ผู้เขียน | พีรวิชญ์ เอี่ยมปรีดา |
---|---|
เผยแพร่ |
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระยะเวลาที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจในแทบจะทุกวงการ อย่างไรก็ดี ธุรกิจบางประเภทมีโอกาสเติบโตขึ้นมาได้ อีกทั้งการที่ผู้คนได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ใช้เวลากับตัวเองมากขึ้น ทำให้ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานอดิเรกหรือกิจกรรมส่วนตัวเหล่านี้ บางกลุ่มเริ่มคึกคักมากเป็นพิเศษ ซึ่งในที่นี้รวมไปถึงแวดวงผลิตภัณฑ์ประเภทของเล่น ของสะสม อย่างการ์ดกีฬาหรือการ์ดเกม ที่ก่อนหน้านี้มีเพียงคนในวงการ “การ์ดสะสม” เท่านั้นที่รู้ถึงมูลค่าที่แท้จริงของพวกมัน
ก่อนหน้านี้วงการการ์ดสะสม ไม่ว่าจะเป็นประเภทการ์ดเกม หรือประเภทการ์ดกีฬามักมีคนรับรู้จำกัดวงอยู่แต่ในกลุ่มภายในเท่านั้น แต่เมื่อมาถึงช่วงทศวรรษ 1980s ถึง 2000s ตอนกลาง การ์ดเหล่านี้เริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น
แต่สำหรับช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งถือว่ากลายเป็นจุดเปลี่ยนให้การ์ดเหล่านี้กลับมาได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมานั่นก็คือ การตามล่าและกวาดซื้อการ์ดพวกนี้มาไว้ในครอบครองของเหล่าคนดังที่พร้อมจะทุ่มไม่อั้นให้กับของสะสมในวัยเด็กของพวกเขา ตัวอย่างเช่น Logan Paul ผู้เป็น YouTuber ชื่อดังสัญชาติอเมริกันที่ยอมจ่ายเงินไปสูงถึง 2,000,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อแลกกับกล่องการ์ดโปเกม่อนสภาพเก่าเก็บที่ยังไม่ถูกเปิดจำนวน 6 กล่อง โดยข้างในกล่องบรรจุการ์ดโปเกม่อนที่ถูกผลิตออกมาเป็นรุ่นแรกจำนวนกว่า 400 ใบ
และไม่ใช่แค่ Logan Paul เท่านั้น เพราะแม้แต่แร็ปเปอร์พ่อลูกอ่อนอย่าง Logic ก็ยังยอมควักเงินไปไม่น้อยเพื่อการ์ดโปเกม่อนที่ผลิตเป็นรุ่นแรกของโลก รวมถึง Shawn Mendes นักร้องหนุ่มมาแรงหรือกระทั่งสายดีเจอย่าง Steve Aoki ก็ต่างช่วยกันจุดกระแสและปลุกชีวิตให้กับการ์ดสะสมของพวกเขาอีกครั้ง และทำให้บรรดานักสะสมหรือนักลงทุนทั่วโลพากันอดใจไม่ไหวกับความเย้ายวนของวงการการ์ดสะสมในปัจจุบัน
ข้อมูลจากรายงานของ BBC เปิดเผยว่าในปี ค.ศ. 2020 เว็บไซต์ eBay สามารถทำกำไรจากการขายการ์ดเกมโปเกม่อน (Pokémon) เพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 574% ไม่ใช่แค่ประเภทการ์ดเกมเท่านั้นที่สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นขนาดนี้ ฝั่งการ์ดประเภทกีฬาอย่างการ์ดฟุตบอลก็มีอัตราการเติบโตสูงถึง 1,586% ในปีนั้นเช่นกัน
แต่การจะทำความเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้คงไม่สามารถทำได้ หากเราไม่ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของการ์ดพวกนี้ และเหตุผลอะไรทำให้มันมีราคาสูงถึงขนาดนี้ได้
เว็บไซต์ Guinness World Records ได้บันทึกไว้ว่า การ์ดเก่าแก่ที่สุดของโลกที่มีลักษณะเป็นชุดสินค้าเพื่อการสะสมแลกเปลี่ยนกันคือ การ์ดกีฬาเบสบอล ซึ่งถูกผลิตโดยบริษัท The Allegheny Card Co. ในปี ค.ศ. 1904 โดยประกอบไปด้วยนักเบสบอลกว่า 104 คน จากทีมต่างๆ ในลีกเบสบอลประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีชื่อนักเบสบอล ชื่อต้นสังกัด และรูปภาพใบหน้าพวกเขาอยู่ที่ด้านหน้าของการ์ด
เดิมทีแล้วความนิยมในการ์ดเบสบอลนี้ยังมีไม่ค่อยมากนักในช่วงแรกเริ่ม แต่หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ความนิยมของการ์ดเบสบอลจึงค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จนถึงยุคเฟื่องฟูของการ์ดเบสบอลคือช่วงปี ค.ศ. 1981-1986 ซึ่งเป็นปีที่วงการการ์ดเบสบอลเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ปี ค.ศ. 1981 เป็นปีแรกที่มีการแข่งขันกันในแง่ธุรกิจของผู้ผลิตการ์ดเบสบอล จากที่ก่อนหน้านั้นมีผู้ผลิตที่ครองตลาดอยู่แค่เพียงเจ้าเดียว รวมถึงในแง่ของผู้บริโภคเองก็เริ่มมีความสนใจในการ์ดเบสบอลเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากแฟนเบสบอลหน้าใหม่และหน้าเก่า ยุคนี้ถือเป็นยุคแรกที่เริ่มมีการเล่นการ์ดเบสบอลกันอย่างจริงจัง
อนึ่ง เริ่มมีการตีราคาการ์ดแต่ละใบ ซื้อมา-ขายไป รวมถึงการเก็งกำไรจากการ์ดหายาก ช่วงยุคนี้จึงเป็นยุคที่คึกคักไปด้วยผู้ผลิตและนักสะสมที่ได้สร้างมาตรฐานการผลิตของการ์ดเหล่านี้ขึ้นในเวลาต่อมา
ทีนี้ข้ามไปดูประเภทการ์ดเกมกันบ้าง แน่นอนว่าการ์ดเกมที่มีมูลค่าสูงที่สุดคือ การ์ดโปเกม่อน ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1996 โดยบริษัท Media Factory จากผลงานการสร้างสรรค์ของ Ken Sugimori, Mitsuhiro Arita และ Keiji Kinebuchi โดยการ์ดเกมโปเกม่อนถูกปล่อยออกมาหลังจากเปิดตัววิดีโอเกมและได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาแล้วในช่วงต้นปี หลังจากนั้นการ์ดเกมโปเกม่อนก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนสามารถไปตีตลาดอเมริกาได้ในปี ค.ศ. 1999 เพียงสามปีหลังจากเปิดตัว
จุดที่เหมือนกันของทั้งการ์ดกีฬา และ การ์ดเกม นั่นก็คือ ในแต่ละช่วงจะมีเซ็ตใหม่ๆ หรือคอลเลคชั่นใหม่ๆ มาให้นักสะสมได้เก็บสะสมกันอยู่ทุกปี และนี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการประเมินราคาการ์ด กล่าวคือ ยิ่งการ์ดใบใด ถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนน้อยหรือเป็นการผลิตออกมาเนื่องในโอกาสพิเศษจะยิ่งหายากและทำให้เป็นที่ต้องการของนักสะสม ราคาก็ยิ่งพุ่งพรวด
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น หากเป็นประเภทการ์ดเกม ความสามารถของมอนสเตอร์บนหน้าการ์ด ก็ส่งผลต่อการตีราคาด้วย เพราะอย่าลืมว่าจุดเริ่มต้นของการ์ดเกมนั้นคือการแข่งขัน การ์ดที่มีประสิทธิภาพสูงย่อมเพิ่มโอกาสแห่งชัยชนะให้ผู้ถือการ์ด และหากเป็นการ์ดฟุตบอล ก็คือชื่อเสียงหรือความสามารถของนักเตะ ซึ่งในที่นี้อ้างอิงจากฟอร์มการเล่นของนักกีฬาคนนั้นๆ ในชีวิตจริง รวมถึงลายเซ็น หรือบางชิ้นส่วนจากเสื้อหรือรองเท้าของนักเตะที่อาจถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการ์ดด้วย
และแน่นอนที่สุด ปัจจัยสำคัญของการตีราคาคือองค์ประกอบและสภาพของการ์ด ในแต่ละปี การผลิตการ์ดนั้นก็มีเทคนิคหรือวิธีการผลิตที่แตกต่างกันออกไป ทั้งเทคนิคการพิมพ์ วัสดุที่ใช้ ความหนา รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ และหากสามารถรักษาสภาพของการ์ดให้อยู่ในสภาพที่ดีได้เพียงใด ราคาก็จะสูงขึ้นเพียงนั้น โดยในปัจจุบันนี้ มีบริษัทที่รับประเมินราคาการ์ดด้วยการตัดออกมาเป็นเกรดตั้งแต่ 1-10 เพื่อรับประกัน และตีราคาการ์ดแต่ละใบก่อนทำการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน
ตลาดการซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนการ์ดสะสม เรียกได้ว่าเติบโตขึ้นอย่างสวนกระแสในสถานการณ์โควิด-19
และเมื่อพิจารณาวัฒนธรรมการสะสมการ์ดก็จะเห็นได้ว่า ธรรมเนียมปฏิบัติของเหล่านักสะสม บางส่วนใกล้เคียงการสะสมของประเภทอื่น เช่น พระเครื่อง แผ่นเสียง หรือของเก่า ฯลฯ ซึ่งมีทั้งมูลค่าและคุณค่าจากเรื่องราวในตัวของมันเองและจากเส้นทางความเป็นมาของการ์ด รวมถึงในแง่มูลค่าและกำไรจากสายตาของนักลงทุน การเสี่ยงโชคกับการ์ดสะสมจึงกลายเป็นเรื่องน่าสนุกและชวนหลงใหลเป็นอย่างยิ่ง
ไม่แปลกที่ “การ์ดสะสม” เหล่านี้จะได้รับความสนใจ และกลายเป็น “วัฒนธรรมย่อย” (subculture) ที่ผงาดขึ้นมาในช่วงไล่เลี่ยกับยุคโควิด-19 ถึงขั้นมีผู้คนแย่งชิงเข้าไปซื้อการ์ดในศูนย์การค้าหวังนำมาเก็งกำไรจนเกิดเหตุวุ่นวาย เดือดร้อนถึงบริษัทห้างร้านต้องสั่งระงับจำหน่ายการ์ดโปเกม่อนชั่วคราว ก่อนจะเริ่มกลับมาพิจารณาเตรียมกลับมาเปิดขายอีกครั้ง
อ่านเพิ่มเติม :
- ของเล่นฮิตสมัยร.5 “รูปยากาแร็ต” แถมจากซองบุหรี่ ของสะสมก่อนยุคการ์ดพลังในถุงขนม
- “ของประหลาดที่เธอไม่เคยเหน” พระราชปรารภร.5 ถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องโปสการ์ด
- ต้นกำเนิด “พระเครื่อง” เมื่อคนเดือดร้อนไม่มั่นคง และวิทยาศาสตร์ให้คำตอบไม่ได้
อ้างอิง :
Delin, John. “The ‘insane’ money in trading collectible cards”. BBC. Online. Published 19 MAR 2021. Access 12 June 2021. < https://www.bbc.com/news/business-56413186>
Guinness World Records. “Oldest trading card game”. Guinness World Records. Access 12 June 2021. < https://www.guinnessworldrecords.com/world-records/oldest-trading-card-game>
Hughes, Adam. “BUBBLE GUM DREAMS: COMPLETE GUIDE TO THE GOLDEN ERA OF BASEBALL CARDS (1948-1994)”. Wax Pack Gods. Published 19 FEB 2017. Access 12 June 2021. < https://waxpackgods.com/?s=BUBBLE+GUM+DREAMS%3A+COMPLETE+GUIDE+TO+THE+GOLDEN+ERA+OF+BASEBALL+CARDS+%281948-1994%29>
“Pokémon at 25: A history – from Pocket Monsters, to TCG and Pokémon GO”. BBC. Online. Published 28 FEB 2021. Access 12 June 2021. <https://www.bbc.co.uk/newsround/56167405>
“Pokemon: Logan Paul buys $2m worth of Pokémon cards”. BBC. Online. Published 4 FEB 2021. Access 12 June 2021. <https://www.bbc.com/news/newsbeat-54507760>
Pre-War Cards. “1904 ALLEGHENY CARD COMPANY BASEBALL CARD GAME SET AND CHECKLIST”. Pre-War Cards. Published 6 SEP 2016. Access 12 June 2021. < https://prewarcards.com/2016/09/06/1904-allegheny-card-company-baseball-card-game-set-and-checklist/ >
Molina, Brett. “Target pulls Pokémon cards, sports trading cards after fight”. USA Today. Online. Published 2 JUN 2021. Access 14 JUN 2021. <https://www.usatoday.com/story/money/shopping/2021/05/14/target-pulls-pokemon-cards-sports-trading-cards-stores-after-fight/5089767001/>
วิวัฒน์ เกิดสมจิตร. “ใครมีรีบเอามาขาย 20 Pokemon Cards ราคาแพงที่นักสะสมต้องการ”. Beartai. ออนไลน์. เผยแพร่ 2 มี.ค 2564. เข้าถึงเมื่อ 12 มิ.ย 2564. <https://www.beartai.com/article/554825>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2564