลุงชวารุ่นหลังๆ มีบทบาทหน้าที่ในการใช้เป็นเสียง บรรยากาศขบวนแห่แหน เสียงเพลงประกอบการเข้าทรง เสียง เพลงในพิธีกรรมเกี่ยวกับวงจรชีวิต เกิด-ตาย เพลงประกอบงานบุญประเพณีฮัจญ์ (Hajat feast) และที่สําคัญมากในถิ่นซุนดาอีกอย่างก็คือ งานบุญฉลองแม่โพสพ (Nyi Pohaci Sanghyang Sri หรือเรียกย่อ ๆ ว่า Dewi Sri)
ซึ่งเชื่อกันว่าอุงคลุง นั้นเป็นเสียงสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นเสียงที่เดิมเต็ม ความเข้มแข็งของชีวิตในวิถีเกษตร มีพลังในการเชื่อมโยงโลกของข้าว กับไม้ไผ่ ซึ่งถือเป็นพืชตระกูลเดียวกัน และเป็นเสียงดนตรีที่สร้างความสมานฉันท์ระหว่างคน กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติได้ดีที่สุด
ปัจจุบันแม้ความเชื่อที่ กล่าวมานี้จะถูกทดแทนด้วยวิทยาการสมัยใหม่ และการครอบงําของวัฒนธรรมตะวันตก แต่ อุงคลุงก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในฐานะเครื่องมือ ทางการศึกษาดนตรีขั้นเริ่มต้นของเยาวชนชาวอินโดนีเซีย โดยมี การประยุกต์ทางด้านการใช้ระบบเสียง 12 ครึ่งเสียงอย่างฝรั่ง และมีการเรียบเรียงแนวทางสําหรับการบรรเลงเพลงสมัยใหม่ ด้วยทฤษฎีดนตรีตะวันตกอย่างมากมาย
ในการตามเสด็จสมเด็จวังบูรพาฯ ครั้งนั้น นางโชติ ภรรยาของจางวางศร ตั้งครรภ์ลูกคนที่ 4 ใกล้คลอด จางวางศรมี ความหวังที่จะได้ลูกชายเพื่อเป็นนักระนาดสืบวิชาความรู้ ได้ตั้งใจที่จะหาซื้อเครื่องดนตรีชวาที่มีเสียงไพเราะ นํากลับไปทําขวัญบุตรชายคนใหม่ จึงได้ขอให้นักดนตรีชวาช่วยจัดการซื้อให้
หากแต่ในความตั้งใจแรกเป็นไปมากกว่าที่คิด เพราะเมื่อจะกลับบ้านเจ้าเกาะชวาทราบว่าสมเด็จวังบูรพาฯ ทรงโปรด จึงได้จัด “อุงคลุง” มาถวายอีก 1 ชุด ดังนั้น ที่วังบูรพาฯ จึงมีอังกะลุง 2 ชุด
ครั้นเมื่อกลับถึงบ้าน การณ์ก็มิได้เป็นไปตามที่หวังอีกเช่นกัน เพราะจางวางศรได้ลูกสาว คือ อาจารย์บรรเลง สาคริก (นางมหาเทพกษัตรสมุห )
ด้วยความที่เป็นคนซึ่งไม่อยู่นิ่งเฉยและเปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ จางวางศรได้นําเครื่องดนตรีอุงคลุงนี้มาดัดแปลง ปรับปรุงวิธีบรรเลงใหม่แตกต่างจากของชวา ให้มีขนาดและลักษณะเหมาะสมสําหรับนักดนตรีคนเดียวสามารถบรรเลงได้ คนละ 2 เสียง โดยใช้ทั้งสองมือเขย่าด้านหน้าทั้ง 2 มือ
อีกทั้งยังปรุงวิธีการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีชนิดนี้จาก “การไกว” แบบชวา มาเป็น “การเขย่า” ด้วยกลวิธีการใช้กล้ามเนื้อข้อมือที่เอื้อต่อการสร้างเสียงสั่นสะเทือนได้ละเอียดและยาวนานขึ้นกว่าเดิม จากภูมิปัญญาของคนระนาด ซึ่งต่อมาได้คิดวิธีการบรรเลงแบบ “ทางกรอ” จนเป็นที่นิยมกันมาถึงทุกวันนี้ รวมทั้งได้แต่งเพลงโหมโรงสําเนียงไทยขึ้นเพื่อใช้บรรเลงเป็นเพลงใหมโรงสําเนียงไทย ขึ้นเพื่อใช้เป็นเพลงบรรเลงสำหรับวงดนตรีอังกะลุงอีกเพลงหนึ่ง ชื่อว่าเพลงโหมโรงปฐมดุสิต และได้นำออกมาแสดงเป้นครั้งแรกที่หน้าพระที่นั่ง ในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดราชาธิวาส เมื่อ พ.ศ. 2452
ตั้งแต่นั้นชื่อวงดนตรี “อังคลุง” ที่เรียกเพี้ยนมาจากคำชวาเดิม ก็กลายเป็นชื่อที่คนไทนรู้จักมักคุ้น ที่เรียกเพี้ยนมาจำคำชวาเดิม ก็กลายเป็นดนตรีที่มีคนถามกันอยู่ตลอดมาในชื่อ “อังกะลุง”
ผู้ที่มีส่วนสําคัญคนหนึ่งในการทําให้อังกะลุงแพร่หลายไป สู่สาธารณชนในยุคเริ่มแรก คือ ครูเอื้อน ดิษฐเชย สํานักดนตรี ซอยบ้านเขมร ย่านสวนมะลิ (ปัจจุบันคือซอยสวนหลวง เขตวรจักร) ซึ่งนอกจากจะเป็นสํานักดนตรีที่มีนักปีพาทย์รุ่นเล็กรุ่น ใหญ่มากมายแล้ว ยังมีชื่อเสียงทางแตรวงบรรเลงประกอบหนังเงียบ มีนักดนตรีในสังกัดประมาณครึ่งร้อย ซึ่งนับว่าเป็นวงที่ใหญ่ที่สุดวงหนึ่งในสมัยนั้น
ครูเอื้อนได้เข้ามากราบ ขอเป็นศิษย์เรียนระนาดเอก ต่อเพลงกับท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ หากแต่ท่านเห็นว่า ครูเอื้อนมีอายุมากแล้ว เกรงว่าจะเรียนระนาดเอกไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะต้องใช้เวลาฝึกนานมาก จึงแนะนําให้ไปเอาดีทางวงอังกะลุงแทน เพราะมีลูกวงมากพอที่จะเล่นกันได้ และท่านได้มอบอังกะลุงของท่านที่นํามาจากชวาทั้งหมดแก่ครูเอื้อน ดิษฐเชย เพื่อนําไปใช้ฝึก และบรรเลงรับงานจนเป็นที่แพร่หลายทั่วไป
ต่อมามีผู้สร้างอังกะลุง ทดลองปรับเปลี่ยนรูปร่างใหม่ เพื่อให้บรรเลงได้สะดวกและเสียงรัวละเอียดยิ่งขึ้น โดยให้มีขนาดเล็กลงและมีจํานวนกระบอกไม้ไผ่เพิ่มขึ้น มีช่างเหลาอังกะลุงในยุคแรกๆ ชื่อ นายชุ่ม เป็นผู้เหลา โดยต้องนําไม้ไผ่จากจังหวัดกาญจนบุรีล่องเรือ เข้ามายังสวนย่านบางแวก ติดกับวัดตะโน ฝั่งธนบุรี และนําไม้ไผ่ที่ได้มาแช่น้ำไว้ตามท้องร่องสวน ใช้เวลาเป็นปี เพื่อป้องกันมอดกินไม้ หลังจากนั้นก็ต้องนํามา “คาไฟ” คือการนําไม้มาอบด้วยความร้อน เพื่อให้ไม้แห้งสนิท แล้วจึงนํามาเหลา เทียบเสียงตามที่ต้องการ
อังกะลุงแบบใหม่นั้นได้เพิ่มจํานวนกระบอกจาก 2 เป็น 3 มีการไล่เรียงลําดับ ใหญ่ กลาง เล็ก ที่ได้สัดส่วนกัน เรียก ชุดจํานวนกระบอกว่า “ตับ” มีการดัดแปลงวิธีการแบ่งระยะเสียงในช่วงคู่แปด จากเดิมที่มี 5 เสียง ให้เป็น 7 เสียง เทียบ แบ่งขั้นระยะเสียงเท่าอย่างระนาดไทย มีวิธีการจับและเขย่าที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง สามารถบังคับเสียงให้กรอยาวต่อ เนื่องได้อย่างน่าฟัง ตลอดจนคิดค้นเรื่องการนั่งเล่นกันเป็นวง มีเครื่องประดับเป็นหางนกยูง ผูกธง ผูกโบสวยงาม
นักดนตรีกลุ่มแรกที่เขย่าอังกะลุงอย่างจริงจังเป็นนักดนตรีจากบ้านครูเอื้อน ดิษฐเชย นักดนตรีลูกวงท่านหนึ่งที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คือ ครูไมตรี พุ่มเสนาะ (อายุ 84 ปี พ.ศ. 2544) เล่าให้ฟังว่า อังกะลุงรุ่นแรกๆ ที่เขย่านั้นใหญ่และหนักมาก ตอนหลังจึงมีการปรับปรุงให้ขนาดเล็กลง
วงอังกะลุงมาตรฐานวงหนึ่งจะใช้นักดนตรี 7 คน แต่ละคนถืออังกะลุง 2 ตับ คนละเสียงกัน เวลา บรรเลงจะนั่งล้อมเป็นวงกลม บรรเลงด้วยความจํา ไม่ต้อง ใช้โน้ต เพราะนักดนตรีมีพื้นฐานเดิมจากอาชีพนักดนตรีไทย จําเพลงได้ขึ้นใจอยู่แล้ว และที่เป็นที่นิยมคือจะต้องมีโหม่ง 3 ใบ และกลองคู่บรรเลงประกอบด้วย
นับว่าครูเอื้อนเป็นผู้มีบทบาทส่งเสริมอังกะลุงอย่างจริงจังท่านหนึ่ง
วงอังกะลุงของครูเอื้อนจะรับงานตามโรงภาพยนตร์ และงานกระจายเสียงสดทางวิทยุแล้ว ก็ยังตระเวนไป เล่นตามงานเอกชนทั่วไปด้วย และเนื่องจากเป็นวงดนตรีเกิดใหม่ เสียงดนตรีใหม่ รสชาติการบรรเลงอย่างใหม่ จึงมีผู้นิยมยกย่องกันมาก ครูไมตรีเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีคนหาวงครูเอื้อนไป บรรเลงที่ศาลาวัดนก บางแวก (อยู่ในซอยพณิชยการธนบุรี ปัจจุบัน) มีคนแห่ไปดูกันแน่นขนัดล้นศาลาวัด ถึงกับศาลาพัง
เมื่อพิจารณาตัวอังกะลุงเองก็มีจุดเด่นที่สําคัญคือ “เล่นง่าย” เขย่าเมื่อไรก็เพราะเมื่อนั้น และยิ่งเล่นกันเป็นทีม เล่นด้วยความรู้สึกว่าเป็นพวกพ้อง เป็นเพื่อนกัน ก็ยิ่งสนุก เสียงอังกะลุงเป็นตัวแทนของเสียงแห่งมิตรไมตรี ความพร้อมเพรียง ความสามัคคี สร้างจิตสํานึกความรับผิดชอบในหน้าที่
เช่นนี้หรือเปล่าสมัยหนึ่ง อังกะลุงก็เดินทางเข้าไปในโรงเรียน ในห้องเรียน ให้มือน้อยๆ ได้สัมผัส ได้เขย่า บ่อยครั้งที่มักจะได้ยินว่า เครื่องดนตรีไทยชิ้นเดียวที่ เด็กนักเรียนเคยเล่นหรือเล่นเป็น คือ “อังกะลุง”