แกะรอยสมุดสะสมแสตมป์ปกเขียวของ จอห์น เลนนอน ข้ามไปสหรัฐฯได้อย่างไร

จอห์น เลนนอน เป็นนักสะสมแสตมป์ในวัยเด็ก (ภาพจาก AFP)

ในบรรดาสมาชิกวง “เดอะ บีทเทิลส์” (The Beatles) ทั้งที่ยังมีชีวิตและไม่มีชีวิตแล้ว จอห์น เลนนอน (John Lennon) เป็นอีกหนึ่งสมาชิกที่มีแฟนเพลงทั่วโลกติดตามผลงานและเรื่องราวของเขาอยู่เสมอ เป็นที่รู้กันในหมู่แฟนเพลงว่านักร้องดังของวงจากลิเวอร์พูลชื่นชอบสะสมแสตมป์ แต่สมุดสะสมแสตมป์ของเขาข้ามจากลิเวอร์พูลไปอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ในสหรัฐอเมริกาได้อย่างไร

ก่อนหน้าจอห์น จะกลายเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียง จอห์น ในวัย 10 ขวบเป็นเด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนทั่วไปสนใจกิจกรรมยามว่างที่ดูน่าสนใจ ซึ่งในยุคนั้นก็คงไม่พ้นเรื่องสะสมแสตมป์ด้วย ข้อมูลจากการบอกเล่าว่าของวิลสัน ฮิวม์ (Wilson Hulme) ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งทำงานระหว่างปี 2002-2007 ระบุที่มาของสมุดสะสมเล่มนี้ว่า จอห์น เลนนอน มีลูกพี่ลูกน้องชื่อสแตนลีย์ พาร์คส (Stanley Parkes) ญาติรายนี้เองเป็นผู้มอบสมุดสะสมแสตมป์ปกสีเขียวที่มีใบหน้าของเทพเมอร์คิวรี เทพแห่งการสื่อสารแสดงอยู่บนหน้าปก หรือที่รู้จักกันในหมู่นักสะสมว่า “Mercury Album”

หลังจากได้รับอัลบั้มสะสมแสตมป์แล้ว จอห์น เลนนอน ลบชื่อสแตนลีย์ จากหน้าแรกของสมุดสะสมแต่ยังเหลือร่องรอยเดิมอยู่ จอห์น เขียนชื่อตัวเองพร้อมที่อยู่ในช่วงเวลานั้นลงไปคือ 251 Menlove Ave. โดยบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่เขาพักอาศัยร่วมกับป้าซึ่งแฟนเพลงรู้จักกันในนาม “ป้ามีมี่”

สมุดสะสมแสตมป์ของจอห์น เลนนอน จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์ที่สวีเดน ปี 2007 (ภาพจาก AFP)

บ้านหลังนี้ยังเป็นสถานที่ซึ่งจอห์น เลนนอน เขียนเพลงของเดอะ บีทเทิลส์ ในยุคแรกร่วมกับพอล แม็คคาร์ทนีย์ (Paul McCartney) อีกหนึ่งสมาชิกสี่เต่าทองอยู่หลายชิ้น หลังจากเจ้าของบ้านเสียชีวิต โยโกะ โอโน (Yoko Ono) ภรรยาของจอห์น เลนนอน ซื้อบ้านหลังนี้เมื่อปี 2002 และบริจาคให้กับองค์การอนุรักษ์แห่งชาติเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ บ้านถูกรักษาให้อยู่ในสภาพใกล้เคียงกับช่วงที่จอห์น เลนนอน อาศัยตั้งแต่อายุ 5-23 ปี

กลับมาที่รายละเอียดเกี่ยวกับสมุดสะสมเล่มนี้ ในสมุดมีแสตมป์มากกว่า 500 ดวง แถมยังมีภาพของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร และพระเจ้าจอร์จที่ 6 ด้วยความซุกซนในวัยเด็กของจอห์น เลนนอน ซึ่งจะกลายเป็นศิลปินจอมขบถอีกรายในอนาคต เด็กหนุ่มยังเติมหนวด-เคราให้กับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์แดนผู้ดีทั้งสองอีกต่างหาก (คลิกชมภาพด้านในสมุดเพิ่มเติมที่นี่)

ถ้าสงสัยว่าสมุดสะสมแสตมป์เล่มนี้ไปตกอยู่ที่มือใครมาบ้าง ข้อมูลจากคอลัมนิสต์ของเว็บไซต์สมิธโซเนียน (Smithsonian) ระบุว่า พิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์แห่งชาติซื้อสมุดเล่มนี้เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2005 โดยวิลสัน ฮิวม์ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์เล่าว่า ก่อนหน้าที่พิพิธภัณฑ์ซื้อต่อจากนักสะสมและนักประมูลกลุ่มสแตนลีย์ กิ๊บบอนส์ (Stanley Gibbons) สมุดเปลี่ยนมืออยู่ในวงพ่อค้าของสะสมหลายราย แต่ต้นตอที่ทำให้สมุดเล่มนี้ไปอยู่ในตลาดนักสะสมได้ยังไม่มีข้อมูลที่พอจะสรุปยืนยันได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิพิธภัณฑ์ติดต่อสแตนลีย์ พาร์คส และญาติของตำนานนักร้องรายนี้ยืนยันว่าสมุดปกเขียวที่เปลี่ยนมือกันเป็นเล่มเดียวกับที่เขามอบให้จอห์น เลนนอน

พิพิธภัณฑ์เผยแพร่เนื้อหาในอีเมลที่พาร์คส ตอบกลับมาเมื่อปี 2005 พาร์คส เล่าว่า หลังจากที่จอห์น ได้รับสมุดไปแล้วก็เก็บสะสมแสตมป์เพิ่มเข้าไปในสมุดด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันป้ามิมี่เองก็ติดต่อกับญาติหลายรายที่รู้จักกันในนิวซีแลนด์ การสะสมแสตมป์สำหรับจอห์น ยิ่งน่าจะสะดวกมากขึ้น แต่ข้อมูลที่คนสงสัยว่าสมุดเล่มนี้ไปอยู่ในมือพิพิธภัณฑ์ของอเมริกันชนได้อย่างไรนั้น พาร์คส เองก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ แถมยังตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะจากการเปลี่ยนมือในหมู่นักสะสม

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2561