ผู้เขียน | ธนพงศ์ พุทธิวนิช |
---|---|
เผยแพร่ |
ช่วงทศวรรษ 1960s วง เดอะบีเทิลส์ (The Beatles) ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ถึงขั้นที่จอห์น เลนนอน (John Lennon) หนึ่งในสมาชิกของวงเอ่ยปากว่า “…ตอนนี้เราเป็นที่นิยมยิ่งกว่าพระเยซูซะอีก” แต่แล้วเมื่อไบรอัน เอปส์ตีน (Brian Epstein) ผู้จัดการวงเสียชีวิตลงในค.ศ. 1967 ในช่วงระยะที่ต้องทำใจกับความสูญเสียและแสวงหาทางความคิด สมาชิกวงพร้อมภรรยาและคู่รักเดินทางมาที่ Rishikesh ประเทศอินเดีย เพื่อค้นหา “คำตอบในชีวิต” จากมหาฤาษีในอินเดียนามว่า Maharishi Mahesh Yogi
Maharishi Mahesh Yogi เป็นครูสอนศาสนาชาวอินเดียซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ริเริ่มการทำสมาธิแนว Transcendental Meditation จากเอกสารของคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ อธิบายว่า การทำสมาธิแบบ TM ผสมผสานเทคนิคจากศาสนาฮินดู และ “มนตรา” ของผู้สอน เน้นทำสมาธิโดยฝึกหายใจเข้าออก เพ่งความสนใจไปที่ลมหายใจเพื่อให้ผ่อนคลาย
“การทำสมาธิแบบ TM (Transcendental Meditation) เป็นการฝึกจิตสำหรับผู้แสวงหาความหลุดพ้นหรือการฝึกสมาธิแบบพ้นโลกทำให้มีความสามารถพิเศษบางอย่างเหนือคนทั่วไป แต่ไม่ได้กล่าวถึงผลในด้านการหยุดการเวียนว่ายตายเกิด…” (คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, 2562)
เรื่องที่ เดอะบีเทิลส์ เดินทางมาสถาบันฝึกสมาธิในอินเดียเป็นเรื่องฮือฮาในช่วงเวลานั้น จากปากคำของพอล ซอลต์ซแมน (Paul Saltzman) นักผลิตภาพยนตร์ซึ่งเดินทางไปอินเดียเพื่อพบมหาฤาษี Mahesh Yogi อคาเดมีนานาชาติด้านการทำสมาธิ (International Academy of Meditation) ใน Rishikesh เมื่อปี 1968 แต่ศูนย์ดังกล่าวกลับปิดเพราะวงดังแห่งยุคมาเยือนนั่นเอง
ซอลต์ซแมน ปัจจุบันอายุ 78 ปีแล้ว เขายังมีส่วนร่วมในการผลิตภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่เกี่ยวกับวงเดอะบีเทิลส์เมื่อครั้งเดินทางมาอินเดียชื่อ Meeting the Beatles in India
รายงานจาก The Guardian อธิบายว่า เมื่อครั้งที่ซอลต์ซแมน เดินทางมาถึงอาศรม (ashram) เขามีข้าวของติดตัวไปไม่กี่อย่างเท่านั้น และมีกล้องถ่ายรูปติดตัวไปด้วย อย่างไรก็ตาม เขากล่าวอ้างในการให้สัมภาษณ์กับสื่อดังว่า เขาหยิบกล้องขึ้นมาเพียง 2 ครั้งเท่านั้น
รายงานข่าวยังระบุว่า ด้วยลักษณะนิสัยเฉพาะตัวและเป็นกันเองช่วยให้ผู้คนที่สัมผัสเขารู้สึกเชื่อใจและผ่อนคลาย ลักษณะเหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จอห์น เลนนอน นักร้องนำของวงซึ่งมักเป็นคนระแวดระวังกลับเชื้อเชิญซอลต์ซแมน ให้มานั่งร่วมกับวงและคนรักของสมาชิกวงด้วย
ความทรงจำของพอล ซอลต์ซแมน ถูกถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายที่หลายคนลืมเลือนมันไปแล้ว เป็นภาพขณะที่วงปฏิบัติสมาธิอยู่ และเพิ่งถูกหยิบมาปัดฝุ่นจากที่จัดเก็บในยุค 90s
ภายหลังจากการปฏิบัติสมาธิ วงเดอะบีเทิลส์ เดินทางกลับลอนดอนพร้อมเพลงใหม่ 30 ชิ้น ส่วนหนึ่งถูกนำไปใช้ในอัลบั้มซึ่งแฟนเพลงเรียกกันว่า White Album ในปี 1968
น่าสนใจว่า ภาพยนตร์ Meeting the Beatles in India ไม่ได้เป็นผลงานชิ้นเดียวที่พูดถึงกิจกรรมของเดอะบีเทิลส์ในอินเดีย ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันยังมีผลงานภาพยนตร์สารคดีโดย Ajoy Bose ใช้ชื่อว่า The Beatles and India อีกชิ้นหนึ่งที่ถูกพูดถึงในเวลาไล่เลี่ยกัน
The Beatles and India เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างวงเดอะบีเทิลส์กับอินเดียในแง่มุมต่างๆ ในช่วงเวลาราว 3 ปี ไล่มาตั้งแต่จอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) อีกหนึ่งสมาชิกของวงจับเครื่องดนตรีที่เรียกว่า ซิตาร์ (sitar) ในการผลิตงานเพลง Help! ไปจนถึงช่วงที่จอร์จ รู้จักกับราวี แชนเคอร์ (Ravi Shankar) นักดนตรีชาวอินเดียชื่อดังซึ่งมีอิทธิพลต่อนักดนตรีตะวันตกหลายราย (ราวีคือบิดาของนอราห์ โจนส์ – Norah Jones นักร้องหญิงรางวัลแกรมมี) และบันทึกเสียงผลงานเพลงร่วมกับนักดนตรีอินเดียรายอื่นๆ
การเดินทางไปอินเดียของ เดอะบีเทิลส์ ถูกมองในหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างตะวันออกกับตะวันตกในยุค 60s การผลิตดนตรี และแนวคิดเชิงจิตวิญญาณ
เดอะบีเทิลส์ สนใจในแนวคิดด้านการทำสมาธิแบบ TM ภายหลังเข้าร่วมงานเสวนาโดย Mahesh Yogi ซึ่งจัดขึ้นที่เวลส์ เมื่อสิงหาคม 1967 แต่ทางวงต้องยุติกิจกรรมในงานเสวนากะทันหันเนื่องจากผู้จัดการวงเสียชีวิตลง กระทั่งในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 1968 วงเดินทางมาที่อินเดีย และเข้าร่วมคอร์สกับกลุ่มผู้ฝึกฝนเพื่อไปเป็นครูสอนการทำสมาธิแบบ TM การเข้าร่วมครั้งนั้นไม่ได้มีแค่สมาชิกวงเดอะบีเทิลส์ ยังมีคนดังจากวงการบันเทิงและอุตสาหกรรมดนตรีอีกหลายราย
อันที่จริงแล้ว จุดแรกเริ่มที่วงไปเข้าร่วมเสวนาได้ มีจุดเริ่มต้นมาจากเมื่อครั้งแพตตี้ บอยด์ (Pattie Boyd) ภรรยาของจอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison) เธอสนใจแนวเชิงจิตวิญญาณแล้วไปพบโฆษณาในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับคลาส TM เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1967
หลังจากนั้นเธอจึงลงสมัคร และนำสิ่งที่เธอประสบมาเล่าให้สามีฟังจนจอร์จ เริ่มสนใจขึ้นมาบ้าง กระทั่งเดือนสิงหาคมในปีเดียวกัน จอร์จ แฮร์ริสัน พร้อมสมาชิกของวงจึงไปร่วมฟังการบรรยายของมหาฤาษีในลอนดอนด้วย และไปร่วมงานเกี่ยวกับ Spiritual Regeneration Movement อีกครั้งใน 10 วันต่อมาที่เวลส์ ระหว่างงาน วงเดอะบีเทิลส์ประกาศเลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แต่การเข้าร่วมงานของวงต้องยุติลงก่อนกำหนดเพราะมีข่าวการเสียชีวิตของผู้จัดการวง
ช่วงเวลานั้นเอง Mahesh Yogi เชิญวงดังไปลองอาศัยพื้นที่อาศรมของเขาใน Rishikesh ซึ่งเป็นพื้นที่จัดคอร์สเรียนรู้สำหรับผู้ต้องการเป็นครูสอนการปฏิบัติสมาธิแบบ TM
พอล แม็กคาร์ทนีย์ (Paul McCartney) มือเบสและสมาชิกอีกรายของวงเขียนไว้ในบทความว่า แม้วงจะมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก และประสบความสำเร็จด้านการเงิน แต่ยังมีคำถามว่า “ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่ออะไร?” หนึ่งในแนวทางหาคำตอบของวงคือการเข้าหา Mahesh Yogi ผู้ริเริ่มการทำสมาธิแบบ TM
อาศรมของ Maharishi Mahesh Yogi สร้างขึ้นเมื่อปี 1963 ได้รับทุนจากการบริจาคของเศรษฐินีชาวอเมริกันทายาทธุรกิจชื่อ Doris Duke จากการบอกเล่าของซอลต์ซแมน สถานที่ประกอบไปด้วยบังกะโล(เรือนไม้ชั้นเดียว)ยาวอยู่ 6 แห่ง แต่ละบังกะโลมีห้องคู่ 5-6 ห้อง มีโถงเธียเตอร์ และสระว่ายน้ำ
พอล แม็คคาร์ทนีย์ เขียนเล่าในหนังสือ The Beatles Anthology หนังสือรวมบทความ เซอร์พอลเปรียบเปรยประสบการณ์ชีวิตในอาศรมว่าเหมือนกับ “ค่ายฤดูร้อน” (Summer Camp) ตื่นเช้าขึ้นมาและไปกินอาหารเช้ารวม อาหารเป็นผักส่วนใหญ่ แต่พอล ตั้งข้อสังเกตว่าวงอาจทานคอร์นเฟลก (cornflake) เป็นอาหารเช้าด้วย
หลังอาหารเช้าก็กลับเข้ากระท่อม ทำสมาธิสักระยะ และออกมารับประทานอาหารกลางวัน จากนั้นก็อาจมีวงสนทนาและมีการแสดงดนตรีเล็กๆ โดยรวมแล้วมีกิจกรรมคือ รับประทานอาหาร นอนหลับ และฝึกสมาธิ เสริมด้วยการฟังบรรยายจากมหาฤาษี
ระหว่างอยู่ในอินเดีย นักวิจารณ์และผู้ศึกษาเกี่ยวกับวงเดอะบีเทิลส์บางรายบอกกันว่า เป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่วงผลิตชิ้นงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด จอห์น เลนนอน, พอล แม็กคาร์ทนีย์ และจอร์จ แฮร์ริสัน เขียนเพลงขึ้นหลายชิ้น ส่วนริงโก สตาร์ (Ringo Starr) มือกลองของวงก็เขียนเพลงแรกของตัวเองขึ้นมาจนสำเร็จ
รายงานจากบทความของ Rolling Stone ระบุว่า มีรายงานบางแห่งกล่าวอ้างว่า วงเขียนเพลงขึ้นมากถึง 48 ชิ้น อย่างไรก็ตาม แผนการของวงที่จะปฏิบัติกิจในนั้นเป็นเวลา 3 เดือนยุติลงก่อนกำหนด เมื่อปรากฏข่าวลือเรื่องพฤติกรรมไม่เหมาะสมของ Mahesh Yogi แต่เวลาต่อมา จอร์จ แฮร์ริสัน ออกมากล่าวขอโทษเรื่องที่เขาและสมาชิกในวงบางรายปฏิบัติต่อ Mahesh Yogi
อ่านเพิ่มเติม :
- แกะรอยสมุดสะสมแสตมป์ปกเขียวของ จอห์น เลนนอน ข้ามไปสหรัฐฯได้อย่างไร
- กำเนิดเพลง “Let It Be” เซอร์พอล (Paul McCartney) แต่งเพลงนี้เพื่อสื่อถึงใคร
อ้างอิง :
Chiu, David. “The Beatles in India: 16 Things You Didn’t Know”. Rolling Stone. Online. Published 14 FEB 2021. Access 8 JUN 2021. <https://www.rollingstone.com/feature/the-beatles-in-india-16-things-you-didnt-know-203601/>
Male, Andrew. “The Beatles in India: ‘With their long hair and jokes, they blew our minds!’ “. The Guardian. Online. Published 3 JUN 2021. Access 8 JUN 2021. <https://www.theguardian.com/music/2021/jun/03/the-beatles-in-india-with-their-long-hair-and-jokes-they-blew-our-minds>
เอกสารการเสนอใหประเทศไทยเปนศูนยกลางสมาธิโลกและเสนอสมัชชาสหประชาชาติใหประกาศวันวิสาขบูชาเปนวันสมาธิโลก. คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สภานิติบัญญัติแห่งชาติ. เข้าถึงเมื่อ 8 มิถุนายน 2564. <https://www.senate.go.th/assets/portals/22/fileups/148/files/%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81.pdf>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มิถุนายน 2564