“ของประหลาดที่เธอไม่เคยเหน” พระราชปรารภร.5 ถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องโปสการ์ด

ไปรษณียบัตร รัชกาลที่ 5 พิมพ์แบบรูปถ่ายให้รายละเอียดงดงาม เผยแพร่ในอังกฤษระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกจาก Collection Rotary Photo

ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปในรัชกาลที่ 5 พบบัญญัติศัพท์แปลคำ Postcard จากภาษาอังกฤษ เป็นคำภาษาไทยว่า “ไปรษณียบัตร” แล้ว แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดใช้คำว่า “โปสตก๊าด” อยู่ตลอดเวลา จนติดปากชาวราชสำนักไปด้วย เลยกลายเป็นคำเฉพาะที่ตรัสถึงสื่อสิ่งพิมพ์ชนิดหนึ่งที่ใช้แทนจดหมายและโทรเลขได้อย่างดี สามารถสะท้อนภาพการเสด็จประพาสยุโรปได้ชัดเจน เพราะเต็มไปด้วยภาพหลักฐาน โดยไม่ต้องอาศัยคำอธิบายให้เยิ่นเย้อ

พระราชดำรัสตอนหนึ่งจากซานเรโมในอิตาลี เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 อธิบายไว้ว่า “เพราะเป็นรูปสัปปอต [สนับสนุน] จดหมายรายวัน ให้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น” ย่อมเป็นคำชี้แจงอยู่ในตัว

ไปรษณียบัตร รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในฝรั่งเศส เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสทูลเชิญให้มาประทับพักผ่อนที่ปราสาทรัม บุยเย ในภาพกำลังได้รับการต้อนรับจากคณะรัฐบาลฝรั่งเศส รวมทั้ง ม.ปาวี อดีตอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม (สมัยวิกฤตการณ์ ร.ศ.112) ด้วย พบในฝรั่งเศส

ไปรษณียบัตรเหล่านี้มิได้แพร่หลายอยู่ในเฉพาะการเสด็จ ครั้งหลังในปี พ.ศ. 2450 เท่านั้น ยังพบว่ามีการพิมพ์เผยแพร่พระราชกรณียกิจในการเสด็จครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 อีกด้วย ปัญหามีอยู่ว่าไปรษณียบัตรเสด็จประพาสยุโรปเป็นของหายากมาก ทำให้มีคนรู้จักในวงแคบ ในขณะที่บางคนเข้าใจว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นเลย

ไปรษณียบัตร รัชกาลที่ 5 ประทับยืนบนรถม้า ทรงเปิดพระมาลา แสดงความยินดีตอบฝูงชนที่มาถวายการต้อนรับอยู่หน้าสถานีรถไฟ เมืองรัม บุยเย (ชานกรุงปารีส) โดยมีประธานาธิบดีฟาลีเยมารับเสด็จด้วยตนเอง พบในฝรั่งเศส

ร.5 มีพระราชปรารภเกี่ยวกับไปรษณียบัตรมายังสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตอนหนึ่งว่า “ยินดีที่ได้รับโปสตก๊าดเนือง ๆ หวังว่าจะไม่เบื่อ จรูญได้ปทำสมุดมาเล่มหนึ่งแล้ว โปสตก๊าดในเมืองฝรั่งนี้ช่างทวีมากมายขึ้นเสียจริง ๆ เหลือที่จะเก็บให้หมด ได้ให้เก็บโปสตก๊าดที่นี่ เพราะเขามีสั่งอัลบั้มให้บรรจุ จะส่งเข้าไปให้เธอ ด้วยเหนว่าบางทีจะเปนของประหลาดที่เธอไม่เคยเหน”

จากพระราชหัตถเลขานี้ มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ 3 อย่าง คือ
1. มีการส่งไปรษณีย์ตอบกันทั้ง 2 ด้าน คือทั้งจากสยามและทางยุโรป
2. ร.5 ทรงเก็บสะสมไปรษณียบัตรตามสถานที่ต่าง ๆ ไว้เป็นที่ระลึกตลอดเวลา
3. มีพระราชวินิจฉัยว่า ไปรษณียบัตรที่ผลิตในยุโรปมีการออกแบบแตกต่างไปจากบ้านเรา กล่าวคือ นอกจากจะมีภาพนิ่งแล้ว ยังมีภาพประเภท “สแนปช็อต” ที่จับภาพพระราชอิริยาบถต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น หรือการใช้ลายเส้นวาดเป็นแบบการ์ตูน จึงดูแปลกแหวกแนวออกไปจากเดิม เลยเป็นของประหลาดไม่มีให้เห็นมาก่อนในสยาม

ไปรษณียบัตร รัชกาลที่ 5 แสดงพระบรมรูปคู่กับเข้าชายโยฮัน อัลแบรค รีเยนต์แห่งเมืองบรันสวิคผู้เป็นพระสหายสนิท ระหว่างเสด็จประพาสเมืองนั้น ใน พ.ศ. 2450 พบในเยอรมนี

ไปรษณียบัตรกลายเป็นสายสัมพันธ์ของการเสด็จประพาสยุโรป ภาพที่ปรากฏแสดงความหมายได้ดีกว่าคำบรรยายเป็นพันคำ อีกทั้งยังสะดวก เก็บรักษาง่าย และเป็นเครื่องเตือนความจำทั้งผู้ให้และผู้รับ จนเป็นความผูกพันที่รู้สึกได้ ตรัสถึงความสำคัญของการส่งไปรษณียบัตรกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “ถึงกรมดำรง ฉันมีความละอายใจที่ไม่ได้ส่งโปสตก๊าดจากที่ซึ่งมาเที่ยวนี้ตอบไปได้บ้างเลย” บางครั้งถึงกับทรงขอร้องเรื่องส่งไปรษณียบัตร “ขออ้อนวอนอย่าให้หยุดส่งโปสตก๊าด ผู้ที่มาไกลเช่นนี้ ย่อมกระหายข่าวบ้านแลอยากเหนบ้านเป็นที่สุด แต่เพียงได้เหนโปสตก๊าดก็เป็นที่ชื่นใจ”

ไปรษณียบัตรได้แปรเปลี่ยนความหมายกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับกระเป๋าซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงคาดหวังมาก่อน แต่เมื่อทรงเริ่มเขียนส่งพระราชทานมาและผู้รับถูกใจกันมาก จึงทรงหันมาสะสมขึ้นเป็นสมุดอัลบั้มอย่างจริงจัง กระดาษรูปภาพชิ้นเล็ก ๆ ที่ดูไม่มีราคาค่างวดในตอนแรก กลับกลายเป็นของมีคุณค่าทางด้านความรู้สึกที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ในยามนั้น

ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ไปรษณียบัตร ร.5 สามารถสะท้อนภาพจากพงศาวดารไทยได้ดีกว่าภาพประกอบทั่วไปในหนังสือประวัติศาสตร์ จึงเป็นที่เสาะแสวงหาในวงการนักสะสมตลอดเวลา เนื่องจากผลิตขึ้นมาเพียงครั้งเดียวแล้วไม่นิยมนำมาพิมพ์ซ้ำเพื่อจำหน่ายอีก ชิ้นที่มีราคาสูงที่สุดในปัจจุบัน ก็มักจะเกี่ยวเนื่องด้วยการเสด็จประพาสยุโรป

 


หมายเหตุ : คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “พบไปรษณียบัตร รัชกาลที่ 5 สะท้อนภาพเสด็จประพาสยุโรป ‘บางทีจะเปนของประหลาดที่เธอไม่เคยเหน’” โดย ไกรฤกษ์ นานา ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2548

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561