ถอดรหัสอักษรลับในตำราเพศศาสตร์โบราณ ยุคเรื่องเพศยังไม่ใช่หัวข้อเสรีในไทย

ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพกิจกรรมเชิงสังวาสแบบชาวบ้าน จิตรกรรมที่ วัดหนองยาวสูง จังหวัดสระบุรี

***บทความนี้ยกตัวอย่างการใช้คำทางเพศจากตำราโบราณทั้งรูปแบบภาษาในอดีตและปัจจุบัน เป็นการยกตัวอย่างเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ด้านการศึกษาเท่านั้น***

สุนทรภู่ กวีเอกของไทยได้เคยแสดงทัศนะต่อเรื่องเพศว่าเป็นเรื่องธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตทั่วไปจะประพฤติปฏิบัติกัน กลอนนิทานเรื่อง พระอภัยมณี ที่ต่อมาได้กลายเป็นวรรคทองซึ่งมักจะถูกอ้างถึงอยู่เสมอว่าเรื่องเพศนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ มีใจความว่า

“ประเวณีมีทั่วทุกตัวสัตว์ ไม่จำกัดห้ามปรามตามวิสัย
นาคมนุษย์ครุฑาสุราลัย สุดแต่ใจปรองดองจะครองกัน”

บทกลอนในเรื่องพระอภัยมณีข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นว่าในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทัศนคติของคนจำนวนหนึ่งต่อเรื่องเพศมีมุมมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรืออมนุษย์ก็ปฏิบัติกัน และไม่ใช่เพียงแค่ในวรรณคดีเท่านั้น ในยุคต่อมา แม้แต่ในเพลงพื้นบ้านทั้งเพลงฉ่อย เพลงลำตัด เพลงอีแซว ฯลฯ ล้วนมีการพูดถึงเรื่องเพศในมุมของชาวบ้านให้ได้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง

แต่กระนั้นก็ตาม สังคมในอดีตบางส่วนยังไม่อนุญาตให้สามารถพูดถึงเรื่องเพศได้อย่างอิสระเสรี เนื่องจากกรอบทางศีลธรรมที่ยังจัดให้เรื่องทางเพศเป็นเรื่องหยาบคาย สัปดน กระทั่งขัดต่อศีลธรรมอันดี

ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่า ในอดีต แม้เรื่องเพศจะถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติและถูกนำมาสร้างเป็นความบันเทิงเริงรมย์อย่างในเพลงพื้นบ้านต่างๆ แต่หากจะกล่าวถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องเพศ ในประเด็นนี้ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยได้อย่างเต็มที่

ตัวอย่างที่พอจะสะท้อนบริบทในสมัยนั้นอย่างหนึ่งคือ ตำรับตำราเรื่องเพศศาสตร์ ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานทางลายลักษณ์อักษรในช่วงก่อนรัตนโกสินทร์ตอนต้นเลย (อาจจะมีแต่สูญหายไปหมด) ศาสตราจารย์ สุกัญญา สุจฉายา ผู้ศึกษาเอกสารในประเด็นนี้อธิบายว่า มีการใช้ รหัสลับ หรือ รหัสอักษร เพื่ออำพรางข้อความ หรือปกปิดวิชามิให้กลายเป็นของสาธารณะ

ในตำราเพศศาสตร์อย่าง พระตำรับแก่กล่อน โดยพิสดาร สมุดฝรั่ง ต้นฉบับกรุงเทพมหานคร และ ตำรานรลักษณ์ ฉบับฤาษีกามิน คัมภีร์ใบลาน ต้นฉบับจังหวัดฉะเชิงเทรา พบการใช้รหัสอักษรได้แก่ อักษรเลข และ ฟองหูช้าง ซึ่งเป็นรหัสอักษรที่ใช้เพื่ออำพรางหรือปกปิดข้อความสำคัญมากกว่าหนึ่งร้อยคำ การใช้รหัสอักษรจะไม่ได้เป็นการเข้ารหัสทั้งประโยค แต่เป็นเพียงการปกปิดเฉพาะบางคำเท่านั้น

โดย อักษรเลข จะใช้แทนรูปสระ ส่วน ฟองหูช้าง จะใช้ตัวเลขและจุดฟองไข่ปลาแทนพยัญชนะ ส่วนใหญ่แล้วรหัสทั้งสองนี้จะปรากฏอยู่ร่วมกัน จึงทำให้ข้อความที่เข้ารหัสเหล่านี้ถูกเขียนออกมาเป็นตัวเลขและจุดฟองใต้เลขอย่างละลานตา เพื่อปิดบังข้อความเหล่านั้นจนไม่สามารถอ่านได้อย่างเข้าใจความ ดังตัวอย่าง ข ๙ อ่านว่า ขา หรือ ๒ ยน๊ อ่าน ว่า โยนี เป็นต้น

นอกจากนี้ พีระ พนารัตน์ ยังได้อธิบายไว้ในหนังสือ ไขความลับวรรณกรรมตำราเพศศาสตร์ โดยสันนิษฐานว่า เดิมทีรหัสอักษรเหล่านี้ถูกใช้ในการศึก การสงคราม หรือในจดหมายลับ ซึ่งจะถูกเขียนลงในกระดาษเพลาแผ่นเล็กง่ายต่อการพกพา

เพราะเหตุนี้จึงทำให้ชำรุดเสียหายได้ง่าย และทำให้ไม่พบหลักฐานในสมุดไทยหรือผูกใบลานเท่าใดนัก หลักฐานของรหัสอักษรจึงจำกัดอยู่เฉพาะในหมู่ตำราอักษรศาตร์อย่าง ปฐมมาลา และ จินดามณี ซึ่งให้ข้อมูลเชิงทฤษฎีสำหรับรหัสอักษรประเภทต่างๆ ไว้ โดยสามารถเปรียบเทียบ อักษรเลข กับรูปสระได้ดังนี้

๑ = -ุ ๒ = -ู ๓ = เ- ๔ = -ะ , -ํ ๕ = -ั
๖ = ไ- , ใ- ๗ = -ิ ๘ = โ- ๙ = -า

แม้รหัสเลขที่ปรากฏในจินดามณีจะมีกฎเกณฑ์ตรงกับในตำราเพศศาสตร์ แต่จะมีข้อยกเว้นบ้างในบางกรณี เช่น เลข ๑ อาจใช้แทนได้ทั้งสระอุและสระอู และเลข ๗ เหนือพยัญชนะอาจใช้แทนทั้งสระอิ อี อึ และอือ เป็นต้น

ส่วนรหัสอักษรฟองหูช้าง สามารถเทียบกับพยัญชนะได้ ดังนี้

รหัสอักษรฟองหูช้าง เทียบกับพยัญชนะ

เมื่อนำรหัสเลขและรหัสฟองหูช้างมาประกอบกัน จะสามารถอ่านเป็นข้อความได้ ดังที่ปรากฎในตำราเพศศาสตร์ ตัวอย่างเช่น

นอกจากการใช้รหัสเลขกับฟองหูช้างแล้ว ยังพบว่ามีวิธีปกปิดข้อความให้สามารถเข้าใจได้เฉพาะกลุ่ม เช่น การเลือกใช้ศัพท์ ซึ่งจะเลี่ยงเป็นการใช้ภาษาบาลีแทน เนื่องจากภาษาบาลีถือว่าเป็นภาษาชั้นสูง สำหรับผู้มีการศึกษา หรือการใช้ความเปรียบแบบอุปมา เป็นต้น

การใช้รหัสอักษรเพื่อปกปิดข้อความบางส่วนแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการเขียนหนังสือ(ลับ)ของคนไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงอักขรวิธีอย่างเป็นระบบ เพื่ออำพรางมิให้วิชา หรือสาระสำคัญนั้นๆ ถูกเผยแพร่สู่บุคคลทั่วไป เป็นการถ่ายทอดให้เฉพาะกลุ่มผู้ที่เข้าใจรหัสอักษรเท่านั้น และรหัสอักษรมิได้ถูกใช้แค่เพื่อการศึก การสงครามเพียงอย่างเดียว เพราะแม้แต่ตำราเพศศาสตร์ ที่เป็นตำราเรื่องเพศก็ยังพบการใข้รหัสอักษรเพื่ออำพรางสาระสำคัญในตัวบท ให้ถูกถ่ายทอดเฉพาะกลุ่มผู้ที่สามารถถอดรหัสได้เท่านั้นเช่นกัน

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “พระตำรับแก่กล่อน” ตำราทางเพศหายากแบบไทย เปิดเคล็ดปรุงยา-ทำนายลักษณะนารี

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ส่อง “ตำรานรลักษณ์” สาวมีไฝใต้หน้าอก-ที่ลับ เหมาะกับชายรับเป็นภรรยา?

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ผูกนิพานโลกีย์” ตำรากามสูตรสัญชาติไทย คาถาขอบุตร-จุดอารมณ์หญิง-ขนาดสำคัญไฉน

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “ตำรากามสูตร” สมัยราชวงศ์หมิง ให้ผู้ชายกลั้นจุดสุดยอด เพื่อชีวิตที่ยืนยาว?

 


อ้างอิง :

สุกัญญา สุจฉายา. บรรณาธิการ. (2561) .ไขความลับวรรณกรรมตำราเพศศาสตร์ .นครปฐม. โครงการวิจัย “วรรณกรรมตำราเพศศาสตร์ของคนไทยภาคกลาง : ไขความลับเป็นความรู้” คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

สุกัญญา สุจฉายา. (2562). ทัศนคติเรื่องเพศของคนไทยจากผลงานวิจัยชุดวรรณกรรมตำราเพศศาสตร์ของคนไทยภาคกลาง. วารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 26(2), 1-34.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2564