เส้นทาง “หลวงพ่อทองสุข” วัดสะพานสูง กับเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก สร้างน้อย-ต้องรีบเก็บ

หลวงพ่อทองสุข เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อทองสุขรุ่นแรก ปี 2507 (ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์, 25 พ.ย. 2554)

เส้นทาง “หลวงพ่อทองสุข” วัดสะพานสูง กับเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก สร้างน้อย-ต้องรีบเก็บ

หากเอ่ยชื่อวัดสะพานสูง อําเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี…ในหมู่นักสะสมพระเครื่องย่อม นึกถึง “พระปิดตา” ที่มีพุทธคุณและราคาเช่าหาสูง ซึ่งสร้างโดย “หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม” เจ้าอาวาสรูปแรก ของสํานักธรรมแห่งนี้

นอกจากชื่อเสียงอันโด่งดังของหลวงปู่เอี่ยมแล้ว ยังมีศิษย์ผู้สืบสายพุทธาคมจากท่านไล่เรียงกันมาคือ “หลวงปู่กลิ่น จันทรังสี” และ “หลวงพ่อทองสุข อินทสาโร” ทั้ง 3 ท่านนับว่ามีบทบาทสําคัญในการสร้างความเจริญให้วัด และเป็นปูชนียสงฆ์ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวนนทบุรีมาจนทุกวันนี้

หลวงพ่อทองสุข เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2446 ที่บ้านหนองไผ่เหลือง ตําบลหนองขนาน อําเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรนายคง-นางแพ บุญมี มีพี่น้องรวม 5 คน ท่านเป็นคนสุดท้อง

เมื่ออายุ 11 ปี ศึกษาหนังสือไทยและขอมที่วัดหนองหว้า อยู่กับอาจารย์จ้อย, อาจารย์สาย และอาจารย์นิ่ม จนอ่านเขียนทั้งภาษาไทยและภาษาขอมได้ อายุ 13 ปีออกจากวัดแล้วไปอยู่กับอาที่จังหวัดราชบุรี ประมาณ 5 ปี ก่อนที่จะกลับมาอยู่กับบิดามารดา ทํานาหาเลี้ยงชีพที่บ้านเกิด

กระทั่งอายุ 20 ปี ถูกเกณฑ์ทหารเป็นทหารราบที่จังหวัดเพชรบุรี รับราชการอยู่ถึง 2 ปี 1 เดือน แล้วจึงมาสมัครเป็นตํารวจภูธรได้ยศเป็นสิบตํารวจตรี เพราะมียศทางทหารอยู่แล้ว เป็นตํารวจประจําเพชรบุรีอยู่ 2 ปี แล้วถูกย้ายไปอยู่หลายจังหวัด อาทิ จังหวัดพัทลุง, จังหวัดชุมพร, จังหวัดสงขลา จนได้รับยศเป็นสิบโท แล้วย้ายไปอยู่จังหวัดนราธิวาส, จังหวัดสตูล, จังหวัดราชบุรี, จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดสุรินทร์

จนครั้งสุดท้ายย้ายมาอยู่เพชรบุรีอีก 1 ปี ก่อนจะเกิดเบื่อหน่ายจึงลาออกและอุปสมบทเมื่อปี 2470 ที่วัดนาพรม โดยมีหลวงพ่อหวล เจ้าอาวาสวัดนาพรม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระ อาจารย์ผ่อง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “อินทสาโร”

หลังจากบวชแล้วได้จําพรรษาที่วัดหนองหว้า หนึ่งพรรษา ศึกษาวิชาอาคมจากหลวงพ่อหวล (หลวงน้าของหลวงพ่อยิด วัดหนองจอก) แล้วไปเรียนกับหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง หลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง

เมื่อเรียนอาคมมามากแล้ว ทั้งได้เรียนด้านปริยัติธรรม หาความรู้จนได้นักธรรมโท จึงมุ่งหน้าออกเดินธุดงค์หาความสงบไปตามป่าเขาลําไพร แม้กระทั่งทางอรัญประเทศ จังหวัด ปราจีนบุรี ดินแดนที่เต็มไปด้วยยาสั่ง ท่านก็ไม่หวั่นกล้วแต่อย่างใด มีพวกที่ลองวิชาและคิดทําร้ายหลายครั้งหลายคราว แต่ไม่อาจทําอะไรท่านได้เลย

ต่อมามีพระสงฆ์รูปหนึ่งชื่อ “อาจารย์เพ็ง” จําพรรษาอยู่ที่วัดสะพานสูง จังหวัดนนทบุรี ได้เดินธุดงค์มาพบกันจนคุ้นเคย และชักชวนให้เดินทางมาด้วยกัน โดยจําพรรษาที่วัดท่าเกวียน ตําบลคลองข่อย อําเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อยู่ที่วัดนี้ได้ 3 พรรษา

ขณะนั้นวัดท่าเกวียนยังไม่มีสํานักเรียนนักธรรม ท่านจึงย้ายมาอยู่วัดสะพานสูงเพื่อมาศึกษาปริยัติธรรม โดยมีพระครูโสภณศาสนกิจ (หลวงปู่กลิ่น) เป็นเจ้าอาวาส มีอาจารย์เพ็ง เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ปี 2475 สอบนักธรรมตรี ปี 2476 สอบนักธรรมโท ในขณะนั้น วัดสะพานสูงขาดครูสอนพระปริยัติธรรม หลวงปู่กลิ่นจึงมอบหมายให้ท่านทําหน้าที่ สอนปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรตลอดมา และถ่ายทอดตําราเวทมนตร์คาถาต่างๆ เช่น ลงตะกรุต ทําผง พระปิดตา ทําน้ำมนต์ให้จนหมดสิ้น

หลังสิ้นหลวงปู่กลิ่นแล้ว ท่านก็รับภาระหน้าที่ปกครองวัดมาตั้งแต่ปี 2492 เป็นต้นมา ปี 2501 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูนนทกิจโสภณ ปี 2503 เป็นเจ้าคณะตําบลคลองพระอุดม ต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม 2508 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

ตลอดเวลาที่อยู่ในเพศบรรพชิต “หลวงพ่อทองสุข” ปฏิบัติไปด้วยคุณธรรมหลายประการ ถือขันติธรรมคือความอดทนเป็นหลัก ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง อบรมสั่งสอนภิกษุ สามเณรให้อยู่ในธรรมวินัยให้การศึกษาแก่พระเณร ตลอดจนผู้ที่อาศัยอยู่ในวัดได้รับความสุขและสะดวก รวมทั้งบูรณะพัฒนาวัดโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย จนทําให้วัดเจริญรุ่งเรืองมาตามลําดับ

ลูกศิษย์ลูกหาเล่าขานกันปากต่อปากว่า ท่านเก่งทางเรื่องแก้คุณไสย บางรายถูกมาอย่างหนัก ท่านจะใช้วิธีเรียกคุณนั้นเข้าลูกมะพร้าว แล้วให้ใช้มีดโต้ลงยันต์ผ่าออกมาดู จะเห็นเป็นอะไรต่ออะไรที่คนเขาทํามามากมาย อาทิ ด้ายสายสิญจน์ ตะปู เทียน เป็นต้น คนที่ถูกลมเพลมพัด ท่านให้อาบน้ำมนต์ก็หาย เรื่องผีเข้าผีสิงท่านก็ปราบมาเยอะเพียงแค่เอาตะกรุดคล้องคอเท่านั้น

บั้นปลายชีวิตท่านต้องทํางานหนัก คือให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชนทั่วไปที่มาให้ท่านสงเคราะห์ตั้งแต่เช้าจรดเย็น รวมทั้งงานของคณะสงฆ์ จนทําให้ต้องเข้าโรงพยาบาลหลายครั้ง ด้วยโรคชราและโรคปวดศีรษะ ซึ่งเป็นโรคประจําตัว

จนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2525 ท่านได้อาพารปวดท้องอย่าง รุนแรง ลูกศิษย์นําส่งโรงพยาบาลเพชรเวช ได้รับการรักษา แต่ อาการยังไม่ดีขึ้น กระทั่งวันที่ 7 เมษายน 2525 เวลา 08.00 น. ท่านก็มรณภาพลงด้วยอาการสงบ

สิริรวมอายุได้ 79 ปี 19 วัน ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2526 เวลา 16.30 น. ณ เมรุลอยวัด สะพานสูง

หลวงพ่อทองสุข ท่านได้สร้างพระเครื่องไว้มากมายหลายรุ่นทั้ง “พระปิดตาแบบลอยองค์” ตามแบบของหลวงปู่กลิ่น และหลวงปู่เอี่ยมเจ้าสํานัก นอกจากนี้ ยังมีรูปเหมือนลอยองค์ เนื้อผง เนื้อผงผสมใบลานของพระอาจารย์, เหรียญรูปเหมือนของท่าน และเหรียญข้าวหลามตัดหลวงปู่เอี่ยม, เหรียญเสมา หลวงปู่กลิน, ตะกรุดโทน, พระกริ่งโกษา, พระเนื้อหินมีดโกน เป็นต้น แต่ละอย่างล้วนโด่งดังและเข้มขลังไม่แพ้ของหลวงปู่กสินผู้เป็นอาจารย์

เป็นที่ปรารถนาของนักสะสมสายวัดสะพานสูง สําหรับ “เหรียญหลวงพ่อทองสุขรุ่นแรก” สร้างปี 2507 เป็นเหรียญยอดนิยมที่สร้างน้อย และหายากเข้าไปทุกวันแล้ว โดยสร้างพร้อมเหรียญข้าวหลามตัด ยันต์เล็กในปี 2507 ถือเป็นเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อทองสุข วัดสะพานสูง แบ่งเป็น 2 พิมพ์คือ ด้านหลังหลวงพ่อโสธร และด้านหลังยันต์เล็กเหมือนเหรียญ ข้าวหลามตัด

ความนิยมด้านหลังหลวงพ่อโสธรจะมีมากกว่า เพราะได้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองฉะเชิงเทรา คือ หลวงพ่อโสธรมาประทับอยู่ด้านหลังเหรียญ เหรียญสภาพสวยๆ เล่นหากันหลักพันกลางๆ ขึ้นไป ส่วนเรื่องพุทธคุณนั้นไม่ต่างจากเหรียญที่ท่านปลุกเสกไว้ทุกรุ่น เด่นด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดปลอดภัย

ที่สําคัญสนนราคาเล่นหาปัจจุบันยังไม่สูงมากนัก

นักสะสมวัตถุมงคลประเภทเหรียญรีรอไม่ได้ พบเจอที่ไหนต้องเช่าเก็บทันที

หมั่นสังเกตและศึกษาของแท้หน่อย ระวังเงินแท้ไปแลกพระเก๊ไม่คุ้ม!!!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มีนาคม 2564